9 เม.ย. เวลา 05:31 • ธุรกิจ

Trump บอก iPhone ผลิตในสหรัฐฯ ได้ แต่ Apple “ทำไม่ได้”!!

(เปิดมุมมองสองฝั่งและผลกระทบที่อาจตามมา)
ในช่วงเวลาที่นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Donald Trump กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ประเด็นการย้ายฐานการผลิต iPhone ของ Apple กลับสู่สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงที่ร้อนแรง
โฆษกทำเนียบขาว Karoline Leavitt ระบุว่า “Trump มั่นใจว่าสหรัฐฯ มีแรงงาน ทรัพยากร และศักยภาพเพียงพอที่จะผลิต iPhone ได้ โดยอ้างถึงแผนการลงทุน 500,000 ล้านดอลลาร์ของ Apple ในสหรัฐฯ ทว่า Apple กลับยืนยันว่า การผลิต iPhone ในสหรัฐฯ นั้น “ทำไม่ได้” ด้วยเหตุผลด้านทักษะแรงงานและความท้าทายในห่วงโซ่อุปทาน”
บทความนี้จะพาไปเจาะลึกมุมมองที่แตกต่างของทั้งสองฝ่าย รวมถึงผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่อาจเปลี่ยนโฉมราคา iPhone และอนาคตของ Apple
Trump: สหรัฐฯ พร้อมผลิต iPhone จริงเหรอ?
“Trump และทีมงานของเขาเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าสหรัฐฯ สามารถเป็นฐานการผลิต iPhone ได้”
โฆษก Karoline Leavitt กล่าวว่า “หาก Apple ไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ ทำได้ พวกเขาคงไม่ลงทุนก้อนใหญ่ขนาดนั้น” โดยชี้ถึงแผนการลงทุน 500,000 ล้านดอลลาร์ของ Apple ในสหรัฐฯ ที่เพิ่งประกาศไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ Howard Lutnick เสริมว่า มาตรการภาษีนำเข้าใหม่จะดึงดูด “แรงงานนับล้าน” ให้มาประกอบ iPhone ในสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยสร้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ
เป้าหมายของ Trump คือ “การนำการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงกลับสู่สหรัฐฯ เพื่อลดการพึ่งพาจีน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตหลักของโลกในปัจจุบัน ด้วยนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ปรับขึ้นเป็น 54% Trump หวังว่านี่จะเป็นแรงจูงใจให้บริษัทอย่าง Apple หันมาลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น”
Apple เคยบอกว่า “ทำไม่ได้” เพราะขาดทักษะ!!!
ในทางกลับกัน Tim Cook หรือแม้กระทั่งสมัย Steve Jobs อดีต CEO ของ Apple ได้แสดงจุดยืนชัดเจนมานานกว่าทศวรรษว่า
“การผลิต iPhone ในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ตามข้อมูลจากชีวประวัติของ Steve Jobs โดย Walter Isaacson ซึ่งเคยถูกตีพิมพ์ในระบุว่า “Jobs เคยพูดคุยกับประธานาธิบดี Barack Obama ในปี 2010 และ 2011 โดยอธิบายว่า สหรัฐฯ ขาดวิศวกรที่มีทักษะเฉพาะทางถึง 30,000 ตำแหน่ง ซึ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนแรงงานในโรงงาน ขณะที่จีนมีวิศวกรพร้อมถึง 700,000 ตำแหน่ง”
พอสมัย Tim Cook ก็ย้ำประเด็นนี้ในงาน Global Forum ของ Fortune Magazine ปี 2017 ว่า “จีนไม่ได้มีข้อได้เปรียบแค่ต้นทุนแรงงานต่ำเท่านั้น แต่เป็นเพราะมีวิศวกรเครื่องมือที่มีทักษะสูงและปริมาณมาก”
Cook กล่าวว่า “ในสหรัฐฯ คุณอาจไม่สามารถหาวิศวกรเครื่องมือมาเต็มห้องประชุมได้ แต่ในจีน คุณสามารถเติมเต็มสนามฟุตบอลได้หลายสนาม” ความได้เปรียบนี้ทำให้จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ Apple ไม่อาจทดแทนได้ง่ายๆ
“ดังนั้น กำแพงภาษีจะต้องกระทบกับบริษัทอย่าง Apple เต็มๆ”
ผลกระทบจากภาษีนำเข้า = “ต้นทุนพุ่ง ราคาแพง”
นโยบายภาษีนำเข้า 104% ล่าสุดที่ Trump ประกาศใช้กับสินค้าจากจีน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต iPhone
ตามรายงานของ The Wall Street Journal ระบุว่า “iPhone 16 Pro ความจุ 256GB ซึ่งมีต้นทุนการผลิตประมาณ 580 ดอลลาร์ (ราว 20,027 บาท) จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 850 ดอลลาร์ (ราว 29,350 บาท) เมื่อรวมภาษีนำเข้าใหม่ หาก Apple ผลักภาระนี้ไปยังผู้บริโภค ราคาขายของ iPhone 16 Pro Max อาจสูงถึง 2,300 ดอลลาร์ (ราว 79,500 บาท) จากราคาปัจจุบันที่ 1,599 ดอลลาร์ (ราว 55,200 บาท)”
ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการที่ iPhone เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนทั่วโลก เช่น โปรเซสเซอร์ A18 Pro จากไต้หวัน หน้าจอจากเกาหลีใต้ และกล้องจากญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำมาประกอบในจีน ภาษีนำเข้าจะทำให้ต้นทุนรวมสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจกระทบต่อกำไรของ Apple หรือบีบให้ต้องขึ้นราคาสินค้า ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด
ความท้าทายของการย้ายฐานการผลิต?
แม้ Trump จะผลักดันให้ Apple ผลิตในสหรัฐฯ แต่การย้ายฐานการผลิตอาจไม่ช่วยลดต้นทุนได้มากนัก เนื่องจาก Apple ยังต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศและเสียภาษีในส่วนนั้นอยู่ดี
รายงานจาก The Wall Street Journal ชี้ว่า “ต้นทุนการประกอบ iPhone ในสหรัฐฯ สูงถึง 300 ดอลลาร์ต่อเครื่อง เทียบกับเพียง 30 ดอลลาร์ในจีน หาก Apple ต้องผลิตชิ้นส่วนทั้งหมดในสหรัฐฯ ต้นทุนอาจพุ่งสูงถึง 3,500 ดอลลาร์ต่อเครื่อง (ราว 120,855 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่แทบเป็นไปไม่ได้ในเชิงพาณิชย์”
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จาก Rosenblatt ประเมินว่า “Apple อาจเผชิญต้นทุนภาษีนำเข้าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ และการย้ายฐานการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานต้องใช้เวลาหลายปี”
อนาคตของ Apple และผู้บริโภค?
การย้ายฐานการผลิต iPhone ไปสหรัฐฯ ตามวิสัยทัศน์ของ Trump อาจไม่ใช่ทางออกที่ง่ายหรือคุ้มค่า ภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นจะบีบให้ Apple ต้องเลือก ระหว่าง “การลดกำไรหรือขึ้นราคาสินค้า?” ซึ่งอาจส่งผลต่อยอดขายและความนิยมในตลาดโลก
หรือทางเลือกอื่น เช่น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าอย่างเวียดนามหรืออินเดีย อาจเป็นแนวทางที่ Apple พิจารณาเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน
“สำหรับผู้บริโภค ราคา iPhone ที่อาจสูงขึ้นหมายถึงการตัดสินใจที่ยากขึ้น บางคนอาจยอมจ่ายเพื่อแบรนด์ที่ชื่นชอบ แต่บางส่วนอาจหันไปใช้สมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นที่ราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่า”
อนาคตของ iPhone และ Apple จะขึ้นอยู่กับการปรับตัวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบ หรือการหาทางออกใหม่ในห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนแปลงไป
#วันละเรื่องสองเรื่อง
#TrumpTariffs
#TradeWar
#Apple
โฆษณา