3 เม.ย. เวลา 12:45 • ประวัติศาสตร์

จักรวรรดิโรมันใช้เงินไปกับ “กองทัพ” เท่าไร

หลายคนน่าจะรู้จัก และทราบดีว่า “จักรวรรดิโรมัน (Roman Empire)” คือหนึ่งในอาณาจักรที่รุ่งเรืองและโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
และหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้จักรวรรดิโรมันรุ่งเรือง ยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ “กองทัพ”
กองทัพโรมัน ได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่เกรียงไกรและน่าเกรงขาม หากแต่สิ่งที่แลกมากับความยิ่งใหญ่นี้ ย่อมไม่ฟรี ต้องมีค่าใช้จ่ายแน่นอน
เหล่าทหารต้องมีค่าจ้าง ไม่มีใครมารบให้ฟรีๆ
“จักรพรรดิออกัสตัส (Augustus)” จักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิโรมัน ทรงสร้างกองทัพทหารอาชีพด้วยพระองค์เอง โดยมีระบบการจ่ายค่าตอบแทนทหารอย่างเป็นระเบียบ
ทหารแต่ละนายจะได้รับค่าจ้าง และหลังจากทำงานในกองทัพมาเป็นเวลา 20 ปี ก็จะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ หรือไม่ก็ได้รับที่ดินซักผืน
ในรัชสมัยของจักรพรรดิออกัสตัส กองทัพโรมันมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของดินแดน
จักรพรรดิออกัสตัส (Augustus)
หากแต่จักรพรรดิออกัสตัสนั้นก็ไม่ธรรมดา พระองค์ทรงเป็นนักการเมืองที่ปราดเปรื่อง และตระหนักดีว่าหากทุ่มงบประมาณไปกับกองทัพมากเกินไป เศรษฐกิจพังแน่
ดังนั้น แทนที่จะสร้างกองทัพที่ประกอบด้วยกองทหารจำนวนมหาศาล พระองค์ทรงไปเน้นที่คุณภาพแทนปริมาณ โดยทหารโรมันทุกนายจะได้รับการฝึกอย่างหนัก ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างเข้มงวด ทำให้ทหารทุกนายต่างเป็นนักฆ่าฝีมือดี สามารถรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจักรพรรดิออกัสตัสก็ไม่ได้ขี้เหนียวซะทีเดียว ทรงทุ่มกับเสบียงอาหารอย่างเต็มที่ ทหารต้องกินอิ่ม อาหารต้องดี
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขนาดของกองทัพโรมันก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อถึงศตวรรษที่ 4 กองทัพโรมันก็มีจำนวนทหารกว่า 650,000 นาย
สำหรับงบประมาณสำหรับกองทัพในช่วงหลังนั้น ก็เรียกว่าเงินรายได้แผ่นดินกว่า 80% นั้น คืองบกองทัพ
ค.ศ.150 (พ.ศ.693) กองทัพโรมันมีจำนวนทหารประมาณ 383,000 นาย ซึ่งประกอบด้วย
-กองทหารราบจำนวน 155,000 นาย (ทหารที่เป็นพลเมืองโรมัน)
-ทหารกองหนุน 218,000 นาย (ทหารที่ไม่ใช่พลเมืองโรมัน มักจะเป็นทหารเชลยจากดินแดนที่โรมันเข้ายึดครอง)
2
-ทหารรักษาพระองค์ 10,000 นาย (ทหารส่วนพระองค์ของจักรพรรดิ)
ทีนี้ ลองมาดูค่าตอบแทนของทหารกันดีกว่า
-ทหารรักษาพระองค์จะได้รับค่าตอบแทนปีละ 1,000 เดนาเรียส
-ทหารราบจะได้รับค่าตอบแทนปีละ 300 เดนาเรียส
-ทหารกองหนุนจะได้รับค่าตอบแทนปีละ 100 เดนาเรียส
-ทหารม้ากองหนุนจะได้รับค่าตอบแทนปีละ 333 เดนาเรียส
-เซนทูเรียน (Centurion) ซึ่งเทียบเท่ากับประมาณร้อยเอก จะได้รับค่าตอบแทนปีละ 4,500 เดนาเรียส
-เซนทูเรียนอาวุโสจะได้รับค่าตอบแทนปีละ 9,000 เดนาเรียส
-เซนทูเรียนระดับสูงสุดจะได้รับค่าตอบแทนปีละ 18,000 เดนาเรียส
-ทหารเรือจะได้รับค่าตอบแทนปีละ 100-300 เดนาเรียส ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ประจำการ
และนอกเหนือจากเงินเดือน ทหารยังมีค่าตอบแทนอื่นๆ อีกด้วย นั่นก็คือเงินโบนัสพิเศษ ซึ่งเหล่าทหารจะได้เมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ รวมทั้งเงินโบนัสที่ได้เมื่อทหารเกษียณ โดยอาจจะได้ในรูปแบบของเงินหรือที่ดิน
นอกเหนือจากเงินโบนัสเหล่านี้ องค์จักรพรรดิยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องทรงจ่ายเพื่อบำรุงรักษากองทัพ เช่น
-ค่าเสบียงอาหาร
-ค่าอาวุธ
-ค่าป้อมปราการ
-ค่าขนส่ง
ในปีค.ศ.150 (พ.ศ.693) ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในส่วนของกองทัพ จะอยู่ที่ 167.5 ล้านเดนาเรียสต่อปี ในขณะที่พระคลังมหาสมบัติมีรายได้ปีละประมาณ 210 ล้านเดนาเรียส
แต่คำถามที่หลายคนน่าจะอยากรู้ก็คือ
ในปีค.ศ.150 (พ.ศ.693) 1 เดนาเรียสมีมูลค่าเท่าไร?
เหรียญเดนาเรียส
เดนาเรียสนั้นเป็นค่าเงินในรูปแบบของเหรียญตรา ใช้กันทั่วราชอาณาจักรโรมัน และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ 211 ปีก่อนคริสตกาล และเหรียญเดนาเรียสหนึ่งเหรียญ จะประกอบด้วยแร่เงิน 3.41 กรัม มีความบริสุทธิ์เท่ากับ 83.5%
และในช่วงปีค.ศ.150 (พ.ศ.693) เงิน 1 เดนาเรียสจะสามารถซื้อสิ่งของได้ดังนี้
-ขนมปัง 16 แถว
-ไวน์ 8 ลิตร
-น้ำมันมะกอก 1 ลิตร
ซึ่งแน่นอนว่าเงินค่าตอบแทนทหาร ก็ล้วนมาจากงบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น
จักรวรรดิโรมันนั้นเป็นดินแดนกว้างใหญ่ มีประชากรในปีค.ศ.150 (พ.ศ.693) กว่า 60 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาลในยุคโบราณ
แต่ถึงจะมีดินแดนกว้างใหญ่ ประชากรมหาศาล แต่ท้องพระคลังก็มักจะเงินขาดมืออยู่เสมอ
รายได้ของท้องพระคลังนั้น 80% มาจากการเก็บภาษี ที่เหลืออีก 20% มาจากเครื่องบรรณาการที่แคว้นต่างๆ ส่งมาบรรณาการ รวมทั้งยังมีรายได้จากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กับการทำเหมืองแร่ รวมทั้งสมบัติที่ยึดได้จากการทำสงคราม
1
สำหรับภาษีจำนวน 80% ของรายได้ทั้งหมดของจักรวรรดิโรมันนั้น อาจจะแบ่งได้ดังนี้
-50% คือภาษีที่ดิน
-20% คือภาษีส่วนบุคคล
-10% คือภาษีการค้า
สำหรับเหตุผลที่ท้องพระคลังมักจะขาดแคลนเงินเป็นประจำ นั่นก็เช่น
1.การเกษตร
ชาวโรมันกว่า 80% ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร หากแต่แรงงานเกินครึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่มีอายุไม่ถึง 25 ปี ทำให้คนกลุ่มนี้จ่ายภาษีน้อยหรือไม่ต้องจ่ายเลย
2.การหลบเลี่ยงภาษีของคนรวย
มหาเศรษฐีชาวโรมันจำนวนมากนั้นมีทรัพย์สินมหาศาล มากกว่างบประมาณแผ่นดินซะอีก หากแต่คนกลุ่มนี้มักจะหลบเลี่ยงภาษีได้เสมอ
3.การรุกรานดินแดนอื่นที่เริ่มทำได้ยากขึ้น
สมบัติที่ได้จากการรุกรานดินแดนอื่นนั้น เป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญของจักรวรรดิโรมัน หากแต่เมื่อการรุกรานดินแดนอื่นเป็นไปได้ยาก ก็ส่งผลต่อเงินในระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิโรมัน
แต่ถึงเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหน แต่งบประมาณสำหรับกองทัพก็ไม่สามารถปรับลดได้
กองทัพโรมันนั้นเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของจักรวรรดิโรมัน ทั้งช่วยในการขยายดินแดนและป้องกันประเทศ อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถส่งเสริมหรือทำลายจักรพรรดิซักองค์ได้
และขนาดของกองทัพก็มีแต่จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
-ในสมัยศตวรรษที่ 1 จักรวรรดิโรมันมีทหารจำนวน 300,000 นาย
-ในสมัยศตวรรษที่ 4 จักรวรรดิโรมันมีทหารจำนวน 650,000 นาย
ในสมัยศตวรรษที่ 5 จักรวรรดิโรมันมีทหารจำนวน 600,000 นาย
ด้วยจำนวนที่มากมายมหาศาลขนาดนี้ ดังนั้น งบประมาณที่ใช้ในการดูแลกองทัพย่อมไม่ธรรมดา
จักรพรรดิโรมันหลายพระองค์ก็พยายามจะเอาใจทหารด้วยการเพิ่มค่าตอบแทนทหาร โดยในรัชสมัยของ “จักรพรรดิเซ็ปติเมียส เซเวอรัส (Septimius Severus)” ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ค.ศ.193-211 (พ.ศ.736-754) ทหารได้รับค่าแรงขึ้นเป็นสองเท่าจากในรัชสมัยจักรพรรดิออกัสตัส
จักรพรรดิเซ็ปติเมียส เซเวอรัส (Septimius Severus)
ซึ่งเงินค่าตอบแทนทหารนั้นมีแต่จะต้องขึ้น การจะปรับลดค่าตอบแทนทหารนั้นไม่ต้องพูดถึง หากทำอย่างนั้นคือการฆ่าตัวตายสำหรับองค์จักรพรรดิ
หากปรับลดค่าตอบแทนทหาร เหล่าทหารจะไม่พอใจ และทำการกบฏ ต่อต้านราชสำนัก และจบลงด้วยการที่องค์จักรพรรดิถูกปลงพระชนม์
เมื่อถึงสมัยศตวรรษที่ 4 กองทัพโรมันได้ขยายกำลังพลไปเป็นจำนวนกว่า 650,000 นาย ซึ่งนั่นก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล
จักรวรรดิโรมันยังประสบปัญหาจากอีกหลายๆ ปัจจัย ทั้ง
-การรุกรานจากชนเผ่าต่างๆ
-ประชากรลดลงอย่างมาก
-การค้าที่ติดลบ
-การคอร์รัปชั่นและการเก็บภาษีได้น้อย
ด้วยปัญหาต่างๆ รัฐบาลจึงทำการปรับลดค่าเงินเดนาเรียสลงด้วยการลดจำนวนแร่เงินในแต่ละเหรียญ ทำให้ภายในปีค.ศ.275 (พ.ศ.818) เหรียญเดนาเรียสก็แทบจะไร้ค่า ไร้ราคา
ดังนั้น เมื่อมาถึงรัชสมัยของ “จักรพรรดิดิออเคิลเทียน (Diocletian)” ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ค.ศ.284-305 (พ.ศ.827-848) พระองค์จึงทรงปรับโครงสร้างอาณาจักรครั้งใหญ่ ตั้งแต่ระบอบสังคมไปจนถึงกองทัพ เช่น
-มีการบังคับประชาชนให้ทำงานในอาชีพของตนไปตลอดชีวิต ห้ามเปลี่ยนอาชีพ
-ประชาชนต้องถูกผูกติดกับที่ดินและงานของตน
จักรพรรดิดิออเคิลเทียน (Diocletian)
แต่การปฏิรูปนี้ก็ช่วยซื้อเวลาได้แค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ช่วยให้จักรวรรดิโรมันตะวันตกรอดจากการล่มสลายไปได้เพียงแค่ประมาณ 250 ปีเท่านั้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แผ่นดินนั้นจำเป็นต้องมีทหารไว้ดูแลรักษา เป็นหน่วยงานที่จำเป็นเพื่อความอยู่รอดของประเทศ
หากแต่การตั้งกองทัพนั้นจำเป็นต้องใช้เงิน และใช้เงินไม่น้อยด้วย
การทุ่มงบประมาณกับการทหารมากเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ แต่หากให้งบประมาณน้อยเกินไป กองทัพก็อาจจะด้อยประสิทธิภาพ
1
อาจจะเรียกได้ว่ารัชสมัยของจักรพรรดิออกัสตัสเป็นช่วงเวลาที่กองทัพสามารถรักษาสมดุลได้อย่างดี เน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป กองทัพนั้นใหญ่ขึ้น ก็ทำให้ปัญหาต่างๆ ตามมาจนนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด
โฆษณา