Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 03:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เวียดนาม ตามรอยญี่ปุ่น ลดหน่วยงานรัฐ ลดข้าราชการ เพื่อดัน GDP ให้โต
หลายคนมองว่า เศรษฐกิจเวียดนาม มีการเติบโตสูงมาก โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา เติบโตมากถึง 7%
2
แต่สำหรับรัฐบาลเวียดนามแล้ว คงมองว่าระดับการเติบโตที่ผ่านมาเท่านี้คงยังไม่พอ..
เพราะมีการตั้งเป้าหมาย การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2568 อย่างน้อยที่ 8%
แม้ล่าสุดจะโดนสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามสูงถึง 46%
แต่รัฐบาลเวียดนาม ยังคงยืนยันเป้าหมายการเติบโตของ GDP ปีนี้ที่ 8%
โดยเมื่อวาน รัฐบาลเวียดนาม ได้โทรไปเจรจาเรื่องภาษีกับทรัมป์ ว่าเวียดนาม พร้อมที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% ถ้าสามารถบรรลุดีลกับสหรัฐฯ ได้ ซึ่งทางทรัมป์ ก็บอกว่า ยินดีที่จะเจรจาด้วยในเร็ว ๆ นี้
1
กลับมาที่เรื่อง นโยบายการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม หนึ่งในแผนสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ คือ การปฏิรูปหน่วยงานราชการครั้งใหญ่ ในรอบหลายสิบปี
อย่างเช่น
- ยุบ 5 กระทรวง
- ลดจำนวนจังหวัดลง 50% หรือครึ่งหนึ่ง
- ลดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐลง 20%
ทำไม การปฏิรูปหน่วยงานราชการครั้งใหญ่
ถึงเป็นกุญแจสำคัญ ในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หลายประเทศที่สามารถยกระดับเป็นประเทศพัฒนาได้ ต่างก็เริ่มจากตัวหน่วยงานรัฐเอง ที่จะต้องบริหารทรัพยากร หรืองบประมาณนั้นให้มีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ในช่วงที่กำลังสร้างชาติ
ก็ได้ทำแบบเดียวกับที่ประเทศเวียดนาม กำลังทำในตอนนี้
ญี่ปุ่น ได้ลดหน่วยงานรัฐท้องถิ่น มาแล้ว 3 รอบใหญ่ ๆ นั่นคือ
- ครั้งที่ 1 สมัยเมจิ เมื่อ 130 กว่าปีก่อน
โดยควบรวมหมู่บ้านให้รวมกันเป็นเมืองเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารท้องถิ่น ทำให้จากเดิม ที่มีเทศบาลมากกว่า 71,000 แห่ง
ก็ลดลงเหลือเพียง 15,859 แห่ง หรือลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5
- ครั้งที่ 2 สมัยโชวะ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณปี 2488-2503)
ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่น ต้องการจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายอย่างหนัก
ดังนั้น จึงต้องมีการควบรวมเทศบาลครั้งใหญ่
โดยให้เมืองเล็กหลายเมือง รวมกันเป็นเมืองใหญ่เมืองเดียว เพื่อให้สามารถฟื้นฟูและพัฒนาเมืองต่าง ๆ หลังสงครามโลกได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1
อย่างเช่น การวางผังเมืองใหม่ การสร้างถนน ทำระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และระบบขนส่งสาธารณะแบบบูรณาการกัน
เพื่อให้เป็นระบบระเบียบ และบริหารจัดการได้ง่าย ภายใต้เทศบาลท้องถิ่นเดียว
ทำให้ในสมัยนั้น จำนวนเทศบาลท้องถิ่น จากเดิมมี 9,868 แห่ง ลดลงเหลือเพียง 3,472 แห่ง เท่านั้น
หรือหน่วยงานเทศบาลถูกลดลงไปอีก เหลือเพียงแค่ราว 1 ใน 3
ซึ่งผลจากการยุบรวมเทศบาล ให้กลายเป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้น ก็ทำให้เมืองนั้น สามารถใช้นโยบายเดียวกันในการบริหารจัดการเมือง
ที่สำคัญ เมื่อเมืองมีขนาดใหญ่ขึ้น และสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ก็ทำให้เมืองนั้นมีอิสระในการบริหาร
ผู้บริหารท้องถิ่น จึงสามารถตัดสินใจ วางแผนนโยบายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เดียวกัน ได้อย่างอิสระ
โดยที่ไม่ต้องไปรองบประมาณ หรือการตัดสินใจ จากรัฐบาลกลาง
- ครั้งที่ 3 สมัยเฮเซ ซึ่งเป็นช่วงประมาณปี 2542-2553
โดยรัฐบาลญี่ปุ่น ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ผ่านโครงการ Heisei Municipal Mergers
ซึ่งเป็นการลดหน่วยงานท้องถิ่นให้เหลือน้อยลงอีกครั้ง ด้วยการควบรวมเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกันอีกรอบ
เพื่อรองรับโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่น
ที่กำลังมีประชากรวัยทำงานลดน้อยลง กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ
1
การรวมเทศบาลให้เป็นเมืองที่ใหญ่ขึ้นครั้งนี้
จะทำให้เมืองนั้นมีประชากรวัยทำงานมากขึ้น
และก็จะทำให้เศรษฐกิจภายในเมืองคึกคักขึ้น
และรัฐบาลเองก็จะจัดเก็บภาษีท้องถิ่นเพื่อพัฒนาพื้นที่ได้มากขึ้นอีกด้วย
ซึ่งในยุคสมัยนี้ ทำให้หน่วยงานเทศบาลท้องถิ่นของญี่ปุ่น ลดลงจากเดิม 3,232 แห่ง เหลือเพียง 1,718 แห่ง หรือลดน้อยลงเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
ปัจจุบันในปี 2567 ประเทศญี่ปุ่น มีหน่วยงานเทศบาลท้องถิ่นอยู่เพียง 1,741 แห่ง แบ่งออกเป็น
- 23 เขตพิเศษในกรุงโตเกียว (Wards)
- 20 เมืองขนาดใหญ่ (Designated City)
คือมีสถานะเทียบเท่าจังหวัด อย่าง โอซากา นาโกยะ ซัปโปโระ และฟูกูโอกะ
- 772 เมือง (City)
- 743 ตำบล (Town)
- 183 หมู่บ้าน (Village)
จะเห็นได้ว่า จากเมื่อประมาณ 130 กว่าปีก่อน
ที่มีจำนวนเทศบาลอยู่กว่า 71,314 แห่ง ก็เหลือเทศบาลอยู่เพียง 1,741 แห่ง
ถือว่าประเทศญี่ปุ่นสามารถควบรวมหน่วยงานเทศบาล ให้สามารถลดลงเหลือเพียง 2.4%
ของจำนวนเทศบาลทั้งหมด เมื่อ 130 กว่าปีก่อน
1
แต่ก็สามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้เติบโต จนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้
ทีนี้มาที่ฝั่งของเวียดนามบ้าง
ทำไมเวียดนาม ต้องพยายามลดขนาดของระบบราชการ ?
1
ต้องบอกว่า ตั้งแต่ที่เวียดนาม ได้นำแนวทางการปฏิรูปที่เรียกว่า “โด่ย เหมย” มาใช้ในปี 2529 หรือเมื่อ 39 ปีก่อน
ซึ่งแนวคิด “โด่ย เหมย” เป็นแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนาม ส่งเสริมการแข่งขันในเวทีโลก กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
ภายหลังจากการปฏิรูปโด่ย เหมย เวียดนามก็ได้มีการกระจายอำนาจการบริหารราชการ
1
ที่แต่เดิมจะรวมศูนย์อยู่กับส่วนกลาง ให้มีการกระจายอำนาจไปยังระดับท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการคล่องตัวขึ้น
นอกจากนี้ เวียดนามยังปฏิรูปองค์กรราชการบางส่วน ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็คือเป็นรูปแบบเอกชน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
2
ดังนั้น นับตั้งแต่การปฏิรูปโด่ย เหมย ก็ทำให้ขนาดของระบบราชการส่วนกลางในเวียดนามเล็กลง
แต่ก็แลกมากับ หน่วยงานระดับท้องถิ่นมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ หรือตำบล
ทำให้หลายพื้นที่ มีข้าราชการท้องถิ่นที่มากเกินความจำเป็น
โดยในตอนนี้ เวียดนามแบ่งการปกครองออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับจังหวัดและเมืองใหญ่ มีทั้งหมด 63 แห่ง
ประกอบด้วย 57 จังหวัด และ 6 เมืองใหญ่ที่มีสถานะเทียบเท่าจังหวัด เช่น ฮานอย โฮจิมินห์ และดานัง
- ระดับอำเภอ มีทั้งหมด 696 แห่ง
- ระดับตำบล มีทั้งหมด 10,035 แห่ง
ซึ่งการมีหน่วยงานบริหารระดับตำบลที่มากขนาดนี้ ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณที่มีการกระจายไปให้ท้องถิ่นมากขึ้น
เมื่อเป็นแบบนี้ จึงทำให้รัฐบาลเวียดนาม มีแผนที่จะปรับโครงสร้างของระบบราชการให้เล็กลง ไล่ตั้งแต่
1. ลดจังหวัดลงครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่มีอยู่ถึง 63 จังหวัด ให้เหลือเพียง 34 จังหวัด และลดหน่วยงานระดับตำบลลงถึง 70%
โดยรัฐบาลเวียดนาม จะมีการควบรวมท้องถิ่นระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบลหลาย ๆ แห่งเข้าด้วยกัน
โดยจังหวัดเล็ก ๆ ก็จะรวมกันให้เป็นจังหวัดที่ใหญ่ขึ้น
เพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จนทำให้เมืองบางเมืองที่เป็นศูนย์กลางของจังหวัดนั้น มีขนาดใหญ่มากขึ้น
นอกจากนี้ การรวมเป็นจังหวัดเดียว พื้นที่เดียว ก็จะทำให้การพัฒนาพื้นที่ในภาพใหญ่ มีความเป็นเอกเทศหรือคล่องตัวมากขึ้น
เพราะการตัดสินใจในด้านนโยบายต่าง ๆ นั้น
ก็จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำจังหวัด หรือผู้นำพื้นที่เพียงแค่คนเดียว เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นได้ทำ
2. ลดจำนวนกระทรวงจาก 18 กระทรวง เหลือ 14 กระทรวง
โดยกระทรวงไหน ที่มีภารกิจ หรือขอบเขตงานที่ใกล้เคียงกัน และสามารถทำงานร่วมกันได้ ก็ให้ยุบเหลือเพียงแค่กระทรวงเดียว อย่างเช่น
- ยุบกระทรวงวางแผนและการลงทุน ไปรวมกับกระทรวงการคลัง เพราะเกี่ยวข้องกับการเงินเหมือนกัน
- ยุบกระทรวงขนส่ง ให้ไปรวมกับกระทรวงก่อสร้าง
เพราะเกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองและการคมนาคมที่ต้องทำงานร่วมกัน
- ยุบกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เข้ากับกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรของประเทศ
- ยุบกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร เข้ากับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมโดยตรง
จะเห็นได้ว่า การยุบบางกระทรวงออกไปนั้น
ทำให้รัฐบาลเวียดนาม สามารถลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงาน ที่มีหน้าที่ หรือภารกิจในการทำงานที่คล้ายกัน
แถมยังช่วยลดความขัดแย้งในการทำงาน ระหว่างกระทรวงต่าง ๆ อีกด้วย
3. ปลดพนักงานของรัฐ 20% ภายในเวลา 5 ปี
ปัจจุบัน เวียดนาม มีพนักงานของรัฐทั้งหมด 2,000,000 ตำแหน่ง และมีแผนจะลดจำนวนพนักงานที่มากเกินความจำเป็นของรัฐลง 400,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573
ซึ่งผลจากการที่เวียดนาม ปฏิรูประบบราชการทั้ง 3 ข้อ ก็ทำให้รัฐบาลของเวียดนาม สามารถประหยัดงบประมาณในการบริหารประเทศ และสามารถนำงบนั้น
- ไปพัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์ระดับประเทศ
อย่างเช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรม สร้างทางด่วน และสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมฮานอย-โฮจิมินห์
- เพิ่มเงินเดือน ให้กับข้าราชการ ที่มีความสามารถ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การที่เวียดนามต้องขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการแบบนี้ ก็เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ และดึงดูดคนเก่ง ๆ ให้เข้ามาทำงานราชการในประเทศเวียดนามมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศโดยตรง
1
ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า แผนการลดขนาดของระบบราชการในเวียดนาม ก็จะมีโมเดลคล้าย ๆ กับญี่ปุ่น
นั่นคือ การควบรวมหน่วยงานต่าง ๆ
รวมถึงควบรวมหน่วยงานระดับท้องถิ่น อย่างจังหวัด เมือง หรือควบรวมตำบลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
แล้วบริหารด้วยกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และนโยบายเดียวกัน
นอกจากนี้ การบริหารระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ
ก็ทำให้สามารถใช้งบที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปลงทุนในโครงการสำคัญต่าง ๆ ได้มากขึ้น
เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่มโอกาสสร้างการเติบโตของ GDP เวียดนาม ให้มากขึ้นในระยะยาว เหมือนกับที่ญี่ปุ่นได้ทำเมื่อ 70 ปีก่อนนั่นเอง..
References
-
https://spacebar.th/world/vietnam-to-reduce-provincial-level-administrative-units-by-50-percent
-การปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น
โดย สุมิทธิ์ เกศวพิทักษ์ นักพัฒนาระบบราชการ ชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ.ร
-บทเรียนจากการควบรวมรัฐบาลท้องถิ่นในต่างประเทศ โดย กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกลุ่มวิจัยการบริหารกิจการท้องถิ่น
56 บันทึก
96
5
116
56
96
5
116
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย