10 เม.ย. เวลา 23:15 • นิยาย เรื่องสั้น
มหาวิทยาลัยโมนาช

จากบ้านหินกองสู่ Clayton #1/14

[------บอกกล่าวก่อนเข้าเรื่อง------]
6 มิถุนายน 2537 – 23 มกราคม 2540 ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ใน Clayton Suburb รัฐ Victoria ออสเตรเลีย เป็นช่วงเวลาเกือบ 3 ปีที่ผมมีความสุขที่สุดทั้งในด้านปริมาณความสุขและช่วงเวลาแห่งความสุขที่ต่อเนื่องกันนานมาก
ในสมัยนั้นอินเทอร์เน็ตยังมีไม่แพร่หลายให้เราใช้ ผมจึงมีเวลาที่จะจดไดอารี่ได้บ่อย ๆ ทำให้มีเรื่องเล่าที่ลงรายละเอียดได้มาก
****ในแง่ของคนอ่านทั่ว ๆ ไปที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆ ที่จะเล่าให้ฟังนี้อาจจะน่าเบื่อ มันอาจจะเยิ่นเย้อ และมีรายละเอียดที่ไม่อยากรู้มากเกินไป****
และด้วยเรื่องราวที่ยาวถึง 14 ตอน ทำให้มีเนื้อหาและรูปบางส่วนซ้ำโดยตั้งใจหรือเผลอไปบ้าง ผมได้อ่านทบทวนแล้วก็คิดว่าปล่อยให้มันซ้ำก็แล้วกัน
แต่ในฐานะคนที่บันทึกและเล่าเรื่องราว การได้เล่าก็เหมือนกับการได้พูดกับตัวเอง และการได้เล่าถึงเหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูเหมือนว่ามันจะเป็นรายละเอียดเกินไป มันก็ทำให้รู้สึกดีในขณะที่ได้เล่า เพราะมันเกิดในช่วงเวลาที่มีความสุข
ในขณะเดียวกัน ผมก็เชื่อว่ามีเพื่อนอีกหลายคนมีช่วงเวลาที่มีความสุขอยู่ที่นั่นเหมือนกัน แต่ความทรงจำที่เกี่ยวกับ Clayton ของแต่ละคนน่าจะเลือนหายไปแทบจะหมดแล้ว ผมหวังว่า เรื่องราวที่ผมรื้อฟื้นขึ้นมานี้ มันจะยังซึ่งความสุขหลังแผ่นดินไหวในช่วงนี้ได้
สำหรับผู้อ่านผู้ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกัน ถ้าก้าวข้ามความน่าเบื่อในการอ่านเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเรื่องที่ไม่อยากรู้ได้ ผมก็หวังว่าคงจะทำใจให้เพลิดเพลินกับบทบาทของ “พระเอกนักเรียนนอก” คนนี้ได้บ้าง
[------บ้านหินกอง บ้านของปู่------]
แยกหินกองราวปี 2566
ขอบคุณครับปู่ ที่ทำให้ผมมีวันนี้ ....
ผู้ใหญ่แช่ม คือปู่ของผม
แม่เคยบอกว่าปู่เป็นคนบ้านหมี่-ลพบุรี ตอนหนุ่มๆ ปู่เป็นลูกสมุนเสือ คงจะตะเวนปล้นจนมาปักหลักที่บ้านหินกอง ต.ห้วยทราย อ.หนองแค จ.สระบุรี น่าจะราว 100 ปีนิด ๆ มาแล้ว
ผมเกิดที่ศิริราชแล้วตามพ่อไปอยู่อุบลฯ จนวัยใกล้เข้าโรงเรียนราวปี 2507 พ่อก็ย้ายกลับมารับราชการเป็นพนักงานอนามัยที่ตัวเมืองสระบุรีที่ห่างจากบ้านหินกองราว 14 ก.ม.
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักกับบ้านหินกองที่เรามักจะเรียกสั้น ๆ ว่าหินกอง
ความทรงจำในวัยเด็กในขณะที่สมองยังสดใหม่มันทำให้จำได้ลึกและแน่นนานมาจนถึงปัจจุบัน น่าเสียดายที่ผมไม่มีฝีมือพอที่จะวาดรูปในสมองออกมาให้เห็นเป็นภาพได้
บ้านปู่อยู่ใกล้ถนนสุวรรณศร ตรงข้ามวัดเขาพนมยงค์ ห่างจากแยกหินกองราว 3 ก.ม.
บ้านไม่ได้ติดถนน แต่ต้องเดินผ่านนาข้าวไปตามคันนาเข้าไปอีกราว 500 เมตร เวลาจะไปบ้านปู่ เราสามคนพ่อแม่ลูกจะนั่งรถประจำทางหวานเย็นจากตัวเมืองสระบุรีมาลงที่ตลาดหินกอง ที่มีป้ายชื่อติดที่จั่วหลังคาว่า “ตลาดแป้นพัฒน์”
จากนั้นพวกเราจะเดินเลียบถนนสุวรรณศรเข้าไปอีก พอถึงตรงข้ามวัดพนมยงค์เราก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามคันนากว้างไม่เกิน 50 ซม.
 
ดินแถวนั้นเป็นดินสีเหลืองเนื้อละเอียดแน่น มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อดินนิ่มหนึบจนเท้าบาง ๆ แบบคุณหนูในเมืองสามารถเดินเท้าเปล่าได้อย่างสบาย เดินได้ครึ่งทางจะเป็นเกาะเล็ก ๆ กลางนาพอนั่งได้สัก 3-4 คน กลางเกาะมีต้นตะโกนายืนต้นอยู่ต้นนึง
Credit: sanook.com
บ้านที่มองเห็นแต่ไกลเป็นบ้านไม้กระดานหลังคาสังกะสี ยกพื้นสูงราว 150 ซม. รอบ ๆ บ้านเป็นนาข้าวไม่กว้างนัก เว้นระยะห่างจากเพื่อนบ้านพอตะโกนถึงกัน
บางช่วงของปีจะมีน้ำเจิ่งเข้ามาท่วมใต้ถุนบ้านทำให้มองปูมองปลาลอดช่องกระดานลงไปได้อย่างมีความสุขตามประสาเด็ก
ก่อนเข้าเขตบ้านก็เป็นนาข้าวที่เมื่อคราวต้นข้าวเพิ่งออกใบอ่อนจะเป็นที่ประทับใจคุณหนูในเมืองอย่างผมที่ได้นั่งบนคันนา ดูต้นกล้าต้นเตี้ย ๆ แช่อยู่ในน้ำสีน้ำตาลอ่อนที่พริ้วเป็นระลอกจากสายลมอ่อน ๆ ที่พัดตลอดเวลา
ภาพจำภาพนึงก็คือ ภาพมือมหัศจรรย์ของย่า ที่ล้วงลงไปที่โคนต้นข้าวแล้วดึงปูนาตัวสีน้ำตาลแดงขึ้นมาตัวแล้วตัวเล่าเหมือนมีตาวิเศษที่ก้ามปูทำอะไรย่าไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มันพรางตัวอยู่ใต้น้ำโคลน
ความสุขของการนั่งบนคันนาจุ่มเท้าลงไปในน้ำเย็นๆ พร้อมสูดกลิ่นหอมโชยของน้ำเจือดินที่หล่อเลี้ยงอยู่ ผสานไปกับกลิ่นต้นข้าวใบอ่อนยังติดอยู่ในความทรงจำจนถึงตอนนี้
พอเข้าเขตบ้านจะมีต้นมะม่วงแรดอยู่หนึ่งต้น ลูกที่ใหญ่ป้อมและมีนอยื่นออกมาเป็นติ่งทำให้จำได้แม่นติดตา
ขวามือจะเป็นโอ่งดินแดงไว้อาบน้ำ วางอยู่ใต้ต้นฝรั่งขี้นกสูงราวสามเมตร ลำต้นส่วนโคนจะลื่นเป็นมันจากการปีนป่ายของเด็กที่ปีนเอาสนุกมากกว่าจะปีนเพราะอยากกินฝรั่งลูกเล็ก ๆ ผิวเหลือง ไส้เละ ๆ สีชมพูที่ถูกปล่อยให้หล่นเกลื่อนโคนต้นรอนกจิกกินอยู่บ่อย ๆ
เดี๋ยว ๆ อย่าเพิ่งเข้าบ้านครับ แวะข้างบ้านก่อน
เดินเลยไปจากต้นฝรั่งจะเจอบ่อน้ำขนาดราว 5 คูณ 15 เมตร พวกผู้หญิงเช่น ย่า, อา, ป้า, และลูกสาวของอากับป้ามักจะเป็นคนมาหาบน้ำจากบ่อนี้
การหาบจะใช้ไม้คานที่ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดหนาผ่าซีกสอดไปยังปี๊บสังกะสีที่มีเชือกมัดอยู่ปากปิ๊บ น้ำในปิ๊บจะมากน้อยก็แล้วแต่ความเก่งของคนหาบ
ผมเคยขอเขาหาบอยู่ครั้งหนึ่งทำให้เป็นที่ขบขันไปชั่วขณะกับจังหวะเด้งหน้าเด้งหลังเอียงซ้ายเอียงขวา จนตัดสินใจวางหาบก่อนจะทำน้ำเขาหกหมดปี๊บ
ดินปากบ่อสีเหลืองแดงนิ่มเหนียวเหมาะอย่างยิ่งสำหรับศิลปินเด็กที่จะใช้สำหรับพัฒนาการของนิ้วมือ สำหรับผมก็จะวนอยู่กับการปั้น คน งู ควาย และ ลูกกระสุนสำหรับหนังสะติ๊กเท่านั้น
ข้างบ่อจะเป็นที่ราบ มีหญ้าขึ้นประปราย มีต้นขี้เหล็กอยู่ 1 ต้น เป็นต้นไม้ต้นที่สองรองจากต้นฝรั่งต้นนั้นที่ผมปีนขึ้นไปบ่อย ไม่รู้จะปีนขึ้นไปทำไม น่าจะขึ้นไปดูวิวมุมสูงและรับลมด้านบนที่สดชื่นกว่าด้านล่างมั้ง
หลายครั้งที่พื้นราบใต้ต้นขี้เหล็กถูกแปลงเป็นเตาเผาข้าวหลาม
ไม่รู้ว่าย่าไปหาไม้ไผ่สด ๆ มาจากไหนมาทำกระบอกข้าวหลาม เด็ก ๆ ก็จะคอยเมียงมองอยู่ด้วยความสนใจในกิจกรรมการทำข้าวหลาม รวมทั้งหวังจะได้กินข้าวหลามที่เพิ่งสุกใหม่ ๆ จากเตาอีกด้วย
Credit:  Facebook "มหัศจรรย์สกลนคร"
เอ้า... กินข้าวหลามอิ่มแล้วก็เดินกลับตัวปลิวทิ้งให้พวกผู้หญิงหาบน้ำตามมาติด ๆ
ย้อนจากบ่อน้ำกลับมาลานหน้าบ้าน ถ้าแหงนขึ้นไปบนหลังคาสังกะสี วันดีคืนดีที่เป็นคืนเดือนมืดสักช่วงหนึ่งก็จะมีเสาไม้ไผ่สูงราว 10 เมตรมัดอยู่กับลูกกรงหน้าบ้าน โคนเสาปักกับพื้นดินส่วนปลายเสาจะยาวขึ้นไปเหนือหลังคา ด้านปลายไม้ไผ่ผูกติดด้วยหลอดฟลูออเรสเซนต์ 1 ดวง มีสายไฟทอดยาวตามลำไม้ไผ่ลอดเข้าไปเสียบกับปลั๊กในบ้าน
ภาพแรก ไฟสมัยก่อนเป็นแค่ฟลูออเรสเซนต์ยังไม่มีแบล็คไลท์แบบในรูป  ภาพสอง ในถังมีแมงดาอยู่ตัวเดียว ที่เหลือเป็นแมงเหนี่ยงหรือแมงตับเต่า ผมจะชอบกินแมงดามากกว่า  Credit: sanook.com
ลาภปากแล้วคืนนี้...
หินกองเมื่อเกือบหกสิบปีที่แล้วพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นท้องนา ไฟฟ้าก็ยังไม่มีทุกบ้าน แต่เพราะที่บ้านของปู่อยู่ไม่ไกลจากตลาดและสถานีตำรวจมากนักจึงทำให้มีไฟฟ้าใช้ แต่หลอดไฟที่ใช้ตามบ้านก็จะเป็นหลอดไส้สีเหลืองแรงเทียนต่ำ ส่วนหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เห็นหลอดแรกในชีวิตก็คือหลอดที่ใช้จับแมงดานี่เอง
ทุกคืนที่ต้องค้างที่หินกองมักจะเป็นคืนที่น่าอึดอัดทุกครั้ง เนื่องจากความที่เป็นเด็กในเมืองที่มีแสงสีให้เห็นจนเคยชินในตอนกลางคืน และก็จะนอนราว 2 ทุ่มตามประสาเด็กทุกคืน
แต่พอค้างที่หินกองก็ต้องเข้ามุ้งเอาตอนฟ้ามืดราว ๆ 6 โมงเย็น ทั้งมืดทั้งเงียบ อาจจะเห็นแสงตะเกียงวับแวมของเพื่อนบ้านที่อยู่ในระยะไกล นาน ๆ ก็จะมีแสงไฟและเสียงรถบรรทุกจากถนนสุวรรณศรแว่วมาสักทีนึง และการนอนรวมกันไม่ต่ำกว่า 3 คนในมุ้งแคบ ๆ มันทำให้ต้องข่มใจให้หลับทุกครั้ง
แต่คืนที่มีการดักแมงดานี่ถือว่าเป็นคืนที่มีความสุขจริง ๆ
พอฟ้ามืดผู้ใหญ่เขาก็เริ่มเสียบไฟล่อแมงดา พวกเด็ก ๆ ก็จะเริ่มตื่นตากับแสงไฟสีขาวสลัว ๆ จากปลายไม้ไผ่
ถึงแม้จะเป็นเด็กผมก็รู้สึกว่ามันเป็นความโรแมนติกแบบเด็ก ๆ เหมือนเป็นคืนพิเศษที่เราได้ไปร่วมในงานเลี้ยง และเรารู้ว่านอกจากความสนุกสนานในการจับแมงดา, แมงเหนี่ยง ตามพื้นท่ามกลางแสงสีขาวนวลนี้แล้วก็ยังมีไข่แมงดาปิ้งร้อน ๆ ที่เราจะได้เป็นรางวัลหลังการจับอีกด้วย
ดึกแล้วสำหรับเด็ก กลับขึ้นบ้านดีกว่า
จากลานจับแมงดาก็จะเจอบันไดไม้เตี้ย ๆ ทางซ้ายทอดจากพื้นดินขึ้นไปชานบ้าน ข้างบันไดมีแผ่นหินแบน ๆ วางติดพื้นเอาไว้เหยียบตอนล้างเท้าจากตุ่มเตี้ย ๆ ที่วางอยู่ข้าง ๆ กัน ชานบ้านจะเป็นกระดานเรียบ ๆ โล่ง ๆ ก่อนที่จะถึงประตูไม้ที่จะปิดตอนกลางคืน
พ่อผมเป็นนาค คนแก่ผมขาวด้านบนน่าจะเป็นทวด บ้านหลังคามุงจากที่เห็นอาจจะไม่ใช่บ้านที่พูดถึง บ้านนั้นชานบ้านจะไม่มีรั้ว แต่มีบันไดแบบนี้ และมีโอ่งใส่น้ำล้างเท้าเหมือนกัน ถ่ายเมื่อ 16 เมษายน 2496
ผ่านประตูเข้าไปจะเป็นหมือนเห้องนั่งเล่นเล็ก ๆ มีหน้าต่างสองด้าน เลี้ยวขวาเข้าไปเป็นห้องใหญ่พื้นเป็นไม้กระดานหยาบ มีร่องพอให้ดูวิวใต้ถุนได้
ริมห้องจะวางโอ่งน้ำฝนสำหรับดื่มไว้หลายใบ มีตู้เก่า ๆ และโต๊ะเครื่องแป้งเก่าที่มีหลายลิ้นชัก บนชั้นวางของและก้นลิ้นชักมีขี้แมลงสาบจำนวนมาก ซึ่งผมมานึกทีหลังว่าบางทีปู่ผมอาจจะตั้งใจเก็บเอาไว้ทำยาก็ได้
จากห้องใหญ่นี้ด้านซ้ายจะมีประตูออกไปยังนอกชานเล็ก ๆ ที่มักใช้เป็นที่นั่งทำกับข้าว และอยู่ติดกับส้วมไม่ใหญ่นัก ที่ส้วมนี้มีกาบมะพร้าวที่ใช้ในการเช็ดก้นเตรียมไว้ในนั้น
หน้าส้วมจะมีไหปลาร้าที่หมักไว้ 6-7 ไห ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีเคล็ดลับหรืออุบายอะไรหรือเปล่าที่ต้องวางไหปลาร้าไว้หน้าส้วม
1
จากนอกชานหลังบ้านนี้จะมีบันไดลงไปข้างล่าง ข้างบันไดจะมีบ่อน้ำเล็ก ๆ ริมบ่อมีโสนดงใหญ่ออกดอกเหลืองตลอด ย่าจะเก็บดอกโสนมาจิ้มน้ำพริกบ่อย ๆ ส่วนต้นแก่ของมันก็ยังเอามาทำจุกปิดปากขวดได้ด้วยเนื่องจากมีเนื้อไม้ที่เบาและยืดหยุ่นคล้ายจุกคอร์ก
ใกล้บ่อน้ำก็จะเป็นนาข้าว ถ้าหมดฤดูข้าวแล้วพื้นนาจะแห้งเหลือแต่ตอข้าว พื้นที่นี้จะถูกใช้เป็นลานเผาถ่าน กับลานทำปลาร้า ส่วนเด็ก ๆ ก็มักจะไปเลาะแถวนั้นเพื่อที่จะหาลูกกระทกรกเอามากินบ้างทั้งที่มันก็ไม่อร่อยเอาซะเลย
แม่ผมที่เป็นสาวกรุงเทพฯ ก็ไปเรียนรู้การเผาถ่านและการทำปลาร้าจากย่าโดยฝึกงานที่ลานนี้แหละ
สมัยนั้นข้าวของเครื่องใช้ยังผลิตจ่ายแจกกันไม่แพร่หลาย มันจึงจำเป็นที่เราต้องทำกินทำใช้ของเราเอง ซึ่งก็มีข้าว ที่ปลูกเอง สีเอง, ถ่าน ที่ไปเก็บไม้ในป่าแถวนั้นมาเผาเอง, ปลาร้า ปลาจ่อม ทำเอง ผักส่วนใหญ่ปลูกเอง ปู-ปลา จับเองบ้างซื้อบ้าง และของที่ซื้อหรือแลกกับชาวบ้านแถวนั้นก็พวก ไข่ ไก่ ที่ซื้อในตลาดก็พวก หมู เนื้อ น้ำตาล เกลือ เสื้อผ้า..
กลับเข้ามาห้องใหญ่ที่พื้นไม้กระดานหยาบ เดินตรงไปจะเป็นครัว ซึ่งมักจะเป็นที่กินข้าวกันวงเล็ก ๆ ถ้าเป็นวงใหญ่ก็จะกินในห้องโล่งใหญ่ที่เป็นส่วนกลางของเรือน ในครัวก็มีพริกแห้ง หอม กระเทียม และหม้อต้มปลาร้าพันปีที่ผมไม่เคยเห็นมันถูกล้างเลยสักครั้ง ผมจำไม่ได้ว่าเคยเห็นน้ำปลาอยู่ในครัวหรือเปล่า
จากห้องใหญ่ด้านขวามือจะเป็นห้องที่ใหญ่ที่เป็นส่วนกลางของเรือน ยกพื้นขึ้นไปประมาณครึ่งเมตร มีสองประตูแยกห่างกัน ห้องนี้กินเนื้อที่ 3 ส่วน 4 ของบ้าน แยกเป็นห้องเล็กมิดชิดอีก 2 ห้อง
ห้องด้านตะวันออกมีตู้เก็บสมุนไพรและอุปกรณ์ปรุงยาของปู่ที่เป็นหมอแผนโบราณ ส่วนอีกห้องเป็นห้องสำหรับเสพยา
งานสวดศพปู่ที่บ้าน ห้องที่ปิดประตูขวามือใช้เก็บยาสมุนไพร ด้านซ้ายสุดข้างหลังจะเห็นตู้ที่อยู่หน้าห้องส่วนตัวของปู่
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่โล่งสารพัดประโยชน์ที่ปกติจะใช้เป็นที่นอนของทุกคนในบ้านแยกกันไปตามมุมต่าง ๆ ถ้ามีแขกมาค้างก็จะมีมุ้งกางให้อีกมุมหนึ่ง พื้นห้องส่วนนี้จะเป็นกระดานใหญ่เรียบเป็นมัน ลมพัดโกรกสบายเพราะมีด้านรับลมหน้าบ้านเป็นลูกกรงเหล็กตั้งแต่หลังคาจรดพื้น
ตอนนั้นผมอยู่ในตัวเมืองสระบุรีเพราะพ่อทำงานที่นั่น ตอนเสาร์-อาทิตย์ พ่อก็จะมักจะพามาเยี่ยมปู่ย่า ค้างบ้างไม่ค้างบ้าง เป็นโอกาสให้ผมได้พบกับลูกพี่ลูกน้องบ้าง
ปู่ผมนอกจากเป็นหมอแผนโบราณแล้วก็ยังเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย
นานๆ ทีผมก็จะเห็นแกจ่ายยาให้คนมาขอยาบ้าง ส่วนหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านนี่ไม่เคยเห็นเลย เพราะพ่อจะพาผมไปหินกองก็เฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น โอกาสจึงน้อยที่จะเห็นว่าแกทำมาหากินอะไร
ที่รู้แน่ ๆ คือย่าและป้ากับอาทำนา แต่ผมก็ไม่มีโอกาสได้รู้จักการทำนาจริงสักทีด้วยความที่เป็นคุณหนูในเมือง ในขณะที่ลูกของอา-ป้าเขาใช้ชีวิตอย่างเต็มที่กับท้องนา
ทั้งป้าและอาผู้หญิงถือว่าได้ส่งเสียให้พ่อผมได้มีเงินเข้าไปเรียนในเมืองได้ ในขณะที่ทั้งคู่ต้องทำนาเป็นกำลังของครอบครัว ผมได้รับรู้ว่าพ่อผมรักและเคารพอา-ป้าจากการเสียสละในเรื่องนี้มาก
ภาพที่ติดตาติดจมูกของผมสำหรับปู่ก็คือชายร่างผอมที่มักจะใส่โสร่งและเปลือยท่อนบน ผิวสองสีค่อนข้างขาว แก้มตอบ หัวเถิกแต่ไม่ล้าน พูดน้อย
ปู่เป็นคนที่ทั้งลูกทั้งเมียเกรง แต่ก็ไม่เคยรู้สึกว่าแกเป็นคนดุ ถ้าแกไม่นั่งปั้นยาลูกกลอนแกก็จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ทำตัวขนานกับพื้นโลกอยู่ในห้องเล็กส่วนตัว
ห้องเล็กที่มีประตูมิดชิดเป็นห้องที่มีแสงสลัว ๆ มีกลิ่นหวานเอียน ๆ เป็นเอกลักษณ์ที่เหมือนเป็นตัวแทนของปู่
Credit: www.facebook.com/HouseOfOpiumMuseum - พิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่น
ภายในห้องจะมีเสียงคร่อกกก เบา ๆ อยู่เป็นระยะ และเสียงจะถี่ขึ้นถ้ามีแขกพิเศษคนหรือสองคนเข้ามาร่วมดื่มด่ำควันทิพย์นั้นด้วย แขกพวกนี้ไม่ได้มาทุกวัน และพวกเขาจะมาช่วงเช้าถึงเย็น เท่าที่จำได้จะไม่มีการค้างคืน
ช่วงกลางวันเป็นช่วงเสพ แต่ช่วงกลางคืนจะเป็นช่วงขาย....
ผมเคยเห็นอยู่ตรงหน้าอยู่ครั้งนึง มันเป็นเวลาโพล้เพล้ที่ใกล้จะถูกเรียกไปนอนแล้ว ขณะที่ผมกำลังจะเลิกเล่นเตรียมขึ้นบ้าน ก็มีคนมาเรียกปู่อยู่ข้างบ้าน
ชายคนนั้นคุยอะไรกันไม่รู้กับปู่โดยปู่ไม่ได้โผล่หน้าไป แล้วชายคนนั้นก็โยนเงินขึ้นไปทางหน้าต่าง สักพักปู่ก็โยนวัตถุรี ๆ ที่น่าจะห่อด้วยใบตองแห้ง ขนาดราวนิ้วก้อยยาวราวหนึ่งนิ้วครึ่งลงมาที่พื้น แล้วเขาก็จากไปในความขมุกขมัว
ตอนเด็กผมก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ดียังไง
ปู่ก็ยังมีลักษณะปกติคงเส้นคงวา รวมทั้งแขกพิเศษทั้งหลายก็ดูเหมือนคนปกติ และปู่ก็จากไปแบบหลับไปเฉย ๆ ตอนอายุเก้าสิบปลาย ๆ ทำให้ผมไม่มีอคติอะไรกับฝิ่นหรือพฤติกรรมของปู่เลย
เมื่อไม่นานมานี้ผมเพิ่งคิดได้ว่า ผมน่าจะถือว่าผมอยู่ในตระกูล ”บ้านใหญ่” ได้นะ
ทวดซึ่งเป็นพ่อของย่าของผมถือว่าเป็นผู้กว้างขวางของหินกอง
พอรุ่นรองลงมาคือรุ่นปู่ผมก็มีทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันหลายคน รุ่นต่อมาคือรุ่นพ่อผมก็มีทั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน แถมมี ส.ส.อีก 3 คน พอรุ่นผมก็มีกำนันอย่างน้อย 1 คน ซึ่งผมก็ไม่ได้สืบว่ามีใครอีกหรือเปล่า แถมปู่ก็ยังขายฝิ่นด้วย ใช่บ้านใหญ่ไหมล่ะ
จนถึงปัจจุบันก็ยังมีตลาดที่ชื่อตลาดเป็นนามสกุลของทวด ซึ่งดูแล้วน่าจะมีกระแสความรวยกระเซ็นมาที่พ่อผมบ้าง แต่พ่อก็มีเพียงที่นา 15 ไร่ที่ได้รับเป็นมรดกจากปู่ตกมาถึงผม
ถือว่าพ่อโชคดีแล้วที่ไม่ต้องลำบากทำนาเหมือนอาและป้า แล้วยังได้มรดกมาบ้าง
ขอบคุณครับปู่
ที่นาผืนนี้ผมได้ยินแม่เล่าตั้งแต่เด็กว่า ปู่บอกว่า “เก็บไว้ให้ไอ้จิ๊บมันเรียนหนังสือ”
ประโยคนั้นผมได้ยินมาร่วมสามสิบปีแต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นจริงไปได้
ผมพยายามเปลี่ยนทรัพย์สินให้เป็นทุนหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุที่ทำเลไม่ดีหรือเรียกว่าที่ตาบอด ก็ได้แต่ปล่อยไปจนลืม ในขณะเดียวกันก็ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ได้ย้ายมาตั้งแต่ปี 2520 หลังจากที่พ่อเสียชีวิต
วันหนึ่งน่าจะอยู่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2537
ท่ามกลางความมืดและไอเย็นของโรงหนังแห่งหนึ่ง ผมกับเพื่อนอีกสามสี่คนที่ทำงานด้วยกันไปดูหนังเรื่องอะไรก็จำไม่ได้ มีเสียงกริ่งจาก Mobira Cityman ของผม เป็นเสียงเรียกจาก “แจน” หลานสาว.....
โฆษณา