Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
12 เม.ย. เวลา 01:30 • ประวัติศาสตร์
ปีใหม่เมืองไทย วันไหนกันแน่?
“วันนี้~ เป็นวันสงกรานต์~” เสียงเพลงคุ้นหูดังออกมาจากลำโพงกระจายเสียงของชุมชนยาวนานมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน แน่นอนว่า “วันสงกรานต์” เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของคนไทย ที่เราออกมาเล่นน้ำกันในวันที่ 13-15 เดือนเมษายนของทุกปี ตลอดจนเป็นวันที่เรารับรู้กันในฐานะของปีใหม่ไทย แต่ทำไมปีใหม่ไทยถึงต้องเป็นช่วงนี้ล่ะ? ใช้อะไรเป็นเกณฑ์กำหนด? ในสัปดาห์นี้ All About History จะขอพาย้อนกลับไปดูกัน
-----
⭐สงกรานต์แต่ปางบรรพ์ วันไหนกันแน่?
ในปัจจุบันนี้ เรานับกำหนดให้วันสงกรานต์ต้องเป็น 13-15 ซึ่งประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ แต่ทั้งนี้ ในอดีตนั้นการที่เราจะกำหนดวันมหาสงกรานต์ไปจนถึงวันเถลิงศกได้นั้น มันซับซ้อนกว่านั้นมา โดยการกำหนดวันจะต้องถือฤกษ์โดยอาศัยคัมภีร์ที่มีชื่อเรียกว่า “สุริยยาตร์”
สุริยยาตร์ จะกล่าวว่าเป็นตำราดาราศาสตร์ก็ย่อมได้ โดยเป็นตำราแบบแผนที่มีใช้มาเป็นระยะเวลานาน โดยนำมาผูกเข้ากับโหราศาสตร์ ใช้สำหรับกำหนดฤกษ์ยามต่าง ๆ โดยวันสงกรานต์จะเป็นวันแรกที่พระอาทิตย์ได้โคจรเคลื่อนออกจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ มีด้วยกัน 3 วันคือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก
การคำนวณวันเถลิงศก จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควรในระบบปฏิทินไทย ซึ่งต้องเข้าใจว่าการนับฤกษ์ยามนั้น เราไม่ได้นับกันเป็นหลักวัน หากแต่นับกันเป็นหลักวินาที โดยใน 1 ปีนั้น ตามหลักแล้วจะมีอยู่ทั้งหมด 292,207 กัมมัช ซึ่งกัมมัชนั้นตามสุริยยาตร์มีค่าเท่ากับ 108 วินาที ซึ่งเราจะเอาตัวเลขนั้นไปหาร่วมกับวันเวลาที่เกิดการนับจุลศักราชขึ้นมา
จุลศักราชที่ 0 เริ่มนับในวันที่ 25 มีนาคม ปีพุทธศักราช 1811 เวลา 11:11:24 นาฬิกา หรือ 373 กัมมัช เราจะได้หรคุณวันเถลิงศกเป็น จ.ศ.*292,207+373 จากนั้นจึงนำมาหารกับ 800 ซึ่งเป็นเลขกัมมัชใน 1 วัน แล้วนำค่าที่ได้มาบวก 1 ก็จะได้หรคุณเถลิงศกที่จะนำมาใช้ในการคำนวณข้างขึ้นข้างแรมกัน ซึ่งในส่วนของการคำนวณข้างขึ้นข้างแรม และในส่วนของการนำมาคำนวณให้เป็นวันตามปฏิทินจูเลียนก็จะมีสูตรเพิ่มเติมอีก ซึ่งอาจจะเข้าใจยากเกินไปจึงขอกล่าวถึงการคำนวณปฏิทินเพียงเท่านี้
แต่หลัก ๆ แล้วเกณฑ์การตั้งวันเถลิงศก และวันมหาสงกรานต์นั้นจะมีการตีวงกว้าง ๆ เอาไว้ว่าไม่เกินวันขึ้นกี่ค่ำ หรือแรมกี่ค่ำ ซึ่งถูกใช้เป็นแบบแผนสืบต่อกันมา
-----
⭐ปีใหม่ไทยในประวัติศาสตร์
ส.พลายน้อย เคยสันนิษฐานเอาไว้ว่าแต่ก่อนคนไทยน่าจะเริ่มถือเอาวันขึ้นปีใหม่เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีข้อมูลแน่ชัดว่าคนไทยเลิกการถือเดือนอ้ายเป็นเดือนแรกของปีตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็ได้เริ่มมีการตั้งวันปีใหม่ให้อยู๋ในเดือน 5 และวันสิ้นปีอยู๋ในเดือน 4 มาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้วดังที่ปรากฎในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งในสมัยอยุธยาก็มีการบันทึกถึงการเฉลิมฉลองวันเถลิงศกและวันสงกรานต์มากมายในเอกสารฉบับต่าง ๆ ไปจนถึงวรรณคดี
อย่างทวาทศมาส และนิราศธารโศกซึ่งมีขนบการประพันธ์โดยการใช้วันและเวลาเปรียบเปรยสิ่งต่าง ๆ ในบทกวี ซึ่งก็มีการระบุถึงพระราชพิธีต่าง ๆ ในแต่ละเดือนด้วย โดยเดือน 4 มีการกล่าวถึงพิธีตรุษในฐานะของการตัดศกส่งท้ายปีเก่า ก่อนที่จะมีพิธีสมโภชใด ๆ ในเดือนห้า ซึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือนของรัชกาลที่ 5 ก็มีระบุเอาไว้เช่นเดียวกัน
ในพระราชพิธีสิบสองเดือนระบุว่าปีใหม่ไทย จัดกันในเดือน 5 เป็น 2 ขยัก ครั้งแรกคือเปลี่ยนนักษัตรในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 แล้วจึงมีการปีใหม่อีกทีหนึ่งในช่วงสงกรานต์ ซึ่งในหนังสือระบุว่า “ด้วยตามวิธีโหรของเรานับตามโคจรของพระอาทิตย์ ต่อพระอาทิตย์ยกขึ้นราศีเมษเมื่อใด จึงขึ้นศักราชในวันเถลิงศก” การคำนวณดังกล่าวก็จะเป็นดังที่เราได้บอกไปในหัวข้อก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี ในปี 2432 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู๋หัวได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในระบบปฏิทินไทย นั่นก็คือการยกเลิกการใช้จุลศักราช แล้วหันมาใช้รัตนโกสินทร์ศกในวันที่ 1 เมษายน นั่นเองที่ทำให้วันขึ้นปีใหม่ไทย หรือที่ในช่วงนั้นเรียกกันว่าวันตรุษสงกรานต์ เกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายนแทน เพื่อที่จะได้ให้วันสงกรานต์นั้นตรงกันในทุกปี ก่อนที่ต่อมาในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 มกราคม ตามอย่างสากล
-----
⭐การเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงการเปลี่ยนแปลงของสงกรานต์ไทย
เสฐียรโกเศศ เคยกล่าวถึงสงกรานต์ในวัยเด็กเมื่อครั้งปลายรัชกาลที่ 5 เอาไว้ในวารสารศิลปากรว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ธรรมเนียมการสาดน้ำกันเป็นไปด้วยการสาดใส่คนที่รู้จักกันเท่านั้น ไม่ได้ไปสาดคนที่ไม่รู้จัก ซึ่งฟังดูแตกต่างไปจากการเล่นงานในสงกรานต์ปัจจุบันอยู่ไม่น้อย ซึ่งทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงมาสาดน้ำผู้อื่นอาจจะเป็นอะไรที่เกิดขึ้นใหม่กับสงกรานต์
โดยพัทธดนย์ กิจชัยนุกูล ได้ให้ความเห็นในบทความเรื่อง “ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย” ว่าการสาดน้ำอาจจะเป็นอะไรที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนี่เอง ซึ่งประเทศทางพม่านั้นก็มีธรรมเนียมการสาดน้ำใส่คนอื่นยันคนแปลกหน้ามานานดังที่พอปรากฎให้เห็นผ่านบันทึกรวมไปถึงงานศิลปะในมุมมองของชาวตะวันตก
นอกเหนือจากการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มากเป็นวันที่ 1 มกราคม และธรรมเนียมการสาดน้ำที่เปลี่ยนไปแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับสงกรานต์ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังมีอีกมากมาย
อาทิการจัดประกวดนางสงกรานต์ครั้งแรกในปี 2482 รวมไปถึงการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนเป็นวันหยุดราชการในปี 2491 ก่อนที่หลังจากนั้นจะมีมติจากคณะรัฐมนตรีที่ทำให้เกิดเป็นวันหยุดยาวขึ้นมาโดยประกอบไปด้วย วันผู้สูงอายุ (วันที่ 13) วันครอบครัว (วันที่ 14) และวันเถลิงศก (วันที่ 15) โดยวันผู้สูงอายุมีมติลงในปี 2525และ วันครอบครัวกับวันเถลิงศกมีมติในปี 2532
-----
⭐ วันสงกรานต์ กับปรากฎการณ์ทางการตลาด
ถ้าจำกันได้กับโพสต์ตลาดคริสต์มาสเมื่อคราวนี้ เราพอที่จะพูดถึงปรากฎการณ์ที่เรียกกันว่า Christmas Creep ไปที่ว่าด้วยการมาถึงก่อนเวลาอันควรของเทศกาลคริสมาสต์ที่ส่งผลให้เกิดการนำเอาสินค้าเทศกาลมาแข่งกันขายล่วงหน้าก่อนเวลาอันควร ซึ่งเมื่อตอนนั้นเราก็ได้ยกกรณีของสงกรานต์ไปเปรยไว้นิด ๆ หน่อย ๆ ด้วย
ปรากฎการณ์ของตลอดในเดือนเมษายนก็นับว่าเป็นอะไรที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมากกับวันคริสต์มาส โดยเราสามารถเห็นการพยายามขายเรื่องเกี่ยวกับสงกรานต์กันตั้งแต่สัปดาห์แรก ๆ ของเดือนด้วยซ้ำไป เราสามารถเห็นหลาย ๆ สถานที่เรื่องนำเอาพระพุทธรูปมาตั้งไว้ให้ทำบุญสรงน้ำ ตลอดจนการวางขายปืนฉีดน้ำตามห้างร้านต่าง ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันกันทางการตลาดแบบเปิดก่อนได้เปรียบอะไรแบบนั้น
-----
⭐ ตำนานสงกรานต์
ขอพูดถึงตำนานมหาสงกรานต์นิด ๆ หน่อย ๆ พอให้ผ่อนคลายจากการคำนวณปฏิทิน
ตำนานสงกรานต์นี้ มีการปรากฎเนื้อหา เล่ากันมาในจารึกวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งในปัจจุบันนี้จารึกดังกล่าวได้สูญหายไปแล้ว โดยเดิมทีมีทั้งหมด 7 แผ่นด้วยกัน ตามในโคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ระบุว่าจารึกเรื่องมหาสงกรานต์นี้ติดตั้งอยู่ที่บริเวณคอสองของเฉลียงศาลาทิศพระมณฑปหลังเหนือ เคียงคู๋กันกับจารึกเรื่องรามัญหุงข้าวทิพย์ (ประเพณีกวนข้าวทิพย์ในช่วงสงกรานต์ของชาวมอญ)
ตามตำนานสงกรานต์เล่ากันว่า เศรษฐีผู้หนึ่ง มีบุตรชายชื่อว่า “ธรรมบาลกุมาร” ธรรมบาลกุมารเป็นคนที่ฉลาดเฉลียว เรียนจบครบไตรเวทตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ แถมรู้ภาษานกอีกต่างหาก ซึ่งมีอยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหมได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยเดิมพันขันต่อว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้จะต้องถูกตัดศีรษะ ในขณะเดียวกันถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดเศียรตัวเอง ซึ่งธรรมบาลกุมารก็กลับไปนอนคิดคำตอบไม่ออกเสียที แต่ก็บังเอิญไปได้ยินนกพูดกัน จึงได้คำตอบของคำถามจากท้าวกบิลพรหม
ในเมื่อธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมก็จำต้องทำตามที่พูดไว้ ซึ่งได้ขอให้ธิดาทั้ง 7 มาช่วยกันหาพานมารองรับเศียรของท้าวกบิลพรหม ซึ่งตามปกรณัมไทยนั้นส่วนใหญ่แล้วเศียรของผู้มีฤทธิ์จะสามารถทำลายล้างโลกได้ ธิดาทั้ง 7 จึงนำพานมารองศีรษะของท้าวกบิลพรหม แล้วแห่แหนไป ซึ่งนางทั้ง 7 นี้ก็จะช่วยกันผลัดเปลี่ยนมาดูแล แห่แหนเศียรรอบเขาพระสุเมรุ จึงเกิดเป็นที่มาของนางสงกรานต์ทั้ง 7 วัน และขบวนแห่วันสงกรานต์นี่เอง
สำหรับสงกรานต์ปีนี้ ถ้าจะคำนวณตามสุริยยาตร์ เราจะสามารถกำหนดสงกรานต์ปีนี้ ตีตามปฏิทินสุริยคติได้ว่า วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ 14 เมษายน เวลาราว ๆ ตี 4 และวันเถลิงศกตรงกับวันที่ 16 เมษายน เวลาราว ๆ 8 นาฬิกา
แต่ทั้งนี้ถึงแม้ว่าเทียบปฏิทินสุริยคติแล้ววันเถลิงศกตรงกับวันจันทร์ แต่นางสงกรานต์ประจำปีก็จะยังคงเป็นวันอาทิตย์อยู๋เหมือนเดิม เพราะในทางปฏิทินจันทรคตินั้น จะตัดที่การขึ้นลงของพระจันทร์ ฉะนั้นแล้วตี 4 ของวันจันทร์จึงยังคงถือว่าเป็นวันอาทิตย์อยู่นี่เอง
-----
สำหรับในสงกรานต์ปีนี้ ทางรัฐบาลไทยได้พยายามที่จะผลักดันให้เป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่งดังที่ได้ตั้งใจไว้เพื่อเป็นการพยายามเชิดชูซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากการท่องเที่ยวสงกรานต์ในปีนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงต้องจับตารอดูกันต่อไป
-----
ผู้เขียน : ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#ประวัติศาสตร์ #สงกรานต์ #ไทย #อาเซียน #Bnomics #BBL #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ
-----
อ้างอิง:
MyHora. ประกาศสงกรานต์ปี พ.ศ.2568. เข้าถึงได้จาก
https://www.myhora.com/calendar/songkran.aspx
ส.พลายน้อย. สงกรานต์ 3 วัน 13-15 เม.ย. เริ่มมีเมื่อใด ปีใหม่ไทยในอดีตเปลี่ยนไปมา ชาวบ้านตามตรวจดูวันเอง. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2529. เข้าถึงได้จาก
https://www.silpa-mag.com/history/article_31026
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู๋หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน. เข้าถึงได้จาก ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.
https://vajirayana.org/พระราชพิธีสิบสองเดือน/พระราชพิธ๊เดือนห้า/พิธีสงกรานต์
เสฐียรโกเศศ. เรื่องเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์ และเทศกาลลอยกระทง. อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนายเชื่อบุษยธรรม. พระนคร:โรงพิมพ์พระจันทร์. 2508 เข้าถึงได้จากหอสมุดแห่งชาติสุพรรณบุรี
https://www.finearts.go.th/suphanburilibrary/view/34940-เรื่องเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์-และเทศกาลลอยกระทง
ประพนธ์ รอบรู้. เรื่อง “วันสงกรานต์ 13 เมษายน”. เข้าถึงได้จาก
https://www.finearts.go.th/chantaburilibrary/view/33665-เรื่อง--วันสงกรานต์-13-เมษายน-
พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล. ดะจาน เทศกาลขึ้นปีใหม่พม่า ซึ่ง (อาจ) เป็นต้นตอการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ของไทย. เข้าถึงได้จาก
https://readthecloud.co/thingyan/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกเรื่องมหาสงกรานต์ แผ่นที่ 6. เข้าถึงได้จาก
https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/12698
สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์. จุลศักราช-รัตนโกสินทร์ศก มีที่มาอย่างไร และยกเลิกไปเมื่อไหร่. ศิลปวัฒนธรรม.
https://www.silpa-mag.com/history/article_132152
สารานุกรมวัฒนธรรมภาคกลาง. วิธีการคำนวณระบบปฏิทินแบบไทย.
https://kukr.lib.ku.ac.th/kukr_es/index.php?/BKN/search_detail/result/23812
สงกรานต์
ประวัติศาสตร์
ไทย
1 บันทึก
4
6
1
4
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย