Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Is Life
•
ติดตาม
8 เม.ย. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
แมวป่าอิริโอโมเตะ จากสัตว์เฉพาะถิ่นที่ถูกเกลียด สู่การเป็นที่รักของคนท้องถิ่น
ครั้งหนึ่งคนบน ‘เกาะอิริโอโมเตะ’ ประเทศญี่ปุ่น เคยเกลียด ‘แมวป่า’ เอามากๆ
สาเหตุเป็นเพราะรัฐบาลในอดีตจริงจังกับการอนุรักษ์ ‘แมวอิริโอโมเตะ’ ที่พบได้เฉพาะบนเกาะนี้มากเกินไป
ความเดือดร้อนเลยมาตกกับคนท้องถิ่น ที่ขอพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานอะไรไม่ค่อยได้ มันกระทบกับบ้านของแมวไปเสียหมด
บวกรวมกับทัศนคติของคนสมัยก่อน ที่เห็นแมวเป็นเพียงสัตว์ในป่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของของคนบนเกาะเลยแม้แต่น้อย
เว้นเสียเรื่องเดียว ‘ตัวขวางความเจริญ’
จนก่อเกิดเป็นความชิงชังอยู่นานหลายปี แต่โชคดีที่เรื่องไม่บานปลายจนเกิดเป็นปัญหาอื่นๆ ตามมา
และสุดท้ายกลับมาลงเอยที่ ‘ความเข้าใจ’ และเกิดเป็น ‘มิตรภาพต่างสายพันธุ์’ ระหว่างคนกับสัตว์ป่า
เพราะแมวอยู่ได้ คนจึงอยู่ได้
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแมวป่าเป็นมาอย่างไร - เรื่องราวนี้เริ่มต้นในปี 1965 เมื่อ ยูกิโอะ โทกาวะ (Yukio Togawa) นักข่าวที่ผันตัวมาเป็นนักนิเวศวิทยา ออกค้นหาแมวป่าตามเสียงล่ำลือ
เขาได้ยินมาว่าป่าบนเกาะอิริโอโมเตะ ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น (อยู่ใกล้กับไต้หวัน) มีแมวป่าอาศัยอยู่ แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นแมวชนิดไหน
การเดินทางครั้งแรก โทกาวะ ได้กระโหลกศรีษะกลับมา 2 ชิ้น และการเดินทางรอบสองได้ซากแมวป่าที่เพิ่งป่วยตายกลับมา 1 ซาก
ที่ต่อมาได้รับการยืนยันว่าเป็นแมวชนิดใหม่ที่ไม่เคยถูกบันทึกไว้มาก่อน และไม่เคยมีการพบเจอที่ไหนอีกเลย นอกจากเกาะอิริโอโมเตะเกาะเดียว
แมวอิริโอโมเตะมีขนาดเท่าๆ กับแมวบ้าน สรีระรูปร่างใกล้เคียงกัน จะต่างเพียงส่วนกระโหลกที่แมวอิริโอโมเตะมีขนาดหนากว่า
กับเรื่องสีขน ที่ส่วนใหญ่เป็นแมวสีเทาเข้มและสีน้ำตาลอ่อน และตัวโตเต็มวัยจะมีจุดสีขาวที่ด้านหลังของหูแต่ละข้างเหมือนกับเสือโคร่ง
ลักษณะนิสัยเด่นอย่างหนึ่ง คือ ไม่กลัวน้ำ เพราะกุ้ง หอย ปู ปลา คือหนึ่งในอาหารอันโอชะ นอกเหนือจากสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก รวมถึงค้างคาวผลไม้ นก หมูป่า สัตว์ฟันแทะ
ในช่วงที่มีการประกาศยืนยันว่าพบแมวชนิดใหม่ และพบได้แห่งเดียวในโลก ทำให้แมวอิริโอโมเตะเป็นที่จับตามองจากนักอนุรักษ์ทั้งในและนอกประเทศ
แม้กระทั่งเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ยังสนพระทัย ถึงขั้นทรงเขียนจดหมายถึงเจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น วอนขอให้หาทางอนุรักษ์แมวป่าชนิดนี้เอาไว้ให้ได้
เหตุผลนั้นเป็นเพราะทางฝ่ายอนุรักษ์ มองว่าเกาะอิริโอโมเตะไม่ใช่เป็นเกาะใหญ่ ทำให้ถิ่นอาศัยของแมวมีจำกัดเอามากๆ
หากคำนวณจากขนาดพื้นที่แล้ว แมวชนิดนี้คงมีราวๆ 100-150 ตัว ซึ่งนับว่าน้อยมากๆ
อีกทั้งกังวลว่าหากเกาะอิริโอโมเตะถูกพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง ถิ่นอาศัยของแมวป่าคงถูกทำลายไม่เหลือหลอ และสุดท้ายจะนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ในที่สุด
เรื่องทำนองนี้ก็มีบทเรียนให้เห็นทั่วไป เมื่อไหร่ก็ตามที่บ้านของสัตว์ป่าถูกรุกรานด้วยการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ความสูญเสียจะกลายเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในตอนนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นค่อนข้างเห็นดีเห็นงามกับการอนุรักษ์ ยกเลิกแผนพัฒนาต่างๆ เช่น ยุติการตัดถนนหลายสาย จนคนบนเกาะพากันหัวเสียเป็นยกใหญ่
เกิดเป็นเสียงบ่นระงมอย่างทดท้อว่าถูกบังคับให้ใช้ชีวิตเหมือนอย่างยุคดึกดำบรรพ์
เพราะเดิมทีเกาะอิริโอโมเตะก็เป็นดินแดนไกลปืนเที่ยงอยู่แล้ว มีไฟฟ้าใช้ช้ากว่าพื้นที่อื่นๆ ในญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ครั้นพอความเจริญจะเข้ามาก็ดันมีแมวมากระโดดขวางหน้า
มิหนำซ้ำ รัฐบาลยังมีแผนย้ายคนออกจากเกาะ ตั้งเป้าประกาศให้เกาะอิริโอโมเตะเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีแค่ป่ากับสัตว์สองอย่างเท่านั้น
พอเจอกรณีนี้เข้า คนบนเกาะจึงออกมาประท้วง ส่งคำถามถึงรัฐบาลว่าจะเลือกแมวหรือเลือกคน
อย่างไรก็ตาม หากว่ากันตามวิถีความเป็นอยู่ของคนกับแมว ในอดีตต่างก็อยู่บนที่ดินเดียวกันมานมนาน ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรกันมาก่อน
จนถึงที่สุด แง่มุมที่ถูกมองข้ามได้ถูกนำมาปัดฝุ่นศึกษา มีกระทรวงสิ่งแวดล้อม นักอนุรักษ์เข้ามาทำงานร่วมกับคนบนเกาะ ช่วยกันสร้างจุดร่วมให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
พื้นที่ตรงนี้ขอไว้เป็นอุทยานแห่งชาติให้แมวนะ ส่วนด้านนี้ไว้พัฒนาสาธารณูปโภคแก่ผู้อยู่อาศัย
เมื่อเวลาผ่านไป ชาวบ้านเริ่มมองแมวป่าด้วยความภาคภูมิใจ และเกิดเป็นความถ้อยทีถ้อยอาศัย
เรื่องราวของแมวป่าที่หาไม่ได้จากที่ใดในโลก ทำให้เกาะอิริโอโมเตะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อสำหรับคนรักธรรมชาติและอยากเห็นแมวป่าตัวนี้สักครั้งในชีวิต
ชุมชนก็รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปเต็มๆ กระทั่งวันหนึ่งคนบนเกาะพากันลงขันสร้างอนุสาวรีย์แมวไว้เป็นจุดเช็คอินโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐเลยสักบาท
พร้อมๆ ความรัก ความเข้าใจ ความหวงแหนต่อทรัพยากรสัตว์ป่าก็ค่อยๆ เพิ่มพูนตามมา ถึงขั้นที่บางคนแสดงความเศร้าใจอย่างเห็นได้ชัด เมื่อพบซากแมวตายเพราะถูกรถชน อันเป็นผลจากการเติบโตของเมืองเพราะภาคการท่องเที่ยว
ในช่วงแรก การท่องเที่ยวบนเกาะอิริโอโมเตะไม่ได้ฟู่ฟ่าอะไรนัก จำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อปีราวสองหมื่นคน
แต่พอเริ่มมีสถานีโทรทัศน์มาถ่ายทำรายการพิเศษเรื่องแมวป่า ชื่อเสียงก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นพร้อมกับจำนวนนักท่องเที่ยว รถราที่เยอะขึ้น
รวมถึงพบซากแมวบนถนนมากขึ้น
คนบนเกาะเองค่อนข้างเป็นกังวลว่า ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไป ‘จุดขาย’ ของเกาะก็คงสิ้นสุดในสักวันหนึ่ง
ความรักที่มีต่อแมวป่ายังถูกแสดงออกชัด ตอนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะเสนอให้เกาะอิริโอโมเตะเป็นมรดกโลก เพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจให้กับคนในประเทศ พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวไปใยตัว
แต่คนบนเกาะอิริโอโมเตะมองว่า การเป็นมรดกโลกจะทำให้มีนักท่องเที่ยวมากเกินจะรับไหว และอาจทำให้แมวป่าอิริโอโมเตะถูกรบกวนหนักกว่าเก่า
เรื่องนี้มีบทเรียนจากเกาะยาคุชิมะที่อยู่ไม่ไกลจากเกาะอิริโอโมเตะ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1993 จนจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทวีคูณ
และเพราะขาดระบบการจัดการที่ดี ภายหลังจึงพบว่า เต่าทะเลที่ใช้ชายหาดของเกาะยาคุชิมะเป็นแหล่งทำรังวางไข่ลดจำนวนลงไปครึ่งหนึ่ง
ครั้นพอจะกลับตัว องค์กรปกครองท้องถิ่นก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะอำนาจต่อรองตกไปอยู่ใมมือภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปเสียหมด
ซึ่งคนบนเกาะอิริโอโมเตะ ก็กำลังเจอปัญหาคล้ายๆ กัน จากการควบคุมนักท่องเที่ยวและไกด์บางส่วนไม่ได้
บริษัททัวร์บางแห่งโชว์จุดขายว่ามาเกาะอิริโอโมเตะจะพบแมวป่าแน่ๆ โดยใช้วิธีวางอาหารล่อบ้าง หรือพาบุกเข้าถิ่นแมวอย่างไม่เกรงใจวิถีชีวิตของสัตว์
ปัจจุบัน เกาะอิริโอโมเตะมีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 315,000 คน แม้จะเกิดผลดีทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งแวดล้อมก็ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน
ความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัยเริ่มปรากฏให้เห็น ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เริ่มมากไปทำให้แมวไม่สามารถใช้พื้นที่ในอาณาเขตของเองได้อย่างเป็นสุข
ครั้งหนึ่งเคยมีคลิปจากไกด์ที่พยายามส่องไฟฉายให้ลูกทัวร์ดูแมว แต่ภาพที่บันทึกได้เป็นแม่แมวเผ่นหนีนักท่องเที่ยวและทิ้งลูกน้อยสองตัวไว้ข้างหลัง
รวมถึงถนนหนทางที่มีมากขึ้น ก็ต้องแลกกับชีวิตแมวป่าไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ตัว จากอุบัติเหตุทางรถยนต์
ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด สถิติการตายของแมวป่าบนเกาะลดลงเท่ากับศูนย์ แต่เมื่อโลกกับสู่ภาวะปกติ ความตายก็กลับมาเพรียกหาอีกครั้ง
ทุกวันนี้คนท้องถิ่นบนเกาะอิริโอโมเตะกลายเป็นแนวหน้าสำคัญของการปกป้องแมวป่าที่หาจากกที่ไหนบนโลกไม่ได้อีกแล้ว
พวกเขามีทีมลาดตระเวนในตอนกลางคืน คอยสอดส่งถนนหนทาง จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ทำแม้กระทั่งเก็บกวาดซากสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ตายบนท้องถนน (เพราะซากสัตว์สามารถล่อให้แมวให้ออกจากป่าได้)
ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ คนบนเกาะอิริโอโมเตะได้ร่วมกันเขียนกฎการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวขึ้นใหม่ โดยอยากให้มีหน่วยงานรัฐรับรองและให้เกิดการบังคับใช้จริง เพื่อลดการคุกคามแมวจากภาคการท่องเที่ยวลง
แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะต้องฟังความหลายฝ่าย และเริ่มมีประเด็นอำนาจทางการเมืองของภารรัฐเข้ามาเกี่ยว
ถึงตอนนี้ยังไม่ปรากฏรายงานว่าความพยายามนั้นสำเร็จหรือไม่
แมวป่าอิริโอโมเตะ จากสัตว์เฉพาะถิ่นที่ถูกเกลียด สู่การเป็นที่รักของคนท้องถิ่น เป็นอีกบทที่แสดงให้เห็นถึงการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับงานอนุรักษ์ คือ คำตอบสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อม
เพราะทุกสรรพชีวิตบนโลกนี้จำเป็นต้องเกื้อกูลกัน
อ้างอิง
Hakai Magazine, The Risky Fame of a Rare Island Wildcat
ข่าวรอบโลก
เรื่องเล่า
ท่องเที่ยว
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย