10 เม.ย. เวลา 09:20 • ธุรกิจ

เนสท์เล่หยุดขายเนสกาแฟในไทย อ่านหนังสือฉบับเต็มจากบริษัทถึงคู่ค้า

เปิดหนังสือแจ้งฉบับเต็มจากเนสท์เล่ (ไทย) กรณีข้อพิพาทกับตระกูลมหากิจศิริ ส่งผลให้หยุดจำหน่ายเนสกาแฟในไทยตามคำสั่งศาล กระทบตลาดกาแฟมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท พร้อมอ่านรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับสาเหตุและผลกระทบ
ข้อพิพาทครั้งใหญ่ในวงการ 'ธุรกิจกาแฟ' ไทยกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดกาแฟสำเร็จรูป เมื่อ 'เนสท์เล่' บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ระดับโลก ประกาศหยุดรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ 'เนสกาแฟ' ในประเทศไทยตามคำสั่งศาลแพ่งมีนบุรี อันเป็นผลสืบเนื่องจากข้อพิพาทกับตระกูลมหากิจศิริ ผู้ร่วมทุนในบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP)
1
ความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มต้นหลังจากสัญญาร่วมทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายที่ดำเนินมากว่า 34 ปี (2533-2567) สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้เกี่ยวกับอนาคตของบริษัท QCP จนนำไปสู่การฟ้องร้องทางกฎหมายจากทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้ศาลแพ่งมีนบุรีมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามเนสท์เล่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์เนสกาแฟในประเทศไทย
1
เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในตลาดกาแฟสำเร็จรูปที่มีมูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ร้านค้า พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด โดยเนสท์เล่ระบุว่าจะเคารพคำสั่งศาลและหยุดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนสกาแฟในประเทศไทยโดยมีผลทันที
ด้านล่างนี้คือหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด:
  • หนังสือแจ้งจาก บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
เรื่อง ขอเรียนแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจเนสกาแฟ
บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ขอขอบคุณที่ท่านให้การสนับสนุนเนสท์เล่เป็นอย่างดีตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ขอเรียนแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจเนสกาแฟให้ท่านได้รับทราบ
เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนถึง พ.ศ. 2567 เนสท์เล่มีสัญญาการร่วมทุนกับนายประยุทธ มหากิจศิริ และได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งถือหุ้นฝั่งละ 50/50 เพื่อดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟในประเทศไทย
เมื่อไม่นานมานี้ สัญญาการร่วมทุนดังกล่าวได้ยุติลง ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา และการยุติสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล
1
ถึงแม้จะมีความพยายามอย่างมากในการพูดคุยเกี่ยวกับทิศทางของบริษัท QCP กับตระกูลมหากิจศิริ แต่ผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ถึงอนาคตของบริษัท QCP ทางเนสท์เล่ เอส เอ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเลิกบริษัท QCP ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการพิจารณาคำร้องเพื่อขอเลิกบริษัทอยู่ในการพิจารณาของศาล
ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ปี พ.ศ. 2568 นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการจำนวน 2 คดี และต่อมาศาลแพ่งมีนบุรีได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในแต่ละคดี ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสร้างความตกตะลึงและความผิดหวังให้กับเนสท์เล่
1
ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปโดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafe ในประเทศไทย ถึงแม้คำสั่งศาลฉบับนี้จะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าเนสท์เล่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและมีสิทธิพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจของตนเอง แต่บริษัทเนสท์เล่ก็ให้ความเคารพต่อกฎหมายและจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลฉบับนี้
ดังนั้น บริษัทฯ จึงขอทำหนังสือฉบับนี้เพื่อเรียนแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัทฯ จะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากท่าน โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง บริษัทฯ ตระหนักดีถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจของท่าน ในแง่ของรายได้ ความพึงพอใจของผู้บริโภค พนักงานของท่าน รวมถึงคู่ค้าซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า
บริษัทฯ หวังว่าท่านจะให้ความเข้าใจ ในขณะที่บริษัทฯ กำลังพยายามแก้ไขสถานการณ์ บริษัทฯ จะแจ้งความคืบหน้าให้ท่านทราบเป็นระยะๆ หากท่านมีคำถามใด สามารถติดต่อได้โดยตรง
ทั้งนี้ เนสท์เล่ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และจะยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้า ผู้บริโภค พนักงานของเรา เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจ และคู่ค้าของเรา
1
บริษัทฯ ขอขอบพระคุณท่านสำหรับความเข้าใจ และหวังว่าจะร่วมมือทางธุรกิจกับท่านได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
นางสาวเครือวัลย์ วรุณไพจิตร ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจ เนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ประเทศไทย
โฆษณา