8 เม.ย. เวลา 03:08 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

City Hunter จากมือปืนจอมทะลึ่งยุค 80 สู่ฮีโร่ยุคใหมที่ไร้หื่น

เพิ่งได้ดู ใน Netflix
ซาเอบะ เรียว ผู้เป็นทั้งมือปืน นักสืบ ผู้มีฐานปฏิบัติการอยู่ในชินจูกุ แต่ภาพจำของนักอ่านคือเข้าคือเจ้าชู้ตัวพ่อ จอมหื่นที่มักลงเอยด้วยค้อน 100 ปอนด์ของคาโอริ ต้นฉบับของ City Hunter ถือกำเนิดในปี 1985 จากปลายปากกาของโฮโจ สึคาสะ (Tsukasa Hojo) มังงะเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวของชายผู้ปราบอาชญากรรม หากยังเล่าถึงโลกใต้ดินของโตเกียวผ่านสายตาของเรียว นักสืบเอกชนผู้รับจ้าง “เก็บกวาด” เหล่าคนร้ายให้สิ้นซาก
ความนิยมของมังงะส่งผลให้มียอดขายสะสมทั่วโลกกว่า 50 ล้านเล่ม และถูกนำไปสร้างซ้ำหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชัน ทั้งหนังและละคร หรือ หนังคนแสดงอย่าง City Hunter ฉบับเฉินหลง ปี 1993 หรือ Nicky Larson ของฝรั่งเศสในปี 2018
อย่างไรก็ดี การดัดแปลงตัวละครจอมหื่นสุดโต่งเช่นซาเอบะ เรียว ให้เหมาะสมกับผู้ชมยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยภาพจำในฉบับการ์ตูนที่เต็มไปด้วยมุกล้อทางเพศ พฤติกรรมแทะโลมหญิงสาว และท่าทีที่อาจถูกมองว่าล่วงละเมิดในมาตรฐานสังคมยุคใหม่ ยุคที่ความตื่นตัวด้านจริยธรรม และความเท่าเทียมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มุกตลกหื่นๆที่คนชอบในมังงะ อาจจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามตามมาตรฐานยุคนี้ได้
แต่การนำงานคลาสสิกจากยุค 1980 อย่าง City Hunter กลับมาทำใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องของความคิดถึง แต่เป็นบททดสอบสำคัญว่าผลงานซึ่งเคยประสบความสำเร็จภายใต้บริบทของวัฒนธรรมยุคนั้น จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับตัวเอกที่เคยถูกมองว่า “หื่น” และมีพฤติกรรมหลายอย่างที่หากมองในปัจจุบันอาจถูกจัดว่าเป็นการคุกคามทางเพศอย่างไม่ต้องสงสัย
นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ City Hunter เวอร์ชัน Netflix ที่ออกฉายเมษายน 2024 ที่แม้จะยังคงเอกลักษณ์ความเป็นมือปืนเจ้าเสน่ห์ที่ชอบพูดคำทะลึ่งๆ แบบโมกโกริ อยู่บ้าง แต่ก็มีการปรับปรุงคาแร็กเตอร์ให้ซาเอบะ เรียว ไม่มีรการล่วงละเมิดใคร ไม่แตะเนื้อต้องตัวใครโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการควบคุมฉากใกล้ชิดด้วย โดยระหว่างการถ่ายทำจะมีการจ้าง intimacy coordinator (ผู้ดูแลฉากแนบชิด) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการก้าวข้ามเส้นทางจริยธรรม ทั้งในตัวละครและการถ่ายทำเบื้องหลัง
ทีมผู้สร้างรวมถึงนักแสดงนำอย่าง เรียวเฮ ซึซูกิ ซึ่งรับบทเป็นเรียว ต่างยืนยันตรงกันว่า ความขี้เล่นของตัวละครจะต้องไม่ไปเบียดเบียนใคร หรือคุกคามทางเพศใครอีกต่อไป แต่ยังสามารถคงเสน่ห์และอารมณ์ขันของต้นฉบับไว้ได้
ความเปลี่ยนแปลงนี้ชวนให้หวนกลับไปเปรียบเทียบกับเวอร์ชันก่อนหน้า โดยเฉพาะ City Hunter (1993) ของเฉินหลง ที่กลายเป็นหนังคัลต์คลาสสิกในแบบของตัวเอง เฉินหลงไม่ได้พยายามเคารพต้นฉบับอย่างจริงจังมากนัก ตัวหนังเน้นความบันเทิงแบบ "เฉินหลงยุคทอง" เต็มที่ มีทั้งฉากแอ็กชันคอมเมดี้ ฉากปลอมตัวเป็นตัวละครจากเกม Street Fighter ไปจนถึงฉากสโลว์โมชั่นหลุดโลก
ตัวละครเรียวของเฉินหลงแทบไม่มีความลึกในด้านจิตใจหรือความสัมพันธ์ใด ๆ เลย และไม่ได้สนใจการตีความตัวละครจากมังงะมากเท่าไหร่ เหมือนเป็นหนังเฉินหลงที่ยืมชื่อในมังงะมาใช้เท่านั้น ซึ่งก็อาจสมเหตุสมผลในยุคที่มังงะยังไม่ถูกตีความด้วยความเท่าเทียมทางเพศ หรือการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวดเหมือนในปัจจุบัน
ในทางกลับกัน เวอร์ชันฝรั่งเศสอย่าง Nicky Larson et le Parfum de Cupidon (2018) ซึ่งกำกับและนำแสดงโดย ฟิลิปป์ ลาโชว์ แฟนบอยตัวยงของมังงะชุดนี้ แม้จะเต็มไปด้วยมุกทะลึ่งและการล้อเลียนตัวเองอย่างไม่ไว้หน้า แต่กลับได้รับคำชมอย่างกว้างขวางในหมู่แฟน ๆ มังงะทั่วโลก เพราะสามารถถ่ายทอดหัวใจของต้นฉบับได้อย่างจริงจัง แม้จะอยู่ในโทนคอมเมดี้แบบฝรั่งเศสที่เน้นความบ้าบอ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ของเรียวและคาโอริ ที่ยังคงมีทั้งความโรแมนติก ความฮา และความอบอุ่นในเวลาเดียวกัน
หนังเวอร์ชันนี้มีการถอดแบบจากมังงะออกมาสูงมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้จะเล่นมุกแรงแค่ไหน แต่ถ้ารู้จัก “ขอบเขต” และเข้าใจบริบทของตัวละครจริง ๆ ก็ยังสามารถทำให้คนดูรู้สึกว่ามันจริงใจและเคารพต้นฉบับได้
ส่วน City Hunter ฉบับ Netflix นั้นกลายเป็นซาเอบะ เรียวฉบับทะลึ่งแบบรู้หน้าที่ หื่นแต่พอดี และความสำเร็จของเวอร์ชันนี้นอกจากจะมาจากการแสดงของ เรียวเฮ ซึซูกิ ที่ผสมผสานเสน่ห์แบบมืออาชีพเข้าแล้ว ยังอยู่ที่การตีความใหม่อย่างระมัดระวัง ตัวหนังลดความทะลึ่งลงอย่างมีนัย แต่ไม่ตัดทิ้งเสน่ห์ของเรียวไปเสียหมด ซึ่งเป็นงานที่ต้องเดินบนเส้นด้ายระหว่าง "ความคลาสสิก" กับ "ความร่วมสมัย" ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้ชมมีความหลากหลายทางความคิดและความรู้สึกมากกว่ายุคที่มังงะต้นฉบับตีพิมพ์ใหม่ ๆ
การเปลี่ยนแปลงอีกประการคือการยกระดับตัวละครหญิงอย่างคาโอริ ให้มีบทบาทมากกว่าเดิม เธอไม่ใช่เพียงคู่หูที่คอยตามดูแลเรียว หรือสาวน้อยผู้มีฆ้อนยักษ์ 100 ปอนด์ไว้ตีหัวพระเอกเมื่อเขาทำตัวทะลึ่งอีกต่อไป แต่กลายเป็นตัวละครที่สามารถลุยเองได้ มีความมั่นใจในตัวเอง และยืนหยัดเคียงข้างเรียวอย่างเท่าเทียม แทนที่จะเป็นผู้หญิงที่รอการปกป้อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้นอกจากจะช่วยให้ตัวละครมีมิติยิ่งขึ้น ยังสะท้อนภาพของผู้หญิงยุคใหม่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างชัดเจน
แม้จะยังมีบางส่วนที่สามารถพัฒนาได้มากขึ้น เช่น การขยายความสัมพันธ์เชิงอารมณ์ระหว่างตัวละคร หรือการสร้างปมของตัวร้ายให้แข็งแรงขึ้น แต่ด้วยการเล่าเรื่องแบบตอนเดียวจบในภาคแรกนี้ ก็สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการปูพื้นฐานให้กับจักรวาลที่อาจจะมีภาคต่อในอนาคต
หนังมีฉากที่เป็นภาพจำของแฟนมังงะ เชินฉากดาดฟ้าที่เรียวกับคาโอรินั่งคุยกันเงียบ ๆ หรือฉากยิงปืนที่แสดงให้เห็นถึงความเท่ของเรียว ล้วนเป็นหลักฐานว่าผู้สร้างพยายามอย่างยิ่งในการสร้างสมดุลระหว่างการคารวะต้นฉบับ กับการนำเสนอสิ่งใหม่ที่เป็นไปตามมาตรฐานยุคปัจจุบัน
ในท้ายที่สุด การนำ City Hunter กลับมาเล่าใหม่ในโลกที่การล้อเลียนทางเพศไม่ใช่เรื่องขำ และความเท่าเทียมกลายเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของสังคม ไม่ได้หมายความว่าหนังต้องทิ้งความสนุกหรือเสน่ห์ของต้นฉบับไปทั้งหมด แต่กลับเป็นการพิสูจน์ว่า “ความเคารพ” ไม่ได้หมายถึงการลอกมาแบบตรง ๆ เสมอไป มันคือการเข้าใจเจตนารมณ์ดั้งเดิมในฐานะมือปืนผู้ล้างอธรรม แต่เพิ่มเติมด้วยจริยธรรมแห่งศตวรรษที่ 21
7.5/10
โฆษณา