6 เม.ย. เวลา 11:46 • ความคิดเห็น
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

วิทยาศาสตร์ของการยืมเงิน !!

การให้คนอื่นยืมเงินหลายคนอาจคิดว่าเขาเดือดร้อน เรามีกำลังช่วยก็ช่วยไป วันหนึ่งเราเดือดร้อนเขาคงช่วยเราบ้าง จึงตัดสินใจให้ยืม แต่น่าแปลก "เจ้าหนี้" กลับเป็นฝ่ายเกรงใจ "ลูกหนี้" เมื่อถึงเวลานัดแล้วไม่คืนก็ไม่กล้าทวง เพราะกลัวเสีย "มิตรภาพ" กับพี่น้องหรือเพื่อน
แล้วเจ้าหนี้ มีความโกรธ ลูกหนี้ หรือไม่ ?
งานวิจัยของ Angulo, Goldstein and Norton (2024) ศึกษาผลกระทบจากมิตรภาพและปฏิกริยาตอบโต้จากการช่วยเหลือทางการเงิน : จิตวิทยาของการกู้ยืมและการให้ยืม เป็นการทดลองที่แบ่งออกเป็น Study 1 - 6 โดยมีองค์ประกอบในการทดลอง คือ
1) ความโกรธของเจ้าหนี้ (Lender Anger) ทั้ง 9 ระดับ
2) วิธีการของเจ้าหนี้ คือ การให้ (Gift) / การให้ยืม (Lend) / การจ่ายค่าจ้างในการทำงาน (Pay)
3) ลูกหนี้นำเงินยืมไปใช้จ่าย คือ เพื่อประโยชน์ใช้สอย (utilitarian) หรือ เพื่อความสุขส่วนตัว (hedonic) ซึ่งงานวิจัยนิยาม ประโยชน์ใช้สอยเป็น "หนังสือ" และความสุขส่วนตัวเป็น "วีดีโอเกม"
ผลสรุปอธิบายผลเฉพาะ Study 2 :
คำตอบของกลุ่มตัวอย่าง 300 คน สรุปว่าเจ้าหนี้คิดว่าตัวเองมีสิทธิ์ตัดสินลูกหนี้ว่าเงินที่ยืมเอาไปใช้อะไร และอาจโกรธเมื่อเห็นว่านำไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ถ้าซื้อวีดีโอเกมส์ ความโกรธของเจ้าหนี้จะสูงกว่าซื้อหนังสือ ยกเว้นเงินที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเป็นค่าจ้าง ขณะเดียวกันจะเห็นว่า ความโกรธของเจ้าหนี้ ต่อ ลูกหนี้ ของการให้ยืมเงิน (Lend) สูงกว่าการให้ (Gift) เกือบ 3 เท่า
ดูภาพประกอบจะเห็นชัดเจน !!
แต่อย่าลืมว่างานวิจัยอยู่บนสมมติฐานของการให้ยืมเงินเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงการ "เบี้ยวหนี้" เมื่อลูกหนี้ไม่คืนตามเวลา ความโกรธของกลุ่มตัวอย่างจะอยู่ในระดับใด และยังไม่รวมการที่ลูกหนี้โกหก เช่น บอกจะเอาเงินไปใช้ในสิ่งจำเป็น แต่กลับเอาไปแทงบอล ปั่นสล๊อต เล่นพนัน ฯลฯ ผมว่าคงทวีความโกรธทะลุเกินกว่าระดับ 9 แน่ ๆ
หากให้ผมลองเสนอแนะจากผลการวิจัย
สำหรับ "เจ้าหนี้" หากมีกำลังช่วยเหลือได้ (ไม่มีก็ตัดไป) ควรให้ทำงานแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ถนัดและเกิดประโยชน์จะทำให้ไม่รู้สึกโกรธเคืองกับการที่ลูกหนี้นำเงินยืมไปใช้มากนัก หรือหากไม่ได้ก็ต้อง "ตัดใจให้" จะได้ไม่รู้สึกโกรธมากเท่ากับการให้ยืม ต้องไม่เป็นทุกข์เสียเอง
สำหรับ "ลูกหนี้" หากจำเป็นลองขอรับจ้างแลกเปลี่ยน หากไม่ได้ก็ขอยืมเป็นเรื่องเป็นราว แล้วรีบคืนให้ตรงเวลา ไม่ใช่มัวแต่โกหก หาข้ออ้างไปเรื่อย คุณอาจหลอกคนอื่นได้แต่มันจะฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก วันหนึ่งก็ต้องชดใช้ให้เขา และมันจะทบต้นทบดอก ผมไม่เคยเห็นใครเจริญจากการเบี้ยวหนี้ เพราะมันให้พลาดโอกาสหลายเรื่อง
เงินเล็กน้อย แลกกับความน่าเชื่อถือ ไม่คุ้มหรอก !
เงินเล็กน้อยแลกกับมิตรภาพ ไม่คุ้มหรอก !
เงินเล็กน้อยแลกกับศักดิ์ศรีความเป็นคน ไม่คุ้มหรอก !
ถ้าคิดว่าไม่มีปัญญาคืนแน่ ๆ ให้ "ขอ" ยังดีกว่า !!
สุดท้ายถ้ามีการให้ยืมเงิน ในฐานะ "เจ้าหนี้" คุณต้องพร้อมที่จะเสียทั้ง "เงิน" และ "มิตรภาพ" !!
เพราะมันเป็น "วิทยาศาสตร์ของการยืมเงิน"
ถ้าพร้อมก็เชิญเลย !!
#สามารถบันทึก
โฆษณา