16 เม.ย. เวลา 05:00 • ท่องเที่ยว

Egypt (14) Luxor : Karnak Temple (03)

วิหารเทพ Amon-Ra (Amun-Re) ซึ่งอยู่ตรง ส่วนกลางที่มีพี้นที่กว้างสุด
ส่วน บริเวณรอบ ๆ เป็นที่รู้จักกันในสมัยโบราณว่า "Ipet-Sun" ซึ่งหมายถึง "สถานที่ที่ได้รับเลือกมากที่สุด"
วิหารเทพ Amon-Ra มีภาพแกะสลักประวัติศาสตร์บนกำแพงที่ครอบคลุมทุกด้านที่สำคัญ ในด้านศาสนา พระราชกรณียกิจ และสังคม เริ่มตั้งแต่สมัยอาณาจักรกลาง เล่าเรี่องราวมากกว่า 2 พันปี ..และภาพท้าย ๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ เป็นการพรรณาเกี่ยวกับอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ที่อยู่หน้าเทพอียิปต์
The Third Pylon and the Court(#10)
เดิมเป็นที่ตั้งของเสาโอบิลิกส์ 4 ต้น (เสาโอบิลิกส์ มีความหมายของชีวิตรุ่งโรจน์และความสว่าง เพื่อบูชาสรรเสริญเทพ Amon-Ra) แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ต้น
ต้นที่เล็กกว่า(ด้านซ้าย) เป็นของฟาโรห์ Thutmes I (1504 - 1492 ปีก่อนคริสตกาล) สูง 75 ฟิต น้ำหนักระหว่าง 143 - 160 ตัน
มรดกอันยิ่งใหญ่: เสาโอเบลิสก์ของทุตโมสที่ 1 ที่คาร์นัค
เสาโอเบลิสก์ของทุตโมสที่ 1 ตั้งตระหง่านอยู่เหนือบริเวณศักดิ์สิทธิ์ของวิหารคาร์นัคในลักซอร์ ประเทศอียิปต์ .. เป็นสัญลักษณ์อันงดงามของความยิ่งใหญ่และความทะเยอทะยานของชาวอียิปต์โบราณ
เสาโอเบลิสก์แกะสลักจากหินแกรนิตเพียงก้อนเดียว สูง 21.7 เมตร และหนักถึง 143 ตัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทักษะทางวิศวกรรมที่น่าทึ่งและความสำคัญทางจิตวิญญาณอันล้ำลึก
เสาโอเบลิสก์นี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์ทุตโมสที่ 1 (1506–1493 ปีก่อนคริสตกาล) โดยเป็นการประกาศถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์และความจงรักภักดีของพระองค์ที่มีต่ออามูน-รา เทพเจ้าสูงสุดแห่งเมืองธีบส์
เสาโอเบลิสก์นี้ มีพื้นผิวที่เรียบและสูงตระหง่าน เป็นหนึ่งในเสาโอเบลิสก์ที่เก่าแก่และสูงที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ของอียิปต์ .. ได้รับการออกแบบให้ทะลุทะลวงสวรรค์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของชาวอียิปต์เกี่ยวกับความเชื่อมโยงอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างโลกกับท้องฟ้า
เสาโอเบลิสก์ของทุตโมสที่ 1 ประดับด้วยอักษรเฮียโรกลิฟิกที่ยกย่องฟาโรห์และเฉลิมฉลองความสำเร็จของพระองค์ .. ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งศิลปะ ความทุ่มเท และนวัตกรรมที่เหนือกาลเวลา ..
ปัจจุบัน เสาโอเบลิสก์แห่งนี้ยังคงเป็นเสาหลักแห่งมรดกอันยั่งยืนของอียิปต์ และให้มุมมองถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งใประวัติศาสตร์ และเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมในกลุ่มวิหารคาร์นัค
เสาโอบิลิกส์อีกหนึ่งเสา เป็นเสา 1 ใน 2 ของ “ฟาร์โรห์หญิง Hatshepsut” (1473 - 1458 ปีก่อนคริสตกาล) ที่พระองค์สร้างขึ้นในวาระครบรอบการครองราชย์ครบ 16 ปี
.. เสาสูง 30 เมตร น้ำหนักราว 323 ตัน สร้างด้วยหินแกรนิตสีชมพูที่เอามาจากเมืองอัสวาน (Aswan) .. นับเป็นเสาโอบิลิกส์ที่สูงที่สุด ตั้งตระหง่านเหนือซากปรักหักพังที่คาร์นัก ราวกับจะท้าทายความพยายามที่จะลบพระนามของพระองค์จากหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์
หลังจากที่พระนางสิ้นพระชนม์ ฟาร์โรห์ Thutmes III ได้สั่งให้ลบความทรงจำเกี่ยวกับพระนาง ด้วยการสร้างกำแพงล้อมรอบเสาที่พระนางได้ทอดอุทิศถวายให้กับมหาวิหารตามจารีตของบรรดากษัตริย์ทั้งหลายที่กระทำต่อเนื่องกันมา
การกระทำของ Thutmes III กลับเป็นผลดีในกาลต่อมา ที่เสาโอบิลิกส์ของพระนางได้รับการปกป้องไม่ให้เสียหาย แต่กลับอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สมกับที่พระนางทรงอ้างว่ามีถึง 9 Ka โดยแท้จริง
เสาโอบิลิกส์อีกต้นหนึ่งที่มีภาพสลักของพระนางในพิธีสวมมงกุฎขึ้นครองราชย์ปกครองแผ่นดินอียิปต์หักโค่นลง และตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์
หากจะนึกถึงการนำเอาเสาหินขนาดใหญ่หนักหลายร้อยตัน 2 ต้นมาจากอัสวาน ในระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ผ่านเส้นทางและอุปสรรคทางธรรมชาติมากมาย คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ .. แต่มีภาพจำหลักที่วิหารของพระนาง เล่าเรื่องการขนส่งเสานี้ หากมีโอกาสจะเล่าให้ฟังค่ะ
ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ (The Sacred Lake)
ทะเลสาบขนาดใหญ่ ขุดในสมัยฟาโรห์ Taharqa จากราชวงศ์ที่ 26 ยาว 200 เมตร กว้าง 177 เมตร ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ตรงพื้นที่กลางของวิหารเกือบทั้งหมด
น้ำในทะเลสาบปนเปื้อนมากไม่ควรสัมผัส .. เมื่อราวสามพันปีที่แล้ว นักบวชของวิหารก็ไม่ใช้น้ำในสระนี้ ด้วยเหตุที่มีข้อกำหนดว่าจะต้องใช้น้ำสะอาดที่ไหลในการชำระล้างประจำวัน สระนี้ถูกใช้ในการลอยเรือศักดิ์สิทธิ์ขนาดเล็กข้ามผิวทะเลสาบในวันที่มีพิธีเทศกาล
ในสมัยโบราณ จะมีการปล่อยห่านลงไปในทะเลสาบ ตามความเชื่อที่ว่า ห่านเป็นสัญลักษณ์ของเทพ Amon ห่านจะวางไข่ของจักรวาลในน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ ที่ซึ่งสิ่งมีชีวิตได้ก่อกำเนิด
อนุสาวรีย์รูปแมลงตัวสแค-รับ (Scarab)
"ด้วงสการับ" สัญลักษณ์ตัวแทนของเทพเจ้าเคปริ (Atum-Khepri) ที่เป็นสุริยะเทพในยามเช้า … เป็นด้วงที่แกะสลักจากหินแกรนิต ตัวใหญ่มากๆ และเป็นรูปสลักหินด้วงตัวเดียวในจำนวน 4 ตัวที่ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) แห่งราชวงศ์ที่ 18 ได้สร้างขึ้นและตั้งอยู่ในวิหารของพระองค์ที่เขต West Bank ..
ตัวนี้ถูกนำมาที่นี่ในสมัยของฟาร์โรห์ชาวนูเบียนเมื่อครั้งที่ปกครองอียิปต์ คือ “Tanarqa” แห่งราชวงศ์ที่ 25 พระองค์ก็ได้เคลื่อนย้ายด้วงสการับรูปนี้มาวางไว้ใกล้กับทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิหารคาร์นัค ในเมืองลักซอร์ และมันก็ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ใกล้กับซากเสาโอเบลิสก์ มาจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้ มีการเชื่อว่า "ด้วงสการับ" เป็นแมลงนำโชค … ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องรางในสมัยอียิปต์โบราณ สัญลักษณ์แมลงสคารับที่อยู่ในอักษรไฮโรกลิฟิก อ่านว่า “เคเปอร์” (kheper) มีความหมายว่า การเกิดหรือการเกิดใหม่ เป็นที่มาของชื่อเทพเจ้าเคปริ (kheperi) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรพสิ่ง
ดังนั้นแมลงสคารับจึงเหมือนสัญลักษณ์แห่งการเกิดใหม่ ... แม้ว่ามันจะอยู่ตามใต้ก้อนหินหรือท่อนไม้นานๆ ก็ไม่ตาย ซึ่งหมายถึงการมีอายุยืน ชาวอียิปต์โบราณจึงใช้เครื่องรางหมายถึงการมีอายุยืน
ภาพที่เราเห็นกันจนชินตาของด้วงสการับนี้ก็คือ จะมีนักท่องเที่ยวทุกเชื้อชาติไป "เดินวน" รอบสการับ บ้างก็เดินวน 3 รอบ บ้างก็ 7 รอบ เพื่อขอพร
รูปปั้นนิ้วมือขนาดมหึมาของของ Pharaoh Amenhotep III ในมหาวิหารคานัค
วิหารแห่งเทพเจ้า "ตูตู" (Tutu) #30
“เทพเจ้าตูตู” .. อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก เพราะเทพเจ้าองค์นี้เพิ่งโผล่เข้ามาในสาระบบความเชื่อเกี่ยวกับเทวะตำนานของอียิปต์โบราณในยุคปลาย (Late Period) จนถึงช่วงกรีก-โรมันเท่านั้นเอง
นั่นหมายความว่าในสมัยของฟาโรห์องค์ดังๆอย่างคูฟู ตุตันคาเมนหรือแม้แต่รามเสสที่ 2 พระองค์ล้วนยังไม่เคยรู้จักเทพเจ้าตูตูองค์นี้
ตำนานกล่าวว่า “เทพเจ้าตูตู” เป็นบุตรชายของ “เทพีนีธ (Neith)” บทบาทสำคัญของเทพองค์นี้มีความเกี่ยวข้องกับการขับไล่พลังชั่วร้ายจากบรรดาภูมิผีปีศาจต่างๆ ซึ่งหน้าที่ก็คล้ายๆกับเทพเจ้าเบส ที่มีพลังในการปกป้องคุ้มครองจากพลังชั่วร้ายเช่นกัน
รูปลักษณ์ของเทพเจ้าตูตูมักจะเป็นสิงโตที่มีศีรษะเป็นมนุษย์ (บ้างก็สวมเครื่องประดับเนเมสเหมือนฟาโรห์) อยู่ในท่าทางของการย่างเท้าก้าวเดิน บางครั้งตูตูก็อาจจะมี "ปีก" คล้ายนกและอาจจะมี "หาง" เป็นงูได้ด้วยเช่นกัน
เข้าใจว่าวิหารเทพเจ้าตูตูมีทางเชื่อมไปยังวิหารอื่นๆในยุคก่อนหน้าหลานวิหาร แต่พื้นที่ส่วนนี้ไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชม
สตรีในอารยธรรมอียิปต์โบราณ
เธอคือเซชาต (หญิงสาวแห่งดวงดาวทั้งเจ็ด) วิหารคาร์นัค สัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสากล วิศวกรที่วัดพื้นที่และกำหนดมุมที่ถูกต้องสำหรับการสร้างวิหารและปิรามิด เธอสวมชุดเสือดาวเสมอและถือ*เครื่องมือวัด* ไว้ในมือเพื่อตอกหมุดเพื่อทำเครื่องหมายขอบเขตของวิหาร
เหนือศีรษะของเธอมีดาวเจ็ดแฉก ซึ่งเป็นตัวแทนของอาชีพทั้งเจ็ดที่เธอเชี่ยวชาญ ได้แก่ **วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรม การเขียน เวทมนตร์ การแพทย์ และคณิตศาสตร์
โฆษณา