11 เม.ย. เวลา 04:21 • นิยาย เรื่องสั้น
มหาวิทยาลัยโมนาช

จากบ้านหินกองสู่ Clayton #10/14

[------พระเอกกลับมาแล้วจ้า.....------]
21 กุมภาพันธ์ 38 ตอนเช้ามืด ผมก็ได้กลับมาเหยียบ Tullamarine Airport อีกครั้ง
คราวนี้เป็นนักศึกษาปริญญาโทแล้วโว้ยยยย
นึกถึงตอนเด็กๆ ที่อ่านนิยายเจอว่า พระเอกต้องจบจากเมืองนอกด้วยดีกรี “รัฐประศาสนศาสตร์” กลับมาเมืองไทยก็ต้องขับรถสปอร์ต “แนชลอยลม” (Nash 2 ประตูเปิดประทุน) ตอนนี้ฝันใกล้เป็นจริงแล้ว
27 กุมภาพันธ์ 38 เปิดเรียนวันแรกในฐานะนักศึกษา post graduate ของโมนาช วิชาแรกที่เรียนคือ Computer Information Systems เป็นวิชาง่าย ๆ เหมือนจะเรียกน้ำย่อยก่อน มีนักเรียนไปยืนรออาจารย์เปิดห้องกันอยู่หลายคน มีฝรั่งบ้าง คนเอเชียบ้าง แต่ไม่มีคนไทย ห้องเรียนเป็นห้องเล็ก ๆ ทึม ๆ
สาขาที่ผมเรียนคือ Business Systems ขึ้นอยู่กับคณะ FCIT – Faculty of Information Technology
FCIT
ปีแรกในบัตรนักศึกษาจะพิมพ์ว่าเป็น P/GRAD ที่หมายถึง Post Graduate Student ถ้าสอบผ่านปีนี้ไปได้ก็จะเปลี่ยนบัตรใหม่เป็น MASTER
ปี 1 และ ปี 2
สาขานี้จะเรียกว่าเป็นการเรียนคอมพิวเตอร์ประยุกต์ก็ได้ จะมีวิชาที่เกี่ยวกับการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในทางธุรกิจ เช่น GOM-General operation management, Financial modelling, Business process design, Quality and reliability, ...
อีกด้านหนึ่งก็มีพวก programming หนักๆ เช่น C++, COBOL
ผมจะพยายามเลือกพวก programming ก่อนเพราะเป็นแนวที่ถนัด ทำให้เรียนได้ง่าย และเป็นที่พึ่งของน้อง ๆ ในเรื่องเขียนโปรแกรมได้อีก
1 ในตำราเรียนของสาขาผมที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย
นักเรียนไทยที่เรียนคณะเดียวกับผมทุกคนจะเรียนแบบ coursework only คือ เข้าเรียนราวสิบกว่าวิชา มีการสอบย่อยและสอบใหญ่ มีรายงานชิ้นเล็ก ๆ ในแต่ละวิชา เรียนแบบนี้ไม่เครียด มีเพื่อนเรียนที่คอยติวกันได้
รุ่นที่เรียนสาขาเดียวกันและช่วงเวลาเดียวกันมี อ้อหยิก-รัชดาภรณ์, เก๋-อัญชิสา, กล้า-ไตรเทพ, ปุ้ย-สุปียา, ตุ๋ม-ปาริชาติ, เปิ้ล-พรรณรายณ์, ภูมิ, สุ-สุจิตร
อ้อหยิก หรือ อ้อ-รัชดาภรณ์ เด็กเกียรตินิยมจาก ม.เกษตร เธอจบเคมีจากเกษตร ตอนแรกเธอลงทะเบียนเรียนสาขาเคมีแล้ว แต่เปลี่ยนใจมาเรียน Business Systems ทั้งๆ ที่ไม่มีพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์เลย เธอให้ผมช่วยติวความรู้พื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ให้แค่คืนเดียวก็บรรลุ
การเรียนสาขาวิชานี้สำหรับผมแล้วเป็นเรื่องง่าย ๆ จะติดปัญหาก็ตอนทำรายงานของ GOM ที่มันมีการคำนวณด้วย ผมก็ได้ “อ้อหยิก” ช่วยเหลือแทบจะจับมือพิมพ์จนเสร็จไปได้
ส่วนเรื่อง programming แม้จะง่ายสำหรับผมแต่ก็ใช้เวลากับมันมาก เช่น การเขียนระบบให้เช่าวิดีโอด้วยการใช้ C++ ต้องเขียนโค้ดเกือบ 6 พันบรรทัด
กว่าจะเสร็จงานทั้ง C++ และรายงานอื่น ๆ ผมจะได้ผมหงอกงอกมาที่ขงับซ้ายขวาข้างละ 1 เส้น ซึ่งมันจะหายไปหลังจากหายเครียดสักสองสามเดือน แล้วพอมีงานให้เครียดอีกเมื่อไหร่มันก็โผล่ออกมาอีกที่ตำแหน่งเดิม ๆ
[------พี่ลงไปเถอะวิชานี้ ผ่านอยู่แล้ว------]
สำหรับผมก็มีเรื่องหาญกล้าในเรื่องการเรียนเรื่องหนึ่ง ก็คือการลงเรียนวิชา Micro Economics Management
ตอนที่ผมผ่านขึ้นมาปีสองแล้ว วิชานี้เป็นวิชาของพวก MBA ที่คนนอกคณะบางสาขามีสิทธิลงได้ น้อง ๆ พวก MBA ก็ยุว่า “ลงตัวนี้เลยพี่ ง่าย ๆ สบาย ๆ ผ่านอยู่แล้วหละ”
ผมก็อยากลองดูเหมือนกัน หนังสือก็ยืมพวกน้อง ๆ อ่านได้ พอไปเข้านั่งเรียนมันก็รู้สึกว่าพอเข้าใจนะ มันก็คือ “เศรษฐศาสตร์จุลภาค” คล้ายกับที่เรียน ปวท. การตลาดเมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านั้น ก่อนสอบก็ดูหนังสือหนักมาก เป็นหนังสือที่หนาเตอะ ตัวหนังสือเรียงเป็นพืด ไม่เหมือนหนังสือฝั่ง IT ที่จะมีภาพ มีแผนภูมิ ดูโล่ง ๆ
ก่อนสอบวิชานี้มันเป็นช่วงที่ปิดเทอมย่อย เพื่อน ๆ เขาไปเที่ยวนิวซีแลนด์กัน เขาก็ชวนผมไปด้วย แต่ผมบอกว่าอยากเตรียมตัวสอบ ทั้งที่จริงตอนนั้นเงินหมด ก็เลยได้ท่องหนังสือแบบเหงา ๆ อยู่คนเดียว
สนามสอบอยู่ที่ Monah U. Caufield campus ที่ห่างจาก Clayton campus ประมาณ 10 กม. โดยไปใช้อาคารที่สนามม้าเป็นสถานที่สอบ นั่งเรียงกันเป็นร้อยคน หัวทองพรึ่บไปหมด มีคนเอเชียเป็นสัดส่วนน้อยกว่า ไม่เหมือนกับสาย IT ที่พวกเอเชียจะเยอะกว่าฝรั่ง
พอเริ่มทำข้อสอบก็เริ่มสำนึก มันเป็นข้อสอบแบบอัตนัย และข้อสอบก็คือข้อสอบที่มันก็ยากพอสมควร แต่ที่บั่นทอนจิตใจคือพวกหัวทองรอบ ๆ มันส่งเสียงรบกวนด้วยการเปิดกระดาษข้อสอบขึ้นหน้าใหม่กันฟึ่บ ๆ ๆ ในขณะที่ผมเพิ่งเขียนได้สัก 5 บรรทัด
ลักษณะของการเรียนและการสอบของวิชาของ MBA จะเน้นการบรรยายถึงเหตุการณ์ทึ่เป็นปัญหา การแก้ปัญหา และเหตุผลประกอบ ส่วนการเรียนและการสอบทาง IT จะตอบเป็นขั้นตอนที่เรียงลำดับ การวิเคราะห์ การแก้ปัญหาตามขั้นตอน จะมีการบรรยายสั้นๆ แล้วตามด้วยขั้นตอนเป็น bullet point ถือเป็นโลกที่แตกต่างกัน
ผมใช้เวลากับมันจนเวลาหมด แล้วผลที่ออกมาก็คือได้ 40/100 คะแนน
เกรดที่ได้คือ PII ซึ่งแปลว่า “ให้ผ่านแบบมีเงื่อนไข” ในฐานะที่เป็นนักศึกษาต่างคณะ แต่ “ห้ามบังอาจเรียนวิชาที่ต่อเนื่อง คือ Macro Economics-เศรษฐศาสตร์มหภาค”
เป็นอันว่าสมใจอยาก
โดยรวมแล้วการเรียน P/GRAD ปีแรก และต่อด้วย MASTER ปีที่สองผมรู้สึกว่ามันต่อเนื่องกันเป็นเป็นหลักสูตรเดียว มันก็จะวนเวียนอยู่ที่ เข้าห้องเรียน, เข้าห้องคอมพิวเตอร์, ทำรายงาน, สอบ
ส่วนวงเวียนชีวิตก็จะเป็นไปเรียนตามตารางเรียน, กิน, จ่ายตลาด, ทำกับข้าว, เล่นกีฬา, ดูหนัง, นาน ๆ ทีก็ไปเที่ยวไกล ๆ, นาน ๆ ทีก็มีงานมิตรสยาม, กลางคืนโทรหาสาว, ดูวิดีโอ
โฆษณา