3 เม.ย. เวลา 02:48 • ประวัติศาสตร์

ตำนาน "เอบผู้เฒ่า" อินทรีมาสคอตสงครามกลางเมืองอเมริกา จนกลายมาเป็นสัตว์ประจำชาติ

🤨จากการรับรู้กันโดยทั่วไป นกอินทรีย์หัวขาว เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเมื่อเราเดินทางไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เรามักจะเห็นสัญลักษณ์รูปนกอินทรีหัวขาวปรากฏอยู่ที่ตราเอกสารทางราชการ ธง สกุลเงิน แสตมป์ เครื่องหมายทางทหาร และแม้แต่บนหมวกกันน็อค
😳แท้จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยรับรองนกอินทรีหัวขาวให้เป็นสัตว์ประจำชาติอย่างเป็นทางการ กระทั่งที่ผ่านมาในวันคริสต์มาสอีฟ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2024 อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joseph Robinette Biden) ได้ลงนามร่างกฎหมายเพื่อให้การแต่งตั้งนกอินทรีย์หัวขาวเป็นสัตว์ประจำชาติสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ
🤔🗽หากย้อนไปในเหตุการณ์หลังจากการลงนามคำประกาศอิสรภาพ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 รัฐสภาแห่งภาคพื้นทวีปได้มอบหมายให้เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin), โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) และจอห์น อดัมส์ (John Adams) ออกแบบมหาลัญจกรอย่างเป็นทางการสำหรับประเทศใหม่ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสามคณะพยายามที่จะสร้างมหาลัญจกรอย่างเป็นทางการที่จะตอบสนองรัฐสภาแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
😮กระทั่งในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1782 ชาร์ลส์ ทอมสัน (Charles Thompson) เลขาธิการสภาคองเกรส และวิลเลียม บาร์ตัน (William Barton) ทนายความชาวเพนซิลเวเนียผู้มีพรสวรรค์ด้านศิลปะ ได้นำองค์ประกอบจากข้อเสนอทั้งสามข้อมาผสมผสานกันจนกลายเป็นสิ่งที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ มหาลัญจกรใหญ่ (Great Seal of the United States) ซึ่งมีรูปนกอินทรีอยู่ตรงกลางด้านหน้า จับกิ่งมะกอก และมีลูกศรอยู่ที่กรงเล็บ ตราลัญจกรใหญ่ของสหรัฐฯ มีสองด้าน โดยมีความหมาย ดังนี้
ภาพ : ด้านหน้า มีรูปนกอินทรี และด้านหลังมีตราประทับใหญ่ ที่มา : www.thecollector.com/
1. ด้านหน้า (Obverse) ภาพของนกอินทรีหัวขาว (Bald Eagle) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและอิสรภาพ อินทรีถือ ลูกธนู 13 ดอก ในกรงเล็บซ้าย (แทนความพร้อมในการปกป้องประเทศ) ถือ กิ่งมะกอก ในกรงเล็บขวา (แทนสันติภาพ) มีแถบที่มีคำขวัญว่า "E Pluribus Unum" (แปลว่า "จากหลายสิ่งรวมเป็นหนึ่ง") บนศีรษะของอินทรีมีดาว 13 ดวง อยู่ภายในกลุ่มเมฆ (แทนรัฐ 13 รัฐแรกของสหรัฐฯ)
2. ด้านหลัง (Reverse) เป็นภาพพีระมิดที่ยังสร้างไม่เสร็จ และบนพีระมิดมีดวงตาแห่งญาณทัศนะ (Eye of Providence) อยู่ด้านบน ปรากฎข้อความ "Annuit Cœptis" (หมายถึง "พระเจ้าเห็นชอบในสิ่งที่เราเริ่มต้น") ข้อความ "Novus Ordo Seclorum" (หมายถึง "ระเบียบโลกใหม่") ตัวเลขโรมัน "MDCCLXXVI" (1776) อยู่ที่ฐานพีระมิด หมายถึงปีประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ
ต่อมาสภาคองเกรส (The U.S. Congress) ได้มีมติเลือกตรานี้ และสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้นกอินทรีหัวขาว (Bald Eagle) เป็นมหาลัญจกร ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1782 เป็นต้นมา นับแต่นั้นมา สัญลักษณ์นี้ก็ได้ปรากฏอยู่บนตราประทับเอกสารราชการ ธงประธานาธิบดี ด้านหลังของเหรียญสหรัฐฯ เครื่องหมายทางทหาร อย่างไรก็ตามเคยมีผู้ไม่เห็นด้วยที่จะนำนกอินทรีมาเป็นสัตว์ประชาชาติอเมริกาผู้นั้นก็คือหนึ่งในรัฐบุรุษผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) โดยปรากฎในจดหมายที่แฟรงคลินเขียนถึงลูกสาวว่า
ส่วนตัวพ่อเอง พ่ออยากให้นกอินทรีหัวล้านไม่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของประเทศของเรา มันเป็นนกที่มีคุณธรรมต่ำ หาเลี้ยงชีพได้ไม่สุจริต ลูกอาจเคยเห็นมันเกาะอยู่บนต้นไม้ตายต้นหนึ่งใกล้แม่น้ำ ซึ่งมันขี้เกียจเกินกว่าจะจับปลากินเอง มันจึงเฝ้าดูเหยี่ยวจับปลาทำงาน และเมื่อนกเหยี่ยวที่ขยันขันแข็งตัวนั้นจับปลาได้และนำมันไปที่รังเพื่อให้คู่และลูกของมันอยู่กิน นกอินทรีหัวขาวก็ไล่ตามและแย่งปลาไปจากมัน ด้วยความอยุติธรรมทั้งหมดนี้
นกอินทรีจึงไม่เคยอยู่ในสถานะที่ดี แต่เหมือนกับใช้ชีวิตด้วยการหลอกลวงและขโมย เจ้านกนี้มักจะขาดแคลนและมักจะชั่วร้าย ยิ่งไปกว่านั้นนกชนิดนี้ยังขี้ขลาด ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะเป็นสัญลักษณ์ของซินซินเนติผู้กล้าหาญและซื่อสัตย์แห่งอเมริกาที่ขับไล่นกราชาออกไปจากประเทศของเรา...
พ่อไม่รู้สึกไม่พอใจที่ร่างตราลัญจกรนั้นไม่ได้เป็นที่รู้จักในชื่อนกอินทรีหัวขาว แต่กลับดูเหมือนไก่งวงมากกว่า ความจริงแล้ว ไก่งวงเป็นนกที่น่าเคารพมากกว่าเมื่อเทียบกัน และเป็นนกพื้นเมืองดั้งเดิมของอเมริกา... นอกจากนี้ แม้จะดูโอ้อวดและโง่เขลาเล็กน้อย ไก่งวงยังเป็นนกที่กล้าหาญ และไม่ลังเลที่จะโจมตีทหารรักษาการณ์ของอังกฤษที่กล้าบุกเข้าไปในฟาร์มของเขาโดยสวมเสื้อคลุมสีแดง
เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin)
แต่ทว่าสมาชิกรัฐสภาไม่ได้รู้สึกแบบเดียวกับแฟรงคลินทั้งหมด นกอินทรีหัวขาวได้รับเลือกเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ เพราะมีถิ่นกำเนิดเฉพาะในอเมริกาเหนือเท่านั้น หลายคนมองว่านกอินทรีหัวขาวเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ อิสรภาพ และความเป็นอมตะมาหลายชั่วอายุคน นอกจากนี้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เขียนถึง Audubon Society ว่า
บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศได้เลือกนกอินทรีหัวขาวเป็นสัญลักษณ์ของชาติได้อย่างเหมาะสม ความงามอันดุร้ายและความภาคภูมิใจในอิสรภาพของนกตัวใหญ่ชนิดนี้เป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมของความเข้มแข็งและอิสรภาพของอเมริกา แต่ในฐานะพลเมืองยุคหลัง เราคงหมดความไว้วางใจหากปล่อยให้อินทรีหายไป
จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John Fitzgerald Kennedy)
ตั้งแต่สมัยโบราณ นกอินทรีถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความแข็งแกร่ง กองทหารโรมันใช้สัตว์ชนิดนี้เป็นมาตรฐานหรือสัญลักษณ์ประจำองค์กร ในประวัติศาสตร์อเมริกา มีตำนานของนกอินทรีที่ชื่อว่า “โอเอบ หรือ Old Abe” เป็นสัญลักษณ์หรือมาสคอตประจำกองทหารวิสคอนซินในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา
เรื่องราวความเป็นมาของนกอินทรีตัวนี้ที่ได้กลายมาเป็นมาสคอตเริ่มต้นในฤดูใบไม้ผลิของ ปี ค.ศ. 1861 หัวหน้าเผ่าสกาย ชื่อ อาห์กามาห์เวเกซิก (Ahgamahwegezhig)ได้ตั้งค่ายล่าสัตว์และตกปลาใกล้กับแม่น้ำแฟลมโบทางตอนใต้ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเชควาเมกอนในปัจจุบันทางตะวันออกของพาร์คฟอลส์ รัฐวิสคอนซิน เขาสังเกตเห็นรังบนยอดไม้ที่มีนกอินทรีที่เพิ่งหัดบินสองตัว เขาได้ตัดต้นไม้ ลูกนกอินทรีตัวหนึ่งตายจากการตกจากต้นไม้ ลูกนกอินทรีอีกตัวหนึ่งถูกนำมาเลี้ยง
ต่อมาหัวหน้าเผ่าได้แลกลูกนกอินทรีที่รอดชีวิตกับ เดเนี่ยล แม็กแคน (Daniel McCann) ด้วยข้าวโพด 1 บุชเชล แม็กแคนนำนกตัวนี้ไปที่เมืองโอแคลร์ รัฐวิสคอนซิน และเลี้ยงมันไว้เป็นสัตว์เลี้ยงในครอบครัวเป็นเวลาสั้นๆ ขังไว้ในถังไม้โอ๊กที่ดัดแปลง นกตัวนี้ก็เติบโตขึ้น และต้องการกินอาหารมากขึ้น แม็กแคนจึงพยายามขายนกที่ยังไม่มีชื่อตัวนี้ให้กับหน่วยทหารวิสคอนซินหลายหน่วยที่กำลังเดินทางผ่าน
ต่อมาร้อยโทเจมส์ แม็กไกวร์ (Lt. James McGuire) ซึ่งเป็นลูกน้องของกองทหารราบอาสาสมัครวิสคอนซินที่ 8 ได้เข้าไปหาจอห์น อี. เพอร์กินส์ (John E. Perkins) กัปตันหน่วย และขออนุญาตใช้นกอินทรีเป็นมาสคอต ซึ่งเพอร์กินส์ก็อนุญาต ลูกน้องในหน่วยจึงร่วมกันระดมเงิน 2.50 ดอลลาร์เพื่อซื้อนกอินทรีจากแม็กแคน ฟรานซิส แอล. บิลลิงส์ ผู้รับผิดชอบด้านการจัดหาเสบียงของกองได้สร้างที่เกาะพิเศษและไม้ค้ำรูปโล่เพื่อให้นกอินทรีตัวนี้เกาะติดตามกองทหารไปด้วย
ภาพ : เอบผู้เฒ่ากับกองทหารรักษาการณ์ประจำกรมทหารของเขาที่เมืองวิกส์เบิร์ก รัฐมิสซิสซิปปี้ ที่มา : https://www.army.mil
กองร้อยทหารราบนี้เคยรู้จักกันในชื่อหน่วยแบดเจอร์โอแคลร์ (Eau Claire Badgers) แต่ระหว่างการเดินทางไปยังค่ายแรนดัลในเมดิสันพร้อมกับมาสคอตตัวใหม่ พวกเขาเปลี่ยนชื่อเล่นเป็นหน่วยอีเกิลส์โอแคลร์ (Eau Claire Eagles) อย่างรวดเร็ว และในระหว่างการเดินทางครั้งนี้เองที่นกอินทรีตัวดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า “Old Abe หรือ เอบผู้เฒ่า” เพื่อเป็นเกียรติแก่ ประธานาธิบดีคนที่ 16 ท่านอับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)
กองทหารอาสาสมัครทหารราบที่ 8 วิสคอนซินใช้เวลาปฏิบัติหน้าที่ทางทหารทั้งหมดในพื้นที่ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่าพื้นที่ภาคตะวันตกของสงครามกลางเมืองอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยมิสซูรี (Missouri), อาร์คันซอ (Arkansas), เทนเนสซี (Tennessee), มิสซิสซิปปี้ (Mississippi), หลุยเซียนา (Louisiana) และอลาบามา (Alabama) เอบผู้เฒ่าได้เข้าร่วมรบกับในสมรภูมิทั้งหมดของกองทหารอาสาสมัครทหารราบที่ 8 ของวิสคอนซินเป็นเวลาสามปีเต็ม
เมื่อจัดกองทหารเป็นแถวเพื่อเข้าแถวสวนสนาม นกอินทรีจะปรากฏตัวอยู่เสมอทางด้านซ้ายของผู้ถือธง ตรงกลางกองทหาร ผู้ถือธงจะสวมเข็มขัดหนักที่มีช่องสำหรับปลายไม้เท้าด้านล่าง มีห่วงหนังพันรอบขาข้างหนึ่งของอาเบะ โดยมีเชือกยาว 20 ฟุตพาดจากห่วงไปยังคอกม้า ในขบวนสวนสนาม เชือกส่วนเกินจะถูกพันรอบไม้เกาะเพื่อให้อาเบะไม่ขยับไปไหน เอบผู้เฒ่าเข้าร่วมการรบมากกว่า 30 ครั้ง โดยรอดจากการถูกยิงได้อย่างหวุดหวิดหลายครั้ง
เอบผู้เฒ่ากางปีกเพื่อวาดภาพ
ตำนานเล่าขานว่าเขามักจะถูกปล่อยให้บินเหนือสนามรบและตะโกนกรีดร้อง สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้สู้รบฝ่ายสมาพันธรัฐ หน้าที่หลักของเอบผู้เฒ่าคือการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่าทหาร กางปีกตามคำสั่ง เต้นรำตามเสียงเพลง เช่น เมื่อเสียงปืนใหญ่ที่ดังสนั่นกลับกระตุ้นให้เอบผู้เฒ่ายืนตัวตรง ส่งเสียงร้องและกระพือปีก ในบางวันเมื่ออากาศร้อนเป็นพิเศษ เขาจะส่งเสียงร้องแหลมเป็นพิเศษประมาณห้าหรือหกครั้ง ก่อนจะจบลงด้วยเสียงร้องแหลมสูงที่น่าตกใจ
(ดังที่นักประวัติศาสตร์ประจำกรมทหารผู้ซื่อสัตย์กล่าวไว้) “สร้างแรงบันดาลใจให้ทหารได้ดีมาก” เมื่อทหารโห่ร้องแสดงความยินดีต่อนายพลของตนเขาก็กระพือปีกและตะโกนและนายพลทั้งสองนายก็ถอดหมวกให้เขาเพื่อตอบโต้ นอกจากนี้เอบผู้เฒ่ายังช่วยส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับผู้ส่งสารของกบฏ ส่งสัญญาณเตือนเมื่อพบคนแปลกหน้า
อย่างไรก็ตามมีเรื่องเล่าในอีกด้านหนึ่งว่าเอบผู้เฒ่าเป็นสัตว์ที่น่ารำคาญในค่ายทหาร เขาปรับตัวเข้ากับชีวิตทหารมาช้านานจนต้องถอดเชือกผูกออก และชอบพลิกถังน้ำ คว้าอาหารที่เหลืออยู่ และฉีกเสื้อผ้าที่ซักแล้วตากให้แห้งเพื่อความสนุกเป็นครั้งคราว ผู้หาอาหารซึ่งนำสัตว์ปีกที่ขอมาจากเล้าไก่ของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเข้ามาไม่เคยกล้าทิ้งของที่ปล้นมาโดยไม่มีใครเฝ้า เอบผู้เฒ่าจะกินมันทุกครั้ง
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง เอบผู้เฒ่าได้ถูกมอบให้กับรัฐวิสคอนซิน ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 1858 เอบผู้เฒ่ากลายเป็นที่รู้จักในระดับประเทศ เขาอาศัยอยู่ใน "แผนกอีเกิล" ในฐานะนิทรรศการแสดงความรักชาติ ได้รับการสนับสนุนการดูแลจากรัฐ โดยมีบุคคลและองค์กรต่างๆ จากทั่วทั้งรัฐและประเทศต่างขอให้เขาเข้าร่วมงานต่างๆ
งานส่วนใหญ่มักเป็นงานรวมตัวของทหารผ่านศึกสงครามกลางเมืองหรืองานระดมทุนเพื่อการกุศลต่างๆ สามารถหารายได้หลายพันดอลลาร์ให้กับนักการเมืองและองค์กรการกุศล เช่น Soldiers' Home Fair, Soldier's Orphan's Home, Harvey Hospital และ Ladies Aid Society แห่งเมืองชิปเปวาฟอลส์ นอกจากนี้ เขายังปรากฏตัวในงานต่างๆ ของผู้สมัครพรรครีพับลิกันแห่งวิสคอนซิน ซึ่งครองอำนาจทางการเมืองของรัฐหลังสงครามกลางเมือง
ภาพ : เอบผู้เฒ่ากับผู้ดูแลคนสุดท้าย จอร์จ กิลส์ (George Gilles) ที่มา : https://presidentlincoln.illinois.gov
เอบผู้เฒ่าเสียชีวิตในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1881 เมื่อเกิดไฟไหม้ในบริเวณจัดเก็บสีและตัวทำละลายใกล้กับกรงนกหนึ่งเดือนต่อมา อินทรีศึกแห่งวิสคอนซินที่โด่งดังก็อ่อนแรงจากควันพิษก็ตายในอ้อมแขนของจอร์จ กิลส์ (George Gilles) ผู้ดูแลคนสุดท้าย
ร่างของเขาถูกบรรจุและประกอบขึ้นใหม่ และถูกจัดแสดงในห้องโถงของอาคารรัฐสภาเป็นเวลา 20 ปี หลังจากสร้างอาคารสมาคมประวัติศาสตร์แห่งรัฐแห่งใหม่ในปี ค.ศ. 1901 ร่างของเอบผู้เฒ่าถูกกักขังในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะถูกย้ายกลับไปที่รัฐสภาในปี ค.ศ. 1903
ร่างของเขาถูกทำลายในอีกไม่กี่เดือนต่อมาเมื่ออาคารรัฐสภาถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 น่าเสียดายที่ขนนกของเอบผู้เฒ่าเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีโดยพิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกวิสคอนซินในเมืองเมดิสัน
ปัจจุบันมีประติมากรรมขนาดใหญ่ของเอบผู้เฒ่าตั้งอยู่บนอนุสรณ์สถานวิสคอนซินที่เมืองวิกส์เบิร์ก รัฐมิสซิสซิปปี้ และบนทางเข้าค่ายแรนดัลล์เก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นทางเข้าหลักสู่สนามกีฬาฟุตบอลของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 ผลงานมิติทัศน์ (Diorama) ขนาดใหญ่ของหน่วยวิสคอนซินที่ 8 พร้อมด้วยเอบผู้เฒ่า จัดแสดงอยู่ที่ห้องโถงกลางของอาคารสำนักงานใหญ่ของกองพลที่ฟอร์ตแคมป์เบลล์ (Fort Campbell)
สัญลักษณ์หน่วยทหารรูปหัวของเอบผู้เฒ่าซึ่งมองจากด้านข้างได้กลายเป็นเครื่องหมายบนแขนเสื้อไหล่ ของกองพลทหารราบทางอากาศที่ 101 กองทัพบกสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า “Screaming Eagle หรือ อินทรีกรีดร้อง” กองพลทหารราบที่ 101 ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเฉลิมฉลองรากฐานของรัฐวิสคอนซินด้วยการนำสัญลักษณ์อินทรีที่โด่งดังไปทั่วอเมริกาในช่วงสงครามกลางเมืองมาใช้
ภาพ : ธงประจำกองพลส่งทางอากาศที่ 101 ที่มา : https://www.army.mil/101stAirborne
ปัจจุบันตราประจำชาติสหรัฐ (Great Seal of the United States) ตราประจำกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (United States Department of Defense Seal) เครื่องหมายยศพันเอกของกองทัพบกและกองทัพอากาศสหรัฐ ตราสัญลักษณ์ของกองทัพสหรัฐแต่ละเหล่า ตราสัญลักษณ์ของหน่วยรบพิเศษ และเหรียญเกียรติยศ ตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางทหารล้วนมีนกอินทรีเป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากจะปรากฏตัวอย่างเป็นทางการแล้ว นกอินทรีหัวขาวยังปรากฏตัวบนสินค้ารักชาติ (Patriotic) ต่างๆ มากมาย เป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนหลายร้อยแห่ง หรือแม้แต่ในงานกีฬาที่สำคัญ
ภาพ : โลโก้กองทัพสหรัฐ 6 แห่ง ที่มา : https://blog.wm.edu.pl/
ภาพ : เครื่องหมายยศ พันเอก สำหรับ กองทัพบกกองทัพอากาศและนาวิกโยธินสหรัฐฯและเครื่องหมายยศกัปตันสำหรับกองทัพเรือสหรัฐฯ หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ USPHSCC และ NOAACOC ที่มา : https://en.wikipedia.org/
ในแคมเปญการหาเสียงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ปี ค.ศ.2015 ระหว่างการถ่ายภาพสำหรับนิตยสาร TIME ทรัมป์ได้เลือกถ่ายภาพคู่กับนกอินทรี นกอินทรีที่ใช้ในภาพถ่ายมีชื่อว่า “Uncle Sam หรือ ลุงแซม” การถ่ายภาพนี้เกิดขึ้นเพื่อสื่อถึงความรักชาติและความแข็งแกร่งของทรัมป์ในฐานะผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการถ่ายทำมีช่วงหนึ่งที่นกอินทรีแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อทรัมป์ โดยมีคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่านกพยายามจิกใส่เขาขณะนั่งอยู่ที่โต๊ะ ภาพและวิดีโอดังกล่าวกลายเป็นไวรัลและถูกนำไปล้อเลียนในหลายสื่อ แต่ก็ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของทรัมป์ในแง่ของการเป็นบุคคลที่ไม่กลัวที่จะเสี่ยง และเป็นนักธุรกิจที่ปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา
ภาพ : ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันในห้องทำงานบนชั้น 25 ของอาคารทรัมป์ทาวเวอร์ในนิวยอร์กซิตี้ ที่มา : มาร์ติน โชลเลอร์ (Martin Schoeller) นิตยสาร TIME
แม้ว่าเราจะพบนกอินทรีหัวขาวได้มากมายทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาแผ่นดินใหญ่ แต่ประชากรนกอินทรีหัวขาว ได้ลดลงอย่างมากจากเกษตรกรและชาวประมงได้ฆ่านกอินทรีหลายตัวเพราะเข้าใกล้สัตว์ปีกหรืออวนจับปลามากเกินไป เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ป่าได้จับนกอินทรีเหล่านี้ไปฝึกเหยี่ยว และยาฆ่าแมลงได้ฆ่านกอินทรีไปหลายตัว
นกอินทรีหัวโล้นได้รับการคุ้มครองบางส่วนในปี ค.ศ. 1918 ภายใต้พระราชบัญญัติสนธิสัญญาว่าด้วยนกอพยพ (Migratory Bird Treaty Act : MBTA) และอีกครั้งในปี ค.ศ.1940 เมื่อภัยคุกคามของการสูญพันธุ์ของพวกมันทำให้รัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติคุ้มครองนกอินทรีหัวขาว (ต่อมามีการแก้ไขเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองนกอินทรีหัวขาวและนกอินทรีทอง) ซึ่งห้ามการฆ่านกอินทรีหรือเก็บไข่ของนกอินทรี
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยาฆ่าแมลง DDT ได้รับการยกย่องว่าเป็นทางออกที่ดีเยี่ยมในการควบคุมยุง ยาฆ่าแมลงถูกใช้กันอย่างแพร่หลายโดยไม่มีการควบคุมมากนัก และแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำที่ปลาซึ่งเป็นอาหารหลักของนกอินทรีหัวล้าน มาตรการอนุรักษ์ที่เร่งด่วนนำไปสู่การห้ามใช้ DDT และกระตุ้นให้เกิดความพยายามในการอนุรักษ์ซึ่งช่วยพลิกกลับแนวโน้มที่ลดลง ปี ค.ศ. 1967 นกอินทรีได้รับการขึ้นบัญชีว่าใกล้สูญพันธุ์ภายใต้ พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species Act)
❌ต่อมานกอินทรีหัวโล้นถูกขึ้นบัญชีว่าใกล้สูญพันธุ์ (Endangered : อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ทั่วทั้งพื้นที่ทั้งหมดหรือส่วนสำคัญ) หรือถูกคุกคาม (Threatened : ไม่ใช่ใกล้สูญพันธุ์ในขณะนี้ แต่มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้) ใน 48 รัฐที่อยู่ทางตอนล่างทั้งหมดภายใต้พระราชบัญญัติการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์‼️
ในปี ค.ศ. 1978 การแก้ไขพระราชบัญญัตินกอินทรีหัวขาวและนกอินทรีทองในปี ค.ศ. 1972 ยังเพิ่มการคุ้มครองนกอินทรีมากขึ้น การจัดรายชื่อสายพันธุ์ว่าใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) หรือถูกคุกคาม (Threatened) ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ และพันธมิตรเริ่มดำเนินการริเริ่มต่างๆ เพื่อช่วยให้นกอินทรีฟื้นตัว ซึ่งรวมถึงโครงการเพาะพันธุ์ในกรงขังและการนำนกอินทรีกลับคืนสู่แหล่งที่อยู่อาศัยเดิม การปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของนกอินทรีจากการพัฒนาและการเสื่อมโทรม และการปกป้องรังนกอินทรีในช่วงฤดูผสมพันธุ์
ทำให้ในปี ค.ศ. 1995 ประชากรนกอินทรีที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมดใน 48 รัฐที่อยู่ทางตอนล่างถูกลดสถานะลงเป็น ถูกคุกคาม (Threatened) ปัจจุบันนกอินทรีหัวขาวมีจำนวนทั้งหมดกว่า 300,000 ตัว จึงถูกถอดออกจากรายชื่อสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และถูกคุกคามเนื่องจากถือว่าฟื้นตัวแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021
นกอินทรีหัวขาวได้เสริมสร้างความรู้สึกภักดีและอัตลักษณ์ประจำชาติ ดึงดูดใจประชาชนและเข้าถึงคนจำนวนมาก ผ่านประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา เชื่อมโยงผ่านวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ ของชนพื้นเมืองอเมริกัน แม้เวลาจะผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 249 ปี นับตั้งแต่ปีที่อเมริกาประกาศอิสรภาพต่อสหราชอาณาจักร นกอินทรีหัวขาวยังคงได้รับการยอมรับ อันแสดงถึงอำนาจ อิสรภาพ และจิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญที่ยังคงอยู่เหนือกาลเวลา ที่สะท้อนถึงความภาคภูมิใจของชาวอเมริกัน
อ้างอิง
1. U.S. Government Printing Office. (2007). Our flag joint committee on printing united states congress. Retrieved Mar 20, 2025, from https://www.govinfo.gov/content/pkg/CDOC-109sdoc18/pdf/CDOC-109sdoc18.pdf
2. U.S Department of Veterans Affairs. (2020). The American Bald Eagle. Retrieved Mar 15, 2025, from https://www.va.gov/opa/publications/celebrate/eagle.pdf
3. Elizabeth Nix. (2025). How Did the Bald Eagle Become America’s National Bird?. Retrieved Mar 22, 2025, from
4. Wisvetsmuseum.com. (2022). Old Abe Wisconsin’s War Eagle. Retrieved Mar 19, 2025, from https://wisvetsmuseum.com/old-abe-the-war-eagle/
5. Americanheritage.com. (2024). “old Abe” The Battle Eagle. Retrieved Mar 23, 2025, from https://www.americanheritage.com/old-abe-battle-eagle
6. Capt. James A. Page. (2012). The Story of “Old Abe,” famous Wisconsin War Eagle on 101st Airborne Division patch. Retrieved Mar 20, 2025, from https://www.army.mil/article/91178/the_story_of_old_abe_famous_wisconsin_war_eagle_on_101st_airborne_division_patch
7. Connie Goldsmith. (2018). Animals Go to War: From Dogs to Dolphins : Lerner Publishing Group.
8. The Daily Telegram. (1968). First Hand Account of Civil War Eagle: Old Abe’s Behavior in Battle Uncovered. Retrieved Mar 21, 2025, from https://www.newspapers.com/newspage/19052375/
9. Richard Zeitlin. (1986). Old Abe the War Eagle: A True Story of the Civil War And Reconstruction : Wisconsin Historical Society Press; 1st edition (December 15, 1986)
10. Cornell University. (2025). Bald Eagle. Retrieved Mar 20, 2025, from https://www.allaboutbirds.org/guide/Bald_Eagle/overview
11. Natalie Wolchover. (2012). What If Humans Had Eagle Vision?. Retrieved Mar 25, 2025, from https://www.livescience.com/18658-humans-eagle-vision.html
12. Megan Evansen. (2023). Saving the Bald Eagle – a Conservation Success Story. Retrieved Mar 25, 2025, from https://defenders.org/blog/2023/01/saving-bald-eagle-conservation-success-story
โฆษณา