Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MarketThink
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
18 เม.ย. เวลา 03:00 • การตลาด
อธิบาย วิธีสร้าง Experiential Marketing การตลาด ขายประสบการณ์ ผ่านเคส PAÑPURI
โดยปกติแล้ว เมื่อพูดถึงคำว่า “การตลาด” หลายคนน่าจะนึกถึง กิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
การทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
การโฆษณาทางทีวี วิทยุ หรือป้ายบิลบอร์ดใหญ่ ๆ
หรือการจัดโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม
แต่จริง ๆ แล้ว ในโลกของการตลาด ยังมีการตลาดในรูปแบบอื่นอีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Experiential Marketing
แล้ว Experiential Marketing คืออะไร ?
Experiential Marketing คือ การตลาดเชิงประสบการณ์ เป็นกลยุทธ์การตลาดที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับลูกค้า จนเกิดเป็นความประทับใจ หรือความรู้สึกดี ๆ ที่ลูกค้ามีให้ต่อแบรนด์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในระยะยาว
โดยสาเหตุที่ทำให้ Experiential Marketing มีความสำคัญ ก็เป็นเพราะพฤติกรรมของลูกค้าในยุคนี้เปลี่ยนไป ประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ มีความสำคัญมากขึ้น ไม่ต่างจากคุณสมบัติของสินค้าที่ลูกค้าจะซื้อเลย
จนมีคำกล่าวที่ว่า “ลูกค้าในยุคนี้ ไม่ได้ซื้อสินค้า แต่ซื้อประสบการณ์”
ตัวอย่างเคสหนึ่งที่มีความน่าสนใจในการทำการตลาดแบบ Experiential Marketing ก็คือเคสของแบรนด์ PAÑPURI
โดยเรื่องนี้ คุณวรวิทย์ ศิริพากย์ ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท ปุริ จำกัด เจ้าของแบรนด์ PAÑPURI เคยอธิบายไว้ในงาน The Entrepreneur Forum 2025 ของลงทุนแมน
ว่าหนึ่งวิธีที่ใช้ในการสร้างแบรนด์ให้มีความพรีเมียมแบบ PAÑPURI คือ การสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า
โดยตัวอย่างวิธีการของ PAÑPURI คือ ให้ความสำคัญกับการสร้าง Sensorial Experience ที่ให้ลูกค้าได้สัมผัสกับ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ในทุก ๆ Touch Point ของตัวสินค้า และหน้าร้าน
รวมถึงมีการสร้างประสบการณ์ ผ่าน Storytelling ที่ทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ ตั้งแต่การตั้งชื่อกลิ่นหอม ไปจนถึงชื่อคอลเลกชัน ที่ต้องมี Storytelling ในทุกองค์ประกอบ
นอกจากเคสของ PAÑPURI ก็ยังมีเคสอื่น ๆ และวิธีการอื่น ๆ ในการสร้างการตลาดเชิงประสบการณ์ให้กับลูกค้าของแบรนด์ เช่น
- การจัดกิจกรรม อิเวนต์ หรือ Pop-Up Store
ที่ทำให้ลูกค้าได้ลองสัมผัสประสบการณ์การใช้สินค้าจริง นอกเหนือจากการรับรู้คุณสมบัติของสินค้าเพียงอย่างเดียว
เช่น Dyson ที่เคยนำไดร์เป่าผม มาให้ใช้งานแบบฟรี ๆ กลางเทศกาลสงกรานต์ ทำให้คนทั่วไปได้รู้ถึงคุณสมบัติ และสัมผัสประสบการณ์การใช้ไดร์เป่าผม Dyson โดยไม่ต้องขายสินค้าแบบตรง ๆ
- การสร้างประสบการณ์ภายในร้าน ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า
เช่น ร้านซูชิสายพาน Katsu Midori จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีกิจกรรมพิเศษให้ลูกค้าได้ร่วมสนุก หากสั่งเมนู อิคุระหน้าล้น
Haidilao ที่มีการแสดงโชว์พิเศษเมื่อลูกค้าสั่ง เส้นนุ่มกังฟู ภายในร้าน
หรือ Apple ที่ตั้งใจจัดร้าน Apple Store ให้มีกิจกรรม Today at Apple ที่สอนการใช้งานฟีเชอร์ต่าง ๆ ของสินค้า Apple แทบทุกชนิด
- การสร้างประสบการณ์ด้วยเทคโนโลยี
เช่น การใช้เทคโนโลยี AR/VR ที่ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์จากแบรนด์ ได้จากทุกที่ทั่วโลก
- การทำการตลาดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ที่เน้นการสร้าง User Generated Content ของคนทั่วไป เช่น Apple ที่มีการใช้ #ShotoniPhone เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าร่วมกันแบ่งปันภาพถ่าย ที่ถ่ายด้วย iPhone ของตัวเอง
ทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Experiential Marketing หรือการตลาดเชิงประสบการณ์ ที่เน้นการสร้างประสบการณ์ สร้างความประทับใจ ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว มากกว่าการขายสินค้า โดยสื่อสารถึงคุณสมบัติของสินค้าแบบตรง ๆ
ในยุคที่ใคร ๆ ก็บอกว่า ลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ซื้อประสบการณ์ที่จะได้รับ เช่นเดียวกัน..
1.
https://everydaymarketing.co/knowledge/make-customers-unforgettable-by-experience-marketing-strategy/
2.
https://connect-x.tech/experience-marketing/
3.
https://thegrowthmaster.com/blog/experiential-marketing-connect-consumers
การตลาด
บันทึก
4
1
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย