9 เม.ย. เวลา 08:16 • ข่าว

สธ. - ม.วงษ์ชวลิตกุล ร่วมผลิตหมอป้อนอีสานตอนบน พบขาดแคลนสุด

จ่อรับเด็กในพื้นที่ รพ.หนองคายเป็นศูนย์ฝึก
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ผศ.ดร.ณัฐวัฒม์ วงษ์ชวลิตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตนักศึกษาแพทย์ โดยมีโรงพยาบาลหนองคาย เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ให้แก่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6
นพ.โอภาสให้สัมภาษณ์ว่า สธ.มีนโยบายพัฒนา รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปให้เป็นเลิศด้านวิชาการ บริการและงานวิจัย โดยจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกใน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปทุกจังหวัด เพื่อร่วมผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบสุขภาพอย่างเพียงพอและกระจายแพทย์อย่างเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ ปัจจุบันมีการตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกแล้ว 40 แห่ง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับวันนี้ได้ MOU การผลิตนักศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ที่จะเปิดรับนักศึกษาปีการศึกษา 2569 จะผลิตปีละประมาณ 48 คน โดยมี รพ.หนองคายเป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกหรือศูนย์ฝึก ให้แก่นักศึกษาแพทย์ปีที่ 4-6 ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องของบุคลากร ความชำนาญและสถานที่ น่าจะเหมาะสม ตรงกับนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าเราจะผลิตบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการ
"พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอีสานตอนบน เป็นภาคที่มีความขาดแคลนบุคลากรมากที่สุด เมื่อเทียบอัตราแพทย์ต่อประชากรก็ถือว่าอันดับท้ายของประเทศไทย การที่มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลร่วมกับ สธ.คือ รพ.หนองคาย ในการผลิตบุคลากรก็เชื่อมั่นว่าทำให้เด็กนักเรียนแถวนั้นได้เรียนแพทย์ จบไปได้ไปใช้ทุนและทำงานตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนภาคอีสานตอนบน ก็เป็นจุดเริ่มต้นและจะร่วมมือกันต่อไป" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ถามว่านักศึกษาแพทย์ที่จะรับจะเป็นกลุ่ม CPIRD หรือ ODOD โดยเฉพาะหรือไม่  นพ.โอภาสกล่าวว่า ก็ให้ไปดูรายละเอียด แต่หลักๆ คงเป็น CPIRD แต่คงไม่ได้จำกัดเฉพาะจุดนี้ นักศึกษาที่จะรับ 48 คนต้องไปดูรายละเอียดว่าข้อบังคับข้อกฎหมายมีจุดตรงไหนบ้าง จะร่วมกับโครงการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการ 9 หมอได้อย่างไรก็ต้องคุยกันในรายละเอียด วันนี้เป็นการ MOU ว่าจะร่วมมือกัน โดยมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยผลิต รพ.หนองคายจะเป็นหน่วยฝึกอบรมทางคลินิกร่วมกัน
ถามถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการผลิตแพทย์ร่วมกันในพื้นที่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อดีคือ รพ.หนองคายจะกลยเป็นโรงเรียนแพทย์ บุคลากรก็ต้องมีความตื่นตัว ใฝ่หาความรู้ความชำนาญ เพาะเวลาเป็นอาจารย์แพทย์สอนนักศึกษา เราก็ต้องมีความรู้มากข้น ก็จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาที่ดีขึ้น
ต่อมาคือบุคลากรจะเป็นเด็กนักเรียนแถบอีสานตอนบน ซึ่งเรียนอธิการบดีแล้วว่าให้รับนักศึกษษในพื้นที่มากขึ้นอาจให้เป็นทุนต่างๆ อธิการบดีก็รับรองว่าถ้าข้อกฎหมายไม่ขัดข้องก็จะเป็นอย่างนั้น ทำให้บุคลากรในส่วนของอีสานตอนบนในความขาดแคลนแก้ไขได้บางส่วน
ด้าน ดร.ณัฐวัฒม์ กล่าวว่า ความร่วมมือผลิตนักศึกษาแพทย์ในครั้งนี้เป็นการก้าวสำคัญในการยกระดับการศึกษาแพทยศาสตร์ของไทย เป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในการผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ มีจริยธรรม สามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนทั้งในภูมิภาคและระดับประเทศ
ดร.ณัฐวัฒม์ สงษ์ชวลิตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
การเปิดคณะแพทยศาสตร์เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของมหาวิทยาลัยฯ โดยจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์มาตรฐานสากล TMC-WFME-BSC Standard 2021 ที่แพทยสภากำหนด โดยมหาวิทยาลัยฯ จะสอนชั้นปีที่ 1-3 รพ.หนองคายจัดการเรียนการสอนประสบการณ์จริง ชั้นปีที่ 4-6
โฆษณา