4 เม.ย. เวลา 08:00 • ข่าวรอบโลก

WTO สะเทือน ทรัมป์หั่นงบ-เดินเกมภาษี ระบบการค้าเสรีสั่นคลอน

ประมาณสามในสี่ของการค้าทั่วโลกยังอยู่ภายใต้กติกา WTO สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่สุด ได้ระงับการสนับสนุนเงิน ขณะที่การใช้นโยบายภาษี อาจทำให้บทบาท WTO ถูกลดทอน
1
องค์การการค้าโลก (WTO) กำลังพยายามเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องจากนโยบายภาษีของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งมีเจตนาคุ้มครองทางการค้าอย่างชัดเจนและสวนทางกับพันธกิจของ WTO ที่ส่งเสริมการค้าเสรี
ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา WTO ทำหน้าที่รักษาระบบการค้าที่อิงตามกฎเกณฑ์และไร้อุปสรรค เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยระบุว่าการค้าระหว่างประเทศเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.8% ซึ่งช่วยสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิต
แต่การที่สหรัฐฯ ยืนยันเดินหน้าใช้นโยบายภาษี อาจทำให้บทบาทของ WTO ถูกลดทอน ทั้งในด้านการกำกับดูแลการค้า บังคับใช้กฎระเบียบ และการเจรจาข้อตกลงใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ตัดสินใจระงับการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรนี้แล้ว
เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก รวมถึงเจ้าหน้าที่และผู้แทนประจำ WTO ปัจจุบันและอดีตรวม 12 คน ซึ่งต่างสะท้อนภาพขององค์กรที่กังวลต่ออนาคตภายใต้รัฐบาลทรัมป์ แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานต่อไปด้วยความหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ
รากฐานของการค้ายังอยู่ตรงนี้ และจะไม่หายไปไหน มันคือสิ่งที่รับประกันความมั่นคง ความคาดการณ์ได้ ความเชื่อถือ และสมาชิกทุกประเทศก็รู้ดี รวมถึงสหรัฐ
เธอกล่าว โดยอ้างถึงข้อตกลงที่กำกับดูแลเรื่องสิทธิบัตร มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร และการตีมูลค่าสินค้าเพื่อศุลกากร
ปัจจุบัน WTO ดูแลการค้าทั่วโลกมากกว่า 75% ลดลงจาก 80% เนื่องจากมาตรการภาษีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง แต่ก็ยังคงมีประเทศใหม่ยื่นขอเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ความกังวลในตอนนี้ เกิดขึ้นหลังจากหลายปีที่องค์กรเผชิญภาวะอัมพาตในระดับกลไกการระงับข้อพิพาทขั้นสูงสุดคือ “Appellate Body” เพราะสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ได้ขัดขวางการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไขในยุครัฐบาลไบเดน ยังคงเดินหน้าฝ่าวิกฤต
เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลทรัมป์มองว่า WTO เป็นองค์กรที่เปิดทางให้จีนได้เปรียบด้านการส่งออกผ่านการอุดหนุนจากรัฐอย่างมหาศาล โดยไม่เปิดตลาดให้กับธุรกิจต่างชาติ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ WTO ปฏิเสธ ขณะที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของ WTO กล่าวว่า ผู้คนในองค์กรรู้สึกกังวลเกี่ยวกับอนาคต แต่ยังไม่กลัวตกงานในตอนนี้
สำหรับความเป็นไปได้ในการลดงบประมาณรายงานระบุว่า WTO กำลังวางแผนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ในทางตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ที่ยังคงดูแลระบบระงับข้อพิพาทขั้นต้นของ WTO ซึ่งยังคงทำงานได้แม้จะไม่มีขั้นอุทธรณ์ กลับมีปริมาณงานเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์กลับมามีอำนาจ โดยมีคดีใหม่ยื่นต่อ WTO แล้ว 5 คดีตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
WTO ก่อตั้งในปี 1995 เพื่อสืบต่อบทบาทจาก GATT (General Agreement on Tariffs and Trade) และพัฒนาระบบการค้าสินค้าระหว่างประเทศให้มีโครงสร้างที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ปัจจุบัน การค้าทั่วโลกมีมูลค่าเกิน 30 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2001
ตามข้อมูลของธนาคารโลก การค้าระหว่างประเทศเพิ่มจาก 38% ของ GDP โลกในปี 1989 เป็น 61% ในปี 2008 ก่อนที่วิกฤตการเงินโลกจะทำให้ชะลอตัวลง หลังจากนั้นมีการขึ้น ๆ ลง ๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเสนอให้มีการจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 30 ปีของ WTO เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้แทนสหรัฐฯ กลับแสดงความกังวลเรื่องงบประมาณ และเสนอให้เปลี่ยนเป็นโอกาสแห่งการทบทวนอย่างรอบคอบ
ตามรายงานการประชุม WTO จึงยอมลดขนาดงานลง โดยกิจกรรมในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะมีเฉพาะสมาชิกเท่านั้น และค่าใช้จ่ายในการจัดงานเลี้ยงจะรับผิดชอบ โดยรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์
เมื่อถูกถามว่าสหรัฐฯ มีมุมมองต่อ WTO ในห้วง 30 ปีอย่างไร โฆษกของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ชี้ไปที่รายงานฉบับหนึ่งที่สำนักงานเผยแพร่ในเดือนมีนาคม โดยระบุว่า WTO ล้มเหลวในการบรรลุวัตถุประสงค์ของตน ผู้แทนหลายประเทศใน WTO ยังคงระมัดระวังต่อโอกาสที่จะมีข้อตกลงการค้าใหม่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เนื่องจากสมาชิกทั้ง 166 ประเทศต้องเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์
อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังอยู่บ้างกับข้อตกลงควบคุมเงินอุดหนุนประมงในปี 2022 ซึ่งอาจมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ หากมีอีก 17 ประเทศให้สัตยาบัน เจ้าหน้าที่ WTO บอกว่า อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลทรัมป์ที่เคยประกาศถอนตัวจาก WHO อย่างรวดเร็ว ก็ยังไม่ได้ประกาศว่าจะถอนตัวจาก WTO
หากมองไปในระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า ชะตากรรมของ WTO และระบบการค้าเสรีที่องค์กรปกป้องอยู่นั้น ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิด เช่น กลุ่มประเทศยุโรป
ปาสกาล ลามี อดีตผู้อำนวยการใหญ่ WTO ระหว่างปี 2005-2013 กล่าวกับ รอยเตอร์ ว่า WTO จะอยู่รอดได้ หากประเทศสมาชิกที่ไม่ใช่สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในพันธะที่ได้ให้ไว้ และตัดสินใจเดินหน้าระบบนี้ต่อไปโดยไม่มีสหรัฐฯ ก็ได้
โฆษณา