6 เม.ย. เวลา 05:53 • สุขภาพ

ไขปม "คนไทย" ใช้สิทธิ “ป้องกันโรค” น้อยแค่ 30%

เร่งระดมความเห็นแก้ไข
ภายในเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ไขข้อข้องใจการใช้สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค ทำไมคนไทยยังใช้บริการน้อย” เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2568 มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าทำไมคนไทยยังใช้สิทธิดังกล่าวน้อยมาก
 
1.คนไทยเข้าถึงสิทธิ 30%
ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผอ.ฝ่ายสนับสนุนบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปสช. กล่าวว่า จากข้อมูลการให้บริการตามสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมป้องกันฯ (P&P) ของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ที่มีการเบิกจ่ายตามรายการให้บริการ (Fee schedule) พบว่า มีคนไทยเข้าถึงสิทธินี้เพียงแค่ 30% เท่านั้น
ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง
แม้ที่ผ่านมา สปสช. ใช้กลไกการบริหารจัดการ เพื่อกระตุ้นเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการตามสิทธิ P&P มากขึ้น เช่น เพิ่มหน่วยบริการ การพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การใช้นวัตกรรมการตรวจคัดกรองสุขภาพด้วยตัวเอง ทำให้ประชาชนสะดวกมากขึ้นในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ แต่ก็ยังพบว่าการเข้าถึงบริการ P&P ในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
2.สาเหตุคนยังไม่เข้าใจสิทธิ
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า มีประกาศกำหนดขอบเขตบริการนี้มาตั้งแต่ปี 2565 พร้อมกับแก้ไขประกาศเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการเข้าถึงบริการ แต่การเข้าถึงก็ยังน้อยอยู่ อาจมาจากสาเหตุที่ประชาชนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับสิทธิบริการสร้างเสริมป้องกันฯ หรือมีอุปสรรคการเข้าถึงบริการ เป็นต้น
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์
3.ระดมความเห็นแก้ปัญหา
ภก.คณิตศักดิ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันแสวงหาทางออก วงเสวนา และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการในครั้งนี้ จะเป็นอีกเวทีที่จะช่วยค้นหาสาเหตุว่าทำไมคนไทยถึงใช้สิทธิ P&P กันน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
จะทำให้ได้ข้อมูลผ่านการระดมความเห็นที่จะถูกนำไปต่อยอดวิเคราะห์สู่การหาแนวทางแก้ไข หรือแนวทางปรับปรุงพัฒนาระบบการจัดบริการ เพื่อให้การเข้าถึงสิทธิบริการสร้างเสริมป้องกันฯ ของคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษากันมากขึ้น
4.ขั้นตอนเยอะ ขวาง้อกชนบริการเชิงรุก
 
นพ.ณรงค์พล ห้าวเจริญ รพ.ไอเอ็มเอช สีลม กล่าวว่า จุดที่เป็นอุปสรรคในการให้บริการสร้างเสริมป้องกันฯ เชิงรุกของหน่วยบริการภาคเอกชนคือ การประสานขออนุญาตกับหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดความล่าช้าในการออกไปให้บริการ แต่ทราบว่า สปสช. จะมีการปรับปรุงขอบเขตการให้บริการ P&P เชิงรุกให้มากขึ้น ก็จะทำให้การออกไปบริการเชิงรุกทำได้มากขึ้นด้วย
นพ.ณรงค์พล ห้าวเจริญ
5.ประชาชนไม่รู้สิทธิ จี้สื่อสารมากขึ้น
น.ส.วิมล ถวิลพงษ์ รองประธานชุมชนใต้สะพาน (ชุมชนพูนทรัพย์) เขตสายใหม กทม. และ นางเตือนใจ เกษมศรี ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองใต้สะพานสลัมสี่ภาค บอกเหมือนกันว่า อยากให้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิบริการสร้างเสริมป้องกันฯ ให้กับประชาชนได้เข้าใจมากขึ้น เพราะปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมในชุมชน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้สิทธิสุขภาพด้านนี้
ที่สำคัญคือมีอีกไม่น้อย ที่ไม่รู้ว่าการคัดกรองโรคก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องป่วยก่อน รวมไปถึงในการเขียนโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ก็อยากให้มีหน่วยงานภาครัฐช่วยเขียนเสนอโครงการพร้อมกับกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม เพื่อให้ภาคประชาชนในชุมชน เป็นอีกหนึ่งกำลังในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
6.คนพิการเข้าถึงข้อมูลยาก
ผศ.ดร.อรุณี ลิ้มมณี กรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิสุขภาพ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการบริการสุขภาพของคนพิการมีความชับซ้อน ทำให้คนพิการเข้าถึงข้อมูลได้ยาก และเป็นอีกสาเหตุที่คนพิการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ จึงอยากให้มีการปรับปรุงและมีการสื่อสารที่ครอบคลุมกลุ่มคนพิการทุกประเภท เพื่อให้สามารถเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดนโยบายด้านสุขภาพอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ผศ.ดร.อรุณี ลิ้มมณี
7.กทม.จ่อขยายบริการป้องกันโรคเพิ่มขึ้น
นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ ผอ.กองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยมีโครงการตรวจสุขภาพฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย 1 ล้านคน ที่เป็นการตรวจคัดกรองเชิงลึกเพื่อป้องกันโรคไม่ต่อต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงให้บริการเชิงรุกไปยังชุมชน ห้างสรรพสินค้าเพื่อให้สอดรับกับวิถีของประชาชน
นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ
"ในอนาคต จะมีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ให้บริการสุขภาพในวันหยุด รวมถึงให้บริการนอกเวลาราชการเพิ่มเติม ซึ่งก็คาดว่าจะช่วยให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงบริการสร้างเสริมป้องกันฯ ได้มากขึ้น" นพ.ธีรวีร์กล่าว
โฆษณา