5 เม.ย. เวลา 03:01 • การเมือง

The Last and Returning King of Nepal

การผงาดขึ้นของกลุ่มฮินดูหัวรุนแรงและกลุ่มที่ต้องการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ทำให้เนปาลเกิดความไม่แน่นอน และอาจนำไปสู่ “ภาวะอนาธิปไตย” (ไร้ผู้นำตัวจริง)
1
เกิดการประท้วงในกรุงกาฐมาณฑุเมืองหลวงของเนปาล เพื่อเรียกร้องให้กษัตริย์ชญาเนนทระแห่งเนปาล (Gyanendra Shah) กลับมาขึ้นครองบัลลังก์และประกาศให้เนปาลเป็นรัฐฮินดู กลายเป็นความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2025 การประท้วงดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายและได้รับบาดเจ็บหลายราย นอกจากนี้ยังมีการวางเพลิงและปล้นสะดมเป็นวงกว้างอีกด้วย [1]
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 เกิดเสียงคัดค้านของประชาชนทำให้กษัตริย์ชญาเนนทระต้องลงจากอำนาจ เนื่องจากฝ่ายอนุรักษนิยมหลุดจากวงอำนาจมานานนับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐในปี 2008 หรือกว่า 17 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเนปาลกำลังเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยเฉพาะในกรุงกาฐมาณฑุ เพื่อเรียกร้องให้พระองค์เสด็จกลับคืนสู่อำนาจและรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ในเนปาลขึ้นมาอีกครั้ง
1
  • ประวัติศาสตร์การล่มสลายของระบอบกษัตริย์ในเนปาล
1
ย้อนกลับไปช่วงปี 1996 – 2006 เนปาลต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงที่กินระยะเวลายาวนาน 10 ปี ถือเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลครั้งสำคัญกลางใจคนเนปาลที่ทุกวันนี้ยังคงเหลือร่องรอยอยู่ไม่มากก็น้อย
1
ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงความไม่ลงรอยกันทางความคิดระหว่างฝ่ายรัฐบาลและขบวนการเคลื่อนไหวเหมาอิสต์ (กลุ่มนิยมลัทธิเหมา ซึ่งปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดพรรคหนึ่งของเนปาล ครองที่นั่งในสภาจำนวนมาก) เท่านั้น แต่มันได้ขยายวงจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองด้วย เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มเหมาอิสต์ตัดสินใจจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อแสวงหาความเท่าเทียมและความเป็นธรรมจากภาครัฐ
ภายใต้การจับอาวุธต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐกับกลุ่มเหมาอิสต์ที่กินเวลาร่วม 10 ปี การเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขาดเสถียรภาพทางการเมือง อันส่งผลให้มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอยู่บ่อยครั้ง ห้วงเวลาดังกล่าวถือเป็นจุดตกต่ำของการเมืองเนปาล แต่จุดที่ต่ำสุดเริ่มขึ้นในช่วงปลายของสงครามกลางเมือง เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของเนปาลตัดสินใจลงมายุ่งเกี่ยวทางการเมืองโดยตรง [2]
เหตุการณ์ในช่วงสงครามกลางเมืองเนปาล ช่วงปี 1996 – 2006 "ขบวนการเคลื่อนไหวเหมาอิสต์" ลุกฮือจับอาวุธขึ้นต่อต้านรัฐบาลเนปาล เครดิตภาพ: https://athens.indymedia.org/post/5555
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2001 ครอบครัวของกษัตริย์ Birendra (พระเชษฐาของ Gyanendra) ถูกยิงเสียชีวิตโดยพระโอรสของพระองค์เองและมกุฎราชกุมาร Dipendra หลังจากยิงสมาชิกครอบครัวทุกคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ Dipendra ก็พยายามยิงตัวตายตามและเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บในสามวันต่อมา [3]
เหตุการณ์นี้ปูทางให้ Gyanendra Shah ซึ่งเป็นนักธุรกิจอยู่ในขณะนั้น ได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์เนปาล
ในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเนปาล กษัตริย์ชญาเนนทระได้ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่พระองค์มี และปลดนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2005 ส่งผลให้ต้องมีการยุบสภา ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับอนาคตของพระองค์เองในเวลาต่อมา [4]
พรรคการเมืองของเนปาลและกลุ่มเหมาอิสต์ไม่พอใจเป็นอย่างมาก และได้บรรลุฉันทามติผ่านการเจรจาเพื่อล้มล้างการปกครองโดยตรงของกษัตริย์ชญาเนนทระ
กษัตริย์ชญาเนนทระสั่งปลดนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2005 เครดิตภาพ: Onlinekhabar
ได้เกิดขบวนการประชาชนในปี 2007 เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้ชญาเนนทระ และได้มีจัดตั้งสภาขึ้นใหม่ สภาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการเลือกตั้งได้ยุติระบอบกษัตริย์และประกาศให้เนปาลเป็น “สาธารณรัฐประชาธิปไตยโดยแยกศาสนาออกจากการเมือง” (เหมือนระบอบของอินเดีย) เมื่อ 28 พฤษภาคม 2008 [5][6]
อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดใหม่ได้ตัดสินใจให้อดีตกษัตริย์ใช้พระราชวังแห่งหนึ่งของพระองค์ (พระราชวังอื่นๆ ถูกทางการยึดเป็นของรัฐ) และยังให้ความปลอดภัยแก่พระองค์อยู่ ความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างพรรคการเมืองและอดีตกษัตริย์ชญาเนนทระทำให้พระองค์สามารถลงจากอำนาจได้อย่างปลอดภัยและสง่างาม
  • ราชวงศ์ชาห์ปกครองเนปาลเป็นเวลา 240 ปี เริ่มตั้งแต่ผู้ก่อตั้งคือ กษัตริย์ปริถวี นารายัน ชาห์ ซึ่งได้รวมดินแดนที่ปัจจุบันคือเนปาลให้เป็นหนึ่งเดียว และสิ้นสุดลงด้วย กษัตริย์ชญาเนนทระ บีร์ บิกรม ชาห์ พระองค์สุดท้าย [7]
  • การเมืองเนปาลในยุคใหม่
ตั้งแต่ปี 2015 พรรค Rastriya Prajatantra (RPP) ของเนปาลได้เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้เนปาลประกาศเป็นรัฐฮินดูและฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ [8]
มีการจัดเลือกตั้งสองครั้งเพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งแรกล้มเหลวในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามสภาร่างรัฐธรรมนูญก็มีขึ้นในครั้งที่สองได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับสาธารณรัฐสำเร็จในปี 2015 [9]
รัฐธรรมนูญเนปาลฉบับปี 2015 ถือเป็นความก้าวหน้าซึ่งกล่าวถึงความไม่พอใจของชนกลุ่มน้อย และจัดทำกรอบการเป็นตัวแทนที่ครอบคลุมสำหรับกลุ่มคนที่ถูกละเลย เช่น ทลิต (วรรณะจัณฑาลในอินเดีย) และผู้หญิง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลเนปาลได้ร่างกฎหมายที่เชื่อมโยงกับการปฏิบัติตามสิทธิพื้นฐานโดยตรงหรือโดยอ้อม และจัดตั้งองค์กรใหม่ในระดับรัฐบาลกลาง ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นเพื่อปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
เครดิตภาพ: Stephan Bachenheimer / World Bank
อย่างไรก็ตามรัฐบาลเนปาลล้มเหลวในการตอบสนองความคาดหวังของประชาชนในแง่ของการให้บริการสาธารณะ กรณีการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยเหล่านี้สร้างเงื่อนไขให้กลุ่มนิยมกษัตริย์ที่เคยหลับใหลกลับมาเรียกร้องการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อีกครั้ง [10][11]
  • แถลงการณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกของอดีตกษัตริย์ชญาเนนทระเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2025 ได้เรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนพระองค์ “เพื่อปกป้องชาติและรักษาความสามัคคีของชาติ” โดยอ้างว่าประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ของเนปาลตอนนี้ไม่สามารถได้รับความไว้วางใจจากประชาชนได้ [12]
