12 เม.ย. เวลา 07:43 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

กองทัพจีนยังฝึกใช้ "นกพิราบส่งสาร" แม้ปัจจุบันจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

🤭เมื่อพูดถึงวิธีการส่งข้อความด้วยนกพิราบในปัจจุบันแล้วละก็ หลายคนคงพากันขบขันถึงความล้าสมัย แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายก้าวหน้าไปอย่างไร้พรมแดน กองทัพที่ยิ่งใหญ่และเป็นผู้นำด้านสงครามเทคโนโลยีอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงเพิ่มจำนวนนกพิราบทหารเพื่อใช้ฝึกส่งสาร เหตุผลนั้นไม่ใช่เพียงเพราะความอนุรักษ์นิยมเพียงเท่านั้น
🤨หากย้อนไปในหน้าประวัติศาสตร์ มนุษย์ได้นำนกพิราบมาใช้ในการส่งสารมานานนับพันปี โดยหลักฐานการใช้งานสามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงอารยธรรมอียิปต์โบราณและเมโสโปเตเมีย ซึ่งมีการบันทึกว่า นกพิราบถูกใช้เพื่อแจ้งข่าวสารสำคัญ เช่น การประกาศชัยชนะ การแต่งตั้งกษัตริย์ หรือแม้แต่การแจ้งเตือนภัยสงคราม
🧔ในสมัยกรีกโบราณ นกพิราบถูกใช้ในการส่งข่าวผลการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไปยังนครรัฐต่างๆ ขณะที่ในสมัยโรมัน พวกมันถูกนำมาใช้ในภารกิจทางการทหาร เพื่อแจ้งความเคลื่อนไหวของศัตรูหรือการขอกำลังเสริม ด้วยความสามารถพิเศษในการบินกลับรังโดยไม่หลงทิศ ทำให้นกพิราบกลายเป็น "นักข่าวแห่งท้องฟ้า" ที่แม่นยำและวางใจได้ 📨
✝️ในยุคกลาง ราชวงศ์และพ่อค้าต่างก็ใช้ระบบนกพิราบในการติดต่อสื่อสารระหว่างเมืองท่าหรือเส้นทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งได้พัฒนาระบบนกพิราบส่งสารอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นโครงข่ายสื่อสารที่ทรงพลังในยุคนั้น📬
🕊️เหตุผลหลักที่นำนกพิราบมาใช้ในภารกิจส่งสารคือ ความสามารถตามธรรมชาติในการบินกลับบ้าน (homing instinct) นกพิราบสามารถจดจำเส้นทางและกลับสู่รังเดิมได้จากระยะทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร โดยไม่ต้องใช้ระบบนำทางใด ๆ อีกทั้งยังสามารถบินได้ในสภาพอากาศที่หลากหลายและหลบหลีกพื้นที่ที่มีการรบได้ดี นอกจากนี้ นกพิราบยังไม่สามารถถูกดักฟังเหมือนระบบวิทยุหรือโทรเลข ทำให้เป็นช่องทางสื่อสารที่ปลอดภัยในช่วงสงคราม🤯
🐦นกพิราบ เป็นนกที่มนุษย์รู้จักและอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ด้วยรูปร่างอ้วนป้อม ขนแน่น และลำตัวกลมกลึง ขนาดปานกลาง มีจะงอยปากสั้นและโค้งเล็กน้อย ปีกแข็งแรงและหางรูปพัดช่วยในการทรงตัวขณะบิน สีของขนมีหลากหลายตั้งแต่สีเทา ขาว น้ำตาล ไปจนถึงดำอาหารของนกพิราบส่วนใหญ่ประกอบด้วยเมล็ดพืชจำพวกข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่ว และเมล็ดทานตะวัน ซึ่งหาได้ง่ายทั้งในธรรมชาติและในเมือง บางครั้ง นกพิราบที่อาศัยในเขตเมืองใหญ่ก็สามารถปรับตัวกินเศษอาหารจากมนุษย์ได้เช่นกัน
🌳นิสัยของนกพิราบนั้นเป็นนกที่รักสงบ ฉลาด และเชื่องง่าย มักรวมกลุ่มกันเป็นฝูง มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับคู่ชีวิต และมักอยู่เป็นคู่เดียวกันไปตลอดชีวิต ที่อยู่อาศัยของนกพิราบนั้นหลากหลายและยืดหยุ่นตามสภาพแวดล้อม พวกมันสามารถอาศัยอยู่ในที่โล่งตามธรรมชาติ เช่น หน้าผาหรือโพรงไม้ รวมถึงอาคารเก่า โบสถ์ หรือสะพานในเขตเมือง นกพิราบปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของมนุษย์ได้ดีจนกลายเป็นหนึ่งในสัตว์เมืองที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด🏡
