Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Samart Aiyakorn
•
ติดตาม
11 เม.ย. เวลา 13:54 • ความคิดเห็น
วิธีป้องกันการถูก "ปฏิวัติสมอง"
วันนี้ช่วงบ่ายผมนั่งอบรมต่อใบขับขี่ผ่านออนไลน์ เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 15 นาที โดยต้องฟังทั้งหมด 1 ชั่วโมง ทางกรมการขนส่งมีกลยุทธ์ดีน่ะครับ คือ วีดีโอจะหยุดเองเป็นช่วง ประมาณ 3 นาที หยุดครั้งหนึ่ง เพื่อบังคับให้กดคลิกฟังต่อ ผมเข้าใจว่าป้องกันพวกที่เปิดทิ้งไว้แล้วไม่ฟัง ซึ่งตอนแรกผมก็กะว่าทำแบบนั้นแหละ ฮ่า ฮ่า
ผมรู้สึกว่าเวลาหนึ่งชั่วโมงมันนานมาก อาจเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ และปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาธิสั้นลง พอทำแบบทดสอบมันมีคำถามหนึ่งว่า สถิติประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุจำนวนกี่ครั้งต่อวัน ? ผมตอบแบบเดาสุ่มไปโดยไม่มีข้อมูลในหัว เพราะคงพลาดในช่วงที่พูดถึงประเด็นนี้ เพียงแต่โชคดีตอบถูกเลยรอดตัวไป
เฮ้อ !! ได้แต่คิดในใจขนาดเรายังสมาธิสั้น เด็กยุคใหม่เติบโตมาพร้อมกับสมาร์ทโฟน ไม่ต้องพูดถึง
อันเดอร์ซ ฮานเซน จิตแพทย์ชาวสวีเดน เขียนหนังสือ Smartphone Brain (Skärmhjärnan) อธิบายว่ามนุษย์ยุคใหม่ทุกเจเนอเรชั่นถูกสมาร์ทโฟน "ปฏิวัติสมอง" เรียบร้อย ซึ่งระยะเวลาแค่ 10 กว่าปีที่ผ่านมาสมาร์ทโฟนได้นำพาคนในยุคดิจิทัลเข้าไปสู่ภาวะสมาธิสั้น ความจำสั้น และภาวะอื่น ๆ อีกมากมาย
พฤติกรรมของคนยุคนี้ !!
สิ่งที่ทำตอนตื่นและก่อนนอน คือ การจับสมาร์ทโฟน ในหนึ่งวันเฉลี่ยจับมากกว่า 2,600 ครั้ง หรือทุก 10 นาที ทำให้เกิดสภาวะการพึ่งพาสมาร์ตโฟนมากเกินไป ซึ่งเกิดจากสารในสมองที่เรียกว่า "โดพามีน" หลั่งออกมาให้อยากทำสิ่งต่าง ๆ สังเกตว่าเราเข้ายูทูปตั้งใจดูคลิปนี้ พอเสร็จแล้วก็ดูคลิปอื่นต่อ รู้สึกตัวอีกทีผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว พฤติกรรมแบบนี้มันส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้น
ลองเช็คตัวเองง่าย ๆ ดู ว่า
ขับรถติดไฟแดง 2 นาที โดยไม่จับสมาร์ทโฟนมาดู
นั่งประชุม 1 ชม. โดยไม่จับสมาร์ทโฟนมาดู
นั่งฟังบรรยาย 1 ชม. โดยไม่จับสมาร์ทโฟนมาดู
นั่งกินข้าว 20 นาที โดยไม่จับสมาร์ทโฟนมาดู
นั่งอยู่บ้านเฉย ๆ 1 ชม. โดยไม่จับสมาร์ทโฟนมาดู
พูดคุยกับคนอื่น 10 นาที โดยไม่จับสมาร์ทโฟนมาดู
เดินออกกำลังกาย 30 นาที โดยไม่จับสมาร์ทโฟนมาดู
อ่านหนังสือเป็นเล่มหรืออ่านข้อความยาว ๆ ได้
อันนี้เป็นแบบทดสอบของผมเฉย ๆ ไม่ได้มีวิทยาศาสตร์อะไร ซึ่งความจริงแล้วผลเสียของการถูกปฏิวัติสมองมีมากกว่านั้น ทั้งแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า ความพึงพอใจในชีวิตลดลง ไอคิวลดลง การปฏิสัมพันธ์แย่ลง เข้าใจคนอื่นน้อยลง หลับยากขึ้น และสุขภาพกายแย่ลง ดังนั้นเขาจึงเสนอวิธีการป้องกันแบบง่าย ๆ คือ
- ปิดสมาร์ทโฟนและการแจ้งเตือนอย่างน้อย 2 ชม. ต่อวัน
- เวลาทำงานที่ต้องใช้สมาธิให้เก็บสมาร์ทโฟนไว้ห่าง ๆ
- กำหนดเวลาในการเช็คสมาร์ทโฟน 2-3 นาที ต่อชั่วโมง
- ตอนพบปะพูดคุยกับคนอื่นให้ปิดแสงสมาร์ทโฟนแล้ววางห่างจากตัว
- ต้องให้ความสนใจกับคนที่ปฏิสัมพันธ์ด้วย
- กำหนดเวลาเล่นหน้าจอ หากิจกรรมอย่างอื่นทำ
- ไม่วางมาร์ทโฟนในห้องนอน
- ออกกำลังกายทุกวัน
- ในโซเชียลมีเดียติดตามเฉพาะคนที่ทัศนคติดี (เช่น ผม เป็นต้น) พวกทัศนคติลบ อย่าไปตามมัน เครียดเปล่า ๆ
ทั้งหมดเป็นข้อเสนอแนะโดยสรุปจาก อันเดอร์ซ ฮานเซน หากคิดว่ามีประโยชน์ก็ลองนำไปปฏิบัติกันดู
แต่ข้อเสนอแนะของผมสำหรับป้องกันการถูกปฏิวัติสมองมีอยู่ข้อเดียว คือ ติดตามอ่านงานผม ครับ !!
เพราะเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ดีใจด้วยน่ะครับ คุณยังมีสมาธิไม่สั้นมาก สามารถอ่านข้อความยาว ๆ ได้ !!
ต้องอ่านงานผมบ่อย ๆ ถ้าไม่อยากถูกปฏิวัติสมอง ลองดู !!
#สามารถบันทึก
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย