11 เม.ย. เวลา 07:30 • ไอที & แก็ดเจ็ต

Made in USA ทำไมการผลิต iPhone ในอเมริกาถึงเป็นฝันที่แพงเกินจริงของทรัมป์ ?

  • iPhone “Made in USA” ทำไมเป็นไปไม่ได้?
สำหรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ การมี iPhone ที่ผลิตในประเทศนับเป็นหนึ่งในชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จของนโยบายภาษีและคำมั่นสัญญาที่จะนำการผลิตกลับคืนสู่สหรัฐอเมริกา ตามเป้าหมายสนับสนุนกระบวนการการผลิตภายในประเทศ
ล่าสุด แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ทรัมป์ต้องการให้ Apple เริ่มผลิต iPhone ในสหรัฐฯ ฝ่ายบริหารของทรัมป์มองว่าเป้าหมายนี้สามารถบรรลุได้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลเตรียมเก็บภาษีนำเข้าจากจีนที่ปรับสูงขึ้นถึง 145% ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตหลักของ Apple ในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวยังอ้างว่า Apple ได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุนในสหรัฐฯ ถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสี่ปีข้างหน้า ทว่าความจริงแล้ว เงินลงทุนดังกล่าวคือเงินที่ใช้สำหรับการพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ที่ปรับแต่งด้วย AI ในโรงงาน ค่าใช้จ่ายในการสร้างศูนย์ข้อมูลของตนเอง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับ AI
  • รกรากการผลิต iPhone ฝังรากลึกในเอเชีย
ประเด็นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แม้จะมีแรงผลักดันจากภาษีและนโยบายชาตินิยม แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องว่า การผลิต iPhone ทั้งหมดในสหรัฐฯ นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุผลหลักๆ ได้แก่ ขาดโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีทักษะเฉพาะ และระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ในเอเชีย
อดีตวิศวกรของ Apple อย่าง Matthew Moore กล่าวว่า แม้กระบวนการคิดค้นนวัตกรรมจะยังเกิดขึ้นในห้องทดลองที่ซิลิคอนแวลลีย์ แต่หัวใจของการผลิตอยู่ในเอเชียเกือบทั้งหมด ระบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่สะท้อนการวางรากฐาน การลงทุน และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนานหลายทศวรรษ ซึ่งการจะสร้างระบบแบบเดียวกันขึ้นใหม่ในประเทศเดียวอาจต้องใช้เวลานานเป็น "สิบปี"
iPhone คือผลลัพธ์ของเครือข่ายซัพพลายเชนระดับโลก แม้การออกแบบจะเริ่มต้นจากแคลิฟอร์เนีย แต่แทบทุกชิ้นส่วนกลับมาจากทั่วโลก และเกือบทั้งหมดถูกส่งไปประกอบในจีน การเปลี่ยนแปลงฐานผลิตและปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานมีค่าใช้จ่ายสูงมากและต้องใช้เวลานาน
  • ผลกระทบคนอเมริกันอาจต้องซื้อ iPhone เครื่องละแสน
ภายใต้แผนภาษีนำเข้าที่สูงลิ่ว หาก Apple ถูกบังคับให้ผลิต iPhone ภายในสหรัฐฯ ผลที่ตามมาคือราคาขายที่สูงลิ่ว
Dan Ives นักวิเคราะห์จาก Wedbush Securities ประเมินว่า ภายใต้แผนการใช้ภาษีศุลกากรที่สูงมากเพื่อพยายามบังคับให้บริษัทต่างๆ ย้ายการผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ iPhone หนึ่งเครื่องอาจมีราคาพุ่งขึ้นไปแตะ 3,500 ดอลลาร์ (ราว 110,000 บาท) จากปัจจุบันที่อยู่ราว 1,000 ดอลลาร์ (ราว 34,000 บาท)
Gil Luria จาก D.A. Davidson มองว่า หาก Apple จะย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังสหรัฐฯ ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี และแม้จะสำเร็จ ก็อาจลดช่องว่างด้านต้นทุนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะช่องว่างที่แท้จริงอยู่ที่ “ทักษะ” ไม่ใช่แค่ “ค่าแรง”
ขณะที่ Laura Martin จาก Needham ชี้ว่า ต้นทุนของ Apple จะพุ่งสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ และหาก Apple ส่งต่อภาระนี้ให้กับผู้บริโภค อาจกลายเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ให้สูงขึ้นอีก
  • ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อ Made in USA
ข้อมูลจาก TechInsights และ iFixit ยังระบุว่า Apple มีเครือข่ายซัพพลายเออร์กว่า 200 ราย ในกว่า 40 ประเทศ โดยชิ้นส่วนสำคัญเกือบ 90% ถูกนำมาประกอบในจีน
โดยมีการคำนวณต้นทุนฮาร์ดแวร์ภายในทั้งหมดเพื่อให้เห็นต้นทุนการผลิต iPhone หนึ่งเครื่อง หรือที่เรียกว่า bill of materials ของ iPhone 16 Pro รุ่นความจุ 256GB ที่มีราคาขายหน้าร้านอยู่ที่ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะอยู่ที่ประมาณ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังไม่รวมค่าแรงในการประกอบและทดสอบเครื่อง
- Processor A18 Pro ชิปเซ็ทจากไต้หวัน: 90.85 ดอลลาร์สหรัฐ
- Display หน้าจอจากเกาหลีใต้: 37.97 ดอลลาร์สหรัฐ
- Battery แบตเตอรี่จากจีน: 4.10 ดอลลาร์สหรัฐ
- 5G Cellular Modem โมเด็มจากเกาหลีใต้: 26.62 ดอลลาร์สหรัฐ
- Memory (8GB) หน่วยความจำจากสหรัฐฯ: 21.80 ดอลลาร์สหรัฐ
- Storage (256GB) หน่วยเก็บข้อมูลจากญี่ปุ่น: 20.59 ดอลลาร์สหรัฐ
- Rear Camera ชุดกล้องหลังจากญี่ปุ่น: 126.95 ดอลลาร์สหรัฐ
- Main Enclosure โครงเครื่องหลักจากจีน: 20.79 ดอลลาร์สหรัฐ
- All Other Components ชิ้นส่วนอื่นๆ จากหลายแหล่งที่มา: 200.06 ดอลลาร์สหรัฐ
หากเปลี่ยนมาประกอบในสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว จะเพิ่มต้นทุนแรงงานอีก 30-100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเครื่อง และถ้าต้องจัดหาชิ้นส่วนทั้งหมดจากในประเทศ ราคาสุดท้ายอาจพุ่งขึ้นไปอีกราว 100 ดอลลาร์สหรัฐ
และเมื่อเรารวมอัตราภาษีใหม่จากสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 145% (ราว 1,350 ดอลลาร์สหรัฐ) รวมแล้วต้นทุนหลังภาษีของ iPhone 16 Pro ในปัจจุบันอาจพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1,800–2,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่านั้น ซึ่งจะกระทบต่ออัตรากำไรที่ Apple รักษาไว้อย่างเข้มงวดแน่นอน
  • แรงงาน ทักษะ ระบบอัตโนมัติ และความเป็นไปได้ที่ยังห่างไกล
ประเด็นที่หลายคนมองข้าม คือ ทักษะแรงงานในสหรัฐฯ ที่ยังไม่เพียงพอสำหรับการผลิตอุปกรณ์ซับซ้อนอย่าง iPhone อุปสรรคสำคัญ คือ สหรัฐฯ ขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรมที่จำเป็นต่อการเดินสายการผลิต และไม่มีบุคลากรเพียงพอในการควบคุมโรงงาน
Tim Cook ซีอีโอของ Apple เคยอธิบายไว้ชัดเจนในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Fortune ในปี 2017 ว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องค่าแรงอีกต่อไป เพราะจีนเองก็ไม่ใช่ประเทศค่าแรงถูกอีกแล้ว แต่สิ่งที่จีนมีคือ “แรงงานที่มีทักษะจำนวนมหาศาล” ซึ่งไม่มีในอเมริกา “ในจีน ถ้าคุณต้องการช่างเทคนิคด้านเครื่องมือผลิตจำนวนมาก คุณสามารถหาคนมากพอที่จะเติมเต็มสนามฟุตบอลหลายแห่งได้ แต่ในอเมริกา อาจหาได้ไม่ครบห้องประชุมด้วยซ้ำ” เขากล่าว
นอกจากนี้ในประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ แรงงานในสหรัฐฯ มีต้นทุนสูงกว่าประเทศอย่างจีนหรือเวียดนามหลายเท่า คนงานในโรงงานอเมริกันอาจมีค่าแรงสูงกว่าคู่แข่งในเซินเจิ้นถึง 5-10 เท่า
และแม้จะมีแนวคิดให้ใช้ระบบอัตโนมัติหรือใช้หุ่นยนต์ในการผลิต แต่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นเพียง “ทางเลือกในอุดมคติ” เพราะ iPhone มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์บ่อยครั้ง ระบบอัตโนมัติจึงต้องรื้อแล้วสร้างใหม่อยู่เสมอ และสุดท้ายยังต้องพึ่งพาความแม่นยำขั้นสูงจากแรงงานมนุษย์
อีกทั้งการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ก็ต้องลงทุนในเครื่องมือราคาสูงและใช้เวลาหลายปีในการออกแบบระบบใหม่แม้จีนจะเข้าถึงระบบอัตโนมัติที่ถูกกว่า บางครั้งยังไม่สามารถดำเนินการได้ในระดับที่เพียงพอ ดังนั้นความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของระบบอัตโนมัติจึงไม่ใช่คำตอบ
  • เมื่อการผลิต iPhone ต้องใช้ทรัพยากรทั้งเมือง
Matthew Moore ยังเปรียบเปรยว่า โรงงาน Foxconn ในเมืองเจิ้งโจว หรือที่เรียกกันว่า “iPhone City” ซึ่งเป็นโรงงานผลิต iPhone ขนาดใหญ่ที่สุดของ Apple ซึ่งเรียกว่า FATP (Final Assembly, Test and Pack-out) เป็นเสมือนเมืองขนาดย่อม มีพนักงานหลายแสนคน โรงเรียน โรงพยาบาล และหอพักพร้อมสรรพ หากจะเปรียบเทียบให้ชัด อาจต้องให้ทั้งเมืองบอสตันหยุดทำทุกอย่าง แล้วมาช่วยกันประกอบ iPhone จึงจะเพียงพอ
เขากล่าวว่า จีนไม่ได้ได้เปรียบแค่ต้นทุน แต่ยังรวมถึง “ขนาด” และ “ความเร็ว” ที่สามารถเร่งการผลิตได้อย่างรวดเร็วในช่วงเปิดตัวสินค้าใหม่ได้ทันที ไม่มีประเทศใด รวมถึงสหรัฐฯ ที่สามารถเลียนแบบความคล่องตัวระดับนี้ได้ในเวลาสั้นๆ
  • อินเดีย คือ ทางออกเฉพาะหน้า?
แม้การผลิต iPhone 100% ในสหรัฐฯ จะไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้เลยเสียทีเดียว แต่นั่นต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล ความร่วมมือเชิงนโยบายระดับชาติเชิงลึก และเวลาอีกหลายปี และถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จ Apple อาจต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการผลิตที่ช้าลง และการขยายกำลังการผลิตที่ยากขึ้น
ปัจจุบัน Apple ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนอินเดียให้กลายเป็นฐานผลิตหลักสำหรับ iPhone รุ่นที่จำหน่ายในสหรัฐฯ เพื่อชดเชยภาษีนำเข้าของอินเดียที่ต่ำกว่าจีนเกือบ 5 เท่า
โดยปัจจุบัน Apple กำลังก่อสร้างโรงงานผลิต iPhone ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และลดการพึ่งพาจีนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย iPhone ที่ผลิตในจีนลดลงเหลือน้อยกว่า 90% แล้ว ขณะที่อินเดียถูกดันขึ้นมาเป็นฐานผลิตสำคัญ โดยสามารถประกอบ iPhone ได้ถึง 35 ล้านเครื่องต่อปี ซึ่งเพียงพอสำหรับตลาดสหรัฐฯ ในระยะสั้น
ส่วนโรงงานในประเทศอื่นๆ อย่างไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มุ่งเน้นการผลิตอุปกรณ์เสริม เช่น Mac, AirPods, Apple Watch และ iPad สำหรับบราซิล Apple มีสายการผลิต iPhone ขนาดเล็กที่เน้นรุ่นเก่า และปริมาณจำกัด
ความท้าทายที่แท้จริงอาจไม่ใช่แค่คำถามว่า “จะผลิต iPhone ที่ไหน” แต่คือ “โลกจะปรับตัวอย่างไรกับอนาคตของห่วงโซ่อุปทานที่ท้องถิ่นมากขึ้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นหลังจากนี้ เมื่อภาษีของใครบางคน กลายเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจทั้งโลก คำตอบนั้นย่อมแลกมาด้วยต้นทุนที่ไม่มีใครเลี่ยงได้
อ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg , WSJ , CNET , MarketWatch , CNBC
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -
โฆษณา