7 เม.ย. เวลา 08:33 • ความคิดเห็น

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น นี่คือ "ราคาที่ต้องจ่าย"

ผมดูข่าวด้วยความสลดหดหู่ กรณีแผ่นดินไหวทำให้ตึกที่กำลังก่อสร้าง 31 ชั้น ของหน่วยงานหนึ่งถล่ม ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่ามันผิดปกติ เพราะเป็นการถล่มแบบแพนเค้ก คือพังทลายลงมาเป็นชั้น ๆ ซึ่งอาคารที่ทำโครงสร้างเสร็จไม่น่าถล่มลงมาแบบนี้ แต่สุดท้ายต้องรอฟังข้อสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ท่านคิดว่ามันเป็นเพราะ อะไร ?
ผมไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่ประเด็นที่ผมมีความเห็นเป็นเรื่อง "ความไว้วางใจ" ไม่ได้พาดพิงองค์กรใด แต่มันเกี่ยวข้องกับระบบบริหารภาครัฐที่อยู่บนพื้นฐานของ "ความไม่ไว้วางใจ" จึงสร้างกลไกป้องกันการทุจริตที่เข้มข้น มีขั้นตอนมากมาย และมีบทลงโทษ เพราะคาดว่าจะมีคนโกง มีคนฮั้วประมูล มีการใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับตัวเอง
ระบบอาจจะดี แต่ทำให้คนในภาครัฐเกิดความกลัว !!
กลัวผิดระเบียบ กลัวผิดขั้นตอน กลัวถูกลงโทษ !!
หนึ่งในนั้นคือระบบการจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อมีโครงการก่อสร้างที่อยู่ในหมวดงบลงทุน ต้องเปิดประมูลในอีบิดดิ้ง ต้องมีคนยื่นซองครบ 3 เจ้า เพื่อให้โปร่งใส เมื่อครบแล้วจึงเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณา จะด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือวิธีใดก็ตาม กรรมการต้องพิจารณาบนความคุ้มค่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเลือกผู้รับเหมาที่ยื่นราคาต่ำที่สุด
ยิ่งบริษัทยื่นซองต่ำกว่าราคากลางเยอะยิ่งดี เพราะหมายถึงการประหยัดงบประมาณ แต่ยังต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ตามสเปค และดำเนินการก่อสร้างตามแบบที่กำหนด ผมเข้าใจว่าเคสการก่อสร้างอาคาร 31 ชั้น ก็แบบเดียวกัน คือใช้วิธีการคัดเลือกผู้รับเหมาบริษัทที่ยื่นเสนอราคาต่ำที่สุด
ซึ่ง "ต่ำที่สุด" ไม่ได้หมายความว่า "ดีที่สุด"
และ "ต่ำที่สุด" ไม่ได้หมายความว่า "คุ้มค่าที่สุด"
ผมเคยเห็นหลายกรณี !!
เมื่อก่อสร้างจริงเจอปัญหาการทิ้งงาน หนีงาน ต้องดำเนินการฟ้องร้อง ดังนั้นอย่าแปลกใจที่เห็นถนน อาคาร สนามกีฬา หรือสิ่งปลูกสร้างของรัฐคาราคาซังอยู่ เพราะเกิดจากผู้รับเหมาหนีงาน นี่คือหนึ่งในผลของการคัดเลือกผู้ที่ยื่นประมูลต่ำที่สุด บางเจ้าอยากฟันราคาเอาเครดิตตัดหน้าคู่แข่ง บางเจ้าอยากกันเจ้าอื่นออกไป จึงยอมรับงานแบบขาดทุน แล้วไปแก้ปัญหาเอาข้างหน้า
มันไม่ใช่เรื่องผิดของผู้รับเหมา แต่มันบกพร่องตรงระบบที่สร้างจาก "ความไม่ไว้วางใจ"
ผมเคยฟังบทสัมภาษณ์คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. และผู้บัญชาการเหตุการณ์ในตอนนี้ เปรียบเทียบการทำสัญญาก่อสร้างของรัฐกับบริษัทรับเหมาสร้างบ้านจัดสรรคิวส์เฮ้าส์ที่ท่านเคยเป็นประธานกรรมการใหญ่ ท่านบอกว่าภาคเอกชนจะคัดเลือกผู้รับเหมาจากบริษัทที่ "ไว้วางใจมากที่สุด" แม้จะมีราคาสูงกว่า แต่ถ้าคุณภาพดีกว่า เสร็จทันตามเวลาที่กำหนดก็คุ้มค่ากว่า
เพราะมันคือ "ความไว้วางใจ" ของลูกค้าที่จะมาซื้อบ้าน
ย้อนกลับมาเคสนี้แม้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะถูกต้องแบบไม่มีการทุจริต แต่เชื่อว่าหน่วยงานต้องคัดเลือกผู้รับเหมาที่ยื่นราคาต่ำที่สุด (ข่าวว่าบริษัทจีน) เพื่อความคุ้มค่าตามเจตนารมณ์ของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และคณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาคงกลัวไม่มีเหตุผลตอบ หากมีผู้มาตรวจสอบถามว่าทำไมเลือกบริษัทที่ยื่นราคาสูงกว่า
แต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น คงต้องทบทวนว่าการเลือกบริษัทที่ยื่นราคาต่ำที่สุด มันมีความคุ้มค่าจริงหรือไม่ ?
ทั้งในเรื่องคนเสียชีวิต ประเมินมูลค่าไม่ได้
ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่นต่อชื่อเสียงองค์กรของรัฐ
ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่นต่อสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่มีอยู่
ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชนที่อยู่คอนโดสูง
ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่นในสายตาของต่างประเทศ
ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล
และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในหลายเรื่อง
ทุกอย่างเริ่มจาก "ความไม่ไว้วางใจ" นำไปสู่การสร้างกลไกตรวจสอบที่เข้มข้น ทำให้ต้องปฏิบัติตามกฎที่ขาดความยืดหยุ่น ผลลัพธ์ก็เป็นอย่างตึก 31 ชั้นที่เห็น
นี่แหละ คือ "ราคาที่ต้องจ่าย" ท่านว่ามันคุ้มกันหรือไม่ ?
ปล. หากผมเขียนผิดประเด็นไป หรือใครไม่เห็นด้วยขออภัยด้วย ครับ
ขอไว้อาลัยและเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียทุกท่าน !!
ขอเป็นกำลังใจให้ทีมกู้ภัยและทีมค้นหาทุกท่าน !!
#สามารถบันทึก
โฆษณา