🌿ในเชิงชีววิทยา นกพิราบจัดอยู่ในวงศ์ Columbidae ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 300 ชนิดทั่วโลก สำหรับนกพิราบที่มนุษย์คุ้นเคย ได้แก่ นกพิราบบ้าน (Rock Pigeon), นกพิราบสื่อสาร (Homing Pigeon), นกพิราบแข่ง (Racing Pigeon) และนกพิราบประดับพันธุ์สวยงาม (Fancy Pigeon) แต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่นที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเพื่อใช้ในการแข่งขัน ความสวยงาม หรือการส่งสารในอดีต 🌿
🗺️การฝึกนกพิราบส่งสารเริ่มต้นจากการทำให้นกจดจำ “รังฐาน” หรือจุดหมายปลายทาง จากนั้นจะมีการนำไปปล่อยในระยะที่ห่างออกไปเรื่อย ๆ เพื่อฝึกความคุ้นเคยกับเส้นทางและความแข็งแรงในการบิน การฝึกต้องใช้ความสม่ำเสมอ โดยนกจะได้รับรางวัลเป็นอาหารหรือการเลี้ยงดูเป็นพิเศษเมื่อกลับถึงรัง ระบบฝึกนี้เป็นพื้นฐานของการพัฒนา “นกพิราบสื่อสาร” ที่มีความแม่นยำในการปฏิบัติงาน🎯
💥ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลายประเทศให้ความสำคัญกับนกพิราบทหารมาก ทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะต่างก็ใช้หน่วย "นกพิราบสื่อสารทางทหาร" เพื่อส่งข่าวจากแนวหน้าเข้าสู่กองบัญชาการ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สัญญาณวิทยุถูกรบกวนหรือถูกศัตรูดักฟัง จำนวนนกพิราบทหารที่ระดมมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีมากถึง 60,000 ตัว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นกพิราบทหารมีบทบาทสำคัญในการสู้รบหลายครั้ง
ทหารอังกฤษฝึกนกพิราบสื่อสารเพื่อส่งข้อความในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มา FPG/Hulton Archive/Getty Images
☝️หนึ่งในนกพิราบที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามคือ “Cher Ami” ของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งสามารถบินกลับมาพร้อมข้อความสำคัญแม้จะถูกยิงบาดเจ็บและตาบอดข้างหนึ่ง โดยช่วยชีวิตทหารกว่า 200 นาย อีกตัวคือ “G.I. Joe” แห่งกองทัพอังกฤษ ซึ่งสามารถส่งข้อความไปหยุดการโจมตีผิดพลาดในอิตาลี ช่วยชีวิตทหารพันธมิตรกว่า 100 คน นกเหล่านี้ได้รับเหรียญกล้าหาญจากรัฐบาลในเวลาต่อมา🎖️
เชอร์ อามี ที่สถาบันสมิธโซเนียน (ภาพถ่ายโดย Armed Forces History, Division of History of Technology, National Museum of American History)
📲ทว่าการมาถึงของเทคโนโลยีสื่อสารยุคใหม่ เช่น วิทยุ โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม อินเทอร์เน็ต และเครือข่ายไร้สาย ทำให้การส่งข้อมูลสามารถทำได้ทันทีทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นข้อความ เสียง หรือภาพ ซึ่งเร็วและมีความจุข้อมูลมากกว่าการใช้สัตว์อย่างนกพิราบหลายประเทศทั่วโลกได้ ยกเลิกหรือยุติการใช้งานนกพิราบส่งสาร ด้วยเหตุผลหลายประการ 💻
📡ไม่ว่าจะเป็น การส่งข้อมูลด้วยนกพิราบไม่สามารถป้องกันการถูกสกัดจับได้ หากนกถูกจับหรือยิงตก ข้อมูลอาจตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามทันที หรือความรวดเร็วในการส่งสารช้ากว่าการกดส่งข้อความเพียงไม่กี่วินาที นอกจากนี้ นกอาจหลงทิศ หยุดพักกลางทาง หรือหลีกเลี่ยงสภาพอากาศไม่ดี ทำให้ข้อมูลอาจไม่ถึงปลายทางอย่างที่คาดหวัง อีกทั้งการเลี้ยงและฝึกนกพิราบให้เชี่ยวชาญในการบินกลับรังต้องใช้เวลา ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากร ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าหากเทียบกับต้นทุนการติดตั้งระบบวิทยุหรืออุปกรณ์ดิจิทัลในปัจจุบัน
ที่มา axios.com
🛰️แม้บทบาททางการทหารและการสื่อสารของนกพิราบจะลดลงอย่างมากในโลกยุคดิจิทัล แต่การเพาะเลี้ยงและฝึกฝนนกพิราบยังคงดำเนินต่อไปในฐานะวัฒนธรรมและกีฬาพื้นบ้านที่มีรากฐานยาวนาน โดยเฉพาะในประเทศที่มีประวัติศาสตร์การใช้นกพิราบอย่างเข้มแข็ง เช่น จีน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การแข่งนกพิราบยังคงเป็นกิจกรรมยอดนิยมที่มีการลงทุนสูง มีการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง และมีกติกามาตรฐานระดับสากล
🗡️นอกจากนี้ ในหลายประเทศยังมีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น การปล่อยนกพิราบในพิธีรำลึกถึงวีรชน ทหารผ่านศึก หรือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ของกองทัพอุรุกวัยและฝรั่งเศส เพื่อเป็นตัวแทนแห่งสันติภาพและการส่งต่อเจตนารมณ์สู่อนาคต ทำให้นกพิราบยังคงมีบทบาทในเชิงวัฒนธรรม แม้จะไม่ใช่เครื่องมือสื่อสารทางยุทธศาสตร์อีกต่อไป⚔️
นกพิราบถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในวันทหารผ่านศึก ของทหารชาวฝรั่งเศส ที่มา www.ouest-france.fr
⚒️อย่าไรก็ตาม การมาถึงของเทคโนโลยีสื่อสารยุคใหม่ แทนที่จะลดขนาดฝูงนกพิราบ กองทัพจีนกลับเลือกวิธีตรงกันข้าม การใช้พิราบไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวจีน กองทัพจีนใช้พิราบส่งสารกันมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษแล้ว พิราบถือเป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรกๆ ของจีน และถูกใช้เป็นสัตว์เลี้ยงและผู้ส่งสารมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกในปี ค.ศ. 25
📖“ The Pigeon Classic ” คือเอกสารวิชาการเกี่ยวกับนกพิราบที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศจีน ผู้เขียนคือจางหว่านจงจากเมืองโจวผิง (ปัจจุบันคือเขตโจวผิง มณฑลซานตง) ในสมัยราชวงศ์ชิง หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่ การพูดคุยเกี่ยวกับนกพิราบ สี การบิน การกระโดด การเกาะ และบทกวี รวมกว่า 10,000 คำ หนังสือเล่มนี้เสร็จสมบูรณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1604 ถึง 1614
🐱‍🏍ในช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ปี ค.ศ. 1937 ร้อยโทแคลร์ ลี เชนโนลต์ นักบินเกษียณจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ เดินทางถึงจีนเพื่อนำกลุ่มนักบินที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า ฟลายอิ้งไทเกอร์ส ขึ้นบินเพื่อต่อต้านการรุกรานแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่น เขาได้นำนกพิราบส่งสารมาด้วยหลายร้อยตัวเพื่อช่วยในความพยายามในการทำสงคราม และหลังสงคราม เขาได้ทิ้งนกพิราบเหล่านี้ไว้เบื้องหลัง นกพิราบกลุ่มนี้กลายมาเป็นแกนหลักของกองพลนกพิราบทหารชุดแรกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน
🐱‍👤ต่อมากองทัพจีนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้นกพิราบทหารสนับสนุนกองทัพ ในปี ค.ศ. 1950 กองกำลังป้องกันชายแดนเพื่อความมั่นคงสาธารณะแห่งยูนนานได้ส่งเจ้าหน้าที่และทหารไปยังสหภาพโซเวียตเพื่อเรียนรู้วิธีการฝึกและเลี้ยงนกพิราบทหาร หลังจากสำเร็จการศึกษา พวกเขาได้นำนกพิราบโซเวียตและโปแลนด์จำนวน 200 ตัวกลับมาที่คุนหมิงเพื่อจัดตั้งทีมนกพิราบทหาร
🐱‍👓ปี ค.ศ. 1957 หน่วยนกพิราบจำนวนหนึ่งถูกจัดตั้งขึ้นในฐานทัพทหารทั่วประเทศเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยสำรองในกรณีที่ระบบสื่อสารขัดข้อง ในช่วงรุ่งเรืองมีหน่วยนกพิราบสื่อสารทางทหาร 11 หน่วยในจีน โดยแต่ละหน่วยประจำการอยู่ 11 ภูมิภาคของกองทัพในช่วงหลายปีต่อมา โดยในปี ค.ศ. 1982 มีการสร้างสถิติใหม่ เมื่อนกพิราบตัวหนึ่งบินจากเซี่ยงไฮ้ไปยังคุนหมิง ระยะทาง 1,336 ไมล์ ในเวลา 9 วัน เจ้าหน้าที่ประทับใจในการปฏิบัติหน้าที่ของนกพิราบตัวนั้น และทำการดองศพของนกพิราบหลังจากเสียชีวิต
⚡ราวปี ค.ศ. 2000 หน่วยนกพิราบส่วนใหญ่ของประเทศถูกปิดตัวลง เหลือเพียงห้องควบคุมทางทหารเพียงห้องเดียวที่กองทหารสื่อสารของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศจีนในคุนหมิง มณฑลยูนนานทางตอนใต้ นกพิราบเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนอยู่หลายร้อยตัวถูกฝึกให้ส่งข่าวไปยังพื้นที่ภูเขาและเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้
📵ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 2010 เจ้าหน้าที่ทหารได้ตัดสินใจที่จะฟื้นฟูนกพิราบทหาร โดยจะเพิ่มนกพิราบ 10,000 ตัว เป็นระยะๆ เพื่อจัดตั้งเป็น "กองทัพนกพิราบสำรอง" ที่ให้การสนับสนุนเครือข่ายการสื่อสารของกองทัพในกรณีที่เกิดไฟฟ้าดับทั้งหมดอันเนื่องมาจากสงคราม 📴
🫡ปัจจุบันประเทศจีนยังคงรักษาหน่วยทหารที่ใช้นกพิราบส่งสารไว้ โดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) ได้เพาะพันธุ์และฝึกนกพิราบทหารกว่า 10,000 ตัว สำหรับใช้โดยกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ โดยเฉพาะกองกำลังป้องกันชายแดน นกพิราบทหารจะถูกมอบหมายไปยังฐานการสื่อสารทั่วภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้อันห่างไกลและเต็มไปด้วยภูเขาของจีน ใกล้กับเทือกเขาหิมาลัย ⛰️
📍เฉินหง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของกองทัพอากาศกล่าวกับสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ตามรายงานระบุว่า นกเหล่านี้จะถูกกระจายไปยังฐานการสื่อสารทั่วภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้อันห่างไกลและเต็มไปด้วยภูเขาของจีน โดยเฉพาะบริเวณเชิงเขาหิมาลัย นกพิราบทหารมีขีดความสามารถบินด้วยความเร็วสูงสุด 75 ไมล์ (120 กม.) ต่อชั่วโมง จะได้รับการฝึกให้ขนของหนักได้ถึง 3.5 ออนซ์ (100 กรัม)
🎯นกพิราบทหารจีนสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ตามลักษณะภารกิจ
1. นกพิราบสื่อสารทางเดียว (单程通信鸽)
2. นกพิราบสื่อสารแบบไปกลับ (往返通信鸽)
3. นกพิราบสื่อสารเคลื่อนที่ (移动通信鸽) นกพิราบประเภทนี้จะรู้จักเพียงยานพาหนะสื่อสารเท่านั้น บ้านนกพิราบติดตั้งไว้บนยานพาหนะ และนกพิราบก็รู้จักยานพาหนะนั้น
4. นกพิราบสื่อสารเวลากลางคืน (夜间通信鸽) ภูมิประเทศและภูมิอากาศในช่วงสงครามมีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นในระหว่างการฝึก นกพิราบจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่แตกต่างกัน การสื่อสารในเวลากลางคืนยังจำเป็นในการทำสงคราม
5. นกพิราบสื่อสารที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง (留置通信鸽) ใช้สำหรับการลาดตระเวนด้านหลังแนวรบของศัตรู โดยที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองจะถูกส่งทางอากาศไปด้านหลังแนวรบของศัตรู และมีหน้าที่ในการรวบรวมข่าวกรองและข้อมูล พวกเขาไม่สามารถส่งโทรเลขได้ และข่าวกรองสามารถนำกลับมาได้ด้วยนกพิราบเท่านั้น
🏞️แม้ว่ามนุษย์จะก้าวเข้าสู่ยุคการสื่อสารผ่านดาวเทียมแล้ว ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ หรือระบบโทรคมนาคมแบบมีสายอาจถูกดักฟังหรือถูกทำลาย ระบบสื่อสารด้วยนกพิราบทางทหารจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือภูมิประเทศทุรกันดาร เช่น เทือกเขาหิมาลัยหรือชายแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ซึ่งระบบสื่อสารดิจิทัลเข้าถึงได้ยาก
❄️ตัวอย่างเช่น ปี ค.ศ. 2001 ทีมลาดตระเวนของตำรวจติดอาวุธชายแดนซินเจียงถูกพายุหิมะโจมตี เมื่อพวกเขาถูกแยกโดดเดี่ยวและไร้ทางช่วยเหลือในทุ่งหิมะอันกว้างใหญ่ พวกเขาต้องพึ่งนกพิราบทหารในการส่งข้อความ ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาส่งกำลังเสริมมาอย่างทันท่วงที ซึ่งช่วยให้ทีมลาดตระเวนรอดพ้นจากอันตรายได้🌨️
💊นกพิราบทหารไม่เพียงแต่มีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อการสื่อสารทางทหารเท่านั้น แต่ยังใช้ขนส่งยารักษาโรค ครั้งหนึ่ง หน่วยป้องกันชายแดนมีผู้ป่วยฉุกเฉิน หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยคนไข้แล้ว เขาต้องไปที่สำนักงานใหญ่ของกรมทหารเพื่อรับยา เนื่องจากระยะทางที่ไกลและอยู่บนที่สูง หากมีคนถูกส่งไปรับยาจะต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับนานถึงสองวัน ดังนั้น นักรบนกพิราบจึงใช้นกพิราบทหารขนส่งยาในเวลาเพียง 30 นาที ช่วยชีวิตคนไข้ไว้ได้ นี่แสดงให้เห็นว่านกพิราบทหารไม่เพียงแต่สามารถส่งข้อมูลได้ แต่ยังสามารถขนส่งวัตถุได้อีกด้วย
🛰️แม้กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) จะเป็นหนึ่งในกองทัพที่ล้ำหน้าที่สุดในโลกด้านสงครามเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดาวเทียม การควบคุมโดรน หรือระบบสื่อสารความเร็วสูงผ่านคลื่นความถี่ที่เข้ารหัสอย่างซับซ้อน การฝึกนกพิราบส่งสารในกองทัพ อาจดูย้อนยุคสำหรับหลายคน แต่ในมุมมองของยุทธศาสตร์ทางทหาร กลับเป็นเครื่องสะท้อนถึง "ความรอบคอบ" ในการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในภาวะสงครามจริง🚀
🧐การรักษาความสามารถดั้งเดิมควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำยุค จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า จีนไม่ได้พึ่งพาเพียงความล้ำสมัยเท่านั้น แต่ยังใส่ใจถึงความเป็นไปได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กองทัพของพวกเขาเป็นที่จับตามองในเวทีโลก🌐
อ้างอิง
1. 伍行健. (2020). 独家揭秘:探访全军最后一支军鸽部队(一). Retrieved 11 Apr 2025, form https://photo.81.cn/pla/2020-06/16/content_9835874.htm
2. Baidu. (2023). 中国军用鸽. Retrieved 11 Apr 2025, form https://baike.baidu.com/item/%E4%B8%AD%E5%9B%BD%E5%86%9B%E7%94%A8%E9%B8%BD/5897797
3. 李晶 伍行健. (2020). “兵鸽鸽自述”:揭秘全军唯一的一支军鸽部队(上). Retrieved 11 Apr 2025, form
4. Bieniek, Adam. “Cher Ami: The Pigeon That Saved the Lost Battalion.” The U.S. World War I Centennial Commission. Retrieved 12 Apr 2025, form https://www.worldwar1centennial.org/index.php/communicate/press-media/wwi-centennial-news/1210-cher-ami-the-pigeon-that-saved-the-lost-battalion.html.
5. Blazich, Frank A. (2020). “Feathers of Honor: U.S. Army Signal Corps Pigeon Service in World War I, 1917–1918.” Army History, no. 117 (2020): 32-51 Retrieved 12 Apr 2025, form https://www.jstor.org/stable/26939907.
6. Hanks, Jane. (2021). France’s army platoon of carrier pigeons is one of its kind in Europe. Retrieved 12 Apr 2025, form https://www.connexionfrance.com/practical/frances-army-platoon-of-carrier-pigeons-is-one-of-its-kind-in-europe/417372
7. Craig, Justin. (2022). Military Pigeons in the 21st Century, Part III: China. Retrieved 12 Apr 2025, form
8. Jiang, Chengcheng. “China’s Most Secret Weapon: The Messenger Pigeon.”. Retrieved 12 Apr 2025, form, http://content.time.com/time/world/article/0,8599,2049569,00.html.
โฆษณา