3 เม.ย. เวลา 13:27 • การศึกษา

BIMSTEC เขตเศรษฐกิจที่คนไทยต้องรู้ ! 📍 🇹🇭 🇮🇳 🇧🇩🇲🇲🇱🇰🇳🇵 🇧🇹

เราน่าจะเคยได้ยินกันไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องของความร่วมมือทางภูมิภาค เช่น อาเซียน (ASEAN) หรือแม้แต่การรวมตัวของประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น APEC แต่หนึ่งในองค์กรความร่วมมือที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่กลับเป็นที่รู้จักน้อยในประเทศไทย ก็คือ BIMSTEC หรือ "ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจหลากหลายสาขา" ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งล่าสุดนี้้ วันที่ 3-4 เมษายน
BIMSTEC ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) โดยเริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศในอ่าวเบงกอลเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย ต่อมามีการขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันทั้งด้านของการส่งเสริมการค้าและการลงทุน เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก
🚛ที่สำคัญคือการใช้ข้อได้เปรียบจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อกันในภูมิภาคอ่าวเบงกอล จึงได้มีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเชื่อมโยงการค้าอย่างเส้นทางคมนาคมเพื่อการขนส่ง อีกนัยคือการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ
🤝อีกทั้งยังการพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิก และการร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามทางความมั่นคง ที่กล่าวมาทั้งหมดคือการร่วมมือที่แทบจะครอบคลุมหมดทุกด้าน ถือว่าเป็นการจัดตั้งมาอย่างจริงจังเลยทีเดียว
💲ที่น่าสนใจคือการรวมตัวกันระหว่างของ 2 ภูมิภาค คือ SAARC ของเอเชียใต้ และ ASEAN บ้านเรา ที่ทั้งคู่มีประชากรรวมกันถึง 1.8 พันล้านคน โดยคิดเป็น 22% ของประชากรโลก และมีมูลค่าของ GDP 4.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 4.45% ของ GDP โลก) โดยมีสาขาความร่วมมือในปัจจุบันอยู่ที่ 7 สาขา (ในอดีต 14 สาขา) ได้แก่
1.การค้า การลงทุน และการพัฒนา
2.สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3.ความมั่นคง
4.การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร
5.การติดต่อระหว่างประชาชน
6.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
7.ความเชื่อมโยง
🚢หากสังเกตจากภูมิรัฐศาสตร์แล้ว อ่าวเบงกอลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุน เรือขนส่งที่จะเข้าสู่ช่องแคบมะละกาจะต้องผ่านอ่าวนี้ก่อน ซึ่งเป็นช่องแคบที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลคิดเป็นประมาณ 30% ของการค้าโลก อีกทั้งอ่าวเบงกอลยังมีทรัพยากรทางทะเลหลากหลาย เช่น ปลา น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากใต้ทะเล และการคมนาคมทางบกที่ทุกประเทศมีการเชื่อมต่อกันทางถนน และมีความยาวที่เชื่อมต่อกันอย่างต่อเนื่องกว่า 6000 กว่ากิโลเมตร
❗️ต้องยอมรับว่าทุกประเทศใน BIMSTEC ยังไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed countries) โดยมีความท้าทายด้านเศรษฐกิจด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เสถียร เช่น อินเดียและบังกลาเทศ จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การเติบโตนี้ยังไม่สามารถคงที่หรือมั่นคงในระยะยาวได้
❗️ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเช่น เงินเฟ้อสูง การขาดการลงทุนจากต่างประเทศ และความไม่เสถียรทางการเมืองมีผลต่อการพัฒนา ช่องว่างรายได้และความยากจน แม้ว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในบางประเทศ แต่ก็ยังมีความไม่เสมอภาคอย่างชัดเจนในเรื่องของการกระจายรายได้ ทำให้บางส่วนของประชากรยังคงมีความยากจนและไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้
❗️อีกเรื่องคือ ปัญหาด้านการเมืองและการปกครอง หลายประเทศในภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่บ่อยครั้ง รือการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หรือศาสนา
❗️และเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือเรื่องของปัญหาการทุจริตในระดับรัฐบาล อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับอนาคตอย่างแท้จริงคือระบบการศึกษา โดยเฉพาะในด้านคุณภาพของการศึกษาและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้แรงงานในภูมิภาคนี้ขาดทักษะที่จำเป็นต่อการเข้าร่วมในเศรษฐกิจระดับโลก ส่งผลทำให้เกิดความไม่เสมอภาคอย่างมากในด้านโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากร โดยเฉพาะในกลุ่มชนชาติพันธุ์หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม
❗️และอีกด้านคือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน เช่น การทำลายป่าไม้และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน
เรียกได้ว่าปัญหารุมเร้าในทุกมิติหากแยกเป็นรายประเทศ โดยหลายๆประเทศมักจะพบประสบปัญหาที่คล้ายๆกัน แม้ว่าที่มีการจัดตั้งความร่วมมือนี้มาแล้ว 28 ปี ในความคิดเห็นส่วนตัวประเทศที่พัฒนาได้อย่างเห็นได้ชัดคืออินเดียและไทยที่มีการผลักดันตนเองเข้าสู่ความร่วมมือต่างๆของโลก แต่ก็เป็นการพัฒนาแบบที่ไม่ยั่งยืนและในหลายๆมิติที่ยังคงมีปัญหาอยู่เหมือนเดิม
📈คงต้องจับตาดูการประชุมในครั้งนี้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น นโยบายต่างๆ จะถูกกำหนดไปในทิศทางไหน และไทยจะได้รับประโยชน์อะไรในการประชุมครั้งนี้ อาจจะได้เห็นโครงการใหญ่ๆเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นการประชุมในระดับสุดยอดผู้นำ จับตาดูไปพร้อมกันครับ🧐
🗺️Map by Arndvelli
โฆษณา