16 เม.ย. เวลา 03:00 • ธุรกิจ

“Girl Math” วิธีคำนวณเงิน ด้วยตรรกะฮีลใจสาวนักช็อป

แล้วแบรนด์ควรอาศัยเทรนด์นี้ หรือไม่ ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากต้องการซื้อของที่ไม่จำเป็น หรือของแพง ๆ สักชิ้น
เชื่อว่า หลายคนจะพยายามหาเหตุผลสารพัด เพื่อมาซื้อของชิ้นนั้น
ซึ่งเรื่องนี้ คล้ายกับ “Girl Math” ตรรกะการใช้เงินของสาว ๆ ที่ (ฟังดู) ไม่สมเหตุสมผลเท่าไร แต่ทำให้ “รู้สึกดี”
แล้ว Girl Math คืออะไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Girl Math คือ หลักการในการใช้เงิน ที่ถูกเรียกว่ามีเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่จะเข้าใจ
ซึ่งหลักการนี้ ไม่ได้มีสูตร หรือกฎเกณฑ์ที่ตายตัว
แต่มีคอนเซปต์หลัก ๆ คือ การหาเหตุผลให้กับการซื้อสินค้า เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลง
โดยจะเน้นไปที่การคำนวณความคุ้มค่า เช่น
- ถ้าซื้อสินค้าที่มีราคาสูง ให้นำราคาเต็มมาหาราคาเฉลี่ยต่อวัน การซื้อสิ่งของนั้น ๆ ก็จะสมเหตุสมผลมากขึ้น
- ถ้าเมื่อวานไม่ได้ใช้เงินเลยสักบาท วันนี้สามารถใช้เงินได้ 2 เท่า โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะเราไม่ได้หยิบเงินจากอนาคตมาใช้
- ซื้อสินค้าลดราคา ไม่ใช่แค่การประหยัด แต่ยังเป็นกำไร เพราะเราสามารถนำเงินส่วนต่างตรงนั้น ไปซื้อของอย่างอื่นได้อีก
- ถ้าเจอเงินในกระเป๋า และนำเงินนั้นไปซื้อกาแฟ เท่ากับว่ากาแฟแก้วนั้นฟรี เพราะมันจ่ายด้วยเงินที่ถูกลืมไปแล้ว
- ถ้าถ่ายวิดีโอในคอนเสิร์ตและดูซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะทำให้ประหยัดเงินค่าตั๋วคอนเสิร์ตได้
หรือถึงขั้นที่ว่า “การจ่ายด้วยเงินสด ถือว่าฟรี เพราะไม่ถือว่าเป็นเงินจริง ๆ” เนื่องจากตัวเลขในบัญชียังคงเท่าเดิม ไม่ได้ลดลง
ซึ่งตรรกะต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ Girl Math กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง และมีหลาย ๆ แบรนด์มองเห็นโอกาสในการทำการตลาดจากเทรนด์นี้ ตัวอย่างเช่น
เชนร้านเครื่องสำอาง Ulta Beauty ที่ทำคอนเทนต์ว่า “เมื่อคุณใช้จ่าย 300 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ Ulta Beauty แต่ใช้คะแนนสะสม Ultamate Rewards แลกส่วนลดทั้งหมด ก็ถือว่าได้ของมาฟรี” พร้อมติดแฮชแท็ก Girl Math จนได้รับความสนใจมากมาย
แต่ถ้าถามในมุมผู้เชี่ยวชาญว่า แบรนด์ต่าง ๆ ควรเข้ามามีส่วนร่วมกับเทรนด์นี้หรือไม่ ?
คุณ Maxine McCreadie ที่ปรึกษาอาวุโสด้านหนี้สิน จาก Creditfix บริษัทที่ปรึกษาด้านการล้มละลายส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร เคยให้ความเห็นว่า “แน่นอนว่าหลายคนดูวิดีโอเกี่ยวกับ Girl Math แล้วคิดว่าเป็นเรื่องสนุก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดแบบนั้น”
เธอจึงมองว่าแบรนด์ต่าง ๆ ควรมีความรับผิดชอบดูแลผู้บริโภค โดยไม่ใช้เทรนด์ดังกล่าวในการสนับสนุนพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว หรือตัดสินใจใช้จ่ายอย่างไม่รอบคอบ เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเงินได้
เช่นเดียวกับคุณ Ian YH Tan อาจารย์ด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัย Nanyang Technological ที่กล่าวว่า “นักการตลาดที่ดีไม่ควรเน้นที่ราคา แต่ควรเน้นที่คุณค่าของผลิตภัณฑ์แทน”
โดยเตือนว่า Girl Math เป็นเพียงแนวคิดตลก ๆ ไม่ใช่คำแนะนำทางการเงิน แถมยังมีความเสี่ยงที่ผู้บริโภคบางคนจะเข้าใจผิดนำแนวคิดนี้ไปใช้จริง แล้วรู้สึกเหมือนถูกหลอกในภายหลังด้วย
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ สรุปสั้น ๆ ได้ว่า แบรนด์ไม่จำเป็นต้อง “ทำตามทุกกระแส” แต่ควรเลือกเฉพาะที่เหมาะสมกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ และความรับผิดชอบต่อสังคม
เพราะแม้ว่าเทรนด์ Girl Math จะช่วยสร้างความสนุกและเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในช่วงเวลาหนึ่งได้ดี
แต่หากแบรนด์หยิบไปใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจกลายเป็นดาบสองคม ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในอนาคต..
โฆษณา