10 เม.ย. เวลา 12:00 • การศึกษา

"ดิสโทเปีย" & "ยูโทเปีย" สังคมที่ตรงข้ามในโลกนิยาย✍🏻✨

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า นิยายแนว “ดิสโทเปีย” และ “ยูโทเปีย” ผ่านหูกันมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ ซึ่งนิยายทั้งสองแนวนี้มีความเหมือนกันตรงที่ จุดเริ่มต้นมันคือการสร้างโลกตามอุดมคติในแบบของนักเขียนขึ้นมา แต่มันกลับเป็นโลกคนละแบบ และจะเป็นแบบไหน เราลองมาดูกันค่ะ
ยูโทเปีย (Utopia)
คำนี้มีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ จนกระทั่งกลายมาเป็นชื่อบทประพันธ์ของ “เซอร์โธมัส มอร์” (Sir Thomas More) ที่ได้เขียนไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1516 และถูกนำมาเปรียบให้เป็นภาพของโลกสมบูรณ์แบบ
ได้แก่ เมืองที่มีความสวยงาม สังคมที่อยู่กันอย่างปกติสุข มีทรัพยากรพอเพียง คนในสังคมเป็นมิตร เป็นเมืองที่มีระเบียบและได้รับความยุติธรรม เรียกได้ว่ามันเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดก็ว่าได้ จนต่อมาแนวคิดยูโทเปียนี้ก็กลายเป็นคำที่ใช้เรียกเมืองในฝัน ดังนั้นเวลาเราจะเขียนนิยายยูโทเปีย มันก็คือนิยายที่ Setting มีรากฐานมาจากเมืองที่มนุษย์ในสังคมนั้นอยู่กันอย่างมีความสุขนั่นเอง
ในขณะที่ดิสโทเปียนั้นกลับตรงกันข้าม...
ดิสโทเปีย (Dystopia)
หรือโลกหลังการล่มสลาย เป็นโลกที่ล้มเหลวในด้านใดด้านหนึ่งหรือทุกด้านของสังคมก็ได้ เช่น โลกที่พ่ายแพ้ให้กับโรคระบาด โลกที่การเมืองล้มเหลวจนมนุษย์ถือปืนต่อสู้กันจนล้มตายเป็นจำนวนมาก โลกที่ทรัพยากรเหลือน้อยจนต้องแย่งชิง ทำให้เกิดโลกที่หดหู่ ประชากรล้มตาย ถึงอย่างนั้นตัวละครก็จะต้องเอาตัวรอดและมีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงให้โลกกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง
เราจะเห็นว่าโลกทั้งสองแบบนี้มี Setting ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แบบแรกจะเป็นเหมือนสวรรค์บนดิน ขณะที่แบบที่สอง เรียกว่าเป็นนรกบนดินก็ว่าได้
โดยความนิยมในนิยายยุคปัจจุบันจะเห็นว่าทั้งนิยาย ภาพยนตร์ ซีรีส์จะมาในแนวดิสโทเปียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวเอาตัวรอดจากซอมบี้ ประเทศถูกแบ่งเป็นเขตเพื่อความอยู่รอดแล้วต้องส่งคนมาแข่งขันแย่งชิงกันเอง เนื่องจากโลกที่ล้มเหลวมักจะให้ความตื่นเต้น สร้างความรู้สึกอยากเอาใจช่วยตัวละครได้มากกว่าแนวยูโทเปียที่มีความสุขดีอยู่แล้ว
แต่ในความจริง ทั้งสองแบบนี้ก็ไม่ได้อยู่ฝั่งตรงข้ามหรือแตกต่างกันเสมอไปนะคะ
เราสามารถสร้างนิยายที่ตัวละครอยู่ในโลกยูโทเปียแต่ไร้ความสุข หรือตัวละครในโลกดิสโทเปียที่มีความสุขก็ทำได้เช่นกัน นั่นเพราะมนุษย์มักจะมีความปรารถนาในสิ่งที่ตัวเองยังไม่มีเสมอ โลกที่มีความสุขเกินไปสุดท้ายก็อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและอยากหลุดออกมา มุมมองของตัวละครจึงเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินว่าโลกที่นิยายสร้างขึ้นมา เป็นดิสโทเปียหรือยูโทเปียได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ในนิยายเรื่อง “Divergent” ว่าด้วยเรื่องราวของโลกในยุคที่มีการแบ่งตัวละครออกเป็น 5 กลุ่มตามความสามารถ ทุกคนจะอยู่ได้เพียงกลุ่มเดียวและถือว่าคนที่อยู่ได้มากกว่าสองกลุ่มขึ้นไปเป็นพวกไดเวอร์เจนท์ที่มีอันตรายต่อระบบสังคมที่สร้างขึ้นมากที่สุด
เราจะได้เห็นมุมมองของผู้นำด้านสติปัญญา ที่นี่คือยูโทเปียที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและทำหน้าที่ของตัวเองไป ขณะที่ในมุมมองของทริส นางเอกของเรื่องที่เป็นไดเวอร์เจนท์ ที่นี่เต็มไปด้วยปัญหา โลกนี้ตายแล้วสร้างใหม่มาอย่างไม่ถูกต้อง มันคือดิสโทเปียสำหรับเธอ
ดังนั้น มุมมองของตัวละครเป็นส่วนสำคัญ โดยนิยายก็อาจจะเล่าเรื่องราวจากดิสโทเปียไปสู่ยูโทเปีย หรือ ยูโทเปียไปสู่ดิสโทเปียได้ตามพลอตที่เราสร้าง และส่วนสำคัญของเรื่องอีกอย่างหนึ่งก็คือ Theme ที่เราสร้างขึ้นให้กับ Setting นี้ว่าต้องการให้ตัวละครเรียนรู้อะไรจากโลกที่เราสร้างให้เขาอยู่นั่นเองค่ะ
ยังไงลองใช้ทฤษฎีทั้งสองแบบ ไปสร้างโลกของนิยายตัวเองกันดูนะคะ
โฆษณา