Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ภาษี 'ทรัมป์' ไทยกระอักเจอ 'วิกฤติ' ซ้อน 'วิกฤติ' | บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ
ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีนำเข้าที่ “รุนแรง” โดยจัดเก็บภาษีขั้นต่ำ 10% กับทุกประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ และเพิ่มอัตราภาษีเป็น 37% สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 60 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ การประกาศดังกล่าวที่ “ทรัมป์” เรียกว่าเป็นการแก้ไขความไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐฯ แท้จริงแล้ว คือ การโจมตีระบบเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกอย่าง “ไทย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ประเทศไทยยังเผชิญกับเอฟเฟคแผ่นดินไหว ที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ยังไม่คลี่คลาย เรากลับต้องมาเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก ท่ามกลางปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่ผันผวน ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนในภาคการส่งออกซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย การเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จึงเหมือนเป็น “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” เหมือนจะเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของประเทศในการรับมือกับสารพัดปัจจัยลบ
ไม่มีทางไหนเลยที่จะรับมือวิกฤตินี้ได้ นอกจากประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวอย่างเป็นระบบ ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสำคัญที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เสื้อผ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อประเมินความเสี่ยงและจัดทำแผนรับมือที่ครอบคลุมทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 37% ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ระยะสั้นรัฐบาลควรเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ทันที เพื่อขอผ่อนปรนหรือยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าบางประเภทโดยอาศัยความสัมพันธ์ทางการทูตและความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ดีมายาวนาน อาจดำเนินการผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเช่นอาเซียน หรือ ดับเบิลยูทีโอ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่มากขึ้น ส่วนกลยุทธ์ระยะกลางถึงยาว ไทยต้องเร่งกระจายความเสี่ยงขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลางที่ศักยภาพการเติบโตสูง
รวมถึงการเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าส่งออกผ่านการวิจัย และพัฒนานวัตกรรม สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ลดการแข่งขันด้านราคา หลีกเลี่ยงการเป็นเพียงฐานการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ แต่เราต้องลุกขึ้นมาพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือพลังงานสะอาด
ประเทศไทยควรใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งส่งออกมากเกินไป ท้ายที่สุด การรับมือกับวิกฤติซ้อนวิกฤตเช่นนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราต้องเด็ดเดี่ยว ปรับตัวให้เร็ว มองการณ์ไกล วิกฤติครั้งนี้ แม้จะสร้างความยากลำบาก แต่อาจเป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จำเป็นและสร้างความยืดหยุ่นที่มากขึ้นในระยะยาว
บันทึก
8
3
8
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย