11 เม.ย. เวลา 02:17 • ข่าวรอบโลก

ความมั่งคั่งอยู่แค่เอื้อม ขอให้อดทน

นิติการุณย์
มิ่งรุจิราลัย
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่คือประธานาธิบดีคนที่ 30 (คาลวิน คูลิดจ์ 1923-1929) คนที่ 31 (เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ 1929-1933) คนที่ 32 (แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ 1933-1945 ตายขณะดำรงตำแหน่ง)
1
ตามความคิดส่วนตัวของผม ความรุ่งเรืองของสหรัฐฯเกิดขึ้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหยุดที่ประธานาธิบดีคนที่ 44 บารัค โอบามา (2009–2017)
หลังจากนั้นสหรัฐฯก็เข้าสู่ความวุ่นวายในยุคประธานาธิบดีคนที่ 45 โดนัลด์ ทรัมป์ (2017–2021) ตามด้วยคนที่ 46 โจ ไบเดน (2021–2025) และปัจจุบัน ยุคของทรัมป์อีกครั้งหนึ่ง
เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1929 อาจจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เปิดฟ้าส่องโลกขอเล่าสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ครั้งแรกให้ฟังครับ
ค.ศ.1929-1932 เกษตรกรอเมริกันต้องทำลายผลผลิตทิ้ง เนื่องจากประธานาธิบดีสหรัฐฯสมัยนั้นตั้งกำแพงภาษีสูงจนถูกตอบโต้จากประเทศอื่น ทำให้ราคาผลผลิตตกลงถึงร้อยละ 50
เกษตรกรต้องปล่อยให้แอปเปิ้ลและฝ้ายเน่าและแห้งคาต้น เพราะเงินที่ขายได้ไม่พอจ่ายค่าจ้างคนเก็บ นอกจากนั้น ยังเกิดพายุฝุ่นทำให้หน้าดินถูกปกคลุมด้วยฝุ่นจนไม่สามารถเพาะปลูกได้
2
พายุฝุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 1935 เพียงครั้งเดียว ทำให้ข้าวสาลีบริเวณเทกซัสแพนแฮนเดิลเสียหายเป็นมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เกษตรกร 4 แสนรายที่จำนองที่ดินไว้กับธนาคาร ไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปไถ่ถอนก็กลายเป็นคนเร่ร่อน
คนอเมริกันรังเกียจเกษตรกรที่มาเป็นคนงานเร่ร่อน และเรียกอย่างรังเกียจว่าเป็นพวกโอกีส์ เพราะส่วนใหญ่มาจากรัฐโอกลาโฮมา ที่ประสบวิบากกรรมจากเศรษฐกิจตกต่ำมากที่สุด
เกษตรกรอเมริกันที่สูญเสียที่ดินอุ้มลูกจูงหลานขึ้นรถไฟหรือขับรถยนต์เก่าๆ พร้อมสมบัติติดกายไม่กี่ชิ้น ไปหางานทำในภาคตะวันตก
จุดหมายปลายทางส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่ยังสมบูรณ์และยังพอมีงานทำ
1
จอห์น สไตน์เบก อดีตผู้เดินทางจากโอกลาโฮมามาหางานทำที่แคลิฟอร์เนีย ภายหลังได้เขียนนิยายเรื่อง The Grapes of Wrath
1
ถ่ายทอดบรรยากาศ วิถีชีวิต การเดินทาง ความขมขื่นและสิ้นหวังของพวกเกษตรกรที่ถูกธนาคารยึดที่ดิน ความเอาเปรียบของนายทุน การต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
4
ทำให้นักประวัติศาสตร์ชื่ออลัน บริงก์ลีย์ ยกย่องว่านวนิยาย The Grapes of Wrath เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดสังคมอเมริกันช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ออกมาเป็นตัวอักษรได้อย่างชัดเจน
1
ประธานาธิบดีฮูเวอร์ ยังละเมอเพ้อพกว่าเศรษฐกิจยังดี แกยังเชื่อว่ามั่งคั่งร่ำรวยของสหรัฐฯยังอยู่แค่เอื้อม จึงไม่มีนโยบายบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน
1
แกคิดว่าการที่รัฐลงไปช่วยเหลือเกษตรกรจะทำให้เกษตรกรอเมริกันสูญเสียความเคารพตนเอง
1
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯสมัยนั้นคือนายแอนดรูว์ เมลลอน ก็มีความเชื่อว่าการที่เศรษฐกิจตกต่ำเป็นไปตามวัฏจักร รัฐต้องไม่เข้าไปช่วยเหลือแทรกแซง
2
ทั้งประธานาธิบดีและรัฐมนตรีคิดตรงกันว่า เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำถึงที่สุดแล้วก็จะค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมาใหม่เอง
ฮูเวอร์และผู้คนในรัฐบาลจึงมองข้ามเกษตรกร และนำเงินภาษีที่เก็บได้ไปช่วยภาคธุรกิจเพื่อฟื้นฟูกิจการและขยายกำลังในการผลิต
หลังจากได้เงินช่วยจากรัฐบาลแล้ว นักธุรกิจก็ไม่กล้าผลิต เพราะไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน
2
ฮูเวอร์เองก็ขอร้องให้นักธุรกิจตรึงราคาสินค้า โดยเสนอว่าจะลดภาษีและดอกเบี้ยให้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้พวกลูกจ้างขึ้นค่าแรง
คนจนชาวอเมริกันสมัยนั้นไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็ต้องหาอาหารชั้นเลว จำนวนไม่น้อยต้องไปเข้าแถวรอรับอาหารจากองค์กรการกุศล บางครอบครัวต้องไปคุ้ยกองขยะเพื่อหาเศษอาหารมากิน
2
คนส่วนใหญ่อยู่กันตามเพิงแถวที่ทิ้งขยะและสวนสาธารณะ ที่ซุกหัวนอนก็ทำจากวัสดุที่หาได้ตามมีตามเกิด มีชุมชนแออัดเกิดขึ้นมากมาย
2
คนอเมริกันเรียกชื่อชุมชนเหล่านี้ตามชื่อประธานาธิบดีว่าฮูเวอร์วิลล์
ประธานาธิบดีฮูเวอร์ยังออกมาพูดให้กำลังใจประชาชนอยู่เสมอว่า...
‘ความมั่งคั่งอยู่แค่เอื้อม ขอให้อดทน’.
โฆษณา