3 เม.ย. เวลา 11:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เจาะลึก 5 ปัจจัยเปลี่ยนเกมการลงทุน ฝ่าความผันผวนเศรษฐกิจโลก

เจาะลึก 5 ปัจจัยเปลี่ยนเกมการลงทุน แนะธีมลงทุน “GO GLOBAL” และ “Diversification” ฝ่าความผันผวนเศรษฐกิจโลก
ดร. พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เริ่มต้นปี 2025 ตลาดผันผวนอย่างหนัก นำโดยหุ้นไทยและหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับหลายประเทศ ความกังวลกลับมาอีกครั้งว่าเศรษฐกิจอเมริกาที่ว่าจะดี อาจจะถอยเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ตลาดฝั่งขาขึ้นก็มี เช่น หุ้นจีนในตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้นราว 20% จากการปลุกชีพเทคฯ จีนของ DeepSeek ในช่วงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมีความซับซ้อนและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
เจาะลึก 5 ปัจจัยเปลี่ยนเกมการลงทุนโลก แนะธีมลงทุน “GO GLOBAL” และ “Diversification” ฝ่าความผันผวนเศรษฐกิจโลก
ความผันผวนนี้เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส ความเสี่ยงคือการลงทุนผิดที่ผิดเวลา ขณะที่โอกาสคือการทำความเข้าใจ วิเคราะห์สถานการณ์ และใช้ช่วงที่ราคาย่อลง ทยอยลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมตามแผนการลงทุนที่วางไว้ทั้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว
จับตา 5 ประเด็นหลัก เปลี่ยนเกมการลงทุนโลก
- ประเด็นที่ 1 เทคโนโลยี AI อิทธิพลของ AI เห็นได้ชัดจากราคาหุ้น NVIDIA ที่พุ่งขึ้นมาเกือบ 6 เท่า นับจากการเปิดตัวของ ChatGPT ในปี 2022 ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 400 ล้านคนต่อสัปดาห์
- ประเด็นที่ 2 America First Policy นโยบายที่ทั่วโลกกังวลมากที่สุดในตอนนี้คือ การขึ้นภาษีนำเข้า แต่ Fed ได้ทำการศึกษาแล้วว่า ทุกๆ 1% ของภาษีที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ GDP ของอเมริกาลดลง 0.14% แปลว่า America First Policy ไม่ได้กระทบแต่ประเทศคู่ค้า อเมริกาก็ต้องระวังเศรษฐกิจตัวเองด้วย ธุรกิจส่งออกไทยก็เตรียมทำงานหนักโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยของเราคาดว่าการส่งออกของไทยจะชะลอลงจาก 5.4% ในปีที่แล้วเหลือเพียง 2.5%
- ประเด็นที่ 3 อัตราดอกเบี้ย ช่วงปี 2022-2023 Fed ขึ้นดอกเบี้ย จาก 0.25% เป็น 5.5% เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวจากโควิดเร็วจนเงินเฟ้อพุ่ง และเริ่มลดดอกเบี้ยรวม 1% ในปีที่แล้ว ซึ่งในการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา Fed ตัดสินใจคงดอกเบี้ยที่ 4.5% ช่วงที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย กนง. ของไทยก็ขึ้นดอกเบี้ยด้วย แต่ขึ้นน้อยกว่าคือจาก 0.5% เป็น 2.5% และล่าสุด กนง. ลดดอกเบี้ยลงมาที่ 2%
- ประเด็นที่ 4 หนี้สาธารณะ IMF ออกมาเตือนเรื่องวิกฤติหนี้ที่ท่วมโลกหลายครั้ง เพราะหนี้สูงจะทำให้รัฐบาลไม่มีเงินมาใช้เวลาเศรษฐกิจมีปัญหา ล่าสุด หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 64% ของ GDP และมีโอกาสจะชนเพดานที่ 70% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยสหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่า 100%
*- ประเด็นที่ 5 ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น กรณีรัสเซีย – ยูเครน ที่ผ่านความยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปีแล้ว และยังไม่จบสิ้น รวมถึงยุโรป และความคุกรุ่นก็ยังคงอยู่ในตะวันออกกลางและช่องแคบไต้หวัน
เปิด 5 ประเด็นหลัก เปลี่ยนเกมการลงทุนโลก
ด้าน Mr. Michael Strobaek, Global Chief Investment Officer and Head of Investment Solutions of Bank Lombard Odier ให้ความเห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2025 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่านโยบาย ‘America First’ ของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตได้แข็งแกร่ง แต่นโยบายทางการค้าก็สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น อาจมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ต้องดูให้ลึกในหลายๆ ด้าน ว่าแต่ละประเทศมีการบริหารจัดการอย่างไร ความแข็งแกร่งของพื้นฐานเศรษฐกิจ เป็นการกู้จากในหรือนอกประเทศ และกู้มาเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งในระยะยาวแล้วอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าก็ได้
ขณะเดียวกัน Mr. Tai Hui, Chief Market Strategist, Asia Pacific of J.P. Morgan Asset Management กล่าวถึงโอกาสในการลงทุนจากกระแส AI ว่าไม่ได้มีเพียงการลงทุนในบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยี AI โดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสในหลายๆ ธุรกิจที่นำ AI มาใช้เพิ่ม Productivity เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิต Hardware ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแส AI เติบโตได้อีกในอนาคต
สำหรับเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จะต้องพิจารณาผลกระทบต่อแต่ละธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อธุรกิจพลังงานและอาหารในยุโรป แต่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลับไม่ได้ส่งผลต่อการผลิตน้ำมันอย่างที่คาดการณ์
สำหรับปัจจัยอัตราดอกเบี้ย ศิริพร สุวรรณการ, CFA, CFP, Chief Investment Officer, K WEALTH ธนาคารกสิกรไทย มองว่าอยู่ในวัฎจักรขาลง ธนาคารแห่งประเทศไทยเซอร์ไพรส์ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2% ส่วน Fed มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.25-4.50% ซึ่งสูงกว่าของไทยประมาณ 2% อาจมองเป็นโอกาสลงทุนใน Money Market ของสหรัฐฯ แต่ควรระวังความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เพราะหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาด
นอกจากนี้ ศิริพร แนะนำว่า ควรให้ความสำคัญคอนเซปต์ “GO GLOBAL” และ “Diversification” คือกระจายความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี ผ่านกลยุทธ์การจัดพอร์ตแบบ ‘Core & Satellite’ โดย ‘Core’ เป็นส่วนที่มั่นคงและมีโอกาสให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว กระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก แนะนำลงทุนใน ‘Global Balanced Fund’ ส่วน ‘Satellite’ เป็นการเลือกลงทุนจากการประเมินสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ โดยปัจจุบันให้น้ำหนักกับกองทุนตราสารหนี้ไทย
วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA, กรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทย เสริมว่า ควรพิจารณาลงทุนในตลาดโลกสำหรับ Core Port เพราะมีโอกาสลงทุนที่กว้างกว่า และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีจากสินทรัพย์หลายประเภท มีธีมการลงทุนที่อาจไม่มีในประเทศไทย เช่น หุ้นเทคโนโลยี การแพทย์ พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารพอร์ตด้วยเครื่องมือการลงทุนหลากหลายที่มีในตลาดโลก เช่น หุ้น ตราสารหนี้ สินทรัพย์ทางเลือก ทำให้มีตัวเลือกหลากหลาย ช่วยบริหารพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/stock-investment/246095
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา