17 เม.ย. เวลา 03:00 • ธุรกิจ

โมเดลธุรกิจ “ตลาดสดพรีเมียม” รวมร้านดัง ๆ ในที่เดียว ที่กำลังเวิร์กมาก คนเยอะมากตอนนี้

ถ้าพูดถึง “ตลาดสด” หลายคนอาจจะคิดถึงตลาดสดอากาศร้อน ๆ และมีกลิ่นอาหารสดตลบอบอวล
ซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกใจทุกคน
1
แต่ตอนนี้มีโมเดลตลาดสดแบบพรีเมียมที่เอาของสด, ร้านอาหารแบรนด์ดัง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มารวมกันในที่เดียว และมีการแยกโซนกันชัดเจน ซึ่งดูพรีเมียมกว่าตลาดสดทั่ว ๆ ไป ให้เห็นอยู่หลายแห่ง
ตลาดสดแบบนี้กำลังฮิตมาก ๆ เห็นได้จากการพูดถึงบนโลกโซเชียล และจำนวนคนเดินตลาดที่แน่นตลอดในหลาย ๆ ที่
โมเดลตลาดสดพรีเมียมมีอะไรน่าสนใจบ้าง และทำไมถึงฮิต ?
MarketThink ชวนทุกคนมาวิเคราะห์กันในโพสต์นี้
ถ้าจะยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับ ตลาดสดพรีเมียม
สถานที่ที่ใกล้เคียงที่สุดก็น่าจะเป็น “ตลาดสดธนบุรี” และ “The Glass Market Bangna” ที่หลายคนน่าจะเคยเห็นกันตามโซเชียล
โดย ตลาดสดธนบุรี จะเป็นตลาดขนาด 30 ไร่ ตั้งอยู่ที่ถนนบรมราชชนนี เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ตลาดสดธนบุรี มีพื้นที่ให้บริการ 4 โซน ได้แก่
- โซนศูนย์อาหาร
- โซนตลาดสด
- โซนขายดอกไม้
- โซนร้านค้าปลีก รวมถึงบริการอื่น ๆ มี ฟิตเนส, ร้านค้า และร้านขายยา
1
ส่วน The Glass Market Bangna เป็นตลาดขนาด 20 ไร่ ตั้งอยู่ที่ถนนบางนา-ตราด กม.7 บริเวณปากซอยโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว เปิดให้บริการเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมานี้
สำหรับ The Glass Market Bangna จะมีพื้นที่ให้บริการ 3 โซน ได้แก่
- โซนฟูดคอร์ต
- โซนตลาดสด
- โซนร้านค้าปลีก และบริการอื่น ๆ มี ฟิตเนส, ร้านค้า และร้านขายยา
1
จะเห็นได้ว่าตลาดทั้ง 2 แห่ง จะมีโมเดลธุรกิจคล้าย ๆ กัน คือเน้นพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นสิบ ๆ ไร่ แต่จะมีการแบ่งพื้นที่ให้บริการออกเป็นหลาย ๆ โซนอย่างชัดเจน
ซึ่งข้อดีของการทำแบบนี้คือ จะช่วยลด Pain Point ของตลาดสดแบบเดิมให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
คนที่ไม่ได้อยากเดินตลาดสดก็สามารถมาใช้บริการได้แบบไม่ต้องกลัวกลิ่นเหม็น
ในขณะที่คนอยากเดินตลาดสดก็ยังมีร้านค้าประเภทอื่น ๆ ให้เลือกใช้บริการได้ด้วย ไม่ได้มีแค่ของสดให้ซื้อเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ของโมเดลตลาดแบบนี้ คือ “โซนอาหาร” ที่เอาแบรนด์ดังมารวมกันเยอะ ๆ
โดยโซนอาหารในตลาดลักษณะนี้จะเป็นการเอาร้านดังหลาย ๆ ร้านมารวมกัน และมีส่วนกลางให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารรวมกันเหมือนเป็นฟูดคอร์ตขนาดใหญ่
การทำแบบนี้ นอกจากลูกค้าจะมีร้านอาหารให้เลือกเยอะ แบบครบจบในที่เดียวแล้ว ลูกค้ายังจะได้ประสบการณ์แบบใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากการทานอาหารในศูนย์การค้าในหลาย ๆ มุม
ยกตัวอย่างเช่น
- ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากหลาย ๆ ร้านมาทานพร้อมกันได้
เช่น ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากร้าน A ซื้อของทอดจากร้าน B และสั่งเครื่องดื่มที่ร้าน C มานั่งทานในมื้อเดียวกันได้
โดยที่ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะเดินเข้าร้านใดร้านหนึ่งเหมือนร้านอาหารในศูนย์การค้า หรือร้านอาหารใน Community Mall ที่ชอบตั้งร้านแยกกัน
- ลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มไม่ต้องเลือกว่าจะเข้าร้านใดร้านหนึ่ง
เช่น ถ้ามีลูกค้าเป็นกลุ่มคู่รัก สมมติว่ามีคนหนึ่งอยากทานผัดกะเพรา แต่อีกคนอยากทานสุกี้
แบบนี้ถ้าไปศูนย์การค้า ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องเลือกร้านใดร้านหนึ่ง
แต่ถ้าไปที่ตลาดสดโมเดลแบบนี้ แต่ละคนจะสามารถเลือกทานร้านที่ต้องการได้ โดยที่ยังสามารถนั่งด้วยกันได้นั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ ตอนนี้มีแบรนด์ดัง ๆ มาตั้งร้านในตลาดโมเดลแบบนี้เยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่
ตัวอย่างแบรนด์ดังใน ตลาดสดธนบุรี เช่น
- GON Express (ร้านอาหารจานด่วนของ Bar B Q Plaza)
- เจปัง ไอติมย่างเนย
- แอนก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ และอีกหลาย ๆ แบรนด์
 
ตัวอย่างแบรนด์ดังใน The Glass Market Bangna เช่น
- นายอ้วนเย็นตาโฟ
- 71 หมูกะทะ Quick Meal (ร้านอาหารจานด่วนของ 71 หมูกะทะ)
- Jones Salad
- เนื้อแท้ Wok และอีกหลาย ๆ แบรนด์
ซึ่งร้านดังเหล่านี้มีฐานลูกค้าในมือเยอะอยู่แล้ว พอเอามาเปิดรวมกันก็ยิ่งทำให้ Traffic ของลูกค้าจากแต่ละแบรนด์เข้ามาในตลาดเยอะมาก ๆ
อ่านถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนน่าจะเห็นภาพแล้วว่าทำไมโมเดลตลาดสดพรีเมียมแบบนี้ถึงฮิตมาก ๆ ในหลายพื้นที่
1
แต่ก็ใช่ว่าโมเดลตลาดแบบนี้จะไม่มีข้อเสียเลย
เพราะด้วยรูปแบบการเอาร้านดัง ๆ มารวมกัน โดยให้ลูกค้านั่งรวมกัน จะมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง
ยกตัวอย่างเช่น
- เรื่องการบริการในตลาด ที่อาจจะยังไม่ทั่วถึงเท่าการไปนั่งทานอาหารในร้านจริง ๆ ดังนั้นคนที่ซีเรียสเรื่องการบริการอาจจะไม่เหมาะกับการมาตลาดแบบนี้
- เรื่องความหลากหลายของประเภทอาหาร เช่น ชาบู, หมูกระทะ หรือเมนูอื่น ๆ ที่ต้องใช้พื้นที่บนโต๊ะอาหารเยอะ อาจจะมีข้อจำกัดที่จะเสิร์ฟในตลาดแบบนี้
โมเดลตลาดแบบนี้เลยอาจจะเหมาะกับอาหารประเภทอาหารจานเดียวมากกว่านั่นเอง
ปิดท้ายด้วยเรื่องน่าสนใจ..
รู้หรือไม่ ? The Glass Market Bangna พัฒนาโดย บริษัท สุถิระพัฒน์ จำกัด เจ้าของสนามกอล์ฟเมืองแก้ว และ Chiangmai Highlands Golf and Spa Resort
ซึ่งเป็นธุรกิจในครอบครัวของ คุณตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย นักแสดงที่หลายคนรู้จักกันดีจากซีรีส์ Together With Me อกหักมารักกับผม และ Manner of Death พฤติการณ์ที่ตาย ซึ่งเป็นผู้ปลุกปั้นตลาดแห่งนี้ร่วมกับพี่สาวด้วย
โฆษณา