9 เม.ย. เวลา 14:35 • การเมือง

ความขัดแย้งครั้งใหม่ใน “บอสเนีย” จะลุกลามบานปลายอีกจุด?

การกลับมาของ “ชาตินิยมเซิร์บ” อาจจุดชนวนสงครามครั้งใหม่ในยุโรป
ตอนนี้ผู้นำยุโรปคงกำลังปวดหัวกลุ้มใจกับปัญหารุมเร้าหลายอย่าง อเมริกาภายใต้ทรัมป์เล่นกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าเกือบทั้งหมดของยุโรป ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปตกอยู่ในความเสี่ยง และไหนทรัมป์เองก็ไม่รู้เล่นบทอะไรกำลังตีซบเข้าหาปูติน ส่วนด้านสงครามในยูเครนเองก็รัสเซียกำลังรุกคืบอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง ตอนนี้ยุโรปกำลังเจอความท้าทายใหม่อีกจุดคือ “บอสเนีย และ เฮอร์เซโกวีนา”
สาธารณรัฐเซิร์ปสกา (RS) ดินแดนของชาติพันธ์เซิร์บซึ่งนำโดยประธานาธิบดี “มิลอรัด โดดิก” กำลังพยายามหาทางแยกตัวออกจากบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
ประธานาธิบดี “มิลอรัด โดดิก” แห่งสาธารณรัฐเซิร์ปสกา เครดิตภาพ: Kurier
“โดดิก” ซึ่งเป็นชาตินิยมเซิร์บและโปรรัสเซีย ใช้เวลากว่าทศวรรษในการบ่อนทำลายอำนาจของรัฐบาลกลางของบอสเนีย เขาก่อตั้งสภาปกครองของรัฐคู่ขนานและปลุกปั่นความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ โดยอ้างว่า RS ต้องแยกตัวออกจากบอสเนียเพื่อปกป้องชาวเซิร์บ และเขายังขับไล่เจ้าหน้าที่ชาวบอสเนียออกจากดินแดนเกือบครึ่งหนึ่งของภูมิภาคที่เขาปกครอง
ศาลกลางของรัฐบอสเนียจึงสั่งแบนและถอดถอนโดดิกออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของ RS และยังตัดสินคุมขังเขาอีกด้วย อย่างไรก็ตามโดดิกก็ยังมีเดินทางไปเยือนอิสราเอล รัสเซีย และเซอร์เบีย และเขายังได้รับการคุ้มครองที่บ้านพักโดยตำรวจท้องถิ่นอีกด้วย
ช่วงทศวรรษ 1990 เกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสเรเบรนิตซา อันเนื่องจากความไม่ลงรอยกันระหว่างสามชาติพันธุ์หลักในดินแดนซึ่งแบ่งออกเป็นเขตปกครองควบคุมระหว่าง “ชาวบอสเนีย-ชาวโครแอต-ชาวเซิร์บ” ความขัดแย้งยุติลงหลังจากที่นาโตเข้ามาแทรกแซงและองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยจัดตั้งเป็นประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในปัจจุบัน
1
หากเกิดการแบ่งแยกดินแดนอีกครั้งเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน หลายคนกลัวว่าเหตุเศร้าสลดจะกลับมาอีกครั้ง แน่นอนว่าฝ่ายยุโรปตะวันตกคงกำลังเตรียมเข้ามาแทรกแซงแล้ว จากหน้าข่าวต่างๆ ที่ออกมาว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียูหรือนาโตได้เดินทางมาที่บอสเนีย และมีตรวจเยี่ยมกองทัพที่ค่ายในดินแดนนี้อีกด้วย (ตามรูปหน้าปกบทความนี้)
เจ้าหน้าที่ของยุโรปอาจลังเลที่จะลงทุนในมาตรการแทรกแซงในบอสเนียดังกล่าว เนื่องจากต้องจัดการกับเรื่องอื่นๆ สหรัฐภายใต้ทรัมป์เองก็ดูมีแนวคิดอยากแยกตัวจากยุโรป ปล่อยให้ดูแลกันเอง แต่การหยุดยั้งโดดิกและผู้สนับสนุนในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติในตอนนี้จะมีต้นทุนน้อยกว่าและง่ายกว่ามากเมื่อเทียบกับว่าเกิดเหตุขึ้นแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ยุโรปไม่สามารถรับมือกับสงครามสองแนวรบพร้อมกันได้ ยูเครนที่แรก ที่บอสเนียอีกที่ หากผู้นำของยุโรปต้องการปกป้องทวีปของตน พวกเขาจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งภายในบอสเนีย
