Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SCB Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
11 เม.ย. เวลา 14:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป Live งานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “Trump Tariff กับบริบท เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก” จัดโดย SCB WEALTH
💟 ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค SCBEIC
- การประกาศขึ้นกำแพงภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐฯ กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก
- SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการ GDP โลก ปีนี้เหลือเติบโต 2.2% จากเดือน มี.ค.ที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโต 2.4% ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโต 1.3% ลดลงจากเดือน มี.ค. ที่คาดการณ์ไว้ 1.9%
- สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ SCB EIC อยู่ระหว่างการปรับประมาณการใหม่ โดยเดิมคาดว่าจะเติบโต 2.4% ประเมินเบื้องต้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตลดลงเหลือราว 1.4-1.5% เพราะนอกจากถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำกับทุกประเทศ 10% แล้ว ไทยยังจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กับประเทศที่มีความไม่เป็นธรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มอีก
- เพดานภาษีที่สหรัฐฯ จะเก็บไทยสูงสุด อยู่ที่ 36% สูงกว่าค่าเฉลี่ยการถูกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มของทั้งโลก อยู่ที่ 16% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน อยู่ที่ 33%
- SCB EIC คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้ ไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี จากเดิมที่มองลดดอกเบี้ยอีกแค่ 2 ครั้ง ตามทิศทางเศรษฐกิจไทยที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น
- เราอยู่ในเกมที่ทุกประเทศถูกเก็บภาษีไม่เท่ากัน โดยที่ประเทศอื่นส่วนใหญ่ถูกเก็บภาษีน้อยกว่าเรา ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับสินค้าประเทศอื่นที่ถูกกว่า
- ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การกระจายตลาดส่งออก การบริหารความเสี่ยงเพื่อรับมือความไม่แน่นอน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
- ภาครัฐ มีความสำคัญในด้านการเจรจาการค้า เตรียมแผนลดผลกระทบภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในระยะสั้น และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
💟 คุณวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส SCB Financial Markets ธนาคารไทยพาณิชย์
- หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษี เงินดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้แข็งค่าอย่างที่เคยคาดไว้ แต่ค่าเงินกลับอ่อนลง
- สกุลเงินหลักอื่น ๆ ในโลก เช่น เงินยูโร เงินเยน และเงินฟรังก์สวิส แข็งค่าขึ้น เนื่องจากรับหน้าที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย (Safe haven currency) ส่วนสกุลเงินในเอเชียอ่อนค่าลง จากการที่นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น
1
- ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไทยเผชิญผลกระทบ 2 เรื่องซ้อนกัน คือผลกระทบจากแผ่นดินไหว และผลกระทบจากการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ อีกทั้ง ไทยพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ และจีนสูง นักลงทุนจึงสูญเสียความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก
- ในระยะสั้น คาดว่า ค่าเงินบาท อาจจะอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่ยอมให้เงินอ่อนค่าเพื่อรองรับผลกระทบจากกำแพงภาษีของทรัมป์ และเงินบาทอาจอ่อนค่าตามแนวโน้มเงินหยวน
- ในระยะกลางถึงยาว แนวโน้มเงินบาทจะขึ้นอยู่กับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยในกรณีที่ไทยไม่สามารถตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อให้ลดภาษีลงได้ภายใน ก.ค. อาจทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ในช่วงครึ่งปีหลัง กดดันบาทอ่อนค่าเร็วต่อได้ในกรอบ 35.50-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าไทยสามารถเจรจาได้ และสหรัฐฯ ยอมลดภาษีลงบางส่วน ทั้งต่อไทยและประเทศอื่น ๆ ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั่วโลกไม่รุนแรง ก็อาจทำให้เงินบาททรงตัวหรือกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลังในกรอบ 34.00-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
💟 คุณสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด
- ถ้านับตั้งแต่ต้นปี 2568 ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ให้ผลตอบแทนต่ำสุดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ถ้านับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีศุลกากร ตลาดหุ้นไทย ปรับลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค
- คาดว่า ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบทางตรงไม่มาก โดยหากรายได้จากสหรัฐฯ ลดลง 10% จะกระทบกำไรบริษัทจดทะเบียน 2% แต่หากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ก็สามารถชดเชยผลกระทบนี้ได้แล้ว
- ส่วนที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมาก คือ ผลกระทบทางอ้อมที่มาจากเศรษฐกิจ โดยหาก GDP ของไทยลดลง 0.5% จะทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง 6% หาก GDP ไทย ลดลง 3% จะทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนลดลงเกือบ 30% จึงต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจว่าได้รับผลกระทบมากน้อยอย่างไร
- การลงทุนในตลาดหุ้นไทยเวลานี้ ควรเน้นคัดเลือกหุ้นของบริษัทที่เน้นตลาดในประเทศมากๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากความต้องการในประเทศ และราคาพลังงานที่ลดลง
💟 คุณเกษรี อายุตตะกะ ผู้อำนวยการ Investment Research SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์
- SCB CIO ประเมินผลกระทบจากภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ เป็น 2 กรณี โดยกรณีแรก Base case มีความเป็นไปได้ 80% ประเทศต่างๆ จะเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้ โดยใช้เวลาไม่นานนัก ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นชั่วคราว ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น
- กรณีที่ 2 Worst case มีความเป็นไปได้เพียง 20% คือ การเจรจายืดเยื้อมากกว่า 6 เดือน มีการตอบโต้รุนแรงจากจีนและประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป รวมถึงประธานาธิบดีทรัมป์ อาจประกาศมาตรการทางภาษีใหม่ๆ ที่รุนแรงเพิ่มเติม จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) หรือเกิดภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นโลก เป็นขาลงในระยะยาว
- SCB CIO มองว่า มีโอกาสเกิดกรณี Base case มากกว่า จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงช่วงนี้ จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ส่งผลให้ความผันผวนปรับลดลง
- นักลงทุน ยังสามารถลงทุนในตราสารหนี้ ที่มีอายุเฉลี่ยระยะสั้นและระยะกลาง ลงทุนกองทุนผสมที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลปรับสัดส่วนการลงทุนให้ในพอร์ตหลัก และลงทุนทองคำ
💟 นายชาตรี โรจนอาภา หัวหน้าทีมที่ปรึกษาการลงทุน SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์
- ในภาวะที่ตลาดการเงินกำลังมีความผันผวนสูง นักลงทุนควรใจเย็น ติดตามสถานการณ์ก่อน
- กรณีความเป็นไปได้ของการเจรจาระหว่างทรัมป์ และประเทศต่างๆ ออกมาเป็น Base case ตามที่ SCB CIO ประเมิน นักลงทุนที่มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ ควรรอดูสถานการณ์ก่อน (Wait and See) เมื่อตลาดเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว อาจกลับเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ปรับลดลงไปมาก จากการได้รับผลกระทบด้านกำแพงภาษีของทรัมป์ เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ตลาดหุ้นเวียดนาม ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ และตลาดหุ้นไทย
- หากเหตุการณ์พัฒนาจนกลายเป็น Worst case ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อย แต่หากเกิดขึ้นจริง อาจจำเป็นต้องขายลดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวมในพอร์ตลงทุน
- นักลงทุนที่ยังไม่ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเลย สามารถทยอยลงทุนได้ หลังจากที่สถานการณ์เริ่มมีความชัดเจนแล้ว
1
- สินทรัพย์ที่เสี่ยงไม่สูงอย่าง ตราสารหนี้ สามารถลงทุนได้เลย เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ดังนั้น การลงทุนตราสารหนี้ในช่วงเวลานี้ จะช่วยให้ผู้ลงทุนยังมีโอกาสรับผลตอบแทนในระดับสูงอยู่ ก่อนที่ดอกเบี้ยจะปรับลดลง โดยอาจเลือกตราสารหนี้ระยะสั้นและกลางเป็นหลัก
- ทองคำ เป็นสินทรัพย์อีกประเภทที่น่าสนใจ เพราะธนาคารกลางประเทศต่างๆ มีแนวโน้มสะสมทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น โดยการปรับฐานของราคาทองคำในช่วงนี้ อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนทองคำในระยะยาว
รับชมวิดีโอตัวเต็มเสวนาออนไลน์หัวข้อ “Trump tariff กับบริบทเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก” ได้ที่ SCB WEALTH LINE Official Account (Add LINE : @scbwealth)
คำเตือน
• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
• สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777
16 บันทึก
32
1
17
16
32
1
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
โฆษณา
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย