5 เม.ย. เวลา 01:30 • ประวัติศาสตร์

มอง “ประวัติศาสตร์พม่า” โดยสังเขป จากอาณาจักรศรีเกษตรของปยู สู่ประเทศเมียนมาร์ยุคใหม่

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ไหวสะเทือนมาถึงยังกรุงเทพมหานครก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศต้นทางอย่างเมียนมาร์ ประเทศเมียนมาร์หรือพม่าก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานในอดีตในระดับที่เคยเป็นอดีตมหาอำนาจของภูมิภาค ทำให้ในพม่ามีร่องรอยทางอารยธรรมและประวัติศาสตร์อยู่เต็มไปหมด และจำนวนไม่น้อยก็ได้เสียหายไปในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย
พม่า นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ในฐานะของคู่สงครามไปจนถึงฐานะของมิตรเพื่อบ้านในประชาคมอาเซียน แต่กว่าที่ประเทศพม่าจะเติบโตและผ่านช่วงเวลาการเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคมาถึงปัจจุบันได้นั้น พวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง? All About History ในสัปดาห์นี้จะขอพาย้อนเวลากลับไปเรียนรู้กัน
⭐ “ศรีเกษตร” อาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินพม่า
พื้นที่ดินแดนพม่าในปัจจุบันนั้น ปรากฎมนุษย์รวมกลุ่มก้อนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่ชาวปยูรวมกลุ่มกันตั้งรัฐปยู และชาวมอญรวมกลุ่มกันตั้งรัฐสะเทิมขึ้นมา รัฐปยูมีสถานะเป็นกลุ่มเครือรัฐอิสระที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพม่า โดยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปยู ซึ่งยังคงมีข้อถกเถียงเรื่องช่วงเวลาอยู่บ้างว่าเครือรัฐปยูอยู่มาตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่ ในเครือรัฐปยูมีเมืองอยู๋ด้วยกันหลายต่อหลายเมือง โดยหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดและได้รับการยกให้เป็นมรดกโลกก็คือที่ “ศรีเกษตร”
อาณาจักรศรีเกษตรถูกตั้งขึ้นมาราวช่วงศตวรรษที่ 5-7 เป็นเมืองที่ใหญ่และหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีอยู่มากโดยส่วนใหญ่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธที่ชาวเครือรัฐปยูรับเข้ามา และมีความสำคัญในภูมิภาคผ่านฐานะของเมืองท่าที่ชาวจีนและชาวอินเดียจะมาพบปะแลกเปลี่ยนสินค้ากันในลุ่มแม่น้ำอิรวดี ศรีเกษตรดำรงความเป็นรัฐอยู่ได้มาเป็นเวลาหลายร้อยปี มีกษัตริย์อยู่ราว ราชวงศ์ซึ่งก็มีความสำคัญอย่างการคิดค้นปฏิทินปยูที่ซึ่งต่อมาได้เป็นรากฐานของปฏิทินพม่า
เครือรัฐปยูมาถึงกาลล่มสลายราวช่วงศตวรรษที่ 9 จากการเข้ามาของคนต่างถิ่นจากน่านเจ้า เป็นกลุ่มคนต่างถิ่นที่จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ตรงนี้และวางรากฐานยาวมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขาคือ “ชาวพม่า”
⭐ ”พุกาม” มหาอำนาจแห่งอุษาคเนย์ที่ยืนหยัดสู้พระนคร
การมาถึงของชาวพม่าได้แทนที่ชาวปยูดั้งเดิม พร้อมกับสถาปนา “พุกาม” ขึ้นมาเป็นเมืองหลวง ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่า “ก่อนอาณาจักรพุกาม” กระทั่งเกิดการสถาปนาอาณาจักรพุกามขึ้นมาในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธามังช่อ ที่ได้ทำสงครามและกลืนรัฐรอบข้างไม่ว่าจะเป็นฉาน ยะไข่ หรือสะเทิม เข้าไป กลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ที่ทรงอำนาจเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค และเป็นการรวมชาติครั้งแรกของพม่าด้วย
อาณาจักรพุกามค่อนข้างมีรากฐานทางศาสนาที่ปลูกฝังมาเป็นอย่างดี โดยพุกามได้อัญเชิญพระไตรปิฎกและพระสงฆ์จากสะเทิมเข้ามาเผยแผ่ศาสนา ทำให้เกิดการทำนุบำรุงศาสนาผ่านการสร้างศาสนสถานมากมายจนได้ชื่อว่าเป็น “ทะเลเจดีย์” ด้วย นอกจากนี้แล้วนโยบายในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธามังช่อก็ยังมีความสำคัญในการปูรากฐานทางเศรษฐกิจของพม่าในยุคแรกเริ่มด้วยผ่านการปลูกข้าวมาเป็นจำนวนมหาศาลกลางอาณาจักร
ความแข็งแรงของอาณาจักรและการเป็นมหาอำนาจในทางด้านเศรษฐกิจทั้งจากการที่เป็นแหล่งพบปะของจีนกับอินเดีย และจากนโยบายการสร้างยุ้งฉางประเทศด้วย ทำให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากทางราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์โจฬะ ซึ่งเป็นมหาอำนาจใหญ่ของเอเชีย ตลอดจนแข็งแกร่งเทียบเคียงกับอาณาจักรพระนครด้วย เนื่องด้วยว่าอาณาจักรพุกามสามารถต้านทานไม่ให้อาณาจักรพระนครที่นำโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 รุกล้ำข้ามเทือกเขาตะนาวศรีมาได้
1
พุกามดำเนินอยู่ในยุคสมัยรุ่งเรืองมาได้เป็นเวลานานจนกระทั่งไม่สามารถที่จะขยายอาณาจักรได้อีก บ้านเมืองสงบเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่ด้วยอุปนิสัยและพฤติกรรมที่อุทิศที่ดินให้กับศาสนาโดยไม่เก็บภาษีนั้นยังคงดำเนินอยู่ เมื่อวัดมากขึ้นและการจัดเก็บภาษีน้อยลงทำให้ท้องพระคลังร่อยหรอ กลายเป็นว่าความใจบุญสุนทานกลายเป็นสิ่งที่กัดกินพุกามจนพรุนจากภายใน ก่อนที่จะล่มสลายเมื่อการมาถึงของ “มองโกล” ที่นำโดยกุบไลข่าน เมืองพุกามแตกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ น้อย ๆ และเกิดการผุดอาณาจักรใหม่ ๆ ขึ้นมา
⭐ “มยีนไซ่ง์” ถึง “อังวะ” และอาณาจักรน้อยใหญ่ในยุครณรัฐ
เมื่อพุกามแตกพ่าย อาณาจักรน้อยใหญ่ก็เกิดขึ้นมาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีอาณาจักรใหญ่อยู่หลายอาณาจักรที่สำคัญ
จะขอเริ่มที่อาณาจักรที่คนไทยคุ้นชินกันที่สุดอย่าง “หงสาวดี” กันก่อน หลังจากที่ประกาศอิสรภาพจากพุกาม หงสาวดีก็ย้ายมาซบเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย โดยมีปฐมกษัตริย์คือพระเจ้าฟ้ารั่ว หรือที่ในราชาธิราชเรียกว่า “มะกะโท” นี่เอง กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าราชาธิราชก็ได้ทำการรวมแผ่นดินมอญเป็นปึกแผ่นอยู่ทางตอนใต้ของพม่า และเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่มีอำนาจมากที่สุดในแถบนั้นหลังการล่มสลายของพุกามด้วย
2
ในขณะเดียวกัน อาณาจักรที่เป็นอาณาจักรของชาวพม่าอย่างมยีนไซ่ง์ก็นับว่าเป็นอีกอาณาจักรที่แข็งแกร่ง โดยสามารถต้านทานการรุกรานของมองโกลครั้งที่ 2 ได้ และตั้งตนเป็นอิสระสำเร็จ และรวมรวบอาณาจักของชาวพม่ารอบข้างมาอยู่ภายใต้ได้ และเกิดการผลัดเปลี่ยนอาณาจักรมาเป็นปี้นยะ และซะไกง์ โดยในตอนที่ผลัดจากปี้นยะมาเป็นซะไกง์นั้นก็เกิดอีกหนึ่งอาณาจักรตามมา “อาณาจักรอังวะ”
อาณาจักรอังวะเกิดขึ้นมาและกลืนซะไกง์เข้าไป เป็นอาณาจักรพม่าที่จะกลับมารวมชาติใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยมองว่าตนเองเป็นผู้สืบทอดพุกามที่แท้จริง และประกาศสงครามกับรอบข้างทั้งฉาน ยะไข่ และหงสาวดี อังวะยึดได้อยู่หลายเมือง แต่ก็ไม่สามารถสำเร็จภารกิจลุล่วงได้ เนื่องจากสงครามรอบด้าน รวมไปถึงการประกาศตนเป็นอิสรภาพของเมืองเล็ก ๆ ที่จะกลายมาเป็นมหาอำนาจใหญ่ที่ไม่แพ้พุกามอย่าง “ตองอู”
1
⭐ “ตองอู” จักรวรรดิของชายผู้ชนะสิบทิศ
ตองอูประกาศอิสรภาพมาเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ก็สามารถกลายมาเป็นมหาอำนาจได้โดยมีปัจจัยสำคัญคือเป็นเมืองที่อยู่ท่ามกลางขุนเขาซึ่งทำหน้าที่เป็นป้อมปราการธรรมชาติและยุทธภูมิที่ดี พระเจ้าเมงจีโยได้รวบรวมชาวพม่ามาตั้งรกรากอยู่ในตองอูเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ก่อนที่ในรัชสมัยของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จะเริ่มรุกรานอาณาจักรน้อยใหญ่ข้าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งอังวะ หงสาวดี ปะสิม แปร จนกลายมาเป็นอาณาจักรใหญ่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ที่ซึ่งตองอูปกครองทั้งตอนเหนือและตอนใต้ของพม่า
นอกจากนี้แล้วพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยังมีนักรบคนสำคัญอย่าง “บุเรงนอง” ผู้เป็นพระมหาอุปราชาด้วย
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เป็นคนที่ค่อนข้างใจกล้า ดังที่เล่ากันว่าพระองค์เป็นพม่าแต่หาญกล้าไปทำพระราชพิธีเจาะพระกรรณที่เจดีย์ชเวมอดอ กลางเมืองหงสาวดี โดยมีทหารคุ้มกันแค่ 500 นายเท่านั้นเอง โดยหลังจากที่ชนะหงสาวดีได้ก็ทรงย้ายเมืองหลวงมายังหงสาวดีเพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านการค้ากับชาวยุโรป โดยหลังจากที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถูกลอบลงพระชนม์ พระเจ้าบุเรงนองก็ได้ขึ้นครองราชย์ท่ามกลางความวุ่นวายในตองอูที่เกิดขึ้นหลังการสวรรคต
พระเจ้าบุเรงนองใช้เวลาในการปราบกบฎไม่กี่ปีก็สำเร็จ พร้อมก็ได้ทรงสานต่อสิ่งที่รัชกาลก่อนหน้าตั้งใจทำเอาไว้จนสำเร็จลุล่วง นั่นก็คือการยึดครองกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ได้ทำให้ลุล่วงในครั้งสงครามพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ หรือสงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย พระเจ้าบุเรงนองได้ใช้ประสบการณ์จากการรบกับอยุธยาเมื่อคราวก่อนนั้นมาใช้จนสามารถเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ และแผ่ขยายอำนาจของตองอูกลืนทั้งอยุธยาและล้านช้าง แผ่ออกไปชิดชายแดนเวียดนามและกัมพูชาได้
ความสำเร็จในการสงครามของพระเจ้าบุเรงนองได้นำมาซึ่งฉายาที่เรียกขานกันในนามของพระเจ้าชนะสิบทิศนี่เอง
การสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนองก็ได้สร้างความระส่ำระส่ายให้กับตองอูไม่ต่างจากเมื่อครั้งพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ประกอบกับการปกครองของพระเจ้านันทบุเรงที่ไม่ได้ดีมากนัก ทำให้เกิดการประกาศอิสรภาพของรัฐต่าง ๆ อย่างหงสาวดี และอยุธยาขึ้นมา ความระส่ำระส่ายในเมืองหงสาวดีทำให้ตองอูมาถึงยุคเสื่อมและมีการฟื้นฟูโดยการย้ายเมืองหลวงไปอังวะ ซึ่งก็ฟื้นฟูได้ไม่เท่าไหร่ก็ล่มสลายลงไปอีกครั้งหนึ่ง และเกิดอาณาจักรใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งภายใต้ชื่อของ “คองบอง”
⭐ “คองบอง” บัลลังก์มยุรารำแพนหาง
คองบอง หรือโก้นบอง ถูกสถาปนาขึ้นมาโดยพระเจ้าอลองพญา เพื่อเป็นการต่อกรกับหงสาวดีที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ภายใต้การระส่ำระส่ายของตองอูโดยมีความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก พระเจ้าอลองพญาได้รวบรวมชาวพม่าและบุกเข้าตีหงสาวดีและขับไล่ชาวตะวันตกออกไปได้สำเร็จ พร้อมกับเริ่มตีกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาที่ซึ่งชาวมอญจำนวนมากหนีมาพึ่งใบบุญ จนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2 ในรัชสมัยของพระเจ้ามังระ
แต่ทั้งนี้การเสียกรุงครั้งที่ 2 ไม่เชิงว่าเป็นการยึดครองเป็นประเทศราชในทันที เนื่องจากพม่าติดสงครามจากมหาอำนาจใหญ่ของเอเชียอย่างจีนที่ยกทัพลงมา ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจเพราะว่ากองทัพพม่าในสมัยคองบองก็เก่งกาจไม่แพ้สมัยมยีนไซ่ง์ โดยสามารถเอาชนะกองทัพจีนได้สำเร็จและรักษาเอกราชเอาไว้ได้ โดยราชวงศ์คองบองก็ยังไม่ละเลิกที่จะยึดครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและอาณาเขตสยาม จนนำมาซึ่งสงครามเก้าทัพในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ก็ไม่สำเร็จ
ในยุคราชวงศ์คองบองเป็นยุคที่เต็มไปด้วยสงครามอีกยุคหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเอาชนะรัตนโกสินทร์ได้ แต่ก็ยังสามารถเอาชนะจีน และยะไข่ได้สำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันความสำเร็จทางด้านสงครามนี้ก็ได้ดึงดูดให้เกิดสงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่งจากบริติชราชที่จะนำมาซึ่งจุดสิ้นสุดของระบอบกษัตริย์ของพม่าในกาลต่อมา
⭐ “บริติชราช” มรณกรรมของเหล่ามยุเรศ
คองบองฮึกเหิมที่สามารถชนะจีนได้และปรารถนาที่จะขยายอำนาจเข้าสู่เบงกอลโดยการทำสงครามกับอังกฤษ ซึ่งทางบริติชราช หรืออาณานิคมอินเดียของอังกฤษก็ได้สู้ศึกกับคองบองอันนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ โดยเสียทั้งเงินและดินแดนในสงครามอังกฤษพม่าครั้งที่ 1 และเสียพม่าตอนล่างทั้งหมดในอังกฤษในสงครามอังกฤษพม่าครั้งที่ 2 ดินแดนพม่ากลายมาเป็นของขวัญวันปีใหม่ให้กับสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียไปโดยปริยาย ในขณะที่ราชวงศ์คองบองถูกเนรเทศออกไปยังอินเดีย เป็นอันสิ้นสุดยุคสมบูรณายาสิทธิราชย์ในพม่า
สังคมของพม่าภายใต้การปกครองของอังกฤษก็คล้ายคลึงกันกับอาณานิคมอื่น ๆ อังกฤษได้เข้ามาปฏิรูปประเทศให้สมแก่การเป็นเมืองตะวันตก มีการสร้างโรงเรียน โรงเรียนเหล่านี้สอนทั้งภาษาอังกฤษและพม่าก็จริง แต่ในแง่ของศาสนาก็นับว่าเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเดิมทีผู้ที่อุปถัมป์รายใหญ่ของพระศาสนาก็คือกษัตริย์ พอไม่มีกษัตริย์ก็ทำให้ศาสนาพุทธในพม่าอ่อนแอตามไปด้วย
ในแง่ของเศรษฐกิจก็นับว่ารุ่งเรืองอยู๋ไม่น้อยจากการที่เป็นจุดพบปะของจีนกับอินเดียมาแต่อดีตทำให้ดินแดนพม่ามีข้อดีในแง่ของการเป็นเมืองท่าการค้า อังกฤษได้นำเมืองท่าพม่าเข้าสู๋การค้าสากล มีการเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวมากขึ้นในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่ฐานของประชากรมาตั้งอยู๋กันหนาแน่นในบริเวณดังกล่าว
แรงงานจากอินเดียถูกพาย้ายมาตั้งถิ่นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและกสิกรรมในอาณานิคมพม่าอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ดี ผลผลิตส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตกอยู่กับชาวพม่าเท่าไหร่มากนัก ความเป็นอยู่ของชาวพม่าค่อนข้างลำบากอยู่มากเมื่อเทียบกับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาภายใต้การปกครองของอังกฤษ
⭐ “พม่า” ถึง “เมียนมาร์” หลังประกาศอิสรภาพ
หลังจากที่อยูภายใต้การปกครองไปนาน ๆ ลัทธิชาตินิยมก็เริ่มแพร่ขยายเข้ามา และเกิดการจราจลขึ้นมาบ้างจากกลุ่มหัวก้าวหน้าที่ประสงค์จะแยกตัวจากอังกฤษ ซึ่งนำโดยกลุ่มที่เรียกว่า ตะขิ่น อย่างไรก็ดี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่าก็ถูกยึดครองโดยกองทัพญี่ปุ่น แต่ก็ได้ไม่นานได้ไม่นานนัก ซึ่งทางทหารอังกฤษก็มายึดคืนได้สำเร็จโดยมีกลุ่มตะขิ่นที่นำโดยนายพล “ออง ซาน” พาพรรคพวกแยกออกมาตั้งองก์กรต่อต้านฟาสซิสต์โดยร่วมมือกับอังกฤษแทน
ซึ่งความดีความชอบในครั้งนั้นทำให้พม่าได้เครดิตที่ดีที่จะเจรจาขอเอกราชจากอังกฤษได้เป็นผลสำเร็จ แต่สำหรับนายพลออง ซานนั้นถูกลอบสังหารไปโดยฝ่ายที่ฝักใฝ่ญี่ปุ่น
พม่าหลังจากได้รับอิสรภาพ ก็อยู่ในรัฐบาลประชาธิปไตยได้ไม่นานนัก บ้านเมืองก็เกิดการระส่ำระส่าย การเมืองถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว เสถียรภาพทางการเมืองเกิดขึ้นได้ไม่นานนักพม่าก็เข้าสู่ช่วงรัฐบาลเผด็จการภายใต้การปกครองเน วิน กลายมาเป็นรัฐบาลเผด็จการสังคมนิยม
ยุคมืดทางการเมืองนั้นก็ได้นำมาซึ่งก็มีการเรียกร้องประชาธิปไตยเรื่อยมา เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง รวมไปถึงสงครามกลางเมือง ก่อนที่ประเทศพม่าจะได้รับประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งในช่วงปี 2015 ที่ผ่านมาโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจีชนะการเลือกตั้งได้ และนำมาสู๋การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่า แต่ถึงอย่างนั้นความเสถียรภาพทางการเมืองก็เกิดขึ้นได้ไม่นาน และนำมาสู่สถานการณ์ทางการเมืองภายใต้รัฐบาลของมินอ่องหลายในปัจจุบัน
ดินแดนพม่าเป็นดินแดนที่มีพื้นฐานทางภูมิประเทศที่ดีอีกประเทศหนึ่งเลยทีเดียว ถ้าหากเราได้มองย้อนดูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเพียบพร้อมของความอุดมสมบูรณ์ ทำเลที่ตั้งที่เหมาะแก่การค้า ที่เป็นปัจจัยหลักของความมั่งคั่งของพม่าในอดีต พม่าผ่านมาแล้วทั้งยุคทอง รวมไปถึงยุคมืด และในทุกยุคมืด พม่าก็เคยมีความหวังและข้ามผ่านมันมาได้หลายต่อหลายครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นการรุกรานจากมองโกล หรือการรุกรานจากจีน ซึ่งล้วนแต่เป็นมหาอำนาจใหญ่ที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะสามารถรอดจากเคี้ยวเขี้ยวของมหาอำนาจเอเชียอย่างนั้นได้ หรือแม้แต่ในช่วงที่อังกฤษปกครอง ขบวนการชาตินิยมในพม่าก็ยังไม่ย่อท้อจนสามารถสร้างชื่อเสียงที่่ดีสำหรับต่อรองกับอังกฤษได้ หรือแม้แต่ในช่วงรัฐบาลทหารเองก็ยังไม่ย่อท้อ มีการระท้วงจนนำมาสู๋การเลือกตั้งได้ในที่สุด ความไม่ย่อท้อนับว่าเป็นอีกหนึ่งอุปนิสัยของพม่าที่แสดงออกมาให้เห็นในทุกยุคทุกสมัยบนประวัติศาสตร์ของพม่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี่เอง…
ผู้เขียน : ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#ประวัติศาสตร์ #พม่า #เมียนมาร์ #โบราณคดี #อาเซียน #Bnomics #BBL #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ
อ้างอิง:
เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. พิมพ์ครั้งที่ 3. Museum Press: นนทบุรี. 2560.
จักรมนตรี ชนะพันธ์. 13 กุมภาพันธ์ 1915 วันเกิด นายพลอองซาน บิดาแห่งเอกราช วีรบุรุษของพม่า. ศิลปวัฒนธรรม [Online]. 2568. https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_7856
อภิชัย อารยะเจริญชัย. ประวัติศาสตร์จานเดียว พม่า. [e-book] เข้าถึงได้จาก https://knowledge-center.museumsiam.org/uploads/siam/book_copy/2015/10/DB000051_BArXhXAXBNZR/file/BArXhXAXBNZR.pdf
ทิน อ่อง, อู, ค.ศ. 1908-1978 (2548). ประวัติศาสตร์พม่า. มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:26578
นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, 2404-2474 (2456). พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม 1. โรงพิมพ์กรุงเทพ. เข้าถึงได้จาก https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:169971
Wonder Bagan. History of Bagan. accessed from https://wonderbagan.com/en/history
Lieberman, Victor B. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800–1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80496-7. Accessed from https://archive.org/details/strangeparallels0000lieb
Aung-Thwin, Michael. “The Myth of the ‘Three Shan Brothers’ and the Ava Period in Burmese History.” The Journal of Asian Studies 55, no. 4 (1996): 881–901. https://doi.org/10.2307/2646527.
โฆษณา