เมื่อวาน เวลา 06:00 • ข่าวรอบโลก

แนะ!! ท่าที ‘ไทย' หลังทรัมป์เรียกเก็บภาษีนำเข้า 36% ‘เจรจาและเจรจา’ อย่าท้าทายด้วยการขึ้นภาษีตอบโต้

☝️Click >> ‘ทรัมป์’ ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ทั่วโลก 10% ไทยโดนหนัก 36% ทางออกการค้าไทยอยู่ตรงไหน?
🔎Clear >> แผ่นดินไหวสะเทือนในเวทีการค้าโลกเป็นที่เรียบร้อย เมื่อ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% หรือก็คือทุกประเทศต้องโดนภาษีอย่างต่ำ 10% สำหรับสินค้าทุกประเภทที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ และจะเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งเป็นการยกระดับสงครามการค้าที่เขาได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหลังกลับสู่ทำเนียบขาว
หลายประเทศที่ได้รับผลจากมาตรการนี้ ก็ประกอบไปด้วย จีน 34%, สหภาพยุโรป 20%, เกาหลีใต้ 25%, ญี่ปุ่น 24% และ ไต้หวัน 32% เพื่อตอบโต้ภาษีที่ประเทศเหล่านี้เก็บกับสินค้าของสหรัฐฯ
ขณะที่ประเทศไทยติดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของอัตราภาษีสูงสุดที่ 36% ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม (46%), อินโดนีเซีย (32%), มาเลเซีย (24%), กัมพูชา (49%), เมียนมา (44%) และลาว (48%)
ในส่วนของประเทศไทย ตอนนี้จึงน่าจะต้องเร่งหาทางเลือกและทางรอดหลังเจอภาษีจัดหนักจากทรัมป์ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บล.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้มุมมองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้ว่า...
Heavy Tariff ของทรัมป์ประกาศแล้ว ไทยโดนจัดเพิ่มหนัก ๆ 36% สาเหตุที่โดนหนัก ทรัมป์ อ้างว่าเพราะไทยไปเก็บภาษีจากสหรัฐเยอะ 72% (ไม่รู้ว่าอ้างจากสินค้าตัวไหน แต่ที่แน่ ๆ ไม่ใช่ทั้งหมด น่าจะเป็นสินค้าที่ไทยต้องปกป้องอุตสาหกรรมหรือการเกษตรบางอย่างในประเทศ)
ในเมื่อไม่ใช่สินค้าทั้งหมดที่เราไปเก็บ 72% ฉะนั้นแล้วที่ไทยจะโดน 36% ก็ไม่น่าจะต้องเป็นทั้งหมดเช่นกัน (อันนี้ผมยังไม่แน่ใจ)
ผลกระทบต่อ GDP หนักแน่ เอาแค่ที่เคยประเมินไว้ถ้าโดน 15% จะกระทบกับ GDP 1.5% เท่านี้ก็หนักละ นี่มาเจอ 36% ยิ่งหนักเข้าไปกันใหญ่ แต่คงไม่ถึงเกิน 2% หรือถึงขั้นกระทบรุนแรง 3.6% ตามบัญญัติไตรยางศ์
เป็นเพราะทรัมป์จัดเก็บภาษีหนักแบบตอบโต้ถ้วนหน้า คือเกือบทุกประเทศโดนหมด การแข่งขันด้านราคาของแต่ละประเทศจึงไม่น่ารุนแรงมากไปกว่าเดิมเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ คือ มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปสหรัฐฯ ต้องลดลง เพราะราคาสินค้าบวกภาษีที่สูง หนึ่งกำลังซื้อในสหรัฐฯ จะลดลง และสองสินค้าที่ไทยส่งออกจะถูกทดแทนด้วยสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ เอง
สิ่งที่ไทยต้องเร่งทำจากนี้ คือ เจรจา เจรจา และเจรจา เพราะตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย ปี 2567 ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ 5.49 หมื่นล้านเหรียญคิดเป็น 18.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 3.6 หมื่นล้านเหรียญ
การไปคิดสู้และทำการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสวนกับสหรัฐแบบที่ ‘จีน’ หรือ ‘อียู’ กำลังจะทำ จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ทรงนี้สู้ไปยิ่งตายเปล่า
ไทยต้องยอมเปิดตลาดการค้าของตัวเองต่อสหรัฐฯ ให้มากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตร (เช่น หมูเนื้อแดง) สินค้าอุตสาหกรรมหนัก (เครื่องจักร อาวุธสงคราม) การเปิดเสรีด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการร่วมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงทางทหาร ที่ต้องมีมากขึ้น จะติ๊ดชึ่งทำตัวเป็นกลางรอเก็บกินอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว กระนั้นก็ต้องประเมินผลกระทบทั้งได้และเสียให้ดี
นอกจากนั้นต้องเร่ง แสวงหาเพื่อนร่วมปัญหา เจรจาเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างไทยและประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เพื่อชดเชยตลาดสหรัฐฯ ที่กำลังจะหดตัว
เร่งลดการขาดดุลการค้ากับจีนให้ได้ กำแพงภาษีระหว่างไทยกับจีนต้องมีมากขึ้น เพราะจากนี้ไทยจะเกินดุลการค้าสหรัฐน้อยลง (ที่ผ่านมาได้การเกินดุลจากสหรัฐชดเชยกับที่ขาดดุลจากจีน) หากไม่ลดการขาดดุลการค้ากับจีนลงมาในวันนี้ อนาคตก็เตรียมขาดดุลมโหฬาร และไทยจะเข้าสู่สภาวะล้มละลายจนเจ๊งเหมือนอย่างที่หลายประเทศที่พึ่งพาจีนกันเป็นหลักได้เจอกันมา
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประชาชนในสหรัฐฯ ต้องเป็นฝ่ายได้รับกระทบ จากการเจอช็อกเวฟ ราคาสินค้านำเข้าทั้งหมดจะพุ่งพรวดขึ้น ขณะที่การผลิตในสหรัฐยังไม่สามารถผลิตทดแทนได้ทัน เงินเฟ้อจะทะยานสวนทางกับกำลังซื้อที่หดตัวอย่างรวดเร็ว แม้เกมนี้ทรัมป์บอกจะแก้ด้วยการลดภาษีในประเทศครั้งใหญ่ แต่คลื่นของราคาสินค้านำเข้าแพง ย่อมสร้างความปั่นป่วนแน่นอน
ดังนั้นสหรัฐฯ จะต้องมีการผ่อนปรนมาตรการภาษีเกิดขึ้นแน่ ๆ แต่จะเกิดขึ้นกับประเทศไหน อย่างไร ทุกอย่างก็อยู่ที่การเจรจาต่อรอง
ด้าน ดร.สันติธาร เสถียรไทย Future Economy Advisor สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงอาฟเตอร์ช็อกของมาตราการครั้งนี้ว่า อาจจะรุนแรงและซับซ้อน
เพราะว่าหลายประเทศอาจเลือกที่จะใช้ไม้แข็งตั้งกำแพงภาษีกลับ สู้กันไปมา ทำให้การค้าโลกโดยรวมทรุดกว่าที่คิด
บางประเทศอาจเสี่ยงตกเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย (ความเสี่ยงของอเมริกาเองก็เพิ่มขึ้น)
เมื่อตลาดอเมริกาเหมือนจะกลายเป็น เมืองล้อมด้วยกำแพง ที่สินค้าเข้าไม่ได้หรือยากขึ้น ทุกประเทศก็จะคิดคล้าย ๆ กันคือ ต้องส่งออกไปตลาดอื่น
ดังนั้นการแข่งขันจะเข้มข้นขึ้นทั้งสำหรับการส่งออกของไทยในตลาดที่ 3 และสินค้านำเข้าจากประเทศต่าง ๆ อาจทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น
เดิมการลงทุนที่ไทยได้จากการหลบเลี่ยงสงครามการค้าระหว่าง จีนและสหรัฐฯ อาจชะงักหรือชะลอ เพราะตอนนี้ไทยเองก็โดนภาษีในระดับสูงเช่นกัน (แม้ว่าเวียดนามจะโดนมากกว่า)
แน่นอนว่า ยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง เช่น กำแพงภาษีทั้งหมดนี้เจรจาได้แค่ไหน แต่ความไม่แน่นอนนี่เองก็จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกต้องหยุดเพื่อรอดู ปรับแผน มีผลลบกับเศรษฐกิจการลงทุนทันที
แต่สำหรับไทย นี่คือ ‘แผ่นดินไหว’ ทางการค้าโลกที่มีผลกระทบต่อไทยอย่างมาก (และมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เคยคิดกัน) แน่นอน
ทั้งนี้ ดร.สันติธาร มองว่า ไทยจำเป็นต้องมี War Room ทีมพิเศษที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนเตรียมรับมือเรื่องนี้และให้เป็นเรื่องเร่งด่วนพิเศษ
ส่วนภาคธุรกิจต่าง ๆ เองก็คงต้องเตรียมรับมือแรงกระแทกและปรับกลยุทธ์หาโอกาสในวิกฤตเช่นกัน เพราะช็อกครั้งนี้อาจไม่ใช่กระแทกระยะสั้น แต่จะมีผลปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจการค้าโลกระยะยาวด้วย
โฆษณา