5 เม.ย. เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จัก “ตึกเต้าหู้” โครงการก่อสร้างคุณภาพต่ำ แตกเละง่ายเหมือนเต้าหู้

ทำความรู้จัก “ตึกเต้าหู้” อาคารที่ถูกสร้างขึ้นแบบไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้เกิดโศกนาฏกรรมหรือความสูญเสียที่ไม่ควรเกิด
เวลาที่มีเหตุการณ์อาคารพังถล่มแบบผิดปกติจากเหตุแผ่นดินไหว มักทำให้เกิดคำถามว่า อาคารเหล่านี้เข้าข่ายเป็น “โครงการกากเต้าหู้” (Tofu-dreg project) หรือ “ตึกเต้าหู้” (Tofu building) หรือไม่
ตึกเต้าหู้คืออะไร?
ตึกเต้าหู้เป็นคำที่สังคมจีนใช้เรียกอาคารใด ๆ ที่สร้างขึ้นอย่างหยาบ ๆ ย่ำแย่ ทำให้มีอายุการใช้งานสั้น หรือถึงขั้นเสี่ยงต่อการพังถล่ม โดยเปรียบเหมือนกับเต้าหู้ที่แตกเละง่ายและขาดความแข็งแรง
ซากอาคารโรงเรียนมัธยมเสวียนโข่ว ในมณฑลเสฉวน หนึ่งในตึกเต้าหู้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ลักษณะสำคัญของตึกเต้าหู้ ได้แก่ การใช้วัสดุคุณภาพต่ำหรือไม่เหมาะสม ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานและระเบียบข้อบังคับของอาคาร การดูแลและการจัดการที่ไม่เพียงพอในระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง ส่งผลให้มีการละเลยรายละเอียดที่สำคัญ และจุดอ่อนของโครงสร้างที่สำคัญ ซึ่งทำให้ตัวอาคารไม่ปลอดภัยและมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายหรือพังทลาย
นอกจากนี้ ยังล้มเหลวในการปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัย ซึ่งทำให้ทั้งคนงานก่อสร้างและผู้อยู่อาศัยในอนาคตมีความเสี่ยง ส่งผลให้โครงสร้างมักเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วและต้องซ่อมแซมบ่อยครั้ง
การก่อสร้างประเภทนี้มักเป็นผลมาจากมาตรการลดต้นทุนและการขาดการบังคับใช้กฎระเบียบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงต่อความปลอดภัยสาธารณะและนำไปสู่การสูญเสียทางการเงินครั้งใหญ่สำหรับเจ้าของทรัพย์สิน
เหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดจากตึกเต้าหู้
คำว่าตึกเต้าหู้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยนายกรัฐมนตรี จู หรงจี ในปี 1998 ซึ่งเขาได้กล่าวระหว่างเยี่ยมชมเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำแยงซีเกียงว่า เขื่อนกั้นน้ำเหล่านี้เปราะบางและมีรูพรุนเหมือนกากเต้าหู้ซึ่งเป็นเศษที่เหลือจากกระบวนการผลิตเต้าหู้
แต่ตึกเต้าหู้กลายเป็นคำที่ได้รับความสนใจไปทั่วประเทศหลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่เสฉวนในปี 2008 ซึ่งทำให้ผู้เสียชีวิตเกือบ 70,000 คน ในจำนวนนี้มีเด็กนักเรียนมากกว่า 5,000 คนเสียชีวิตจากอาคารเรียนที่พังถล่มลงมา โดยภายหลังมีการพิสูจน์ชัดว่า อาคารเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบและหละหลวม และโรงเรียนหลายแห่งสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างที่ด้อยคุณภาพ
ที่ยิ่งแล้วใหญ่คือ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหวเสฉวน ได้มีการสร้างอาคารที่ตั้งใจจะให้เป็นบ้านหลังใหม่สำหรับผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว แต่กลับพังถล่มลงมาในปี 2010 เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะสร้างเสร็จ
หรือเหตุการณ์โลตัสริเวอร์ไซด์คอมเพล็กซ์ในเซี่ยงไฮ้ ถล่มในปี 2009 โดยอาคารอะพาร์ตเมนต์สูง 13 ชั้นแห่งหนึ่งในคอมเพล็กซ์พังล้มลงนอนตะแคงแต่ยังคงสภาพสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ การสืบสวนพบว่า ฐานรากของอาคารก่อสร้างได้ไม่ดี โดยงานขุดดินเพื่อสร้างโรงรถใต้ดินทำให้ฐานของอาคารอ่อนแอลงและส่งผลให้อาคารถล่ม
ยังมีกรณีโรงเรียนมัธยมเฟิงหัว ในมณฑลเจ้อเจียง ที่หลังคาโถงกีฬาของโรงเรียนพังถล่มเมื่อปี 2014 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บอีกหลายคน การถล่มครั้งนี้เกิดจากวัสดุและวิธีการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน
ปี 2016 โรงแรมที่กำลังก่อสร้างในเมืองฮาร์บิน ทางเหนือของประเทศจีน ถล่มลงมา ทำให้คนงานเสียชีวิต 10 คน การถล่มครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับวิธีการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการใช้วัสดุที่ไม่เพียงพอและไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัย
เบื้องหลังการสร้างตึกเต้าหู้
การสร้างตึกเต้าหู้นั้นมักมีสาเหตุมาจากความเร่งรีบ หรือไม่ก็การทุจริตคอร์รัปชัน
โดยโครงการต่าง ๆ ในจีนมักเร่งรีบเพื่อสร้างอาคารหรือโครงสร้างต่าง ๆ ให้ทันกำหนดการหรือวันสำคัญ มักถูกเรียกว่า “โครงการเพื่อการสรรเสริญ” คือสร้างขึ้นเพื่อเอาหน้าโดยเฉพาะ
เช่น ก่อนครบรอบ 90 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2011 มีโครงการก่อสร้างจำนวนหนึ่งเปิดดำเนินการ รวมถึงสะพานอ่าวเจียวโจว อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่วันหลังจากสะพานเปิด สื่อจีนได้เผยให้เห็นว่า สะพานดังกล่าวไม่มีสลักเกลียวและเกิดช่องว่างในราวกั้น
หรือในปี 2007 สะพานในมณฑลหูหนานซึ่งตั้งใจจะเปิดให้ทันวันครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งเมืองในท้องถิ่นนั้นพังถล่มระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 64 ราย
ขณะเดียวกัน การทุจริตและการรับสินบนมีส่วนสำคัญต่อการสร้างตึกเต้าหู้ เมื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมักยักยอกเงินของโครงการออก ทำให้มีเงินทุนสำหรับจัดหาวัสดุที่มีคุณภาพและแรงงานที่มีฝีมือน้อยลง
นอกจากนี้ โครงการมักได้รับอนุมัติให้กับบริษัทที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่าบริษัทที่มีคุณสมบัติหรือฝีมือจริง ๆ
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นมีแรงจูงใจมหาศาลที่จะส่งเสริมการเติบโตอย่างรวดเร็วและไร้ขีดจำกัด และมักจะมองข้ามมาตรฐานการก่อสร้าง ประการหนึ่ง รัฐบาลท้องถิ่นพึ่งพารายได้จากการก่อสร้าง รวมถึงการขายที่ดินและค่าธรรมเนียมการโอน ซึ่งมีผลสืบเนื่องไปถึงการเลื่อนขั้นจองเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งจะได้เลื่อนตำแหน่งตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นของตน
เรียบเรียงจาก The Diplomat / Volume Concrete
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/245874
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา