11 เม.ย. เวลา 04:06 • นิยาย เรื่องสั้น
มหาวิทยาลัยโมนาช

จากบ้านหินกองสู่ Clayton #5/14

[------ชีวิตประจำวันช่วงแรก------]
ผมจำไม่ได้แล้วว่าเข้าเรียนและเลิกกี่โมง น่าจะเป็น จันทร์ถึงศุกร์ 8 โมงเช้า ถึงบ่าย 3 หยุดเสาร์-อาทิตย์ ยกเว้นวันศุกร์ที่จะเลิกเที่ยง น่าจะเป็นเพราะเผื่อสำหรับบางศาสนาที่ต้องหยุดทำกิจกรรมหลังเที่ยง เท่าที่ผมรู้ก็มีพวก Seventh-day Adventist ที่ทำอย่างนี้
ตอนเริ่มเรียนชั้น General ถือว่าเป็นชีวิตใหม่ของผมเลย หลังจากหมกมุ่นอยู่กับงานคอมพิวเตอร์จนหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเมื่อตอนอายุสามสิบสาม พอได้กลับมาลั้ลลาเรียนหนังสือกับวัยรุ่น อยู่ในอากาศที่ดี ได้เห็นอะไรใหม่ ๆ มากมาย แถมเป็นช่วงที่กำลังโสดด้วย มันช่างอภิรมย์มาก
ในเดือนแรกยังอยู่หอของนอมันบี้ ตอนเช้าก็ตื่นแบบสบาย ๆ ตอนนั้นเป็นช่วงที่อากาศหนาวของทางออสเตรเลีย และเหมือนร่างกายของผมมันตกใจที่มันเจอความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจาก 30 กว่า องศามาเป็น 15 องศา ทำให้มันไม่มีเหงื่อ ดังนั้นตอนเช้าที่อยู่หอจะไม่อาบน้ำเลย ผมไม่มีกลิ่นตัวอยู่ราวสองเดือน กว่าจะเริ่มกลับมามีเหงื่อ
ตื่นแล้วก็เอาอาหารมื้อเก่าที่ยังเหลือ หรือพวกบะหมี่ซองเข้าไปอุ่นหรือต้มด้วยไมโครเวฟในครัวของหอ กินแล้วก็เข้าห้องเรียน
เรียน ๆ เล่น ๆ แล้วพักกินข้าวเที่ยง
บางคนก็เอาข้าวมากินเอง แต่ส่วนมากก็จะกินที่ห้องอาหาร ซึ่งมีแค่ 2 ร้าน ทั้งสองร้านทำกับข้าวเอเชีย ร้านแรกเป็นอาหารอินโดฯ ร้านนี้มีลูกสะใภ้อายุสักยี่สิบกว่าเป็นคนไทย ส่วนอีกร้านเป็นอาหารเกาหลี เจ้าของร้านเป็นเกาหลี ราคาข้าวราดแกงบวกกับข้าวสองอย่างคือ 6 AUD ซึ่งเป็นเงินไทยประมาณ 120 บาท
ในห้องอาหารของนอมันบี้ มีร้านอาหารอินโดฯ และ เกาหลี
ของหวานของผมส่วนมากจะเป็น Kit Kat ซึ่งซื้อมาตุนไว้เป็นแพ็คพกติดกระเป๋า น้ำก็มักจะกดโค้กที่ตู้ น่าจะราว ๆ กระป๋องละ 2 AUD
สนามหญ้ากลางลานนอมันบี้เป็นที่โล่ง ในช่วงพักพวกนักเรียนมักจะยืนจับกลุ่มคุยกันกลางสนามหญ้า หลายคนก็ทั้งอาบแดดทั้งเสพควัน นักเรียนไทยที่เรียนภาษาตอนนั้นไม่มีใครสูบบุหรี่เลย พวกที่สูบกันเยอะคือเกาหลีทั้งหญิงและชาย กับ อินโดฯ ซึ่งสูบแต่ผู้ชาย
ในเดือนแรกที่พักอยู่นอมันบี้ พอเลิกเรียนแล้วพวกเราก็จับกลุ่มกันก่อนว่าจะทำอะไรต่อดี มันก็จะมีพวกที่มาอยู่ก่อนแล้วเป็นคนพาไป
ข้างนอมันบี้จะมีรถเมล์สาย 742 ผ่าน ที่ปลายทางของพวกเราจะเป็น Chadstone Shopping Center ที่นี่ค่อนข้างทันสมัยและใหญ่ขนาดที่มี MYER, David Jones, Hoyts cinemas, ผมก็ชอบไปกินซูชิที่นั่นบ่อย ๆ
ด้านหลังของผมจะเป็นถนนที่สาย 742 ผ่านเพียงสายเดียว
หลัก ๆ พวกเราจะนั่งรถเมล์สาย 631 หรือ 733 ไปซื้อของกินกันที่ Clayton Shopping Center แล้วก็นั่งรถเมล์กลับ อีกทางเลือกนึงก็คือนั่งสาย 601 หรือ 630 ไปลงที่สถานี Huntingdale เพื่อเข้าเมือง การขึ้นที่สถานีนี้ใกล้กว่าขึ้นที่สถานี Clayton
ถ้าเป็นวันธรรมดาที่เราเริ่มว่างตั้งแต่ช่วงบ่ายพวกเราก็จะไปเดินเล่นใกล้ๆ ที่มีหลายห้าง คือ Chadstone, Pinewood, Brandon Park, The Glen ทุกแห่งเดินทางด้วยรถเมล์ไม่เกินครึ่งชั่วโมง หรือไม่ก็ไปซื้อของกินที่ร้านเดิม ๆ คือร้าน Hong Kong ที่ Clayton Shopping Center ก็พอแล้ว
พวกเรามักจะเข้าเมืองกันเสาร์-อาทิตย์ ตอนแรกก็เดินชมเมือง เดินห้าง MYER, ห้าง David Jones, QVM, Daimaru, Crown Casino, Botanic Garden
พอเดินห้างเบื่อเราก็จะตะเวนกินของอร่อย ซึ่งในเมืองมีร้านหรูๆ สวยๆ แบบเมืองน้อกเมืองนอกหลายแห่ง
ร้านคิบาบ (Kebab) มีอยู่หลายร้านที่ย่างอยู่ริมถนนส่งกลิ่นหอมพร้อมไอหนาวของอากาศ ผมเดาว่าคนขายคิบาบน่าจะเป็นคนเชื้อสายตุรกี ส่วนร้านกาแฟก็เดาว่าน่าจะเป็นคนอิตาลีเป็นเปอร์เซนต์สูง
มีร้านกาแฟหอม ๆ เก๋ ๆ ที่มีเค้กสวย ๆ โชว์อยู่ริมถนน การนั่งจิบกาแฟพร้อมเค้กริมถนนที่มีอากาศฉ่ำโล่งคลอกับเสียงระฆังของรถรางก๊องแก๊ง ๆ นี่เหมือนหลุดเข้ามาในหนังเลย
ร้านกาแฟริมถนน
ผมรู้จักอาหารไทยอยู่ 3 ร้านที่เป็นร้านใจกลางเมือง จำชื่อได้ 2 ร้านคือ Patee Thai และ ร้าน Chow Phya ทั้งสองร้านค่อนข้างหรู ราคาอาหารแพงสำหรับผม อีกร้านก็คล้าย ๆ กัน ผมคิดว่ามีร้านอาหารไทยมากกว่านี้อีกแต่จำไม่ได้
ร้านอาหารไทยที่ผมไปกินบ่อยคือร้านชื่อ Thai Victoria Cafe อยู่ที่ Victoria St. เป็นร้านเล็ก ๆ แบบห้องแถว เมนูที่พวกเราสั่งประจำคือ ส้มตำ ไก่ทอด ข้าวเหนียว ลาบ ซึ่งแต่ละอย่างรสชาติถึงใจคนไทย ราคาเฉลี่ยจานละ 10 AUD ถ้าเทียบกับข้าวราดแกงจานละ 6 AUD ก็ถือว่าคุ้มค่าเงินและเวลา ร้านนี้ไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองต้องนั่งรถรางจากแถวฟลินเดอร์ไปอีกต่อนึง
อิ่มอร่อยแล้วก็กลับมานอนหอนอมันบี้ เปิดเทป เปิด CD ที่เอามาจากเมืองไทยฟัง หรืออ่านหนังสือไทยที่เอามาด้วยบ้าง ตอนนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ท ยังไม่ได้ซื้อทีวี
แล้วเช้าก็ตื่นมาเรียนวนไป
[-------มิตรสยาม มิตรอมตะ------]
พอเริ่มเรียนที่นอมันบี้ก็เริ่มรู้จักกลุ่มคนไทยอีกหลายคน
กลุ่มที่กำลังเรียนด้วยกันก็มี สโนว์-ดวงพร ศรีว่องไทย, เปิ้ล-พรรณรายณ์ เทียนแสงอุทัย, รัตน์-รัตนา พัชรธรรม, หน่อยแว่น, อ้อย-อัจฉราวรรณ สุจำนงค์, สไปรค์-มนูญ, หนุ่ม-สันติ, เก๋-อัญชิสา ทวีพงศ์พจนา, เพ้ง, แบ๋ม, อ้อ-ณัฐดา พิมสาร, จอย-ชนกวรรณ เอกปัตต์, อ้อหยิก-รัชดาภรณ์ ประสมทรัพย์, ภูมิ น้อยบุญสุข, ยุ้ย-เดือนฉาย สมประสงค์, เอ๋-ศันสนีย์ ประถมพงษ์, ปุ้ย-สุปียา กมลกิจการ, กล้า-ไตรเทพ กิตติรังสี
เนื่องจากเจฟฟรี่เป็นกรรมการของกลุ่มนักเรียนไทยของโมนาช เขาก็เลยเป็นตัวเชื่อมให้พวกที่มาใหม่ได้รู้จักกลุ่มนักเรียนไทยที่เรียนอยู่แล้วที่ไม่ได้อยู่นอมันบี้
กลุ่มนี้จะเป็นพวกที่เรียนปริญญาตรี-โท-เอก รวมถึงเขยฝรั่งอีกสามสี่คน
ก่อนหน้านั้นไม่รู้กี่ปีมาแล้วมีการรวมกลุ่มนักเรียนไทยที่เรียนโมนาช ใช้ชื่อชมรมว่า “มิตรสยาม MITR SIAM” ประธานชมรมคนก่อนหน้าคือ พี่จำนง พวงพุก ส่วนประธานคนปัจจุบันตอนนั้นก็คือ คุณทรงพล สุขกิจบำรุง
กิจกรรมชมรมก็จะมีการเลี้ยงบาบีคิวกันปีละสองครั้งมั้ง มีการปาร์ตี้กลางคืนปีละครั้ง ผมจำจำนวนครั้งไม่ได้ จะมีบาบีคิวเป็นหลัก และจะมีอาหารไทยมาเสริมอีกแล้วแต่กรรมการจะสรรหามา อาหารอีกอย่างที่ถูกร้องขอเป็นประจำก็คือมัสมั่นไก่ฝีมือคุณทรงพล
บัตรงานกลางคืนมิตรสยาม
ทางชมรมมีการจัดไปเที่ยวบ้าง เช่น ไปทะเล, เล่นสกี แต่สิ่งที่ได้ประโยชน์กว่าก็คือการที่นักเรียนไทยมาเจอกันเป็นกลุ่มใหญ่และก็ได้ช่วยเหลือกัน ยิ่งสำหรับคนที่มาใหม่แล้วยิ่งต้องการการช่วยเหลือ อย่างน้อยก็ทางด้านจิตใจ
พวกที่อยู่มาก่อนก็จะเป็นพวกนักเรียนทุน Ph.D. บ้าง เช่น คุณทรงพล, พี่จำนง, พี่หมอหนุ่ม-ชัยเลิศ พิชิตพรชัย, ปลา-ชพิกา สังขพิทักษ์, พี่โอ-พี่หยอย-สุพจน์-ลัดดาวัลย์ กรรณนุช, อาจารย์กัลยา
พวกปริญญาโทจะเยอะที่สุด เอาเฉพาะที่ผมเคยเจอตัวละกัน เช่น โย่ง-บัณฑิต มั่งมีทรัพย์, เซ็ง-ชนาวีร์ ปริญญารักษ์, บี-จิตตินี น้อยบุญสุข, ตุ้ม-ชมภูนุช จันทรธวัชสันติ, ไฟติ้ง ปาชม, เอก-จิรพัฒน์ สินไชย, ต้า-มัมตาราณี อโรร่า Mamtaranee Arora, ปูเป้-เหมือนตะวัน อาศรัยราษฎร์, พี่ติ๊ก-นัยนา วัฒนเพ็ญไพบูลย์, นุจ-นุจนาค นภาอำไพพร, หลิน-พัชรินทร์ ชูโชคชัย, ตุ๊กใหญ่-พอตา ลี้ไพโรจน์กุล
โท-สกล จีระสุนทรเดช, ฮง-สันติ ศิริวงศ์วัฒนา, ปู-ศิริกุล รัตนไชยานนท์, พี่สมสรวง พฤติกุล, แอ๊ด-สุวิทย์ จิรพงศานานุรักษ์, โย-ทิพย์วัลย์ ภิยโยดิลกชัย, แต้ว-ปาริชาติ บุญกุล, น้อย-นิรมล ลีไตรรงค์, สุ-สุจิตร โพธิ์วิจิตร, ปุ๊ก-สุธีรา พัฒนอางกุล, อาดี้-อดิศักดิ์ รัมมณีย์, เมย์-สันทนา วัฒนเสถียร, ฮิปโป-สาโรช จิตรโรจนรักษ์
ฝน-มณิศา ปาลกะวงศ์ ฯ, โชค-โชคชัย สิมะขจรบุญ, ลักษณ์-ศิวะลักษณ์ นาคาบดี, แซลลี่-สรวงพร สัจจะภาพพิชิต, เหมียว-มณีรัตน์ เกิดมณี, แก้ว-ฑิติพร เกิดมงคล , อร-อิงอร พงษ์ชีพ, โอปอล์-เพ็ญธิดา สุขมงคลวงศ์, อ้อแว่น-อัจฉรา
ปริญญาตรีมี ตุ๊ก-ระพีพรรณ ธีระพงษ์, แอน-ศิริวรรณ สุวิทย์วรกุล
มัธยม มี เล็ก-อารีรัตน์ นัยวัฒน์
และยังมีพวกนักเรียนข้างนอกที่คุ้นเคยกันอีกหลายคนที่จะมาร่วมสังสรรค์กับพวกมิตรสยามบ่อยๆ คือ กิต-กิตติศักดิ์ สฤษดิสุข, อ้อย RMIT- รุ่งรัศมี บุญดาว
มีบางคนที่ผมเจอแว้บ ๆ เช่น พัช-ที่บ้านทำสร้อยทองสุโขทัย ที่มาเรียนภาษาแล้วกลับ, เปิ้ล-สาวขอนแก่น ที่เคยเรียนห้อง Michael ด้วยกัน
4 ทุ่มของคืนวันที่ 14 มิถุนายน 37
เจฟฟรี่ มาเคาะประตูห้องชวนไปบ้านพี่จำนงประธานมิตรสยามเก่า เราไปกันสี่คน มีผม เจฟฟรี่ เก๋-อัญชิสา และ หนุ่ม-สันติ ไปเจอพี่จำนง คุณทรงพล เซ็ง-ชนาวีร์ และ แอ๊ด-สุวิทย์
เป็นครั้งแรกที่ผมได้เจอนักเรียนไทยรุ่นก่อนหน้า คืนนั้นเขาคุยกันเรื่องจัดงานมิตรสยามที่จะมีขึ้นในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 37 ผมดีใจที่ได้เจอคนเพิ่มขึ้น
ข่าวมิตรสยาม และ BBQ ที่จัดหลัง Sports & Recreation Center
คืนวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 37
ชมรมมิตรสยามจัดงานเลี้ยงที่ห้องประชุมของนอมันบี้ คนมาราวร้อยกว่าคน ที่คนเยอะก็คงเพราะมีคนที่หอนอมันบี้มาร่วมด้วยเยอะ ดิ้นกันมันมาก
ผมได้ฟังเพลง Waltzing Matilda ครั้งแรกจากการร้องคลอกีตาร์ของฝรั่งคนนึงที่ผมจำชื่อไม่ได้ เลิกงานราวเที่ยงคืนครึ่ง
งานที่นอมันบี้เลิกแล้ว แต่พวกผมยังไปต่อกันที่บ้าน The Lodge ที่พี่หมอพิสิษฐ์ - พี่เล็ก - สไปรค์ เช่าอยู่ ที่นั่นกลายเป็นที่ชุมนุมของพวกเราอยู่หลายครั้ง คืนนั้นแยกย้ายกันตี 4 ผมก็เดินข้ามถนนอีกนิดนึงกลับไปนอนหอนอมันบี้
พี่หมอ(หนุ่มคนถือแก้ว)-พี่เล็ก(ขวาสุดใส่แว่น)
รุ่งเช้าวันอาทิตย์ก็ไปสุมหัวที่บ้านพี่หมอต่อ คราวนี้มีคุณทรงพล และ ยุงชุม สาวเกาหลี, Perry-เกาหลีสัญชาติออสซี่ทำงานไปรษณีย์, อ้อย, ปุ๊ก มาร่วมสมทบ คนนั้นไปคนนี้มา บางคนไปทำธุระแล้วกลับมาอีก แล้วก็แยกย้ายกันเที่ยงคืน
โฆษณา