8 เม.ย. เวลา 11:58 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

การพัฒนา "แมลงสาบไซบอร์ก" เพื่อใช้ในการค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ

🙈หากพูดถึงแมลงสาบ ทุกคนคงนึกถึงความสกปรก และคนจำนวนมาก เกลียด และกลัวแมลงสาบ ทั้งๆที่มันตัวเล็กและไม่ค่อยทำอันตรายโดยตรงกับมนุษย์? จริง ๆ แล้วมีหลายเหตุผลที่อธิบายถึงความเกลียดความกลัวเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น แมลงสาบเคลื่อนไหวเร็ว ไม่แน่นอน และมักโผล่มาแบบไม่คาดคิด สมองเราอาจตีความว่ามันเป็นสิ่งที่อันตรายหรือควบคุมไม่ได้ และมนุษย์อาจวิวัฒนาการมาให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจเป็นพาหะของโรค หรือลักษณะหลายอย่างที่หลายคนมองว่าน่าขยะแขยง🧟
🪳แมลงสาบ คือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ท้าทายกฎเกณฑ์ของธรรมชาติอย่างไม่น่าเชื่อ พวกมันสามารถอยู่รอดในอุณหภูมิต่ำถึง 0°C ได้นานนับเดือนโดยไม่ต้องกินอาหาร กลั้นหายใจได้นานถึง 40 นาที และยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึงหนึ่งสัปดาห์แม้ไม่มีศีรษะ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการกล่าวขานว่าแมลงสาบอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเอาตัวรอดจากหายนะนิวเคลียร์ได้ แม้จะถูกมองว่าไม่น่าพึงประสงค์ แต่ความอึดถึกทนของพวกมันได้พิสูจน์แล้วว่า แมลงสาบอาจมีบทบาทสำคัญในภารกิจที่เราคาดไม่ถึง🤨
😮ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราวต้นศตวรรษที่ 20 เกิดแนวคิดเรื่องการใช้แมลงในการช่วยเหลือมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนา “แมลงไบโอนิก” ซึ่งเป็นแมลงสาบมาดากัสการ์ที่ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว จุดเริ่มต้นของการวิจัยนี้เริ่มต้นจากประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
🧐ต่อมาถูกพัฒนาโดยสถาบันวิจัยในญี่ปุ่น จนพัฒนาต่อยอดกลายเป็นความร่วมมือระหว่าง Home Team Science and Technology Agency (HTX) กับมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University (NTU) และบริษัท Klass Engineering and Solutions มีวัตถุประสงค์คือการสร้างเครื่องมือช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน การค้นหาผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติที่หุ่นยนต์หรือมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้
🤔เหตุผลที่นักวิจัยเลือกแมลงสาบมาใช้งานนั้น มาจากคุณสมบัติทางธรรมชาติที่น่าทึ่งของแมลงชนิดนี้ แมลงสาบสามารถเคลื่อนที่ผ่านช่องแคบ พื้นที่รก หรือแม้กระทั่งใต้ซากปรักหักพังได้อย่างคล่องตัว พวกมันมีความทนทานสูง มีอายุยืน และสามารถมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรงได้ดี ซึ่งเหมาะสมกับภารกิจที่เสี่ยงอันตรายอย่างการกู้ภัยในพื้นที่เกิดแผ่นดินไหวหรืออาคารถล่ม
👀กระบวนการพัฒนาแมลงสาบไซบอร์กเริ่มจากการทำให้แมลงสาบสลบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วจึงติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจร เซ็นเซอร์ และแบตเตอรี่ลงบนหลังของแมลง จากนั้นอุปกรณ์จะส่งสัญญาณไฟฟ้าควบคุมไปยังเส้นประสาทเพื่อบังคับทิศทางการเดินของแมลง แมลงสาบจะถูกควบคุมระยะไกลผ่านแอปพลิเคชันหรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 1–2 นาทีต่อหนึ่งตัวเท่านั้น🦾
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้แมลงสาบกลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการทดลองนี้ คือ พรอโนทัม ซึ่งเป็นแผ่นแข็งที่อยู่บริเวณด้านหลังของพวกมัน โครงสร้างอันแข็งแรงนี้เหมาะสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น กระเป๋าเป้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อแมลงสาบ🧬
⚡แมลงสาบไซบอร์กเหล่านี้ถูกนำไปใช้งานจริงแล้วในหลายประเทศ เช่น ในปี 2025 ทีมวิจัยจากสิงคโปร์ได้ส่งแมลงสาบไซบอร์กกว่า 10 ตัวไปยังประเทศเมียนมา เพื่อช่วยในการค้นหาผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวขนาด 7.7 พวกมันสามารถแทรกซึมเข้าไปในอาคารที่พังถล่ม
ทีมวิศวกรจะใช้อิเล็กโทรดขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นและกำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ของแมลงสาบจากระยะไกล จากนั้นระบบ machine-learning ก็จะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากเซ็นเซอร์บนตัวแมลง ค้นหาสัญญาณชีพ และส่งสัญญาณกลับมายังเจ้าหน้าที่กู้ภัยเพื่อประเมินตำแหน่งผู้ประสบภัยได้อย่างแม่นยำ 👏
เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ในอาคารคอนโดมิเนียมสกายวิลลาที่ถล่มลงมาในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 หนึ่งวันหลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่ใจกลางเมียนมาร์ -- ภาพโดย Sai Aung MAIN / AFP
🚧และเมื่อวันที่ 29 มี.ค. SCDF สิงคโปร์ได้ส่งทีมกู้ภัย 80 นายพร้อมสุนัขค้นหา 4 ตัวไปยังพม่า ขณะที่ทีมของ HTX ซึ่งประกอบด้วยวิศวกร 2 คนจาก HTX และอีก 2 คนจาก Klass Engineering and Solutions ได้เข้าร่วมภารกิจในวันถัดมาพร้อมกับทีมแมลงสาบไซบอร์ก แม้จนถึงขณะนี้จะยังไม่มีผู้รอดชีวิตที่ถูกพบโดยแมลงสาบไซบอร์ก แต่พวกมันก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับการตรวจสอบภายในซากอาคารพังถล่มซึ่งจัดเป็นพื้นที่อันตราย🛑
😶‍🌫️การผสมผสานเทคโนโลยีกับธรรมชาติเช่นนี้ ให้แนวคิดเราได้ว่าแม้สิ่งที่ดูเหมือนเป็นปัญหาในสายตาของคนทั่วไป เช่น สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตที่มักถูกมองข้าม กลับกลายเป็นทรัพยากรสำคัญเมื่อได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สามารถเกิดขึ้นได้จากการมองโลกด้วยมุมมองใหม่ หากเราพร้อมเปิดใจ🙂
อ้างอิง
1. Debbie Clark and Donna Shanklin. (2024). Madagascar Hissing Cockroaches. Retrieved 8 Apr 2025, form https://entomology.ca.uky.edu/ef014
2. อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์. (2024). “แมลงสาบ” จากศัตรูคู่อาฆาตสู่ฮีโร่ ไซบอร์กแห่งอนาคต. Retrieved 8 Apr 2025, form https://www.salika.co/2024/12/22/cyborg-cockroach-hero-of-the-future/
3. ผู้จัดการออนไลน์. (2025). ไอเดียล้ำ! สิงคโปร์ส่ง 'แมลงสาบไซบอร์ก' มุดซากตึกช่วยค้นหาเหยื่อ 'แผ่นดินไหวพม่า' Retrieved 8 Apr 2025, form https://mgronline.com/around/detail/9680000032990
4. David Sun. (2025). S’pore’s cyborg cockroaches helping with search-and-rescue efforts in Myanmar quake Retrieved 8 Apr 2025, form https://www.straitstimes.com/singapore/spores-cyborg-cockroaches-helping-with-search-and-rescue-efforts-in-myanmar-quake
โฆษณา