Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bank of Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 เม.ย. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปลดล็อกความเข้าใจ เงินเฟ้อไทย ทำไมถึงต่ำ
“เงินเฟ้อ” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปรากฏการณ์เงินเฟ้อสูงทั่วโลกในปี 2565 ที่ส่งผลให้ค่าครองชีพของครัวเรือนและต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเอง ขึ้นไปแตะระดับที่เกือบ 8% ในเดือนสิงหาคม 2565 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารสดเพิ่มขึ้นกว่า 40%
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะหลังมานี้ เงินเฟ้อไทยทยอยปรับลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีระดับที่ค่อนข้างต่ำแตะขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ การดูแลเงินเฟ้อให้เหมาะสม จึงถือเป็นความท้าทายสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลกที่มีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา
เงินเฟ้อแบบใดเรียกว่า “เหมาะสม”?
ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เงินเฟ้อแบบอ่อน (mild inflation) ที่ไม่เกิน 3% และไม่ผันผวนมาก จะช่วยเอื้อให้เศรษฐกิจโตได้ดี เพราะเงินเฟ้อที่สูงหรือผันผวนเกินไป จะเป็นอุปสรรคต่อประชาชนและธุรกิจในการตัดสินใจและวางแผนการบริโภค ออมเงิน และลงทุน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ดังนั้น ในการดำเนินนโยบายการเงิน ธนาคารกลางจึงมุ่งรักษาเสถียรภาพราคา โดยดูแลเงินเฟ้อให้ “ไม่สูงหรือต่ำเกินไป” (ขึ้นอยู่กับกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่แต่ละประเทศกำหนดไว้ให้สอดคล้องกับโครงสร้างและศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ)
สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาโดยการดูแลให้เงินเฟ้อในระยะปานกลาง (ประมาณ 3-5 ปี) อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ซึ่งที่ผ่านมา เรียกได้ว่าไทยมีเสถียรภาพด้านราคาที่ดี โดยค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 2% และในช่วงที่เงินเฟ้อสูงมาก สถานการณ์ก็สามารถคลี่คลายได้เร็ว
โดยในช่วงเงินเฟ้อสูงปี 2565 ที่ผ่านมา เงินเฟ้อไทยกลับเข้ามาอยู่ในกรอบได้ในระยะเวลาเพียง 7 เดือน ซึ่งเร็วกว่าประเทศส่วนใหญ่ที่เงินเฟ้อในปัจจุบัน (ต้นปี 2568) ยังคงค้างอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่าประมาณ 3%
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 เป็นต้นมา เงินเฟ้อไทยมีระดับต่ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีช่วงที่เงินเฟ้อไทยติดลบด้วยซ้ำ ซึ่งแม้ว่าในช่วงนี้เงินเฟ้อจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วจนอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ปลายปี 2567 แต่ระดับเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ 1.1% ยังเรียกได้ว่าค่อนข้างต่ำติดขอบล่างของกรอบเป้าหมาย จึงอาจทำให้เกิดคำถามตามมาว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อไทยต่ำ? ถ้าเงินเฟ้อต่ำแบบนี้จะน่ากังวลหรือไม่? แล้วธนาคารกลางควรดูแลเงินเฟ้อได้อย่างไร?
เพราะเหตุใดไทยจึงมี “เงินเฟ้อต่ำ”?
โดยปกติแล้ว ปัจจัยที่จะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์ ที่ราคาสินค้าอาจปรับลดลงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าและบริการที่น้อยลง และปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งอาจมาจากการลดลงของราคาสินค้าและบริการตามต้นทุนการผลิต (เช่น ค่าแรง ราคาวัตถุดิบ) หรือตามปริมาณสินค้าและบริการในตลาดที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลบวกจากเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าที่ดีขึ้น หรือการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
ในกรณีของไทย สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปทาน อาทิ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ เช่น การอุดหนุนค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมัน รวมถึงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร
นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังส่งผลให้เงินเฟ้อไทยต่ำ จากการที่ไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดที่มีการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในปริมาณมาก ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาได้ยากเพราะมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานไทยยังมีความยืดหยุ่นสูง เนื่องจากไทยมีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว อีกทั้งแรงงานไทยเองยังสามารถโยกย้ายระหว่างภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ เช่น จากภาคการเกษตรไปยังภาคบริการ เป็นต้น จึงทำให้ตลาดแรงงานไทยไม่ค่อยมีความตึงตัวจนทำให้เกิดแรงกดดันด้านค่าจ้าง โดยสังเกตได้ว่าในช่วงหลังวิกฤตโควิด ค่าจ้างแรงงานไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเร็วเหมือนที่หลายประเทศเผชิญจนทำให้เงินเฟ้อสูงค้างนาน
เงินเฟ้อต่ำ น่ากังวลจริงไหม?
หากพูดถึงเรื่องเงินเฟ้อต่ำ หลายคนคงอาจกังวลหากนึกไปถึง เหตุการณ์วิกฤตการเงินในช่วงทศวรรษ 1990 ในญี่ปุ่น ซึ่งนำไปสู่ “ภาวะเงินฝืด” และ “เศรษฐกิจถดถอย” เหตุการณ์ดังกล่าวในญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและธุรกิจเป็นอย่างมาก ทำให้ความต้องการบริโภคและลงทุนมีน้อยลง (ปัญหาด้านอุปสงค์)
ซึ่งภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องอย่างรุนแรงเช่นนี้ ย่อมส่งผลย้อนกลับมาซ้ำเติมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต เนื่องจากในช่วงที่เกิดภาวะเงินฝืด ประชาชนและผู้ประกอบการมักจะคาดการณ์ว่าราคาสินค้าและบริการอาจจะลดลงต่อเนื่องอีกในอนาคต ทำให้เกิดการชะลอการใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาวะเงินฝืดที่เคยเกิดในญี่ปุ่นนั้น เป็นคนละบริบทกับเงินเฟ้อที่ต่ำของไทยโดยสิ้นเชิง โดยปัญหาเงินเฟ้อต่ำในญี่ปุ่นเกิดจากปัญหาด้านอุปสงค์ แต่เงินเฟ้อต่ำในไทยไม่ได้สะท้อนปัญหาอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยในปีที่ผ่านมา การบริโภคของภาคเอกชนยังขยายตัวได้ที่ 4.4%
ในทางกลับกัน เงินเฟ้อที่ต่ำในไทยมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ซึ่งมักไม่น่ากังวลเนื่องจากปัจจัยด้านอุปทานมักคลี่คลายเองได้เร็วและกระทบต่อราคาสินค้าและบริการในวงจำกัดเท่านั้น สอดคล้องกับการปรับลดราคาสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อไทยที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง โดยมีสินค้าเพียง 1 ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ที่ปรับลดราคาลงในช่วงที่ผ่านมา
เงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงนี้นอกจากจะไม่น่ากังวลแล้ว ในบริบทปัจจุบันที่ราคาสินค้าและบริการได้เพิ่มสูงขึ้นมามากในช่วงเงินเฟ้อสูงที่ผ่านมา เงินเฟ้อที่ต่ำอาจถือได้ว่าเป็นผลดีด้วยซ้ำ เพราะเงินเฟ้อที่ต่ำหมายถึงการที่ระดับราคาของสินค้าและบริการไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าเป็น positive supply shock ซึ่งช่วยชะลอแรงกดดันต่อภาระค่าครองชีพและต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม
เงินเฟ้อต่ำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลาง
เมื่อเงินเฟ้อสูงหรือต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย หลายคนอาจมีความคาดหวังว่าธนาคารกลางจะใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อจัดการทันที โดยเฉพาะการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า ธนาคารกลางดูแลเงินเฟ้อที่ระยะปานกลาง ซึ่งแปลว่าเงินเฟ้อไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบเป้าหมายในทุกช่วงเวลา เพราะการมีเสถียรภาพด้านราคาคือเงินเฟ้อที่ไม่สูงหรือต่ำเป็นระยะเวลานานจนเกินไป จนกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถโตได้ตามศักยภาพ
1
โดยการที่ธนาคารกลางดูแลเงินเฟ้อที่ระยะปานกลาง ทำให้นโยบายการเงินสามารถหันไปดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กันไปได้ด้วย เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำหนดมีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศในแต่ละช่วงเวลา และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในภาพรวมให้ได้มากที่สุด
การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อตอบสนองกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังต้องพิจารณาที่มาของเงินเฟ้อเป็นสำคัญด้วย โดยธนาคารกลางทั่วโลกมักใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยด้านอุปสงค์เป็นสำคัญ
เนื่องจากหากพิจารณาลงลึกไปถึงกลไกการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังเศรษฐกิจและเงินเฟ้อแล้ว การปรับอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่ออุปสงค์หรือความต้องการบริโภคและลงทุนเป็นหลัก ผ่านต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไป และจะต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 ไตรมาส ในการส่งผ่านผลของการปรับนโยบายมายังพฤติกรรมของครัวเรือนและภาคธุรกิจได้อย่างเต็มที่
ด้วยเหตุนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่เหมาะกับการตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะหากเกิดจากราคาสินค้าเพียงบางกลุ่มที่สามารถคลี่คลายไปได้เองในระยะเวลาอันสั้น
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าธนาคารกลางไม่มีบทบาทในการดูแลเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยด้านอุปทาน เนื่องจากธนาคารกลางต้องหมั่นดูแลไม่ให้เงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยด้านอุปทานส่งผลต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ เพราะเงินเฟ้อคาดการณ์ที่หลุดลอยอาจทำให้พฤติกรรมการใช้จ่าย รวมทั้งการกำหนดราคาสินค้าและค่าจ้างแรงงานเปลี่ยนไปในลักษณะที่ทำให้เงินเฟ้อสูงหรือต่ำค้างนาน
เช่น หากธุรกิจเริ่มคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ธุรกิจปรับเพิ่มราคาสินค้าขึ้นตามกันเป็นวงกว้างจนเกิดผลเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งในบริบทดังกล่าว ถึงแม้ต้นตอของเงินเฟ้อที่สูงมาจากปัจจัยด้านอุปทาน ก็ควรมีการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ในบริบทไทย เงินเฟ้อที่สูงหรือต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานนั้น ก็ไม่ได้ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจหรือกระทบกับเงินเฟ้อคาดการณ์ โดยเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของไทย ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ดีมาโดยตลอด
ธนาคารแห่งประเทศไทย
เศรษฐกิจ
เงินเฟ้อ
4 บันทึก
10
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ติดตามบทความใหม่ได้ที่นี่
4
10
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย