13 เม.ย. เวลา 15:59 • ความคิดเห็น

“ทฤษฎีหน้าต่างแตก”: เมื่อเศษกระจกเปลี่ยนเมืองทั้งเมือง

ลองจินตนาการว่า คุณเดินผ่านตึกเก่าหลังหนึ่งในซอยแคบๆ หน้าต่างกระจกบานหนึ่งถูกทุบแตก
วันต่อมา…หน้าต่างอีกบานก็แตกตาม
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป…มีขยะกองอยู่ตรงมุมกำแพง ผนังเริ่มมีรอยขีดเขียนกราฟิตี้ แล้วคนแปลกหน้าก็เริ่มมาป้วนเปี้ยน
มันอาจเริ่มต้นแค่ “หน้าต่างบานเดียวที่แตก”
แต่นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ…ความเสื่อมโทรมทั้งชุมชน
เริ่มจากในปี 1969 นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Stanford Philip Zimbardo ได้ทำการทดลองโดยทิ้งรถไว้สองที่ ใน Bronx, New York และ Palo Alto, California
เพียงไม่กี่นาที รถคันแรกถูกทำให้เสียหาย ครอบครัวหนึ่งขโมยแบตเตอรี่ และหม้อน้ำไป และภายใน 24 ชั่วโมง ของมีค่าบนรถก็ถูกขโมยไปหมด และหลังจากนั้น รถก็ถูกปู้ยี่ปู้ยำจนเสียสภาพรถไปเลย
ส่วนรถใน Palo Alto กลับไม่ถูกทำอะไรเลย แม้ทิ้งไว้นานกว่าสัปดาห์ แต่พอเขาไปทุบกระจกรถให้เสียหาย หลังจากนั้นไม่นาน คนอื่นก็เริ่มมาทำให้รถเสียหาย และขโมยของมีค่าจากรถออกไปในที่สุด
ต่อมาในปี 1982 นักรัฐศาสตร์ชื่อ James Q. Wilson และนักสังคมวิทยา George L. Kelling ตีพิมพ์บทความในนิตยสาร The Atlantic ชื่อ “Broken Windows” ที่พูดถึงเรื่องเรียบง่ายแต่น่าคิด
ทั้งสองเสนอว่า ความผิดเล็กน้อย เช่น การขีดเขียนกำแพง การทิ้งขยะ หรือการเดินเตร่ของคนเร่ร่อน ถ้าไม่จัดการตั้งแต่แรก อาจลุกลามไปสู่อาชญากรรมร้ายแรง
ทฤษฎีดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแนวความคิดของตำรวจในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐ New York โดยนายกเทศมนตรี Rudy Giuliani แห่งมหานครนิวยอร์ก ในปี 1990s
เขาจับมือกับผู้บัญชาการตำรวจ William Bratton ใช้แนวทางนี้อย่างจริงจัง:
- ไล่จับคนข้ามรถไฟโดยไม่จ่ายตังค์
- จัดการคนเร่ร่อนที่ดื่มในที่สาธารณะ
- ลบกราฟิตี้จากรถไฟใต้ดินทุกคัน
เป็นต้น
พวกเขาเชื่อว่า “ถ้าทำให้เมืองดูสะอาด ปลอดภัย คนก็จะไม่กล้าทำผิดใหญ่ๆ”
ผลลัพธ์เหรอ?
อัตราอาชญากรรมลดฮวบ! นิวยอร์กกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่ปลอดภัยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด…จนดูเหมือนทฤษฎีนี้ “เวิร์ก” จริงๆ
เรื่องดังกล่าวถูกนักเขียน Malcomb Gladwell หยิบยกมาเป็นประเด็นหลักในหนังสือ The Tipping Point: How Little Things Can Make a Big Difference และเล่าในแง่ที่ว่า การปฏิบัติอะไรบางอย่างเพียงเล็กน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจจะทำให้อะไรมันพลิกคว่ำไปได้
หนังสือดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนมีตำรวจในรัฐอื่นๆ เชื่อในทฤษฎีนี้ และนำไปปฏิบัติตาม โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า stop and frisk โดยตำรวจจะหยุดผู้ต้องสงสัย และทำการตรวจค้นผู้ต้องสงสัย และจับกุมหากเจออะไรผิดปกติ หรือผิดกฎหมาย
แต่สิ่งที่ทฤษฎีไม่พูดถึงคือ…“ใคร” ที่ถูกจัดการก่อน
คนที่โดนจับจากพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ มักเป็น
- คนจน
- คนผิวสี
- คนไร้บ้าน
พวกเขากลายเป็น “เหยื่อ” ของนโยบายที่ตั้งใจจะทำให้เมืองดีขึ้น แต่กลับก่อให้เกิดปัญหาการเหยียด การใช้ความรุนแรง และความไม่ไว้ใจระหว่างชุมชนกับตำรวจ จนถึงความขัดแย้งระหว่างตำรวจ และคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ รวมทั้งกรณีของ George Floyd เป็นต้น
อีกเกือบ 25 ปีถัดมา Malcomb Gladwell จึงได้แต่งหนังสือมาโต้แย้งหนังสือของตัวเองในชื่อ The Revenge of the Tipping Point และเล่าว่า ทฤษฎีดังกล่าวอาจจะส่งผลร้ายมากกว่าที่เขาคิด และมันอาจจะไม่เป็นจริงก็ได้
ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวเกิดจาก นักวิจัยหลายคนพบว่า
- การทดลองไม่ได้ทำโดยมีการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ และสถิติมากนัก ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดสูง
- เมืองที่มีการจัดการ broken window กับเมืองที่ไม่ได้มีการจัดการ ก็มีอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ลดลงไม่ได้ต่างกันมาก ซึ่งมีนักวิจัยบางคนตั้งสมมติฐานว่า ในช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ที่ทำให้คนมีรายได้มากขึ้น มีการศึกษามากขึ้น มีงานมากขึ้น อัตราการเกิดลดลง จึงมีเด็กวัยรุ่นน้อยลง จึงไม่มีเวลามาก่ออาชญากรรม อัตราการเกิดอาชญากรรมจึงลดลงเองอยู่แล้ว
ถ้าใครจำกันได้ มีการตัดสินในคดี Roe v Wade ในปี 1973 ที่ตัดสินให้การทำแท้งก่อนที่ตัวอ่อนจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่นอกครรภ์ได้นั้น เป็นสิทธิพื้นฐานอันหนึ่ง ในระดับรัฐ จึงทำให้เกิดการทำแท้งเสรีเกิดขึ้น คนที่ไม่ตั้งใจจะมีลูก หรือถูกข่มขืน ก็สามารถทำแท้งได้ ทำให้การมีลูกโดยไม่พร้อมลดต่ำลงมาก และเริ่มส่งผลถึงจำนวนประชากรวัยรุ่นที่มีปัญหาที่ลดลงในช่วงปี 1990 นั่นเอง ซึ่งเป็นประเด็นที่ Steven Levitt และ Stephen Dubner ใช้ในการโต้แย้งแนวความคิดในหนังสือ The Tipping Point นั่นเอง
1
อย่างไรก็ตาม บางทีการเก็บถนนให้สะอาด การลบกราฟิตี้ การซ่อมไฟริมทาง ก็มีผลทางจิตวิทยาต่อคนในชุมชน และทำให้คนรู้สึกว่า อยากจะรักษาสภาพของเมืองให้ดี และพยายามจะจัดการกับคนที่ทำให้เมืองเสียหาย ทฤษฎีดังกล่าว จึงอาจจะมีผลบางส่วนก็ได้
อย่างตัวผมเอง ยังแอบเชื่อว่า ถ้าเรามีการเข้มงวดกับเรื่องบางเรื่องเช่น การทำให้ถนนสะอาด ฟุตบาทเรียบ ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย รถมอเตอร์ไชต์ไม่ขับรถสวนทาง ไม่ผ่าไฟแดง จอดตรงทางม้าลาย ประชาชนในชาติจะมีความอดทนกับการทุจริต การทำผิดกฎหมายที่ลดลง และหันมาช่วยกันทำให้ประเทศดีขึ้น ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูไม่เกี่ยวกันก็ตาม แต่เมื่อประชาขนมีความหวัง และเชื่อว่ากฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์ พวกเขาถึงจะช่วยกันดำรงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายครับ
1
โฆษณา