Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
14 เม.ย. เวลา 03:00 • ข่าวรอบโลก
เปิดไพ่ญี่ปุ่น มหามิตรสหรัฐฯ ที่ถูก 'ทรัมป์' บีบด้วยกำแพงภาษีตอบโต้
วิเคราะห์ท่าทีญี่ปุ่นต่อนโยบายภาษีใหม่ของทรัมป์ แนวทางการรับมือกับภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ท่ามกลางความสัมพันธ์พันธมิตรที่กำลังถูกทดสอบในยุคสงครามการค้า
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญความท้าทายทางการทูตและเศรษฐกิจครั้งสำคัญ หลังจากรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ที่รุนแรงต่อประเทศพันธมิตรที่สหรัฐฯ มีดุลการค้าขาดดุล โดยเฉพาะอัตราภาษี 24% สำหรับสินค้าทั่วไปและ 25% สำหรับยานยนต์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025
การตอบสนองของญี่ปุ่นที่สะท้อนผ่านรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ NHK หลังจากทรัมป์ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ นายกรัฐมนตรีอิชิบะ ชิเกรุ ได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เขาเรียกว่า "วิกฤตระดับชาติ"
กลยุทธ์ของญี่ปุ่นมีลักษณะเด่นชัด คือ การใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ เรื่องภาษีนำเข้าข้าวร้อยละ 700 โดยอธิบายว่าสหรัฐฯ ได้รับโควตานำเข้าปลอดภาษีเกือบ 350,000 ตัน ซึ่งเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของโควตาทั้งหมด การเก็บภาษี 341 เยนต่อกิโลกรัมจะเกิดขึ้นเฉพาะกับการนำเข้าที่เกินโควตา
ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังกำหนดท่าทีการเจรจาอย่างสร้างสรรค์: โดยนายอิชิบะเน้นย้ำว่าต้องการเจรจากับประธานาธิบดีทรัมป์ "อย่างจริงใจโดยให้คำอธิบายด้วยตรรกะทีละข้อ และไม่ใช้อารมณ์" พร้อมแสดงความพร้อมที่จะเดินทางไปสหรัฐฯ หากจำเป็น
นอกจากนี้ยังเน้นย้ำคุณค่าของความสัมพันธ์ โดยญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่าเป็นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดและสร้างงานมากที่สุดในสหรัฐฯ โดยอิชิบะต้องการให้สหรัฐฯ "ให้คุณค่าและยอมรับการมีส่วนสนับสนุนของญี่ปุ่นอย่างเหมาะสม"
ญี่ปุ่นยังออกมาชี้แจงข่าวกรณีญี่ปุ่นและจีนกระหน่ำเทขายพันธบัตรออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทบค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และอาจทำให้สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
ล่าสุดจากบลูมเบิร์ก (13 เมษายน) ระบุว่า แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดในโลก แต่ไม่มีแผนที่จะใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจาที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 เมษายน นี้
"ในฐานะพันธมิตร เราไม่มีความตั้งใจที่จะดำเนินการใดๆ ต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และการสร้างความปั่นป่วนในตลาดไม่ใช่ความคิดที่ดีอย่างแน่นอน" นายอิตสึโนริ โอโนเดระ หัวหน้าฝ่ายนโยบายพรรคเสรีประชาธิปไตย กล่าว
ท่าทีนี้แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ แม้จะเผชิญกับความท้าทายทางการค้า และหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นกำลังมองหาทางออกผ่านองค์การการค้าโลก (WTO) โดยนายโอโนเดระ ระบุว่าญี่ปุ่นควรยกประเด็นเรื่อง "ภาษีศุลกากรของสหรัฐ" ขึ้นหารือในเวทีระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนที่หลายประเทศได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีศุลกากรที่สูง และแสดงเจตจำนงที่จะ "ทำงานเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ" ในการรับมือกับสถานการณ์นี้
อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาษีนำเข้า 25% ขณะที่ข้อกล่าวหาเรื่องมาตรฐานและขั้นตอนการรับรองรถยนต์ก็เป็นประเด็นสำคัญในข้อพิพาท
รัฐบาลญี่ปุ่นชี้แจงว่ามาตรฐานและขั้นตอนการรับรองรถยนต์ของญี่ปุ่นสอดคล้องกับมาตรฐานของสหประชาชาติ
ขณะที่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับมาตรฐานสำหรับเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตต่างชาตินั้น รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นระบุว่า "ยังไม่ชัดเจนว่านี่เป็นสาเหตุที่รถยนต์ของสหรัฐขายไม่ดีในญี่ปุ่นหรือไม่" แต่พร้อมตอบกลับหลังจากทำความเข้าใจข้อกังวลอย่างถ่องแท้
1
การเผชิญหน้ากับมาตรการภาษีรุนแรงจากประเทศพันธมิตรใกล้ชิดอย่างสหรัฐฯ ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับญี่ปุ่น ท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ กับการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับพันธมิตรสำคัญ
ผลของการเจรจาในวันที่ 17 เมษายนนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่ากลยุทธ์การทูตและการค้าของญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ในการรับมือกับยุคใหม่ของสงครามการค้าที่นำโดยประธานาธิบดีทรัมป์
บันทึก
10
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย