8 เม.ย. เวลา 10:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุปภาวะตลาดประจำสัปดาห์ที่ 31 มี.ค. – 4 เม.ย. 2568

ภาพรวม
  • ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงแรง หลังสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการ "Reciprocal Tariff" หรือ ภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ มุ่งเป้าไปที่ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ
  • จีน - สหภาพยุโรป ออกมาตรการตอบโต้ ขณะที่ญี่ปุ่น ไทย เวียดนามขอเจรจา
  • Fed เผชิญแรงกดดันเพิ่ม หลังความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยพุ่ง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัว
  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานแรงที่สุดนับจากวิกฤต COVID-19 โดย Bond Yield พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลดลง ดัชนี VIX พุ่งแตะ 47 สะท้อนถึงความกังวลของตลาด
  • ทางการจีนเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนการบริโภคในประเทศ
  • ตลาดยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจากสงครามการค้าที่อาจยืดเยื้อ
สถานการณ์ตลาด
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก หลังจาก ปธน. ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้า (Tariff) ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.
  • มาตรการ Tariff ฉบับล่าสุดของสหรัฐฯ
๐ สหรัฐฯ จะจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ครอบคลุมสินค้านำเข้าทุกประเภท เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.
๐ มีการประกาศใช้มาตรการ "Reciprocal Tariff" หรือ ภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 9 เม.ย. โดยมุ่งเป้าไปที่ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ
๐ ประเทศที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มสูง ได้แก่ จีน (+34%) โดยเมื่อรวมกับภาษีก่อนหน้า จะทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 54% นอกจากนี้ยังมี สหภาพยุโรป (+20%), ญี่ปุ่น (+24%), เวียดนาม (+46%), อินเดีย (+26%) และไทย (+36%)
๐ JP Morgan ปรับเพิ่มประมาณการ US Effective Tariff (อัตราภาษีที่มีผลกระทบจริง) จาก 10–15% ขึ้นเป็น 23%
๐ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ นายสก็อตต์ เบสเซนต์ ระบุว่ามาตรการภาษีชุดนี้ถือเป็นระดับสูงสุดแล้ว หากไม่มีมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า
  • ท่าทีของประเทศคู่ค้าต่อ Tariff
๐ ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย เลือกเจรจาแทนการตอบโต้
- นายกฯ อิชิบะของญี่ปุ่น ได้โทรศัพท์พูดคุยกับทรัมป์เพื่อขอเจรจา
- เวียดนามเสนอยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และขอชะลอการจัดเก็บภาษีใหม่
- ไทยเสนอเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ทั้งในกลุ่มพลังงาน เครื่องบิน และสินค้าเกษตร
๐ ขณะที่สหภาพยุโรป แคนาดา และจีน ต่างออกมาตรการตอบโต้
- สหภาพยุโรปเตรียมจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เบื้องต้นครอบคลุมเหล็กและอลูมิเนียม และจะขยายไปยังสินค้าและบริการภายในสิ้นเดือน เม.ย.
- จีนจะจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ 34% ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. พร้อมใช้มาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายาก
  • ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และท่าทีของ Fed
๐ ความคาดหวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนี VIX index พุ่งขึ้นแตะระดับ 47 และดัชนี Fear & Greed Index อยู่ในระดับ “Extreme Fear”
๐ Goldman Sachs ปรับเพิ่มความน่าจะเป็นในการเกิดภาวะถดถอย (Recession) เป็น 45%
๐ ตลาดคาดว่า Fed อาจต้องปรับลดดอกเบี้ย 5 ครั้งภายในปีนี้ ขณะเดียวกัน นโยบายภาษีอาจส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนในการตัดสินใจของ Fed
๐ อย่างไรก็ตาม ประธาน Fed นายพาวเวล ย้ำว่า Fed ยังไม่รีบดำเนินการใดๆ โดยจะรอประเมินสถานการณ์เพิ่มเติม
  • ผลต่อตลาดการเงิน
๐ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย สะท้อนผ่าน Bond Yield อายุ 10 ปี ลดลงสู่ระดับ 4%
๐ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับฐานแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤต COVID-19 ในปี 2020 โดยเทียบรายสัปดาห์ S&P 500 -9% (-17.4% จากจุดสูงสุด), Dow Jones -8% (-15% จากจุดสูงสุด), NASDAQ -10% (-22.7% จากจุดสูงสุด)
๐ ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงเกือบ -11% จากความกังวล Recession และการเพิ่มกำลังการผลิตของ OPEC+ ขณะที่ราคาทองคำ -2.5% เทียบรายสัปดาห์
๐ ตลาดหุ้นในยุโรปและตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ปรับตัวลดลงเช่นกัน
  • ทิศทางในระยะสั้น
๐ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงผันผวนตามกระแสข่าวรายวัน โดยเมื่อวาน (7 เม.ย.) ตลาดหุ้นจีนและญี่ปุ่นปรับตัวลดลงแรง แต่เช้าวันนี้ (8 เม.ย.) เปิดบวก
๐ สหรัฐฯ ยืนยันจะไม่ยกเลิก Tariff แต่พร้อมเปิดเจรจา โดยญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะได้เข้าสู่การเจรจาก่อนประเทศอื่น
๐ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มยืดเยื้อ หลังจากสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 50% หากจีนไม่ยกเลิกภาษีตอบโต้ 34% ที่ประกาศในสัปดาห์ที่แล้ว
  • มาตรการในประเทศจีน
๐ เมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) ผู้กำหนดนโยบายของจีนประชุมหารือแนวทางพยุงเศรษฐกิจ
๐ ทางการจีนเตรียมมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายใน ส่งเสริมการใช้จ่าย การเพิ่มอัตราการเกิด และสนับสนุนสินค้าส่งออกบางประเภท และอาจมีการจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพตลาดทุน โดยขนาดและจังหวะของมาตรการยังอยู่ระหว่างพิจารณา
นโยบายการลงทุนและคำเตือน
  • เอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือได้ ณ วันที่แสดงข้อมูล แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้องความน่าเชื่อถือ และ ความสมบูรณ์ของข้อมูลทั้งหมด โดยบริษัทฯขอสงวนสิทธิ์เปลี่ยนแปลงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
  • ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • ผู้ลงทุนสามารถขอข้อมูลหนังสือชี้ชวนได้ที่สำนักงานของบริษัทจัดการ หรือจาก www.krungsriasset.com หรือตัวแทนสนับสนุนการขาย หรือเจ้าหน้าที่ขายหน่วยลงทุน
ติดตามกองทุนกรุงศรี อัปเดตข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆ ได้ที่
1
#KrungsriAsset #กองทุนกรุงศรี #Weeklymarketview #สรุปภาวะตลาดรายสัปดาห์
โฆษณา