11 เม.ย. เวลา 10:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ขบวนการชอร์ตเซลมีอยู่จริง เบรกปุ๊บวอลลุ่มร่วงปั๊บ!!

หลังการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีผลในวันที่ 9 เม.ย. 68 ถูกเลื่อนออกไปอีก 90 วัน สำหรับ 75 ประเทศที่ไม่มีมาตรการตอบโต้ภาษีนำเข้าสินค้า (Tariff) ของสหรัฐ เว้นไว้แต่การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเป็น 125% ซึ่งได้ประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าจากอเมริกาเป็น 84% ไปก่อนหน้า
แม้จะเป็นการเลื่อนเวลาออกไปเพียงชั่วคราว แต่ก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกคลายความกังวล โดยส่งผลให้ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปรับขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยการปิดบวกไปถึง 2,962.86 จุด (7.87%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยก็ตอบรับด้วยการปรับบวกขึ้นไปเกือบ 60 จุด ด้วยเช่นกัน...
แต่ถึงจะไม่พูด ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหน้าไหน ต่างก็รับรู้ว่าก่อนที่ดัชนีหุ้นทั่วโลกจะปรับขึ้นแรงได้ขนาดนี้ ต่างได้รับแรงกดดันจนปรับตัวลงหนัก ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเองก็เจ็บหนักไม่แพ้กัน
โดยเฉพาะในวันอังคารที่ 8 เม.ย. ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ของตลาดหุ้นไทย ภายหลังรับรู้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ ดัชนีหุ้นไทยก็ปิดร่วงลงไปถึง 50.62 จุด หรือ 4.50% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 66,714.48 ล้านบาท ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องประกาศใช้มาตรการชั่วคราว 3 อย่างเพื่อช่วยลดปัญหาหุ้นตกจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งมาตรการที่ว่าประกอบไปด้วย
1. ปรับ Ceiling & Floor สำหรับทั้ง SET, mai และ TFEX เหลือ 15% จากเดิม 30% ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับราคาเสนอซื้อขายสูงสุด และต่ำสุด (Ceiling & Floor) สำหรับการซื้อขายในแต่ละวัน
2. ปรับกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ จากเดิม ±10% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น เป็น ±5% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น
3. ห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว ยกเว้น Market Maker สำหรับ SET, mai และ TFEX
ภายหลังสหรัฐ ประกาศเลื่อนเวลาในการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าออกไปอีก 90 วัน ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า มาตรการชั่วคราวเหล่านี้ สามารถช่วยให้ตลาดหุ้นไทยผ่านวิกฤติการณ์หุ้นร่วงหนักได้อย่างเฉียดฉิว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์ ดูเหมือนจะช่วยลดความผันผวนของตลาดหุ้นไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพุธที่ 9 เม.ย. ดัชนีหุ้นไทยยังได้สร้างปรากฏการณ์ปิดบวกเพิ่มขึ้นถึง 13.59 จุด หรือ 1.26% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 50,884.78 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปิดบวกสวนกระแสตลาดหุ้นทั่วโลกในขณะนั้น...
ที่น่าสนใจมาก คือ ในวันที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นเป็นบวกในช่วงเวลาที่ ตลท. “ห้ามขายชอร์ต” และยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เมื่อพบความผิดปกติในกรณีที่โบรกเกอร์รายใหญ่วอลลุ่มเยอะ มีธนาคารหนุนหลัง และผู้นำในการซื้อขายผ่านโรบอท
แต่เมื่อมีมาตรการ “การห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์” กลับทำให้มาร์เก็ตแชร์ หายไปกว่าครึ่ง...โดยเหลือเพียง 10% จากที่ยอดเดิมที่เคยสูงกว่า 20% ของปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยในแต่ละวัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีสถานการณ์อะไรมาร์เก็ตแชร์ ก็ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน ซึ่งอาจทำให้มองได้ว่าที่ผ่านมา บล.รายนี้ เป็นหนึ่งในขาใหญ่ที่มักใช้เกมการขายชอร์ตหุ้นมาตลอด...
อย่างไรก็ตาม มาตรการชั่วคราวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์” ทั้งที่เป็นของดีซึ่งเคยถูกเรียกร้องให้ยกเลิกมาตลอด ซึ่งในที่สุดก็ถูกพิสูจน์ว่าใช้งานได้จริง ก็ถือว่าเป็นมาตรการชั่วคราวที่มีอันจะต้องมาสิ้นสุดในวันที่ 11 เม.ย. ตามประกาศของ ตลท. !!!
เอาจริงๆ เจ๊เมาธ์ไม่ได้บอกว่า การที่ ตลท. เร่งรีบที่จะหยุดใช้มาตรการชั่วคราว โดยเฉพาะในส่วนของ “การห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์” จะเป็นการช่วยโบรกฯ ขาใหญ่รายใด หรือรายหนึ่งให้กลับมามีส่วนแบ่งทางการตลาดเท่าเดิมหรือไม่
แต่ในมุมมองเจ๊เมาธ์...เจ๊เองก็เชื่อว่า ไม่ว่าการเรียกร้องใดๆ ย่อมจะต้องมีเหตุผลรองรับสาเหตุของการเรียกร้องที่ว่านั้นอยู่เสมอ.
โฆษณา