14 เม.ย. เวลา 05:05 • ธุรกิจ

กรอบความคิดแบบเติบโตทางด้านอาชีพ: พลังแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเครือข่ายสู่อนาคตการทำงาน

ผมได้มีโอกาสศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตมาบ้าง จนเข้าใจว่า "มันไม่ใช่สิ่งพิเศษอะไร" แต่คือความเชื่อว่า "เราสามารถบรรลุบางสิ่งบางอย่างได้หากพยายาม" ผู้อ่านจะเห็นว่ามันไม่ได้ซับซ้อนอะไร แต่สิ่งที่ทำให้ความเชื่อดังกล่าวเป็นเรื่องยาก คือความซับซ้อนของโลกในยุคปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว มันบีบให้เราใช้ชีวิตยากขึ้นโดยเฉพาะการทำงานในปัจจุบันก็ยิ่งทวีความซับซ้อนไปด้วย
หนังสือชื่อ Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม ผู้เขียน ดร.สันติธาร เสถียรไทย ได้อธิบายถึงการทำงานออกเป็น 4 สารอาหาร ประกอบด้วย งานสร้างเงิน สร้างการเรียนรู้และพัฒนา สร้างบารมี และสร้างแบรนด์ คำอธิบายนี้แสดงให้เห็นว่างานมีความสำคัญมากกว่าการดำรงชีวิตทั่วไปอย่างที่หลายคนคิดกัน ด้วยเหตุนี้จึงน่าสนใจว่ากรอบความคิดแบบเติบโตจะนำมาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับทำงานหรือการตัดสินใจเลือกอาชีพได้หรือไม่ แน่นอนคำตอบสำหรับผมคือ "ได้"
หลายงานอาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สูงตั้งแต่เริ่มต้น แต่กลับเปิดโอกาสให้เรา เรียนรู้ และ พัฒนาทักษะ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตในสายอาชีพ ช่วยให้เราสามารถไต่ระดับไปสู่โอกาสที่ดียิ่งขึ้น เปิดประตูใหม่ ๆ และเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคต ซึ่งการจะพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ และเติบโตทางด้านอาชีพได้ ความเชื่อว่าเราสามารถบรรลุบางสิ่งบางอย่างได้หากพยายาม เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้
การมองอนาคตการทำงานเป็นเส้นทางที่ตายตัว หรือพึ่งพาเพียงความสามารถที่มีอยู่แต่แรก อาจไม่เพียงพออีกต่อไป “กรอบความคิดแบบเติบโตทางด้านอาชีพ” (Career Growth Mindset) จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายในสายอาชีพ โดยผมประยุกต์หลักการ Growth Mindset ของ แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) เข้ากับบริบทโลกการทำงาน ด้วยแนวคิดที่ว่า อาชีพหรืองานของเราสามารถของเรา สามารถพัฒนาได้เสมอ เมื่อมีการฝึกฝน ลงมือทำ และเปิดใจเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกรอบความคิดแบบเติบโตทางด้านอาชีพ คือการตระหนักถึงพลังของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งช่วยให้เราพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เราอาจเคยชินกับการตั้งเป้าหมายในชีวิตแบบเส้นตรง เช่น เรียนจบ เข้าทำงานบริษัทใหญ่ เลื่อนขั้นเป็นผู้บริหาร แต่ท่ามกลางโลกที่ไม่แน่นอน การยึดติดกับแผนการเดิม ๆ หรือความสำเร็จที่เป็นขั้นบันไดอาจจำกัดศักยภาพของเรา เราจะต้องตระหนักว่า "หลายงานไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สูง แต่เปิดโอกาสให้เราเรียนรู้และพัฒนาทักษะ"
เพราะเมื่อบางสิ่งไม่เป็นไปตามคาด หรือเกิดเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ เป้าหมายเชิงเส้นเหล่านั้นจะสั่นคลอนในทันที ตรงกันข้ามหากเรามองทุกอุปสรรคหรือการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสที่จะปรับตัวและเรียนรู้ (เปิดโอกาสให้เรียนรู้) ความผิดพลาดก็จะกลายเป็นบทเรียนล้ำค่าที่ผลักดันให้เราเติบโตได้มากขึ้น
แน่นอนเราสามารถเติบโตทางด้านอาชีพหรือการงานได้จากความพยายามที่จะเรียนรู้ซึ่งถูกสร้างโดยกรอบความคิดแบบเติบโตทางด้านอาชีพ อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพัง แต่ขยายผลได้กว้างขึ้นเมื่อเรามีเครือข่ายหรือวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้รองรับ เครือข่ายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการสะสมคอนเนคชั่นเพื่อหวังประโยชน์ระยะสั้น แต่คือการสร้างพันธมิตรแห่งการเรียนรู้ ที่ต่างฝ่ายต่างเติมเต็มความรู้และทักษะซึ่งกันและกัน หรือที่เรียกกันว่า ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC)
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือการผนวกวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์ กับการยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิพลาดได้ ก็จะเกิดบรรยากาศการทำงานที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตร่วมกัน การตั้งคำถามหรือร่วมกันทำงานข้ามสายอาชีพ จะเปิดประตูสู่แนวคิดใหม่ ๆ ที่เราอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน นำไปสู่การต่อยอดหรือต่อย้ำศักยภาพที่แท้จริงของแต่ละบุคคล
ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะเน้นย้ำก็คือ ภายใต้แนวคิดกรอบความคิดแบบเติบโตทางด้านอาชีพนี้ เราควรตั้งคำถามเกี่ยวกับกับการวางชีวิตให้เป็นเพียงเส้นตรง เพราะในความเป็นจริงเส้นทางอาชีพของแต่ละคนอาจมีลักษณะโค้งเว้า เป็นวงกลม หรือปรับเปลี่ยนได้ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไวเกินคาด โอกาสในตลาดงานที่ผุดขึ้นใหม่ หรือแม้แต่การค้นพบว่าตนเองมีความสนใจหลากหลายกว่าที่เคยเข้าใจ
การพัฒนาตนเองให้พร้อมทั้งทัศนคติ ความสามารถ ความรู้ ฯลฯ จึงหมายถึงการรักษาสมดุลระหว่างความชัดเจนของทิศทางที่ตั้งใจไว้ กับความยืดหยุ่นที่จะปรับเส้นทางตามความจำเป็น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ทำให้เรารับมือการเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น หากยังเสริมความเข้าใจในศักยภาพของตัวเราเอง และมองเห็นพื้นที่การทำงานในมุมที่กว้างขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นการมีกรอบความคิดแบบเติบโตทางด้านอาชีพ จึงหมายถึงการไม่หยุดตั้งคำถามและทดลองสิ่งใหม่ มองข้อจำกัดเป็นโจทย์ที่รอการแก้ไข และเห็นว่าการแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่นคือขุมพลังของการพัฒนาระยะยาว เมื่อเราผสานทั้งปัจจัยภายใน (ทัศนคติ ความรู้ ความสามารถ) และปัจจัยภายนอก (เครือข่ายและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้) เข้าด้วยกัน
เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ต่ออนาคตการทำงานจะไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม แต่คือการเดินทางที่เปิดโอกาสให้เราปรับและเติบโตได้ไม่สิ้นสุด
อ้างอิง
สันติธาร เสถียรไทย (2567) Twists and Turns คิดเปลี่ยนในโลกหักมุม (พิมพ์ครั้งที่ 4). มติชน.
Boonsathirakul, J., Pholpasee, K., & Boonsupa, C. (2025). The development of instructional packages using growth mindset for enhancing positive psychological capital of among higher education. Higher Education Studies, 15(2), 254–262. https://doi.org/10.5539/hes.v15n2p254
Dweck, C. S. (2006). Mindset: The new psychology of success. Random House.
Savickas, M. L. (2005). The theory and practice of career construction. In S. D. Brown & R. W. Lent (Eds.), Career development and counseling: Putting theory and research to work (pp. 42–70). John Wiley & Sons.
Yeager, D. S., & Dweck, C. S. (2012). Mindsets that promote resilience: When students believe that personal characteristics can be developed. Educational Psychologist, 47(4), 302–314.
โฆษณา