14 เม.ย. เวลา 09:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“เสื้อลายดอก” ไอเทมสำคัญวันสงกรานต์ กำเนิดจากร้านตัดเสื้อญี่ปุ่นในฮาวาย?

เปิดทฤษฎีต้นกำเนิด “เสื้อลายดอก” ไอเทมยอดนิยมช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลมาจาก “เสื้อฮาวาย” ที่เป็นผลงานของ “ชาวญี่ปุ่น”
ภาพที่เราจะเห็นชินตาเป็นประจำทุกปีเมื่อเทศกาลสงกรานต์เวียนมาถึงคือ ผู้คนจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างพากันสวม “เสื้อลายดอก” ออกมาเล่นน้ำสนุกสนานตามสถานที่ต่าง ๆ
แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า เสื้อลายดอกที่ได้รับความนิยมในช่วงสงกรานต์และเทศกาลที่เกี่ยวกับความเป็นไทยนี้มีที่มาจากไหน บอกไปหลายคนอาจไม่เชื่อว่า การเดินทางของเสื้อลายดอกมีความซับซ้อนอย่างมาก ยิ่งกว่าลวดลายบนตัวเสื้อเสียอีก
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะเห็นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างพากันสวมเสื้อลายดอก
สิ่งหนึ่งที่หลายคนเห็นตรงกันคือ เสื้อลายดอกของไทยนั้น น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก “เสื้อฮาวาย” (Aloha Shirt) ของสหรัฐฯ แต่ที่หลายคนเห็นต่างคือ ต้นกำเนิดที่แท้จริงของเสื้อฮาวาย บ้างว่าเป็นผลงานของลูกหลานผู้อพยพชาวจีน บ้างว่าเป็นผลงานของชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในฮาวาย
ทฤษฎีที่เชื่อกันมากที่สุด
เรื่องราวของเสื้อฮาวายนั้นต้องย้อนไปในปี 1868 เมื่อผู้อพยพชาวญี่ปุ่นภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ได้เดินทางมาถึงหมู่เกาะฮาวาย พวกเขาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นแรงงานในไร่อ้อย
ในเวลานั้น เสื้อผ้าทำงานที่ชาวญี่ปุ่นสวมใส่มีลักษณะเป็นเสื้อคอเปิดที่เรียกว่า “ปาลากา” (Palaka) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเสื้อแจ็กเก็ตแขนยาวที่กะลาสีเรือชาวยุโรปสวมใส่
เสื้อเชิ้ตเหล่านี้ทำจากผ้าฝ้าย มักมีลายตารางสีน้ำเงิน และได้รับความนิยมในหมู่ผู้อพยพชาวญี่ปุ่น เนื่องมาจากมีความคล้ายคลึงกับผ้าลายคาซูริ (Kasuri) ที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกันดี
เมื่อกิโมโนและยูกาตะที่ผู้อพยพนำมาจากญี่ปุ่นเริ่มเก่าลง พวกเขาจะใช้เศษผ้ามาทำเสื้อทรงแบบปาลากาให้ลูก ๆ ใส่ แต่ด้วยสีสันและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าญี่ปุ่นดูสดใหม่มากสำหรับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว จนเริ่มได้รับความนิยมในหมู่ชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นบนเกาะฮาวาย
นั่นทำให้ในตั้งแต่ปี 1900 มีร้านช่างตัดเสื้อและร้านกิโมโนจำนวนมากเปิดดำเนินการในโฮโนลูลู
หนึ่งในนั้นคือร้านตัดเสื้อที่ชื่อว่า “มุซาชิยะ” (Musashiya) โดยช่างที่ชื่อว่า มิยาโมโตะ โชทาโร คาดว่าชื่อร้านนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อของ มิยาโมโตะ มุซาชิ นักดาบชื่อดัง เนื่องจากมีนามสกุลเดียวกันนั่นเอง
เมื่อโชทาโรเสียชีวิตในปี 1915 ลูกชายคนโตของเขา มิยาโมโตะ โคอิจิโร ได้เข้ามาบริหารร้านต่อ และเปลี่ยนชื่อเป็น มุซาชิยะโชเท็น (Musashiya Shoten)
มิยาโมโตะ โคอิจิโร ผู้บัญญัติคำว่า Aloha Shirt เป็นคนแรก
โคอิจิโรคิดที่จะขยายกิจการร้าน จึงสั่งซื้อผ้าจากบริษัทสิ่งทอรายใหญ่ในอังกฤษ แต่เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ผ้าที่เขาสั่งมาไม่ถึงเสียที เขาจึงต้องสั่งซื้อหลายออเดอร์
ปรากฏว่าหลังจากนั้น ผ้าที่เขาออเดอร์ซ้ำไปหลายรอบดันมาถึงในเวลาเดียวกัน ทำให้เขาตัดเสื้อออกมาได้เป็นปริมาณมหาศาล แต่กลัวว่าจะขายไม่ออก จึงพยายามคิดว่าวิธีว่า ทำอย่างไรจึงจะมีคนมาซื้อเยอะ ๆ
โคอิจิโรจึงไปที่สำนักงานของหนังสือพิมพ์ Honolulu Advertiser เพื่อลงโฆษณาฉบับวันที่ 28 มิ.ย. 1935 โดยใช้สโลแกนว่า “Aloha Shirts -- Beautifully made, beautifully designed, bright colors. Ready-made and made to order...from 95 cents.” หรือแปลไทยได้ว่า เสื้อเชิ้ตฮาวาย -- ผลิตอย่างสวยงาม ออกแบบอย่างสวยงาม สีสันสดใส มีทั้งสำเร็จรูปและสั่งทำ เริ่มต้นที่ 95 เซ็นต์เท่านั้น”
นอกจากนี้เขายังตั้งชื่อเล่นร้านของตัวเองว่า “Musashiya the Shirtmaker” เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจง่ายด้วย
โคอิจิโรตั้งชื่อเล่นร้านของตัวเองว่า “Musashiya the Shirtmaker”
วันดังกล่าวจึงถือเป็นครั้งแรกที่คำว่า “Aloha Shirt” ถือกำเนิดขึ้นแบบเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ
โดยคำว่า “อะโลฮ่า” นั้นเป็นคำภาษาฮาวายที่แปลว่า “ความรัก” หรือ “ความเสน่หา” มักเมื่อเป็นคำทักทายเมื่อผู้คนพบกัน พวกเขาจะยกมือข้างหนึ่งขึ้นและพูดว่า “อะโลฮ่า!”
การใช้ชื่อว่า Aloha Shirt ทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในฮาวาย “เก็ต” อย่างมาก จนเกิดคำสั่งซื้อเข้ามามหาศาล
นี่คือต้นกำเนิดของเสื้อฮาวายหรือเสื้อลายดอกที่หลายคนเชื่อถือกันมากที่สุด
เสื้อฮาวายได้รับความนิยมไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว
แฟชั่นทรงอิทธิพล
ในตอนแรก เสื้อฮาวายเน้นลวดลายสไตล์ญี่ปุ่น แต่ต่อมาได้มีการเพิ่มลวดลายในธีมทรอปิคัลเขตร้อนเข้ามาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม เช่น ลายดอกไม้ พวงมัย อูคูเลเล ชายหาด พระอาทิตย์ ฯลฯ
นอกจากนี้ เมื่อเส้นทางเดินเรือระหว่างซานฟรานซิสโกและโฮโนลูลูเปิดขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเริ่มเดินทางมาเยือนฮาวายจากแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ “เสื้อฮาวาย” จึงกลายเป็นของที่ระลึกยอดนิยมในเวลาอันรวดเร็ว
ด้วยความเจริญรุ่งเรืองของเสื้อฮาวายในสหรัฐฯ ผู้ผลิตในแผ่นดินใหญ่จึงเริ่มผลิตเสื้อฮาวายออกมาแข่งกัน แต่หลายคนยังคงต้องการเสื้อฮาวายต้นตำรับที่มาจากฮาวาย เกิดคำสั่งซื้อจำนวนมากทั้งสหรัฐฯ ไปจนถึงแอฟริกาใต้และอาร์เจนตินา
ความนิยมของเสื้อฮาวายยังเป็นที่นิยมในหมู่ทหารอเมริกัน แม้แต่การทิ้งระเบิดที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ซึ่งการนำเข้าผ้า การส่งออกเสื้อผ้า และการท่องเที่ยวหยุดชะงักจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ไม่สามารถขจัดความน่าดึงดูดใจของเสื้อฮาวายได้
ทหารอเมริกันจำนวนมากนำเสื้อฮาวายที่มีลวดลายสดใสกลับมาเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ
ในปี 1947 รัฐบาลโฮโนลูลูได้ออกนโยบายสนับสนุนให้เสื้อฮาวายมีสถานะเป็นเสื้อทางการ ซึ่งข้าราชการสามารถเลือกสวมเพื่อคลายร้อนในช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค. ได้ ทำให้เครื่องแต่งกายทางการช่วงหน้าร้อนแบบเดิม ๆ คือ เสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสีขาว และแจ็กเก็ตสีขาว ถูกแทนที่ด้วยเสื้อฮาวาย
ในช่วงทศวรรษปี 1950 แฟชั่นเสื้อฮาวายได้รับความนิยมสุงสุดในสหรัฐฯ โดยหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นคือ “ดยุก คาฮานาโมกู” นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งมีเชื้อสายชนพื้นเมืองฮาวายพื้นเมือง ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตการท่องเที่ยวของฮาวาย และเขาได้ใส่เสื้อฮาวายตระเวนไปตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วสหรัฐฯ
นอกจากนี้ เสื้อฮาวายยังได้โลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด เช่น ในภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์เรื่อง From Here to Eternity (1953) หรือเสื้อฮาวาย “Tiare Tapa” ที่ร็อกสตาร์ตลอดกาล เอลวิส เพรสลีย์ สวมในภาพยนตร์เรื่อง Blue Hawaii (1961) และสวมถ่ายปกอัลบั้มที่ใช้ชื่อเดียวกัน ก็ทำให้เสื้อฮาวายเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลก
คนดังคนอื่น ๆ อีกไม่น้อยที่ชอบซื้อและสวมเสื้อฮาวาย เช่น เชอร์ลีย์ เทมเพิล, จอห์น แบร์รีมอร์ หรือ บิง ครอสบี
ยังไม่นับว่า แม้แต่ประธานาธิบดี แฮร์รี ทรูแมน และดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เองยังเคยสวมเสื้อฮาวายปรากฏตัวต่อสาธารณชนด้วย
การที่บุคคลซึ่งมีชื่อเสียงและอิทธิพลเหล่านี้สวมใส่เสื้อฮาวายทำให้ความนิยมของเสื้อฮาวายมีแต่พุ่งขึ้นไม่มีตก
เอลวิส เพรสลีย์ สวมเสื้อฮาวายในภาพยนตร์ Blue Hawaii (1961) และใส่ถ่ายปกอัลบั้ม Blue Hawaii
อีกทฤษฎีที่ปัดตกไม่ได้
เรื่องราวเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของเสื้อฮาวายที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดนอกจากเส้นเรื่องของมุซาชิยะ คือเรื่องราวของครอบครัว ชุน (Chun) และร้าน King-Smith Clothiers
เอลเลอรี ชุน ลูกชายของผู้อพยพชาวจีน ได้เดินทางกลับมาฮาวายหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยลในปี 1931 เพื่อบริหารร้านขายของแห้งของครอบครัวในโฮโนลูลู
เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า มีอยู่วันหนึ่ง เขาเห็นวัยรุ่นญี่ปุ่นในฮาวายท้องถิ่นสวมเสื้อที่ทำจากผ้าเรยอน และเห็นเด็กชายฟิลิปปินส์ในท้องถิ่นสวมเสื้อบารองสีสันสดใส เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดที่ใส่สบายและมีสีสันสดใส
เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เอลเลอรีจึงเปลี่ยนชื่อร้านเป็น King-Smith Clothiers เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ไม่ใช่ชาวจีน และเริ่มขายเสื้อเชิ้ตที่ตัดเย็บจากผ้ากิโมโนญี่ปุ่นสีสดใส
เอลเลอรีบอกกับ Atlanta Journal and Constitution ในปี 1976 ว่า “ในสมัยนั้นไม่มีวัสดุฮาวายแท้ ผมจึงซื้อวัสดุกิโมโนญี่ปุ่นที่สวยหรูที่สุด ออกแบบเสื้อ และให้ช่างตัดเสื้อตัดเย็บเสื้อแขนสั้นสีสันสดใสหลายสิบตัว นำไปโชว์หน้าร้านพร้อมป้ายเขียนว่า ‘เสื้อฮาวาย’”
เขาบอกว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณปี 1932 หรือ 1933 ก่อนที่มุซาชิยะจะประกาศลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ เอลเลอรียังจดสิทธิบัตรคำว่า “เสื้อฮาวาย” ในปี 1937 ด้วย
ขณะเดียวกัน น้องสาวของเอลเลอรีเป็นหนึ่งในศิลปินสิ่งทอคนแรก ๆ ที่เป็นผู้บุกเบิกการออกแบบลวดลายของเสื้อฮาวาย โดยเธอได้นำภาพจำลองการล่องเรือครั้งแรกไปยังแผ่นดินใหญ่บนเรือชื่อ “Malolo” มาออกแบบเสื้อฮาวายลายทรอปิคอลตัวแรกของเธอ ขณะที่ภาพร่างปลาบินที่เธอเห็นจากเรือลำนี้กลายมาเป็นแพตเทิร์นของเสื้อฮาวายลายดั้งเดิมตัวหนึ่งที่ผลิตโดย King-Smith
King-Smith Clothiers เป็๋นอีกหนึ่งเจ้าที่อาจเป็นต้นกำเนิดของเสื้อฮาวาย
ซึมซับเข้ามาในไทยผ่านสงครามและป็อปคัลเจอร์
ทั้งนี้ นอกจากต้นกำเนิดของเสื้อฮาวายจะไม่ชัดเจนแล้ว แม้แต่ประเด็นที่ว่าเสื้อฮาวายเข้ามาในไทยและกลายเป็นเสื้อลายดอกได้อย่างไรนั้น ก็ไม่มีหลักฐานละเอียดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า เสื้อฮาวายอาจเข้ามาในไทยช่วงหลังปี 1960 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐฯ จึงเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยระหว่างปี 1961 ถึงราว ๆ ปี 1976
ซึ่งอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า เสื้อฮาวายได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ทหารอเมริกัน ประกอบกับช่วงนั้น สังคมไทยเองเริ่มรู้จัก เอลวิส เพรสลีย์ จึงคาดว่าคงได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอเมริกันเหล่านี้ แต่ด้วยความที่เสื้อฮาวายมักมีลวดลายส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ หรือพืชพรรณในเขตร้อน จึงอาจเกิดการเรียกกันเองว่าเป็น “เสื้อลายดอก”
ประกอบกับเสื้อฮาวายเป็นเสื้อที่สวมใส่สบาย โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน ซึ่งประเทศไทยมีเทศกาลใหญ่คือสงกรานต์พอดิบพอดี ทำให้ไม่น่าใช่เรื่องแปลกที่เสื้อลายดอกจะกลายมาเป็นหนึ่งในไอเทมหรือแฟชั่นสำคัญช่วงสงกรานต์จนถึงทุกวันนี้
ถามว่าสำคัญขนาดไหน? เสื้อลายดอกเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ร้านค้าทั่วประเทศไทยจะพากันอวดลวดลายเสื้อลายดอกของตัวเอง โดยในช่วงเวลาของความคึกคักนี้ บางร้านสามารถขายเสื้อลายดอกได้เป็นพันตัวต่อวันเลยทีเดียว
ประวัติ Musashiya ผู้ที่อาจให้กำเนิดเสื้อลายดอก
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/trick-trend/246577
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา