Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
12 เม.ย. เวลา 04:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กระอัก! ภาษีทรัมป์ SME-สุขภาพและความงาม-อาหาร กระทบหนัก จี้รัฐคลอดมาตรการอุ้ม
ผวาภาษีใหม่ “ทรัมป์” กระทบหนัก “SME - สินค้าสุขภาพและความงาม-อาหาร” สสว.ชี้ส่งออกเอสเอ็มอีไทยส่อวูบ 3.83 หมื่นล้าน ลามถึงยาฉีด ถุงมือยาง เครื่องสำอาง แชมพู แนะออกมาตรการป้องกันโรงงานยาไทย หวั่นยาอเมริกาทะลักแย่งตลาด ขณะที่กลุ่มอาหารปาดเหงื่อ สู้ศึก 2 ด้านทั้งสหรัฐฯและจีน
การประกาศนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยการจัดเก็บภาษีไทยสูงถึง 36% ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ 15 สินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา อาทิ โทรศัพท์มือถือ/สมาร์ทโฟน, เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, ยางรถยนต์,อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ฯลฯ
ซึ่งทั้ง 15 รายการดังกล่าวมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 32,012 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกทั้งหมด 54,766 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่นับรวมการส่งออกอื่นๆต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้ภาคเอกชนต่างจับตามองถึงมาตรการเร่งด่วนที่จะเกิดขึ้นจากภาครัฐ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลกระทบรุนแรงจากมาตรการดังกล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ในปี 2567 การส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 20% ของการส่งออกทั้งหมดของเอสเอ็มอีไทย
ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีไทยมีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 2,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 5,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกของเอสเอ็มอีไทยไปสหรัฐฯ ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และพลาสติก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 75% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ทั้งนี้สสว. ประเมินผลกระทบ GDP SME ในปี 2568 โดยคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปยังสหรัฐฯจะลดลงถึง 1,128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.83 หมื่นล้านบาท และอาจส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเอสเอ็มอี (GDP SME) ในปี 2568 ลดลง 0.2% จากที่ สสว. เคยประมาณการการขยายตัวไว้ที่ 3.5%
“จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่ามี 12 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ที่เอสเอ็มอีไทยพึ่งพิงการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในระดับสูง เกิน 10% ของตลาดส่งออกหลัก และมีมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 3,700 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 5,018.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่เป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ทั้งผู้ส่งออกโดยตรงและผู้ผลิตป้อนรายใหญ่อีกด้วย”
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์เร่งด่วนในการรับมือสงครามการค้าโลกที่กำลังเดือดระอุ “นายแสงชัย” กล่าวว่า ขณะนี้ต้องเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการนำหลักการ ESG (Environment, Social, Governance) มาบูรณาการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างนวัตกรรมและเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประเทศในระยะยาว โดยมี 3 เสาหลักสำคัญ ได้แก่
E (Education) ยกระดับการศึกษาทุกภาคส่วนให้ตอบโจทย์ยุคสมัย สร้าง “กำลังคนสมรรถนะสูงของโลก” ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่ม S (Sustainability) เปลี่ยนผ่านประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม และดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ G (Glocalization) ปรับธุรกิจเอสเอ็มอีสู่เวทีการค้าโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนด้านการเงิน การพัฒนามาตรฐานสากล การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา และการแสวงหาตลาดใหม่ รวมถึงการเจรจาการค้าที่เป็นธรรม
“โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ประเทศไทยก็เช่นกัน หากไม่เร่งปรับตัว อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการ “ปกป้องอธิปไตยทางเศรษฐกิจไทย” ไม่ให้ถูกรุกรานจากทุนสีเทาและทุนต่างชาติ รวมถึงการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งคนไทยและนานาชาติ”
ด้านนายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และประธานคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม กล่าวว่า การประกาศอัตราภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ มีผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีใหม่ล้วนแล้วแต่มีทุนจีนเข้าไปลงทุนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทุกจีนบางกลุ่มใช้พื้นที่ฐานการผลิตสวมสิทธิ์เป็นสินค้าประเทศนั้นๆ ส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา ทำให้ยอดการส่งออกเป็นของจีนไม่ใช่ของประเทศต้นทางโดยตรง และอาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลการถูกขึ้นภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่น
ยกตัวอย่างกรณีกลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องมือแพทย์ ธุรกิจสุขภาพและความงาม ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปอเมริกาหลายอย่าง เช่น ยาฉีด ถุงมือยาง เครื่องสำอาง แชมพู ซึ่งส่งกระทบมากพอสมควร แม้ว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้แต่ก็ต้องจับตาดูการเจรจาของภาครัฐด้วยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
“สินค้าที่เรานำเข้าจากสหรัฐก็มีหลายอย่างไม่ต่างกัน บางอย่างเราเก็บภาษีเขาน้อยกว่าที่เขาเก็บเรา แต่บางอย่างเราก็เก็บภาษีเขาสูงมาก เช่น ยา หรือวัตถุดิบที่เรานำเข้ามาผลิตยาเอง โดยสิ่งที่เราทำคือการปกป้องธุรกิจโรงงานยาของไทย ไม่ให้ยาจากอเมริกาทะลักเข้าไทย และทำให้โรงงานของคนไทยที่สามารถผลิตยาไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ ยาดม ยาหม่องที่ส่งไปอเมริกา ตอนนี้ยังไม่ค่อยกระทบ แต่หากมองในภาพของภาคธุรกิจที่ว่ามา เรานำเข้ามากกว่าส่งออกและยังคงเสียดุลการค้าสหรัฐ”
ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่เป็นกังวลในระยะสั้นคือการส่งสินค้าจากไทยไปสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้ ผู้นำเข้าจากสหรัฐจะเจอกับสถานการณ์ภาษีและเกิดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับไทยโดยตรง ยกตังอย่าง เช่น ส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทยในสหรัฐที่สูงถึง 53.6% เป็นเบอร์ 1 จากส่วนแบ่งรวมจากทุกประเทศที่ส่งข้าวเข้าสหรัฐ รองลงมาจะเป็นอินเดีย จีน ปากีสถาน และเวียดนาม
“หากดูอัตราภาษีจากตลาดข้าวในสหรัฐทั้ง 5 ประเทศ หากมีสัดส่วนภาษีใกล้เคียงกันจะไม่เกิดผลดีหรือผลเสียแตกต่างกันมากนัก แต่อินเดียมีอัตราภาษีน้อยกว่าไทยประมาณ 10% ฉะนั้นจะกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญที่มีโอกาสทำราคาได้ดีกว่าไทย หรือกลุ่มปลากระป๋องที่ได้มีสัดส่วนการตลาดในสหรัฐ 32% ถัดมาเป็นเวียดนาม และภาษีของเวียดนามสูงกว่าไทย โอกาสที่เวียดนามจะสู้ทำราคาสู่ปลากระป๋องไทยจะยาก เป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่แตกต่างกัน
ประเทศไทยยังจะได้รับผลกระทบของจีนที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีหนักสุดจะกลายมาเป็นคู่แข่งไทย การตัดราคาจะดุเดือด โดยระยะเวลาปรับตัวสำหรับภาษีใหม่นี้ ค่อนข้างกระชั้นชิดในการมีผลบังคับใช้ และไทยก็อาจจะปรับตัวได้ช้า ปลายทางของไทยจะสามารถเจรจาคู่ค้าได้มากน้อยแค่ไหนต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป และรัฐบาลจะเจรจาอย่างไรเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบหนักต่อประเทศไทย”
3 บันทึก
16
5
3
16
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย