16 เม.ย. เวลา 16:54 • ความคิดเห็น

พนักงานจีนโดนไล่ออก เพราะลุกออกจากโต๊ะทำงาน 1 นาที เป็นเวลา 6 วัน จุดประเด็นถกในโซเชียลจีน

#เรื่องเล่ายามดึก อ้ายจงมีเรื่องมาเล่า เป็นเรื่องราวคดีแรงงานที่เกิดขึ้นในเมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ประเทศจีน ที่ถือเป็นคดีแรงงานที่โลกโซเชียลจีนพูดถึงวงกว้างทีเดียว
โดยขอเขียนให้เคลียร์นิดหนึ่งว่า เป็นการสรุปมาจากการนำเสนอข่าวในจีน และในโลกโซเชียลจีน ที่สะท้อนความคิดของคนจีนไม่น้อยในสังคมจีนตอนนี้ ที่อาจขัดจากที่เราเคยทราบกันมา ว่า จีนทำงานกันหนักมาก การทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติ เพราะมองว่า ไม่ทุ่มเท
แต่กลายเป็นว่า เริ่มมีเสียงในจีน สะท้อนถึง “การทำงานควรยืดหยุ่นได้หรือไม่?” ซึ่งแน่นอนว่า มันอาจผิดระเบียบบริษัท
เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ “คุณหวัง” ซึ่งถูกไล่ออกเพราะออกจากโต๊ะทำงานก่อนเวลาเพียง 60 วินาที หรือแค่ 1 นาทีเท่านั้น ใน 6 วัน
หลังจากทำงานกับบริษัทแห่งหนึ่งในกว่างโจวมา 3 ปี คุณหวังถูกเลิกจ้างโดยอ้างอิงจากภาพกล้องวงจรปิดที่แสดงว่าเธอออกจากโต๊ะก่อนเวลาเลิกงานเพียง 1 นาที รวม 6 วัน บริษัทใช้กฎระเบียบด้านเวลาอย่างเข้มงวดเพื่อรองรับการตัดสินใจนี้ นำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมาย และศาลท้องถิ่นได้ตัดสินว่า “การเลิกจ้างนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สมเหตุสมผล”
ประเด็นสำคัญทางกฎหมายที่ศาลชี้ชัด มีดังนี้ครับ
1. ไม่มีขั้นตอนตักเตือนตามลำดับ – นายจ้างไม่เคยเตือนหรือให้โอกาสในการปรับปรุงพฤติกรรม
2. บทลงโทษเกินกว่าเหตุ – ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายวิจารณ์ว่า “การเลิกจ้างถือว่าโหดเกินไป” โดยไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเจตนาไม่ทำงาน
3. บริบททางวัฒนธรรม – กฎหมายแรงงานจีนระบุชัดว่า นายจ้างต้องสร้างสมดุลระหว่าง “ประสิทธิภาพ” กับ “การบริหารอย่างมีมนุษยธรรม” ซึ่งกรณีนี้ผลักประเด็นดังกล่าวสู่การถกเถียงวงกว้าง
คดีนี้กลายเป็นกระแสร้อนบนแพลตฟอร์ม Weibo และโซเชียลมีเดียจีนอืืนๆ รวมถึงในต่างประเทศ (ตามการรายงานของสื่อในจีน) โดยมีชาวเน็ตเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในที่ทำงานต่างๆนานา เช่น
- “ถ้าออกก่อน 1 นาทีโดนไล่ออก แล้วทำไมคนมาเร็วกว่าถึงไม่ได้โบนัส?”
- “บริษัทนี้ให้ความสำคัญกับวินาที มากกว่าสุขภาพจิตมนุษย์ ไม่แปลกใจที่ Gen Z เลิกอยู่ในระบบองค์กร”
- บางคนมองว่า มันสะท้อนคำถามในโลกการทำงานยุคใหม่ ที่มองหาความยืดหยุ่นมากขึ้น ว่า
“องค์กรควรจัดการกับพนักงานแบบเครื่องจักร หรือแบบมนุษย์?”
- บางคน ยังมองว่า คดีของคุณหวังจึงไม่ใช่แค่เรื่องของพนักงานคนหนึ่งในกว่างโจว แต่เป็นภาพสะท้อนอย่างดีว่า ระสิทธิภาพที่ยั่งยืน อาจไม่ใช่การบีบทุกวินาทีให้คุ้มค่า แต่อยู่ที่การทำให้คนรู้สึกว่า เขาเป็น “คนทำงาน” ไม่ใช่แค่ “แรงงาน” นั่นเองครับ
- แน่นอนว่า มีคนจีนไม่น้อย มองว่า บริษัททำถูกเพราะปกป้องสิทธิของบริษัท ที่ตั้งกฎไว้ เรื่องเวลาเลิกงาน (แต่ทั้งนี้ ในเนื้อหาข่าวที่อ่านมา คือระบุว่า ลุกจากโต๊ะนะครับ ไม่ใช่ว่าตอกบัตรออกก่อนเลิกงาน)
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
โฆษณา