10 เม.ย. เวลา 07:46 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Satomi Hakkenden 8 ลูกแก้วอภินิหาร

เรื่องนี้คือตำนาน
หนังที่เป็นวัฒนธรรมป๊อบยุค 80 ของญี่ปุ่น
ย้อนไปในยุค 80 - 90 หนังญี่ปุ่นแทบไม่มีที่ยืนในตลาดหนังโรงบ้านเรา แม้จะมีหนังญี่ปุ่นที่ดีและน่าสนใจ แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับหรือความนิยมเท่าที่ควร เหมือนกับกรณีของSATOMI HAKKEN DEN(LEGEND OF EIGHT SAMURAI ) หรือ 8 ลูกแก้วอภินิหาร หนังเมื่อปี 2526 หรือ 1983 ที่ถึงแม้จะเป็นหนังดังในญี่ปุ่น แต่พอมาฉายในประเทศไทยก็ไม่สามารถดึงดูดผู้ชมได้เหมือนที่คาดหวังไว้
ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป การเปิดตลาดหนังญี่ปุ่นในบ้านเราก็เริ่มมีความสำเร็จมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา หนังญี่ปุ่นเริ่มมีความหลากหลาย ทำให้กลุ่มผู้ชมไทยเริ่มเปิดใจและสนใจรับชมมากขึ้น โดยเฉพาะงานอนิเมะ ซึ่งก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและรสนิยมที่แตกต่างจากยุคก่อนโดยสิ้นเชิง
เรื่องที่จะเล่าวันนี้คือ ตำนาน 8 ลูกแก้วอภินิหาร หนังแห่งความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นที่จะสู้กับไซไฟฮอลลีวูด
......................
ในช่วงทศวรรษ 1970 ฮอลลีวูดเริ่มครอบงำตลาดหนังทั่วโลก ด้วยกลยุทธ์ใหม่อย่างการสร้างหนังขนาดใหญ่ ทุนสูง การโหมโฆษณาเต็มรูปแบบ และการเปิดฉายพร้อมกันทั่วประเทศ จนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “Blockbuster” ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของการผลิตภาพยนตร์เพื่อการตลาดเต็มตัวในระดับโลก หนังที่ทำให้เกิด Blockbuster เต็มรูปแบบคือ Jaws ของผู้กำกับอย่างสตีเวน สปีลเบิร์ก และ Stat Wars ของจอร์จ ลูคัส รวมถึง Superman กลายเป็นตัวแทนแห่งความสำเร็จของยุคนั้น
ในทางตรงกันข้าม หนังญี่ปุ่นได้ผ่านพ้นยุคทองจากทศวรรษ 50 - 60 ไปแล้ว บริษัทหนังรายใหญ่ในญี่ปุ่นกลับขาดทั้งทุนและขีดความสามารถในการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ฮอลลีวูดครอบงำแผนที่หนังโลก กลายเป็นผู้ครองตลาดโลกเพียงผู้เดียว
ในปี 1977 เมื่อ Star Wars ออกฉาย ได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ให้กับโลกภาพยนตร์อย่างแท้จริง หนังวิทยาศาสตร์ หนังไซไฟ หนังขายเทคนิคพิเศษที่เคยเป็นหนังเกรดบร สตูดิโอไม่ต้องการ กลายเป็นสินค้าขายดี กระแสนี้เข้ามาถึงญี่ปุ่นในปีถัดมา และกลายเป็นแรงกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ พยายามตอบสนอง โดยโตโฮได้ออกหนัง The War in Space (1977) ขณะที่โตเอะตอบโต้ด้วย Message from Space (1978) ซึ่งกำกับโดยฟุคาซากุ คินจิ และเขียนบทโดยมัตสึดะ ฮิโรโอะ
โดยที่เนื้อหาได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมญี่ปุ่น Nansō Satomi Hakkenden (นันโช ซาโตมิ ฮักเค็นเด็น)ผสมกับโลกไซไฟสไตล์ Space Opera แบบสตาร์วอส์ และออกแบบเทคนิคพิเศษโดยยาจิมะ โนบุโอะ
นันโช ซาโตมิ ฮักเค็นเด็นเป็นนิยายดั้งเดิมที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1814 ถือเป็นนวนิยายมหากาพย์ญี่ปุ่นที่มีขนาดยาวที่สุด ชาวญี่ปุ่นภูมิใจมากบอกว่าเทียบกับลอร์ด ออฟ เดอะ ริงได้เลยทีเดียว นิยายเรื่องนี้ใช้เวลาตีพิมพ์ต่อเนื่องยาวนานถึง 28 ปี (1814–1842) เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงยุคมุโรมาจิ และติดตามการผจญภัยของนักรบแปดคนที่เกิดในภูมิภาคคันโต พวกเขาค่อยๆ ค้นพบต้นกำเนิดร่วมกันในฐานะ "ลูกแก้วแห่งวิญญาณ" ของเจ้าหญิงจากตระกูลซาโตมิ และรวมตัวกันเพื่อปกป้องตระกูลจากการคุกคามของศัตรู
นิยายมีขนาดยาวมาก นักเขียนคือ ทาคิซาวะ บาคิน หรือที่รู้จักในชื่อนามปากกาว่า เคียวคุเต บาคิน เป็นนักเขียนนวนิยายชาวญี่ปุ่นในยุคเอโดะ ในตอนที่เขาเขียนนิยายเรื่องนี้ถึงบทท้ายๆ ตอนนั้นอายุอานามก็เกิน 70 ปีไปแล้ว ปรากฏว่าบาคินตาบอดเขียนหนังสือไม่ได้ เขาต้องเล่าเรื่องให้ภรรยากับลูกชาย ช่วยกันจดจนกระทั่งสามารถจบเรื่องได้ในที่สุด
แม้ Message from Space ของผู้กำกับฟุคาซากุ คินจิจะสร้างจากมหากาพย์เรื่องสำคัญของญี่ปุ่น แต่พอเข้าโรงฉายในญี่ปุ่นแล้ว กลับถูกมองว่าเป็นเพียงของเลียนแบบ Star Wars เท่านั้น แต่ตัวหนังก็ได้รับการจัดจำหน่ายนอกประเทศญี่ปุ่น และได้รับกระแสตอบรับที่พอใช้ โดยเฉพาะผู้ชมบางกลุ่มให้ความสนใจกับฉากแอ็กชันของนักแสดงอย่างชิบะ ชินอิจิ ซานาดะ ฮิโรยูกิ และชิโฮมิ เอ็ตสึโกะ ที่กลายเป็นองค์ประกอบเด่น และสามารถทำให้ Message from Space กลายเป็นหนังคัลต์คลาสสิคในเวลาต่อมา
.............
ในช่วงทศวรรษ 1970 ขณะที่ฮอลลีวูดเริ่มคึกคักด้วยงาน Blockbuster บริษัทหนังในญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาขาดแรงจูงใจในการลงทุน หนังซามูไรฟันดาบที่เคยทำกำไรในตลาดโลกก็ค่อยๆเสื่อมความนิยม เรียกว่าความคิดไอเดียการตลาดของบริษัทเดิมๆ เริ่มตัน
แต่แล้วในปี 1976 สำนักพิมพ์คาโดกาวะได้สร้างความฮือฮาด้วยการประกาศเข้าสู่วงการหนังโดยตรง โดยเริ่มจากการลงทุนสร้างหนังที่ดัดแปลงจากนิยายของสำนักพิมพ์ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องแนวสืบสวนสอบสวนของโยโคมิโซะ เซย์ชิ ที่นักอ่านไทยรู้จักหนังสือ " ชุด คินดะอิจิยอดนักสืบ "กันทั้งนั้น เซย์ชิเป็นนักเขียนในเครือคาโดกาวะ และหนังที่เป็นผลงานเปิดตัวอย่างอินูกามิ (Inugami-ke no Ichizoku, 1976) ประสบความสำเร็จเกินคาด และทำให้คาโดกาวะตัดสินใจดำเนินนโยบาย “สื่อผสม” (Media Mix) อย่างเต็มตัว
ด้วยการวางจำหน่ายนิยายควบคู่ไปกับสร้างหนัง และใช้เม็ดเงินโฆษณามหาศาลผ่านทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ เกิดเป็นกระแสใหม่ในอุตสาหกรรมหนังญี่ปุ่น ต่อมาคาโดกาวะก็มีสื่ออื่นออกมาผสมนอกจากหนังและหนังสือ เช่น อัลมั้บเพลงประกอบหนัง ของเล่น ฯลฯ ที่ต่อมาถูกขนานนามว่า “วิถีการตลาดของคาโดกาวะ” (Kadokawa Business Model)
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังแนวทางดังกล่าวคือคาโดกาวะ ฮารุกิ ซึ่งทำหน้าที่ทั้งในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ผู้จัดจำหน่าย และผู้กำหนดทิศทางการสร้างหนัง เขาใช้กลยุทธ์นี้ผลักดันนักแสดงสาวยาคุชิมารุ ฮิโรโกะ จนกลายเป็นดาราหญิงอันดับหนึ่งของค่าย และนำเธอมารับบทนำใน Satomi Hakkenden หรือ “8 ลูกแก้วอภินิหาร” ผลงานที่คาโดกาวะตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อท้าทายอำนาจของฮอลลีวูด
คาโดกาวะ ฮารุกิ มองดูโตโฮและโตเอะสร้างหนังไซไฟ ซึ่งมองดูก็รู้แล้วว่าได้อิทธิพลจากสตาร์วอส์ และว่าหนังพวกนี้จะถูกตราหน้าว่าลอกเลียนแบบ แต่ฮารุกิยังไม่ยอมแพ้ เขาพยายามมองหาว่าจะหาวิธีใดที่ทำหนังออกมาให้เป็นญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันก็ดูทันสมัยดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่นิยมหนังฮอลลีวูด และยังมีกลิ่นอายไซไฟในหนัง ฮารุกิชอบหนังซามูไร แต่ในเวลานั้นหนังซามูไรไร้ตลาด ไม่ทันสมัย
ฮารุกินึกถึงนันโช ซาโตมิ ฮักเค็นเด็น และเขายังชื่นชอบหนัง Satomi Hakkenden ของโตเอะที่เคยเอาเรื่องนี้มาทำในปี 1954 ฮารุกิต้องการนำเรื่องนี้มาปรับสร้างใหม่ในแบบที่เข้ากับยุคสมัย เขาจึงสั่งให้ใส่องค์ประกอบแบบภาพยนตร์อเมริกันอย่าง Star Wars, Raiders of the Lost Ark,Flash Gordon และแม้แต่ American Graffiti ลงไป เพื่อให้เรื่องราวดูร่วมสมัยและสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ในการเลือกผู้กำกับ ฮารุกิเลือกฟุคาซากุ คินจิ มากำกับ แม้ว่าคินจิจะเคยทำ Message from Space ที่สร้างจากนิยายนันโช ซาโตมิ ฮักเค็นเด็นเหมือนกันก็ตาม แต่เขาปล่อยให้คินจิมีอิสระในการทำหนังตราบใดที่ยังมีองค์ประกอบที่ฮารุกิต้องการ คินจิทำให้โทนหนังมีความมืดหม่นในแบบเดียวกับ Samurai Reincarnation (1981) หนังดังของเขา
แต่คาโดกาวะต้องการเสน่ห์ของดาราไอดอลสมัยใหม่มากกว่าจะเน้นความจริงจังแบบหนังดาบซามูไรยุคเก่า บทหนังจึงต้องถูกปรับหลายรอบเพื่อหาสมดุลระหว่างความร่วมสมัยกับความเป็นตำนาน พร้อมทุ่มทุนสร้างไม่อั้น
แม้จะพยายามเลียนแบบระดับการผลิตแบบฮอลลีวูด แต่หนัง 8 ลูกแก้วอภินิหารก็ยังคงใช้เทคนิคพิเศษแบบญี่ปุ่น แต่ผสมกับการใช้แสงสีเหมือนมีเลเซอร์ของหนังไซไฟมารวมกัน ฉากสัตว์ประหลาด เช่น ตะขาบยักษ์และงูยักษ์ ที่สร้างโดยยาจิมะ โนบุโอะ ยังคงแสดงออกถึงรูปแบบการสร้างเทคนิคแบบญี่ปุ่นอย่างชัดเจน แต่ฉากสุดท้ายการยิงธนูของนางเอกก็เหมือนกับการปล่อยศรเลเซอร์ เป็นความต่างด้านของวัฒนธรรมการสร้างหนังทั้งสองฝั่งอย่างเห็นได้ชัด
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง งานเมคอัพ งานออกแบบฉากกลับช่วยสร้างอารมณ์และบรรยากาศที่มีเอกลักษณ์ที่แปลกตาและจดจำได้ บวกรวมกับฉากเลิฟซีนแบบหนังฮอลลีวูดเพิ่มความจัดจ้านแบบหนังยุคใหม่เข้าไปด้วย
