4 เม.ย. เวลา 11:04 • ประวัติศาสตร์

• รู้ไหมคำสาปฟาโรห์มีอยู่จริงนะ แต่เกิดจาก ‘เชื้อรา’ ต่างหาก

พฤศจิกายนปี 1922 ไม่นานหลังจากที่ฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) นำทีมนักโบราณคดีเปิดสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน สมาชิกหลายคนของทีมโบราณคดีที่มีส่วนในการเปิดสุสาน ก็ได้พากันทยอยเสียชีวิตในเวลาที่ไล่เรี่ยกัน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่สนับสนุนเงินทุนอย่างลอร์ดคาร์นาร์วอน (Lord Carnarvon) ที่ก็เสียชีวิตอีกราว 5 เดือนต่อมา
การตายของสมาชิกทีมนักโบราณคดี ก็ทำให้เรื่องราวของอาถรรพ์สุสานฟาโรห์ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง จนสร้างความน่ากลัวปนสยองขวัญให้กับผู้คน คำสาปที่ว่ากันว่า องค์ฟาโรห์ได้สาปแช่งให้ใครก็ตามที่รบกวนสุสานของพระองค์จะต้องมีอันเป็นไปทุกราย
อย่างไรก็ตามเรื่องราวอาถรรพ์ที่ว่านี้ ก็ได้ถูกพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ไม่ได้เกิดจากอาถรรพ์หรือคำสาปแช่งใด ๆ แต่เกิดจากเชื้อราชนิดหนี่งที่มีชื่อว่า แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus)
ฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ กับโลงพระศพฟาโรห์ตุตันคามุน
แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส เป็นเชื้อราที่ก่อโรคแอสเปอร์จิลโลซิส (Aspergillosis) ในมนุษย์ ซึ่งเป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจที่มีความรุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต โดยส่วนใหญ่มักส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ในกรณีที่ไม่รุนแรง โรคนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันและมีปัญหาด้านการหายใจ แต่ในกรณีที่รุนแรง เชื้อราอาจจะเติบโตในปอดและแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้
ในปี 1998 ดร. ซิลแว็ง กานดอน (Sylvain Gandon) นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยา (Laboratoire d’Écologie) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ทำการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า สปอร์ของแอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส สามารถอยู่ในสภาวะสงบนิ่งได้นานหลายร้อยปีโดยที่ยังก่อความรุนแรงได้อยู่
โดยแอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส ที่อยู่ภายในสุสาน จะเจริญเติบโตบนเมล็ดพืชที่ถูกทิ้งไว้หรือแม้แต่บนร่างมัมมี่ จากนั้นสปอร์ของเชื้อราจะแพร่เข้าสู่ทางเดินหายใจของผู้ที่เข้าไปในสุสาน โดยผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะมีความเสี่ยงสูง ที่เชื้อราจะก่อโรคอย่างรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลยก็ได้
เชื้อรา Aspergillus flavus
ในเดือนพฤษภาคม 1972 เคยเกิดกรณีที่ทีมนักโบราณคดี 10 จาก 12 คน ที่เปิดสุสานของกษัตริย์คาซิเมียร์ที่ 4 อันเดรเซย์ จากีลโลซซีก (Casimir IV Andrew Jagiellon) กษัตริย์โปแลนด์ในศตวรรษที่ 15 ที่ได้เสียชีวิตในช่วงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากเปิดสุสาน ซึ่งคาดว่าแอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส ก็คือต้นเหตุของเรื่องนี้
1
เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยในวารสารการแพทย์ The Lancet ในปี 2003 ที่ระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตลอร์ดคาร์นาร์วอนเกิดจากอาการปวดบวมที่มาจากการติดเชื้อแอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส
“สปอร์ของแอสเปอร์จิลลัส สามารถอยู่ในปอดของผู้ที่ติดเชื้อได้เป็นระยะเวลานานก่อนที่จะถูกกระตุ้น”
“เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1923 หนังสือพิมพ์ The Times of London รายงานว่า ลอร์ดคาร์นาร์วอนมีอาการ ‘เจ็บปวดเนื่องจากการอักเสบส่งผลต่อช่องจมูกและดวงตา’ คำอธิบายนี้สอดคล้องกับโรคไซนัสอักเสบจากเชื้อราแอสเปอร์จิลลัส ที่ลุกลามไปยังบริเวณเบ้าตา”
“ลอร์ดคาร์นาร์วอนสามารถสูดฝุ่นเมล็ดพืชที่ปนเปื้อนเข้าไปอย่างง่ายดายขณะที่หลุมศพที่ปิดสนิทถูกบุกรุกเข้าไป ตั้งแต่ที่เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1901 เขาก็มีอาการติดเชื้อในทรวงอกหลายครั้ง และจะอ่อนไหวต่อเชื้อราพิษเป็นพิเศษ อันที่จริงความอ่อนไหวที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจจะอธิบายได้ว่า ทำไมคนอื่น ๆ จึงไม่เสียชีวิตจากการติดเชื้อชนิดเดียวกันเมื่อเข้าไปในสุสาน” ทีมนักวิจัยกล่าวสรุป
ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Histofun Deluxe
อ้างอิง
• bigthink. The mummy’s curse might be real — but it’s caused by a fungus. https://bigthink.com/the-past/mummys-curse-fungus-mold-aspergillus/
• IFLScience. Could A Deadly Fungal Infection Explain The "Curse" Of Tutankhamun's Tomb?. https://www.iflscience.com/could-a-deadly-fungal-infection-explain-the-curse-of-tutankhamuns-tomb-68701
#HistofunDeluxe
โฆษณา