17 เม.ย. เวลา 12:10 • ท่องเที่ยว

Egypt (14) Luxor: วิหาร Luxor Temple

แม่น้ำไนล์เปรียบเสมือนสายเลือดของอียิปต์โบราณ สายน้ำไหลจากทางใต้ไปทางทิศเหนือ ตลอดเส้นทางในฤดูน้ำหลาก น้ำได้เอ่อล้นฝั่งเข้าไปยังคูคลองที่ซอกซอนอยู่ทั่วดินแดน
บางพื้นที่ที่เป็นศาสนสถานบูชาเทพเจ้า จึงได้ใช้สายน้ำประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง
Photo : Internet
เมืองธีปโบราณ หรือลักซอร์ในปัจจุบัน ก่อนสมัย New Kingdom .. มีประเพณีแห่เทพ Amen ทางน้ำ เป็น The barks procession หรือเทศกาลโอเพตประจำปี
ซึ่งจะมีการแห่รูปปั้นบูชาของอามุนไปตามแม่น้ำไนล์จากวิหารคาร์นัค (อิเพต-ซุต) ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อประทับอยู่ที่นั่นชั่วระยะหนึ่งกับมุต มเหสีของพระองค์ เพื่อส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของอามุน-เรและฟาโรห์
Photo : Internet
ขบวนแห่ จะเดินทางระหว่างวิหารคานัค กับวิหารลัคซอร์ ซึ่งกำหนดวันตามปฏิทินทางจันทรคติ เป็นประจำทุกปี .. อาจจะเทียบเคียงกับประเพณีไหลเรือไฟของผู้คนทางเหนือและอีสานของบ้านเรา
ต่อมาเมื่อปฏิทินตามจันทรคติเลื่อนออกไป ไม่ตรงกับช่วงที่น้ำหลาก ประกอบกับคูคลองตื้นเขินขึ้น จึงได้มีการสร้างถนนสฟิงซ์หัวแพะขึ้นระยะทางยาวราว 2.5 กม. (เริ่มสร้างในช่วงสมัย New Kingdom มาเสร็จสิ้นในรัชกาลชอง Neclanebo I ของราชวงศ์ที่ 30)
เพื่อใช้ในพิธีข้างต้นแทนการเดินทางโดยทางน้ำ แต่ยังมีการนำเทพเจ้าใส่ลงไปในเรือศักดิ์สิทธิ์ขนาดเล็ก แล้วแห่แหนระหว่างสองวิหารเช่นเดิม
ชาวอียิปต์โบราณมีชื่อเสียงในเรื่องวิหารที่สวยงาม ว่ากันว่า .. วิหารลักซอร์ในสมัยโบราณล้อมรอบด้วยสวน ภูมิทัศน์สวยงาม แต่วิหารลักซอร์ในปัจจุบันโดดเด่นอยู่ท่ามกลางอาคารพาณิชย์ที่ทันสมัยรายล้อมเกือบทุกด้าน ยกเว้นด้านที่ติดกับแม่น้ำไนล์ ทั้งร้านอาหาร ร้านหนังสือ โรงแรม และอาคารพาณิชย์ชนิดอื่นอีกมากมาย
เราแวะทานอาหารอิตาเลียนที่ร้านหน้าวิหาร .. วิวในมุมสูงของวิหารลัคซอร์ดูสวยงาม วิหารไม่ได้กว้างขวาง แต่ทอดตัวยาวขนานไปกับแนวของแม่น้ำไนล์
ด้านที่เป็นทางเข้าวิหารมองเห็นมัสยิดของขามุสลิม ดูผิดแผกผิด และผิดที่ผิดทางไม่น้อย
วิหารลักซอร์ (อาหรับ: معبد الأقصر) เป็นกลุ่มวิหารอียิปต์โบราณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ในเมืองที่ปัจจุบันเรียกว่าลักซอร์ (Acient Thebes) และสร้างขึ้นในช่วงอาณาจักรใหม่ เมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อนคริสตศักราช
ในภาษาอียิปต์ วิหารนี้เรียกว่าอิเพต เรสซีต ซึ่งแปลว่า "วิหารทางใต้" เป็นหนึ่งในวิหารหลักสองแห่งบนฝั่งตะวันออก อีกแห่งคือคาร์นัค
วิหารลักซอร์สร้างขึ้นโดยอเมนโฮเทปที่ 3 รามเสสที่ 2 ตุตันคาเมน และฟาโรห์องค์อื่นๆ เป็นเวลานานหลายร้อยปี เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญและใหญ่โตในอียิปต์โบราณ
วิหารลักซอร์ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองธีบส์ในสมัยนั้นเคยเป็น "สถานที่แห่งโอกาสแรก" ที่ซึ่งเทพเจ้า Amun ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรุ่งโรจน์และความอุดมสมบูรณ์ ได้เกิดใหม่อีกครั้งในพิธีราชาภิเษกซึ่งจัดขึ้นซ้ำทุกปีของฟาโรห์
ทุกปีจะมีพิธีแห่รูปเทพเจ้าองค์นี้ระหว่างวิหารคานัคและวิหารลักซอร์ (The beautiful festival of the Opet) นับเป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวอียิปต์เลยทีเดียว .. วัตถุประสงค์ของพิธีในสมัยโบราณ ก็เพื่อที่จะตอกย้ำพระราชอำนาจของฟาร์โรห์ รวมถึงการผูกพันเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์กับเทพเจ้า
ฟาโรห์อเมโนฟิสที่ 3 ทรงสร้างวิหารแห่งนี้พร้อมกับการบูรณะต่อเติมวิหารคาร์นักไปด้วย … วิหารแห่งนี้มีอายุราว 3,400 ปี เป็นวิหารแบบหินทรายเนื้อละเอียด เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่โตและสูงกว่าเดิม
ต่อมากษัตริย์รามเสสที่ 2 ให้สร้างอุทยานที่หน้าวิหารขึ้นโดยเป็นผลงานอันแสนอลังการในยุคนั้น …
วิหารได้รับการปฏิสังขรณ์สานต่อจากฟาโรห์องค์ต่อมาหลายพระองค์ แต่ที่เด่นที่สุดจนวิหารแห่งนี้ดูสมบูรณ์แบบสวยงามนั้นเป็นฝีมือของฟาโรห์รามเสสที่ 2 .. ที่นี่เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองเพื่อการพักผ่อนของเทพ Amun-Ra และครอบครัว คือ เทวี Mutt และเทพเจ้าคอนส์หรือคอนชู
ด้านหลังของวิหารเป็นโบสถ์ที่สร้างโดยอเมนโฮเทปที่ 3 แห่งราชวงศ์ที่ 18 และอเล็กซานเดอร์ ส่วนอื่นๆ ของวิหารสร้างโดยตุตันคาเมนและรามเสสที่ 2
ในสมัยโรมัน วิหารและบริเวณโดยรอบเป็นป้อมปราการของทหารโรมันและเป็นที่ทำการของรัฐบาลโรมันในพื้นที่ ในสมัยโรมัน โบสถ์ภายในวิหารลักซอร์ซึ่งเดิมอุทิศให้กับเทพีมุตถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์ลัทธิเททราร์คีและต่อมาเป็นโบสถ์
วิหารลักซอร์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกในปี 1979 พร้อมกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในธีบส์
ปัจจุบัน ซากของอาคารขนาดใหญ่แห่งนี้ยังรวมถึงห้องโถงคอลอนเนดขนาดใหญ่ ที่มีความยาวเกือบ 61 เมตร พร้อมเสาสูง 21 ฟุต 28 ต้น ซึ่งการตกแต่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยตุตันคาเมนเมื่อประมาณ 1330 ปีก่อนคริสตกาล ผนังด้านข้างของวิหารหลายแห่งถูกทำลายลงหลังจากยุคของฟาโรห์และนำกลับมาใช้ใหม่เป็นวัสดุก่อสร้าง
ผังของวิหารลักซอร์
Court of Nectanebu I (#2)
หน้าวิหาร : เดิมมีเสาโอเบลิสก์ ที่ฐานมีรูปสลักของลิงบาบูนต้นละ 4 ตัว ที่สร้างโดยฟาร์โรห์รามเสสที่ 2 ตั้งอยู่ 1 คู่ …
เสาสูงต้นละ 25 เมตร หนัก 254 ตัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ควบคู่วิหารแห่งนี้ ที่จะให้ความรู้สึกแข็งแกร่ง เข็มแข็ง มั่นคง มีความหมายถึงชีวิต ความสว่างและความรุ่งโรจน์
ปัจจุบันเหลือให้เห็นแค่ 1 ต้น ตั้งเป็นสง่าที่เหมือนช้างงาเดียว .. อีกต้นถูกนำไปตั้งไว้ที่ Place de la Concorde กลางกรุงปารีส เพื่อเป็นของขวัญแก่ประเทศฝรั่งเศส ในสมัยของโมฮาเหม็ด อาลี ดาชา (Mohamed Ali Dasha) โดยได้รับนาฬิกา (ที่ไกด์ของเราพูดว่า .. We received the clock that has not even worked in return! Ha haaaa) เป็นของขวัญต่างตอบแทนกลับมาเมื่อปี 1846
ปัจจุบันนาฬิกาเรือนนี้ตั้งอยู่ที่ The Citadel of Cairo หน้าสุเหร่า สุลต่าน โมฮัมเหม็ด อาลี
เกร็ดเล็กๆเรื่องราวของการที่เสาที่มีความสำคัญถูกส่งผ่านให้กับฝรั่งเศสมีการเล่าขาน ผ่านเสียงกระซิบเบาๆมาว่า .. ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว Josephine ได้กระซิบบอก นโปเลียนผู้ยิ่งใหญ่ว่า “ในขณะที่ท่านอยู่ในอียิปต์ หากท่านไปยังเมืองธีป ช่วยส่งเสาโอบิลิกส์เล็กๆสักต้นมาให้ข้าด้วย” ..
ในกาลต่อมา ฝรั่งเศสก็ได้รับเสาศักดิ์สิทธิ์นี้จริงๆ ตามคำขอของหญิงในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสคนนั้น อิอิ
เสียงกระซิบยังเล่าขานอย่างเมามันต่อไปว่า .. ความจริงแล้ว หลังจากการเจรจา (ลับๆหรือเปล่าก็ไม่รู้) อยู่หลายรอบ ฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้นำเสาโอบิลิกส์จากวิหารลักซอร์ไปได้ทั้ง 2 ต้น
.. แต่มาคิดๆดู ค่าขนส่งเสาที่หนักอึ้งทั้งสองต้นไปปารีสมันก็มากหนักหนาพอดู ฝรั่งเศสเลยเลือกเอาต้นที่มีสภาพสมบูรณ์กว่าไปเพียงต้นเดียว และไปถึงจุดหมายที่ปารีสในเดือนตุลาคม 1833 .. เสาต้นที่เราเห็นจึงเหลือจากการเลือกของฝรั่งเศส
หน้าประตูทางเข้าสู่วิหาร : มีรูปสลักลอยสร้างด้วยหินแกรนิตสีแดง สูง 7 เมตร ของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ในท่าประทับนั่ง ขนาบประตูทางเข้าทั้งสองข้าง
.. รูปสลักของฟาร์โรห์ทางด้านซ้าย มีรูปสลักขนาดเล็กของพระนางเนเฟอตารีและพระธิดาในท่ายืน ตั้งอยู่ด้วย และด้านข้างของบัลลังก์หินที่องค์ฟาร์โรห์ประทับนั่ง มีการประดับด้วยรูปสลักของเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์
นอกจากนั้นยังมีร่องรอยของรูปสลักของฟาร์โรห์อีก 4 พระองค์ และ 1 ในนั้นปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟท์
The first pylon (#4)
กำแพงวิหารชั้นที่หนึ่ง สูง 24 เมตร กว้าง 65 เมตร บนกำแพงมีรูปสลักเรื่องราวของฟาร์โรห์รามเสสที่ 2 กำลังต่อสู้กับ Hittites ที่ Kadesh ในช่วงปีที่ 5 หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์
นอกจากนั้นบนกำแพงทั้งสองด้านมีภาพสลักเกี่ยวกับการสงครามในช่วงต่างๆ .. บางภาพผุกร่อน ร่อนหายไปด้วยฝีมือของกาลเวลา
ในบริเวณลานที่เป็นทางเดินเข้าสู่ The Great Court ด้านใน นี้มีรูปปั้นของฟาร์โรห์ รามเสสที่ 2 และเทพเจ้าต่างๆ
The Great Court (#5)
หลังกำแพง .. เป็นห้อง The Great Court ของรามเสสที่ 2 (ขนาด 57X51 เมตร) เป็นลานที่ประดับด้วยเสาดอกปาปิรุสขนาดใหญ่
ที่นี่ เคยมีรูปสลักของฟาร์โรห์รามเสสที่ 2 และฟาร์โรห์ Amenhotep III ผู้สืบสานสร้างวิหารแห่งนี้ ..
แต่ต่อมาในช่วงการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการครองราชย์ (Heb Sed or Jubilee) พระองค์ได้ลบชื่อของฟาร์โรห์ Amenhotep III ออก และแทนที่ด้วยพระนามของพระองค์
ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ตั้งของมัสยิด Abu El-Haggag ซึ่งหอมิเนอเรตของที่นี่สร้างขึ้นในในตวรรษที่ 13 .. นอกจากนี้ยังมี โบสถ์คริสต์อยู่ใต้มัสยิดด้วย
เดิมทีบริเวณนี้ถูกทิ้งร้างและมีดินทรายทับถมมานานหลายศตวรรษ ผู้คนไม่ได้ให้ความสำคัญ จึงมีชาวมุสลิมเข้ามาอยู่อาศัยหุงหาอาหารก่อไฟในห้องของวิหาร ก่อให้เกิดเขม่าดำบนเพดานของวิหาร
ต่อมาได้มีการสร้างมัสยิดทับอยู่ด้านบนด้วยความไม่รู้ว่าข้างล่างคือเขตวิหาร .. จนกระทั้งในปี ค.ศ. 1885 จึงได้มีการเคลื่อนย้ายคนออกไป แต่มัสยิดนั้นย้ายไม่ได้จนถึงถึงปัจจุบันนี้
… เราเดินชมวิหารไป พร้อมกับได้ยินเสียงดังที่มาจากการนำสวดของผู้นำศาสนาอิสลามจากมัสยิดที่อยู่ในวิหารไปด้วย และมองเห็นชาวมุสลิมสวดมนต์และทำละหมาด .. ดูแปลกๆ
ทางฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของลาน มีรูปสลักของและราชินี นาเฟอตารี และมีรูปสลักของพระองค์ตรงทางเข้าสู่ห้องถัดไปทางด้านใน
รูปสลักของเทพเจ้า
ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่ตั้งของวิหารขนาดเล็ก ของฟาร์โรห์ Theban Triad
มีห้องบูชาเทพ Amen, Mut, Khonsu ซึ่งดั้งเดิมสร้างโดยฟาร์โรห์หญิง Hatshepsut ต่อมาถูกลบชื่อมาเป็น Thutmes III และต่อมาเป็น Ramsess II ..
ตรงนี้มีเสาดอกปาปิรุส 4 ต้นตรงระเบียง ภายในมีรูปฟาร์โรห์นั่งคุกเข่าต่อหน้าเทพเจ้าทั้งสาม บนผนังมีรูปขบวนพิธีแห่เทพเจ้า Amen จากวิหารคานัค (เราไม่ได้เข้าไปชม และไม่มีภาพ)
***การลบชื่อที่มีอยู่ก่อนออกไป แล้วใส่ชื่อตนเองทับลงไป เป็นสิ่งที่เราเห็นในหลายๆวิหาร ไม่ใช่แค่ที่นี่แห่งเดียว .. วัตถุประสงค์ อาจจะเพื่อเป็นการแสดงอำนาจที่เหนือกว่า หรืออาจะเป็นความพยายามที่จะลบชื่อคนๆนั้นออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เราก็ได้แต่คิดและคาดเดา .. เราไม่รู้จริง จึงควรรับเรื่องราวเพื่อเป็นข้อมูลเท่านั้น
The Colonnade (#6)of Amenhotep III
พื้นที่ส่วนที่มีความสวยงามน่าประทับใจนี้สร้างโดยฟาร์โรห์ Thutmes III เพื่อเป็นทางเข้าสู่วิหารศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า Amen ..
เสาดอกปาปิรุสขนาดใหญ่โตสูง 16 เมตร เรียงกันเป็นคู่ แถวเป็นแนวตรง รวมทั้งสิ้น 14 เสา (เดิมคงเป็นห้องที่มีหลังคา) ดูสง่างาม น่าเกรงขาม และให้ความรู้สึกของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แม้จะมีพื้นที่ขนาดเล็ก 10X26 เมตรเท่านั้น
ว่ากันว่า .. เดิมมีผนังแบบ Rose Wall สูงถึงเพดาน และรับแสงจากทางช่องแสงบนเพดานเท่านั้น ในปัจจุบันผนังแทบจะไม่เหลือแล้ว
ภาพนูนของผนังมีพระนามของตุตันคาเมน โฮเรมเฮป เซติที่ 1 (รามเสสที่ 2 อบะเขติที่ 2 .. ต่อมาโฮเรมเฮปได้ลบชื่อกษัตริย์ออก และจารึกชื่อของตนเองแทน
รูปสลักของฟาร์โรห์ Amenheteps III และพระมเหสี
The Sun Court (#7)
The Sun Court of Amenheteps III ตั้งอยู่ติดกับทางทิศใต้ของ The Colonnade มีขนาด 45X51 เมตร ล้อมรอบด้วยแนวเสาคู่ล้อมรอบ 3 ด้าน จำนวนทั้งสิ้น 60 ต้น
ในปี 1989 มีการค้นพบรูปปั้น 26 รูปฝังอยู่ใต้พื้นลานแห่งนี้ตั้งแต่สมัยที่โรมันเข้ามาครองครองอียืปต์ .. อันอาจจะเป็นเพราะ นักบวชโรมันต้องการกำจัดเทพเจ้าของอียิปต์ และวางรูปจักรพรรดิของตนแทน
ปัจจุบันรูปปั้นเทพเจ้าและฟาร์โรห์ที่พบ ถูกนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่ไคโร
Hypostyle Hall & Sanctuary & Other Chamber
ถัดจาก Sun Court ออกไปจะมีห้องเล็กๆอยู่อีก 23 ห้อง และ 27 ห้องบูชาขนาดเล็ก .. Hypostyle Hall อยู่ในสภาพเสียหาย แต่เสาดอกปาปิรุส 32 เสายังอยู่
มีภาพสลักของฟาร์โรห์ทำพิธีบูชาและบวงสรวงเทพเจ้า
นอกจากนี้ยังมีภาพสลักฟาร์โรห์ตามเรื่องราวในตำนาน ประวัติศาสตร์ของอียิปต์อีกมากมาย
ภาพสลักบนผนัง และเสา
นอกจากนี้ยังมีวิหารของเทพเจ้า Khonsu
Chamber of the Devine King (#9)
พื้นที่ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญในพิธีแห่เทพเจ้า แต่เปลี่ยนมาเป็นห้องสวดมนต์ของโบสถ์โรมันในยุคต่อมา ส่วนนี้มีภาพสลักของ Amenheteps III กับเทพ Amen-Ra เต็มผนัง
ข้างๆ มีห้องเล็กๆอีก 2 ห้อง คือ Coronation room และ Birth Room (มีภาพการถือกำเนิดของ Amenheteps III)
Shrine of Alexander the Great (#11)
ประตูทางเข้า มีภาพเขียนของ Diocletian, Maximillian และภาพของ Caesa .. พื้นที่ส่วนนี้คงเคยเป็นโบสถ์ของชาวโรมัน
ส่วนด้านท้ายของวิหารมีบันไดหินไปยังส่วนหลังคา แต่เราไม่ได้ขึ้นไป
ภาพด้านข้างของวิหาร
อาทิตย์อัสดง ที่วิหาร Luxor
โฆษณา