ฉากแอ็กชันในหนังกลายเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจดจำ โดยเฉพาะการแสดงของซานาดะ ฮิโรยูกิ ก่อนที่เขาจะกลายเป็นดาราอินเตอร์ในปัจจุบันกลายเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพของหนัง ขณะที่การถ่ายทำที่มีจำนวนช็อตเกือบ 2,000 ช็อตนี้ กลายเป็นความท้าทายที่ทำให้ทีมงานเหนื่อยล้า โดยเฉพาะนักแสดงนำอย่างยาคุชิมารุ ฮิโรโกะ ที่ถึงขั้นล้มป่วยและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกลางกองถ่าย
แม้จะมีข่าวลือว่าการโฆษณาอาจเกินจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถ่ายทำนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งจากสภาพอากาศที่ไม่อำนวย ความอันตรายของสถานที่ถ่ายทำ ไปจนถึงเทคนิคพิเศษที่ต้องทำแข่งกับเวลาและกำหนดฉาย แต่เมื่อหนังเข้าฉายในเดือนธันวาคม ปี 1983 Satomi Hakkende ก็กลายเป็นหนังญี่ปุ่นที่ทำรายได้สูงสุดในปี 1984
ส่งผลให้กระแสของนางเอกยาคุชิมารุ ฮิโรโกะ พุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติ และ Satomi Hakkenden ก็กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยของญี่ปุ่นในช่วงต้นทศวรรษ 1980 อย่างสมบูรณ์แบบ
.................
และสิ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกคือเพลงประกอบ Satomi Hakkenden ที่ขับร้องโดย John O’Banion มีบทบาทสำคัญในการเสริมพลังทางอารมณ์และภาพลักษณ์เชิงนานาชาติของหนังเรื่องนี้อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในบริบทของกลยุทธ์ Media Mix และแผนการตลาดสไตล์ คาโดกาวะ
ก่อนอื่น เพลงนี้เป็นการผสมผสานระหว่างกลิ่นอายของดนตรีป๊อปสากลกับโทนโรแมนติกและดราม่าที่เข้ากับเนื้อหาของหนังอย่างลึกซึ้ง การเลือกนักร้องชาวอเมริกันอย่าง John O’Banion ซึ่งในขณะนั้นมีชื่อเสียงในญี่ปุ่นมาก จากการชนะรางวัลที่ Tokyo Music Festival ช่วยให้หนังดูมีความเป็น “อินเตอร์” มากขึ้น และช่วยดึงดูดกลุ่มผู้ชมวัยรุ่นที่หลงใหลในดนตรีป๊อปตะวันตก ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของ คาโดกาวะในช่วงทศวรรษ 1980
เพลงนี้ทำหน้าที่เสริมความรู้สึกโรแมนติกและความลึกซึ้งของตัวละคร โดยเฉพาะความรัก ความสูญเสีย และโชคชะตาระหว่างการผจญภัยของเหล่านักรบลูกแก้ว เพลงของเขาไม่เพียงเป็นแค่เพลงปิดหรือประกอบหนังธรรมดา แต่ยังกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเล่าเรื่องที่ขยายออกไปนอกจอ สะท้อนถึงความหวังและโศกนาฏกรรมอย่างทรงพลัง
อีกด้านหนึ่ง เพลงนี้ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์คาโดกาวะ ทั้งในแง่การวางกลยุทธ์การตลาดและการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์และตัวหนัง ทั้งในแง่อารมณ์ การขาย และการเชื่อมโยงวัฒนธรรมอย่างลุ่มลึก การใช้เพลงในลักษณะนี้สะท้อนถึงความสำเร็จในแนวทางของ Kadokawa Business Model ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงและขยายขอบเขตของสินค้าและบริการไปในหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหนัง หนังสือ การโฆษณา หรือแม้กระทั่งการตลาดผ่านเพลง นี่คือส่วนสำคัญที่ทำให้คาโดกาวะ ฮารุกิสามารถสร้างอาณาจักรสื่อที่ทรงพลังได้
โฆษณา