ทางเพจได้เคยรวบรวมไทมไลน์สำคัญที่เกิดในดินแดนบนคาบสมุทรบอลข่านแห่งนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากลิงก์บทความด้านล่างนี้
1
เรื่องของเรื่องมันเกิดจาก “ข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน” ในปี 1995 ซึ่งส่งผลยุติสงครามของประเทศ ตามเงื่อนไขของข้อตกลงนั้น หน่วยปกครองหลักสองแห่งในบอสเนียคือ สหพันธรัฐบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาซึ่งมีชาวบอสเนียและโครเอเชียเป็นส่วนใหญ่ และสาธารณรัฐเซิร์ปสกาซึ่งมีชาวเซิร์บเป็นส่วนใหญ่ สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายรวมระดับชาติได้
และแม้จะมีข้อตกลงเหล่านี้ รัฐบาลกลางของประเทศก็ยังต้องรายงานต่อสำนักงานผู้แทนระดับสูง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บริหารโดยชาติตะวันตกที่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายของบอสเนียได้
1
กรอบการปกครองนี้จึงมอบอำนาจที่ไร้ขีดจำกัดให้กับผู้นำทางการเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ของตน รวมถึงอำนาจในการขัดขวางรัฐบาลกลางที่มีอำนาจสูงกว่า ไม่มีใครใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้ดีไปกว่าโดดิก
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดดิกได้พยายามรื้อสถาบันของรัฐบอสเนียอย่างเป็นระบบ อย่างเช่นใช้สิทธิ์ยับยั้งความพยายามของรัฐบาลบอสเนียที่จะเข้าร่วมกับนาโตและสหภาพยุโรปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่สำคัญกว่านั้นโดดิกได้พยายามดึงดินแดนของตนออกจากสถาบันตุลาการ ศุลกากร และความมั่นคงของรัฐบาลกลางบอสเนีย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเขาต้องเผชิญกับการต่อต้าน ครั้งแรกในปี 2023 สำนักงานผู้แทนระดับสูงได้แก้ไขประมวลกฎหมายของประเทศโดยได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตันเพื่อให้การฝ่าฝืนคำสั่งเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตอบโต้ต่อพฤติกรรมของโดดิก
ล่าสุดในกุมภาพันธ์ของปีนี้ (2025) ศาลกลางรัฐบอสเนียได้ตัดสินให้โดดิกมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของสำนักงานผู้แทนระดับสูง ศาลได้ตัดสินให้โดดิกจำคุกหนึ่งปีและห้ามดำรงตำแหน่งเป็นเวลาหกปี นับเป็นช่วงเวลาที่น่าทึ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่ส่วนกลางบอสเนียเอาจริงเรียกร้องให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนของ RS รับผิดชอบต่อการกระทำของตนอย่างแท้จริง
แน่นอนว่าโดดิกต่อต้านคำสั่งจากรัฐบอสเนียกลาง และยังทำให้หน่วยงานของรัฐบอสเนียกลางใน RS เป็นสิ่งผิดกฎหมายอีกด้วย จนต้องถอยร่นออกมาอยู่ไม่ได้แล้ว โดดิกยังยืนกรานที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐเซิร์ปสกา เพื่อสร้างกองทัพอิสระ ตำรวจตระเวนชายแดน และสำนักงานอัยการพิเศษที่มีความสามารถในการรวบรวมข่าวกรองที่สามารถดำเนินคดีกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “ภัยคุกคามของสาธารณรัฐเซิร์ปสกา”
เพื่อตอบโต้สำนักงานอัยการกลางบอสเนียจึงร่วมมือกับศาลแห่งรัฐบอสเนียในการออกหมายจับโดดิก โดยได้ขอให้อินเตอร์โพลออกหมายจับ แต่อินเตอร์โพลซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันของเซอร์เบียได้ปฏิเสธ และตำรวจบอสเนียไม่สามารถจับกุมโดดิกได้ เนื่องจากเกรงว่าจะนำไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรง
  • หาแนวร่วม
1
โดดิกไม่ได้อยู่ลำพังในการพยายามแยกตัวออกจากบอสเนีย หลังจากโดดิกถูกตัดสินจำคุก “อเล็กซานเดอร์ วูซิช” ประธานาธิบดีเซอร์เบียได้เดินทางมายัง RS โดยประณามคำตัดสินดังกล่าวว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและผิดกฎหมาย พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนประชาชน สถาบัน และผู้นำของดินแดนชาวเซิร์บ
ถ้อยแถลงของวูซิชไม่น่าแปลกใจ เพราะผู้นำเซอร์เบียเช่นเดียวกับโดดิกเป็นชาตินิยมที่ต้องการให้เกิดแผ่นดินยิ่งใหญ่ของชาวเซิร์บ เขายังหวังที่จะรวมสาธารณรัฐเซิร์บสกาเข้ากับเซอร์เบียด้วยซ้ำไป
วูซิชยังมองว่าวิกฤตในบอสเนียเป็นของขวัญทางการเมืองในประเทศ เป็นเวลาหลายเดือนที่วูซิชเผชิญกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของเขาที่เพิ่มมากขึ้น โดยการสนับสนุนโดดิกและยุยงให้เกิดความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ เขาหวังว่าจะเบี่ยงเบนความสนใจออกจากปัญหาในประเทศและเสริมสร้างการสนับสนุนของเขา
อเล็กซานเดอร์ วูซิช ประธานาธิบดีเซอร์เบีย (ขวา) เครดิตภาพ: Blic
เลเวนเต มายาร์ รองรัฐมนตรีต่างประเทศฮังการี เดินทางมาเยือน RS เพื่อสนับสนุนการรัฐประหารของโดดิก ฮังการีมองว่าโดดิกเป็นพันธมิตรในการพยายามสร้างพันธมิตรของผู้นำที่ไม่ยึดมั่นในลัทธิเสรีนิยมในยุโรป และเขาก็มีจุดยืนที่สนับสนุนรัสเซียเช่นเดียวกับพวกเขา หากสงครามกลับมาที่บอลข่าน มายาร์ประกาศว่า “ฮังการีจะไม่ถอยหนี … เราอยู่เคียงข้างคุณและประชาชนของ RS”
ส่วน “วิกเตอร์ ออร์บัน” นายกรัฐมนตรีฮังการี ดูเหมือนจะสนใจที่จะเร่งให้เกิดความขัดแย้งดังกล่าว ออร์บันแทรกแซงกิจการภายในของบอสเนียอย่างแข็งกร้าวมาตั้งแต่ปี 2020 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เขายังได้ส่งตำรวจกองกำลังพิเศษต่อต้านการก่อการร้ายของฮังการี 78 นายไปฝึกซ้อมร่วมกับตำรวจของ RS
เครดิตภาพ: Hungary Today
อีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ “ปูติน” คาดว่าเขามีแผนทำให้บอลข่านตะวันตกไม่มั่นคงมานานแล้ว ทั้งเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากยูเครนและเพื่อกดดันยุโรปโดยรวม เครมลินมองบอลข่านตะวันตกว่าเป็น “พื้นที่อ่อนไหวสุดของยุโรป” โดยมีบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเป็นสมรภูมิหลักในการทำให้ความมั่นคงของยุโรปไม่มั่นคงและขัดขวางการขยายอิทธิพลของนาโตและอียู
ดังนั้นนอกจากจะให้การสนับสนุนสาธารณรัฐเซิร์ปสกาอย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว ปูตินยังได้พบกับโดดิกเมื่อเขาเดินทางไปมอสโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
  • อีกฝ่ายตอบโต้
แน่นอนว่ายุโรปคัดค้านความพยายามของโดดิก ในแถลงการณ์ของสำนักงานกิจการต่างประเทศยุโรปซึ่งทำหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรป ระบุว่าโดดิกกำลังคุกคามรัฐธรรมนูญและระเบียบทางกฎหมายของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และโจมตีเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
สหรัฐฯ ก็มีจุดยืนที่คล้ายคลึงกัน ในแถลงการณ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “มาร์โก รูบิโอ” รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่าโดดิกกำลัง “บ่อนทำลายการปกครองของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และคุกคามความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศ”
“ออสเตรีย” และ “เยอรมนี” ได้คว่ำบาตรโดดิกและทีมของเขาไปแล้ว ประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็น่าจะทำตามเช่นเดียวกัน รวมถึงสหรัฐฯ ที่จะขยายกรอบการคว่ำบาตรที่มีอยู่แล้ว
ตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลง บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาได้เป็นแบบอย่างในภารกิจรักษาสันติภาพของยุโรปจำนวนมาก ประเทศที่เข้าร่วมควรส่งทหารเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสนับสนุนตำรวจกลางของรัฐบอสเนียในการจับกุมโดดิกได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพยังสามารถส่งกำลังไปยังชายแดนของบอสเนียกับเซอร์เบียเพื่อหยุดยั้งไม่ให้วูซิชเข้ามายุ่งวุ่นวายด้วย
ในระยะยาวแน่นอนว่าจังหวะนี้ทางฝั่งตะวันตกจะใช้เป็นข้ออ้างเข้ามาควบคุมในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา หาทางดึงให้เข้ากลุ่มอียูหรือไม่นาโต เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของฝ่ายโดดิกและผองเพื่อน ซึ่งพวกเขามองว่าปูตินเป็นหัวโจกใหญ่อยู่เบื้องหลังนั่นเอง
1
สหรัฐฯ มีแนวคิดจัดตั้งความร่วมมือแบบสี่ฝ่ายกับ นอร์เวย์ ตุรกี และอังกฤษ ซึ่งให้การรับประกันความมั่นคงกับบอสเนียจนกว่าพวกเขาจะได้เป็นสมาชิกนาโตเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจรวมถึงความร่วมมือด้านความช่วยเหลือด้านการป้องกันประเทศที่มีโครงสร้างตามกรอบการลงทุนที่ตรงกันในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
เครดิตภาพ: AP Photo
แอคชันของโดดิกจึงเป็นการทดสอบครั้งสำคัญสำหรับนายกอังกฤษ “เคียร์ สตาร์เมอร์” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส “เอ็มมานูเอล มาครง” นายกเยอรมนี “เฟรดริช เมิร์ซ” และผู้นำยุโรปคนอื่นๆ ที่อ้างว่าพวกเขาสามารถก้าวขึ้นมาและเติมเต็มช่องว่างที่สหรัฐกำลังถอยห่างและทิ้งไว้ได้
หากยุโรปสามารถหยุดการแย่งชิงอำนาจของโดดิกได้ จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจริงจังกับการป้องกันตนเอง แต่ถ้าทำไม่ได้ ยุโรปจะเสี่ยงต่อการแตกแยก ท้ายที่สุดแล้วเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าทวีปยุโรปจะสามารถหยุดปูตินหรือทรัมป์ได้อย่างไรหากไม่หยุดโดดิก
เรียบเรียงโดย Right Style
9th Apr 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: European Union Force in Bosnia and Herzegovina>
โฆษณา