3 เม.ย. เวลา 12:57 • การ์ตูน

EP : 1,313 สุริยะปราชญ์ ทฤษฎีสีเลือด

โอเคครับ เวลามันผ่านไปรวดเร็วดีแท้ และไม่คิดว่าเรื่องนี้จะมีจำนวนเล่มประมาณเท่านี้ด้วย เพราะหลังปล่อยให้เวลาผ่านไปซักระยะเท่านั้น เรื่องนี้ก็ถึงเล่มจบโดยใช้เวลาไม่นาน เลยเป็นที่มาของการหยิบมาอ่านและรีวิวอีกครั้งแบบเมื่ออ่านเรื่องนี้จบกับมังงะชั้นดีกับการนำเสนอเรื่องความเชื่อและความเป็นมนุษย์ใน “สุริยะปราชญ์ ทฤษฎีสีเลือด” ครับ
ก่อนอื่นหากใครยังไม่เคยอ่านรีวิวของเรื่องนี้ก่อนหน้านี้แนะนำให้ไปอ่านก่อนนะครับ เพราะผมจะต่อเรื่องราวเลยไม่กลับไปเล่าให้ซ้ำกันครับ รบกวนกดไปอ่านที่ลิงค์นี้ครับ
หรือผ่านลิงค์นี้ครับ
โอเคครับมาถึงจุดนี้แล้วผมถือว่าอ่านกันมาแล้วนะครับ เพราะในรีวิวครั้งนี้ผมพยายามจะพิมพ์ไม่ให้เยอะเกินไปด้วยอะไรหลายๆอย่างที่ผมได้เขียนไว้ในรีวิวตอนอ่านเล่ม 1-2 ตามลิงค์ที่ผ่านมาครับ งั้นขอต่อเรื่องราวดังนี้เลยนะครับ
อย่างที่เรารู้กันสิ่งที่เรื่องนี้สร้างเอาไว้ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ต้นยาวไปถึงตอนจบสิ่งนั้นก็คือ “การพูดคุย” หรือ “บทสนทนา” ระหว่างตัวละครครับ แน่นอนมันเป็นเรื่องราวของความเชื่อ และการพยายามหา “คำตอบ” ให้กับคำถาม ในบริบทที่ศาสนามีบทบาทในการกำหนดชีวิตของมนุษย์ทุกคนให้เป็นหรือตาย ด้วยคำกล่าวอ้างที่พูดถึงตัวตนอันสูงส่งที่เรียกว่า “พระเจ้า”
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้อ่านจากบทสนทนาไม่ว่าจะดี ร้าย ทั้งในสภาพสงบ กำลังต่อสู้ กำลังดิ้นรนหนีตาย หรือแม้แต่กำลังจะสังหารซึ่งกันและกัน ล้วนแต่เต็มไปด้วยความเชื่อในแบบที่ตัวละครในตอนนั้นกำลังคิดและเชื่อ แม้หลายเรื่องจะเต็มไปด้วยความหวั่นไหวหรือความไม่แน่ใจ บทสนทนาที่สามารถสื่อสารความรู้สึก และสิ่งที่กำลังเกิดและกำลังเกิดขึ้นต่อจากนั้นได้เป็นอย่างดี คือหัวใจของเรื่องนี้ และมันสามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีเยี่ยมครับ
ตั้งแต่เล่มแรกยันเล่มสุดท้าย บทสนทนาต่างๆที่นำเสนอแนวทางตามความเชื่อของแต่ละตัวละคร ทำออกมาได้ดีมากๆครับ แม้จะทำให้ทั้งเรื่องเต็มไปด้วยตัวอักษรก็ตาม แต่เชื่อว่าหลายๆคนก็อ่านมันด้วยความรู้สึกสนุกและตื่นเต้นไปกับเส้นทางของตัวละครที่อยากจะให้คำตอบกับสิ่งที่พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงมันให้ได้ เพราะฉะนั้นในแง่เนื้อหาที่เดินด้วยบทสนทนาของในเรื่องนี้บอกได้เลยว่า ดีเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัยครับ
มันอาจจะดูไม่ชวนหาอ่านไปซักหน่อยสำหรับใครที่ไม่ชอบมังงะแนวตัวหนังสือเยอะๆ แต่มันคือความจริงที่ว่าจุดที่น่าสนใจ เป็นหัวใจของเรื่องนี้ก็คือบทสนทนาต่างๆนี่แหล่ะครับ การเถียงกันเรื่องความเชื่อตามยุคสมัยที่เรื่องหยิบยกมา
การปะทะของความคิดเชิงศรัทธาที่อยู่ในรูปของขั้วตรงข้ามและความย้อนแย้งทั้งกับผู้อื่นและจิตใจตัวเอง คือสิ่งที่เรื่องนี้ใช้ในการส่งข้อความต่างๆส่งให้กับผู้อ่าน ซึ่งผมก็ต้องยอมรับว่าบทสนทนาที่ว่ามานี้นอกจากจะเต็มไปด้วยความน่าสนใจแล้ว ยังเรียบเรียงให้ง่ายต่อการเข้าใจได้ดีอีกด้วย ต้องชมทั้งต้นฉบับและคนแปลเรื่องนี้ที่ทำให้ส่วนสำคัญนี้ยังคงถ่ายทอดให้กับผู้อ่านได้ดีในระดับนี้ครับ
หนึ่งในฉากที่ผมมองว่าทั้งหลายทั้งปวงเอามาใส่ไว้ในช่วงเวลาได้ดี คือช่วงท้ายที่นำบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกันและไม่ใช่ตัวหลักที่เราอ่านมาก่อนหน้านี้ มาอยู่ในสถานที่เดียวกันนั่นคือโบสถ์หรือจะบอกให้ชัดคือห้องสารภาพบาป ก่อนที่จะสนทนาเกี่ยวกับเรื่องในใจหรือปมในใจของทั้งสองฝั่งเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งเนื้อเรื่องในส่วนนี้จะบอกเล่าทั้งความหวัง ความเจ็บปวด ความสุขจากการได้พบเจอสิ่งที่ชื่นชอบ ความเจ็บจากการถูกหักหลัง เหตุและผลของความสุขและความเจ็บปวด และบาปในแง่ของแต่ละคน
แม้จะเป็นบทสนทนาที่ไม่เฉียบคมหรือลงตัวแบบสุดๆ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือความขัดแย้งของหลายๆอย่างที่ชวนให้คิด ทั้งในตัวบุคคลและความขัดแย้งของอดีตและปัจจุบัน ที่ทำให้ผมสนุกและคิดได้เยอะมากจากฉากนี้ รวมถึงความย้อนแย้งของห้องสารภาพบาปนี้ที่ในความเป็นจริงมันคือนวตกรรมหรือสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อหารายได้เข้าศาสนาเป็นหลัก แต่มันถูกใช้เป็นที่ปลดเปื้องบาปหรือความทุกข์ใจของผู้มีศรัทธาได้ตลอดมา ทำให้นี่เป็นอีกฉากหนึ่งในเรื่องนี้ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวของมันที่ผมนึกออกในจังหวะนี้ครับ
นอกจากบทสนทนาที่ผมชื่นชอบอย่างมากแล้ว การสร้างไทม์ไลน์ของการส่งต่อความเชื่อเหล่านี้ก็ทำออกมาได้ดีมากด้วย เรื่องนี้ใช้ความแตกต่างของไทม์ไลน์ต่างๆ ให้ออกมาน่าสนใจมากๆ คือเราไม่ค่อยเจอเรื่องราวที่มีการส่งต่อมากกว่า 2 หรือ 3 ไทม์ไลน์ในเรื่องเดียวซักเท่าไหร่
เพราะส่วนหนึ่ง การจะสร้างความสัมพันธ์ขึ้นระหว่างคนอ่านและตัวละครไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้เรื่องนี้จะนำเสนอชะตากรรมให้เราเห็นตัวละครอย่างโต้งๆ เพื่อให้เราเอาใจช่วยก็ตาม เพราะแบบนั้นเมื่อเรื่องไหนทำการเชื่อมต่อระหว่างคนอ่านและตัวละครได้แล้วก็มักเล่าเรื่องราวโดยเลี้ยงความสัมพันธ์ที่ต่อติดนี้ไปเรื่อยๆ
แต่ก็อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อย่างนั้น การสร้างเรื่องราวการส่งต่อไปยัง เหตุการณ์ที่ 2 ,3 หรือ 4 ไปแบบนี้เรื่อยๆ โดยไม่ทำให้เรื่องดูดร๊อปเกินไป เป็นสิ่งที่ทำกันได้ไม่ง่ายเลย และนอกจากจะทำออกมาได้ดีในแนวทางแบบนี้แล้ว บริบทของเรื่องราวที่กำลังนำเสนอ ก็ดูเข้ากับเรื่องราวของความเป็นจริงที่เคยเกิดขึ้นอีกด้วย มันก็เลยดูสมจริงและเป็นการสนับสนุนให้เรื่องราวมีน้ำหนัก
ความเป็นไปได้ที่สมจริงไปทุกอย่าง แม้มองอีกมุมนึงอาจจะรู้สึกว่ารูปแบบของแต่ละช่วงจังหวะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เพราะเรื่องใช้เอกลักษณ์และบุคลิกของตัวละครสร้างความแตกต่างให้กับเรื่องแทน ความสนใจของคนอ่านอย่างเราๆ จึงถูกสร้างให้คล้อยตามด้วยความเป็นปัจเจกบุคคลของแต่ละตัวละครแทนสถานการณ์ที่เรื่องกำลังเล่าอยู่ครับ
รวมถึงความดราม่าในเรื่องความสัมพันธ์ด้วย เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเราจะเห็นความเกี่ยวข้องในลักษณะบุคคลที่ถูกนำพาไปสู่ความขัดแย้งในแง่ใดแง่หนึ่งอยู่เสมอ ทำให้ในแง่การเล่าเรื่อง ความดราม่าจึงเป็นสิ่งที่เรื่องใช้หล่อเลี้ยงอยู่ตลอดทั้งเรื่องเหมือนกันครับ เรียกว่าอยู่ควบคู่กันไปทั้งเรื่อง
เอาจริงๆ เรื่องนี้ก็คือมังงะแนวดราม่าทางความคิดอันเข้มข้นบนพื้นฐานของสังคมทางยุโรปกลาง ที่แม้เรื่องจะบอกว่ามันมีปัญหาต่างๆมากมายเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น แต่สิ่งเหล่านั้นก็หล่อหลอมและกลายมาเป็นพื้นฐานของสังคมในโลกอยู่ตอนนี้ เพราะมนุษย์ต้องเจ็บปวดก่อนเสมอ เรียนรู้จากเลือดและความตาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เรียนรู้แม้จะน้อยนิดก็ตามทีครับ
“สุริยะปราชญ์ ทฤษฎีสีเลือด” เรื่องและภาพโดย อ. Uoto นี่น่าจะเป็นเรื่องแรกที่ผมได้รู้จักผลงานของ อ. ท่านนี้นะ แม้ลายเส้นอาจจะไม่ถูกใจผม แต่ในแง่เนื้อหา การเรียบเรียง ถือว่าทำออกมาได้น่าจดจำอย่างมาก ยิ่งรู้ว่าเรื่องนี้ อ. คิดไว้ตั้งแต่อายุ 20 นิดๆ และเขียนตอน อายุ 24 แล้ว เทียบกับเนื้อเรื่องที่หนักและเต็มไปด้วยบทสนทนาอันน่าสนใจนี้แล้ว ผมถือว่าอายุไม่ได้เยอะเลย น่าสนใจมากๆว่าอนาคตจะมีผลงานเรื่องไหนออกมาให้เราได้อ่านกันหรือเปล่า และแน่นถ้ามีออกมาผมรับรองว่าจะหามาอ่านแน่นอนครับ
นี่เป็นมังงะแนวดราม่า พีเรียด กึ่งชีวประวัติ? ที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ผ่านเรื่องราวความเชื่อ ศาสนา และการหาคำตอบให้กับความสงสัย ในฉากหลังของยุโรปยุคกลางได้ดีเรื่องหนึ่งในยุคนี้เลยครับ แม้จะมีจุดสังเกตอยู่บ้างในแง่งานวาด แต่ในแง่เรื่องราวที่นำเสนอ สามารถทำออกมาได้น่าจดจำอย่างมาก เป็นงานหนักๆ ที่แฝงปรัชญาเอาไว้หลายอย่างด้วยการเชื่อมโยงที่แสนเจ็บปวด
และไม่อาจปฎิเสธได้ว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราไม่มีช่วงไหนที่ปราศจากเลือดหรือการสูญเสียเลย เป็นอีกเรื่องที่แนะนำให้อ่านครับ จำนวนเล่มไม่เยอะมาก แค่ 8 เล่มจบเอง แถมมากับค่ายที่ลดราคาหนังสือเป็นว่าเล่น อย่างพี่หยามครับ ใครสนใจจัดเลยครับ โปรลดราคาจุกๆ ปวดใจสำหรับคนซื้อทีละเล่มจัดอยู่ตอนนี้ ขนาดนี้แล้วไม่ซื้อ ก็ใจแข็งไปนะครับ 555
ภาพ 5.5/10 (ลายเส้นไม่ถูกใจ แต่ถ้าใช้ในการสื่อสารได้ดีไหมให้ 8/10ครับ)
เรื่อง 9/10 (น่าสนใจมากๆชอบเลย รักครับ รักนะจุ๊บๆ)
ความประทับใจ 9.5/10 (อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวนะครับ หลายคนถ้าได้อ่านคงอยากให้น้อยกว่านี้ก็ไม่แปลก ผมขอเอียงให้ความประทับใจด้วยความชอบส่วนตัวครับ)
 
#Manga #รีวิวการ์ตูน #8เล่มจบ #SiamInterComics #การ์ตูนแนวความเชื่อ #การ์ตูนแนวดราม่า #MangaAnimeReviews #การ์ตูนแนวพีเรียด #9คะแนน #สุริยะปราชญ์ทฤษฎีสีเลือด #หนังสือการ์ตูน #Rate15 #สยามอินเตอร์คอมมิค #การ์ตูนแนวศาสนา
โฆษณา