9 เม.ย. เวลา 08:17 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจง กองทุนวายุภักษ์ไม่ได้ขาย

จับตาผลกระทบภาษีสหรัฐฯ ต่อเนื่อง เดินหน้าแผน Jump Plus เสริมแกร่งบจ. กลาง-เล็ก
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยที่ยังคงมีความผันผวนจากมาตรการเก็บภาษีของสหรัฐฯ โดยวานนี้ (8 เม.ย. 68) นักลงทุนสถาบันมีแรงขายสุทธิกว่า 4,768 ล้านบาท ทำให้ความกังวลและข้อสงสัยว่ากองทุนวายุภักษ์มีการขายออกมาหรือไม่ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สอบถามไปยังคุณชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการขายหุ้นออกมา
ทั้งระดับดัชนีที่ปรับลดลงวานนี้ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่กองทุนวายุภักษ์ต้องขาย โดยดัชนีจากวันนี้ต้องปรับตัวลดลงมากกว่า 20% ถึงจะเข้าเกณฑ์การขาย นอกจากนี้กองทุนวายุภักษ์มีเงินสดจำนวนมาก เพียงพอสำหรับการเข้าซื้อเพิ่มหากมีโอกาสเหมาะสม
“วานนี้ทางกองทุนขายค่อนข้างเยอะ เราก็มีสื่อสารไปทางกองทุนบ้างว่าจําเป็นไหม หรือว่าช่วยดูหน่อยว่าโดยพื้นฐานอะไรที่เหมาะสม เรายังสื่อสารกับทุกฝ่ายต่อเนื่อง”
ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงจากสงครามภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีน นายอัสสเดชมองว่า ผลกระทบทางตรงต่อบริษัทจดทะเบียนไทยยังอยู่ในระดับจำกัด เนื่องจากรายได้จากตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 2% ของรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียน แต่ยอมรับว่าผลกระทบทางอ้อมอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องติดตามและวิเคราะห์เพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเด็นความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งในต่างประเทศ
นอกจากนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยอาจได้รับปัจจัยหนุนจากการที่กองทุน Thai ESG Extra จะเริ่มเปิดให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนเพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี แม้จะเป็นมาตรการที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสถานการณ์นี้ แต่เป็นจังหวะที่ดีเพราะทำให้มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในตลาดหุ้นช่วง 2 เดือนข้างหน้า และทางคุณชวินดา อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ยังมองว่าครอบคลุมอยู่ในมุมมองของตลาด
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเดินหน้าโครงการ “Jump Plus” ตามแผนเดิม โดยมีการขอเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาระบบวิเคราะห์สถานะการเงินและความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและเล็ก รวมถึงที่ปรึกษาทางการเงิน หรือที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการวางแผนเพื่อพัฒนาศักยภาพ
โฆษณา