ฝูงชนจำนวนมากรวมตัวกันในกรุงกาฐมาณฑุเพื่อต้อนรับอดีตกษัตริย์ที่สนามบินเมื่อพระองค์เสด็จกลับมายังที่นั่นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2025 หลังจากการเสด็จเยือนเมืองโปขราที่อยู่ใกล้เคียง การตอบสนองของประชาชนทำให้กลุ่มนิยมกษัตริย์และอดีตกษัตริย์ระดมพลและจัดการชุมนุมสนับสนุนกษัตริย์ในกรุงกาฐมาณฑุต่อไป และมีการปะทะกันอย่างรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตา [13]
อดีตกษัตริย์ชญาเนนทระ (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีเนปาล เค. พี. ชาร์มา โอลี (ขวา) เครดิตภาพ: OpIndia
พรรคการเมืองหลักของเนปาลต่างประณามความรุนแรงของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตกษัตริย์ พวกเขาต้องการจับอดีตกษัตริย์ผู้นี้มารับผิดชอบโดยตรงต่อการประท้วงและความรุนแรงที่ตามมา [14]
องค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และภาคธุรกิจ ต่างก็ออกมาประณามความรุนแรงดังกล่าวเช่นกัน ถึงขนาดทที่ว่าองค์กรภาคประชาสังคมบางแห่งและประชาชนทั่วไปกล่าวหาว่ากลุ่มหัวรุนแรงฮินดูในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียกำลังส่งเสริมให้อดีตกษัตริย์และกลุ่มศาสนาฮินดูเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูรัฐฮินดู (ลามจะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศไปแล้ว) [15][16]
ภัยคุกคามต่อความสามัคคีระหว่างชุมชนศาสนาต่างๆ ในเนปาลอาจเลวร้ายลงไปอีกเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของลัทธิหัวรุนแรงทางศาสนา
กลุ่มพรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปต่างก็อยู่ใน “ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” เกี่ยวกับศาสนาและบทบาทของศาสนาในทางการเมือง ชาวเนปาลส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู และบางคนสงสัยว่าเหตุใดการประกาศให้เนปาลเป็นรัฐฮินดูอย่างเป็นทางการจึงเป็นปัญหา อดีตกษัตริย์และผู้สนับสนุนของพระองค์ทราบดีถึงความสับสนของประชาชนดังกล่าวและพยายามหาประโยชน์จากเรื่องนี้หรือไม่ เป็นคำถามของฝ่ายการเมืองตรงข้าม
ชาวเนปาลส่วนหนึ่งใฝ่ฝันถึงสันติภาพและความเจริญก้าวหน้าของประเทศมานานแล้ว พวกเขาเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการยอมรับความหลากหลายและการกระจายอำนาจ อาจช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ กลุ่มคนที่ถูกละเลย เช่น ดาลิต กำลังเปล่งเสียงและคัดค้านผู้ประท้วงสนับสนุนอดีตกษัตริย์ [17]
เครดิตภาพ: Sajha Dabali
หากพิจารณาภูมิภาคเอเชียใต้โดยรวมแล้ว เนปาลมีความมั่นคงทางการเมืองค่อนข้างดีในแง่ของการจัดการเลือกตั้งตามวาระ และมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีแนวคิดหัวก้าวหน้า ส่วนความไม่มั่นคงทางการเมืองในบังกลาเทศ ปากีสถาน และศรีลังกาสร้างความท้าทายในด้านความปลอดภัยของประชาชนอยู่
1
สำหรับพี่ใหญ่สุด อินเดียต้องการเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค อย่างไรก็ตามความทะเยอทะยานเหล่านี้อาจถูกทำลายลงได้ หากกองกำลังภายในอินเดียสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาฮินดูในเนปาล ส่งผลให้เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคในที่สุด
เรียบเรียงโดย Right Style
5th Apr 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: India Today>
โฆษณา