วันนี้ เวลา 02:56 • หนังสือ

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนถ้าเปลี่ยนอะไรไม่ได้

โรเบิร์ต กรีน (Robert Greene) นักเขียนชื่อดังที่เขียนหนังสือขายดีระดับโลกมาหลายเล่ม เล่มหนาๆแต่มีเรื่องราวของจิตใจผู้คนและบทเรียนในอดีตต่างๆ ที่ลึกซึ้งให้เรียนรู้เยอะมาก ถ้าใครคุ้นๆ ชื่อหนังสือเช่น the 48 law of power, the art of seduction, the law of human nature หรือ the 33 strategies of war เป็นต้น
ในบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์ถามคุณโรเบิร์ต กรีนผู้ซึ่งศึกษาเรื่องราวและประวัติของผู้คนมานับพันนับหมื่นคนถึงความสำเร็จ ความล้มเหลวและเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ว่า ถ้าให้เลือกสิ่งเดียวที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ใครซักคนประสบความสำเร็จคืออะไร
คุณโรเบิร์ตตอบว่า ถ้าจะให้เขาคัดกรองจากเรื่องราวทั้งหมดที่เขาเคยศึกษามาให้เหลือแค่คำเดียวนั้น เขาตอบอย่างมั่นใจได้เลยว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้คนประสบความสำเร็จก็คือ “ทัศนคติ” (attitude in life) ทักษะหรือความสามารถพิเศษใดๆ ยังไม่สำคัญเท่า ทัศนคติที่ว่าก็คือมุมมองที่เรามีต่อโลกรอบๆ ตัวเรา ถ้าเรามองทุกอย่างเป็นลบ ทำไมถึงไม่มีใครชอบเราเลย โลกทำไมโหดร้ายกับเราเป็นพิเศษ เรานี่ไม่มีอะไรดีซักอย่าง ชีวิตเราก็จะได้แบบที่เราคิด
4
แต่ถ้าเราคิดว่าโลกนี้มีโอกาสเสมอ เราน่าจะพอทำได้ อยากลองทำดู เราก็จะมีโอกาสได้ทำและก็จะทำได้จริงๆ ทัศนคติในมุมของคุณโรเบิร์ตจึงเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนและเจริญก้าวหน้าของคน
คุณโรเบิร์ตขยายต่อด้วยว่า ในโลกยุคนี้ ยิ่งต้องมี realistic attitude คือต้องเห็นตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็นจริงๆ ไม่ใช่ถูกห่อหุ้มด้วยความหลงตัวเองหรือความไม่มั่นใจในตัวเอง (insecure) ต้องรู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง รู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดี ไม่ได้ดี และต้องมีความสามารถในการเห็นคนอื่นในแบบที่เขาเป็นจริงๆ มองทะลุหน้ากาก เห็นเนื้อในของคนรอบตัว ไม่โดนหลอก จากภาพลวงตาโซเชียล และมีความสามารถเข้าใจถึงโลกโดยรอบว่ากำลังเปลี่ยนไปยังไงด้วยความเป็นจริง
2
และเมื่อผสมกับความเข้าใจถึงพลังของความกล้าที่จะตัดสินใจ กล้าเสี่ยงในขอบเขตที่เหมาะสม ( power of being fearless and taking risk) นั่นคือหัวใจที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ใครซักคนประสบความสำเร็จจากการเฝ้าสังเกตและศึกษาบุคคลในประวัติศาสตร์มานับพันนับหมื่นคนของคุณโรเบิร์ตในคำๆ เดียว
แต่คุณโรเบิร์ตก็ทิ้งท้ายด้วยว่า ทัศนคติก็ไม่ได้เปลี่ยนกันได้ง่ายนัก หลายคนก็เกิดมาหรือมีนิสัยการมองโลกติดตัวมาแบบหนึ่ง การเฝ้าสังเกต และค่อยๆ เปลี่ยนวิธีมอง เปลี่ยนทัศนคติจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนและค่อยๆปรับค่อยทำไปทีละวัน ไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆแต่อย่างใด
พอฟังคำว่า “ทัศนคติ” แล้วหลายคนก็อาจจะมองว่ามันค่อนข้าง cliche เป็นนามธรรมมากๆ จะทำอย่างไรมากกว่าที่คิดไม่ออก แต่ผมมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ในระดับ do or die และพอผ่านมาแล้วก็มีความคิดเหมือนคุณโรเบิร์ตว่าถ้าถ้าให้เลือกคำเดียว “ทัศนคติ” นี่คือทุกอย่างจริงๆ แถมเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ และอาจจะเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าที่คุณโรเบิร์ตบอกด้วยซ้ำว่าค่อยๆลองสังเกตลองทำทีละวัน ถ้ามีอีกสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤติ” เข้ามาช่วยกระตุ้นอีกทาง
1
วิกฤติดีแทคในปี 2003 ที่เดิมมีผู้เล่นแค่สองราย อยู่ดีๆก็มี orange และ hutch บริษัทระดับโลกเข้ามาแข่งในตลาด บวกกับเอไอเอสที่แข็งแกร่งสุดๆ ทำให้ดีแทคทรุดลงอย่างรวดเร็วจนใกล้เจ๊งเพราะไม่เคยแข่งขันแบบจริงจังและรุนแรงแบบนั้นมาก่อน ผู้บริหารก็โดนให้ออกบ้าง ลาออกบ้างจนแทบหมดบริษัท เงินทุนก็ร่อยหรอ ผมเองเป็นผู้บริหารระดับกลางในตอนนั้น ก็พยายามหางานใหม่เหมือนกับหลายคนแต่ด้วยชื่อเสียงที่แย่มากๆ ไปสมัครที่ไหนก็ไม่มีใครรับก็เลยติดอยู่ในบริษัทใกล้เจ๊งแบบนั้นไปด้วย
ในช่วงที่ตกต่ำสุดๆ ไม่มีใครคิดว่าบริษัทจะรอด ไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือคนใน ช่วงนึงไม่มีซีอีโอเลยด้วยซ้ำ ข้างในก็ทะเลาะกันเอง โทษกันเอง โทษกันไปก็สมัครงานกันไป แบรนด์ก็แย่ เงินก็ไม่มี ทุกอย่างดูเลวร้ายไปหมด
แต่ในปี 2008 fast forward มาอีกห้าปีต่อมา เอไอเอสก็ยังเป็นเบอร์หนึ่งเหมือนเดิม แต่ orange ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องถอยทัพขายหุ้นจนกลายเป็นทรูในปัจจุบัน Hutch ก็เจ๊งไป ดีแทคกลายเป็นเบอร์สองที่แข็งแกร่ง เติบโตจากเดิมพอสมควร แน่นอนว่าต้องมีอะไรเปลี่ยนระหว่างทางแน่ๆ แต่ที่ไม่เปลี่ยนคือในช่วงนั้นเงินทุนก็ไม่มี ไม่ได้ขยายเครือข่ายได้มากกว่าคนอื่น เงินการตลาดก็น้อยกว่าเจ้าอื่น ไม่ได้ถูกหวย ไม่ได้มีโชคดีอะไรแบบนั้น
2
และที่สำคัญคือ คนที่ทำเจ๊งกะคนที่ทำให้รอดมาได้หลังจากนั้น 95% คือคนเดิมที่เคยทะเลาะกัน เคยพยายามจะหนีออกมาแต่ไม่สำเร็จ เคยพาบริษัทลงเหวมาด้วยกัน
แล้วอะไรเปลี่ยน?
ผมถึงเชื่ออย่างหมดใจเหมือนที่คุณโรเบิร์ตบอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่พาเราออกจากโคม่าได้นั้นคือคำที่อาจจะฟังนามธรรมมากๆ ที่เรียกว่า “ทัศนคติ” แต่กลับทรงพลานุภาพกว่าสตางค์ ความเก่ง หรือโชคชะตาใดๆ เลยด้วยซ้ำ เพราะดีแทครอดมาได้เพราะคำๆ นี้จริงๆ
คำว่าทัศนคติที่เปลี่ยนไปนั้นอาจจะมาจากหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ การไม่มีทางเลือก และที่สำคัญที่สุดที่ผมเคยประสบมาและเป็นสิ่งที่คุณโรเบิร์ตบอกก็คือ realistic attitude ซึ่งวิกฤติในตอนนั้นกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้มองเห็นตัวเองอย่างที่เป็นจริงๆ เพราะความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับที่เฆี่ยนตีเราทุกวันจนไม่ยอมรับยังไงก็ต้องยอมรับจนได้
การเปลี่ยนทัศนคตินั้นไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ แบบคุณโรเบิร์ตบอก แต่ความพ่ายแพ้ โดนดูถูกดูหมิ่น ตัวเลข งานวิจัย คำด่าของดีลเลอร์ บทวิเคราะห์ของ analyst ข่าวตามหนังสือพิมพ์ ฯลฯ เหล่านี้ทำให้การยอมรับตัวเองทำได้ง่ายกว่าตอนไม่มีวิกฤติมาก
ผมจำได้ว่าเราใช้เวลาหกเดือน โดนจนไม่รู้จะโดนยังไงจนอีโก้ ความภูมิใจในการเป็นเบอร์สองหายจนหมดสิ้น และเนื่องจากเราสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ มีวิถีทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ก็คือต้องลองสู้ในรูปแบบใหม่ๆ เพราะแบบเดิมใช้ไม่ได้ ไม่สู้ โทษแต่โชคชะตาก็ไม่ได้ช่วยอะไรอยู่ดี
และก็เป็นที่มาของทัศนคติที่ภายหลังกลายเป็นกระดูกสันหลังของความคิดใหม่ๆ ทั้งหมดในตอนนั้นก็คือการยอมรับว่าตัวเองเป็นรอง ทัศนคติแบบมวยรอง (underdog attitude) ที่ทำอะไรก็ได้ที่ตรงข้ามคู่แข่ง ทำงานหนักกว่าคู่แข่ง เสี่ยงกว่าคู่แข่ง ลองอะไรที่คู่แข่งไม่กล้าลอง ฯลฯ เป็นทัศนคติที่ทำให้ทีมมีหลักยึด มีวิธีคิดและพบแนวทางใหม่และรอดมาได้ในตอนนั้น (ผมเคยเขียนเรื่องนี้อย่างละเอียด เป็นหนังสือชื่อ คนพลิกแบรนด์ แบรนด์พลิกคน เมื่อสิบกว่าปีก่อน)
ผมฟังบทสัมภาษณ์ของคุณโรเบิร์ตแล้วก็เห็นด้วยอย่างสนิทใจจากคนที่เคยผ่านกระบวนการบีบให้เปลี่ยนทัศนคติจนได้เห็นพลังของทั้งทีมที่เคลื่อนภูเขาย้ายจักรวาลได้จากติดลบแบบสุดๆและยิ่งมีวิกฤติ กลับกลายเป็นว่าการเปลี่ยนทัศนคติของเราและทีมดูจะทำได้ง่ายขึ้นกว่าเหตุปกติด้วยซ้ำ
ในช่วงนี้หลายบริษัท หลายคนกำลังเผชิญวิกฤติในรูปแบบต่างๆกันไป ถ้าแก้อะไรไม่ได้ ลองแก้ด้วยทัศนคติกันดูนะครับ อาจจะพบทางออกในระยะยาวกันก็ได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากการยอมรับแบบ realistic attitude กันก่อนเป็นปฐม
1
If you don’t like something, change it. If you can’t change it, change your attitude
Maya Angelou
3
โฆษณา